พาไรโดเลีย ‘ทำไมเราจึงเห็นภาพใบหน้าบ่อยๆ’ | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
"ใบหน้าบนดาวอังคาร" ภาพซ้ายถ่ายในปี ค.ศ.1976 ภาพขวา ค.ศ.2001

คุณผู้อ่านลองคว้าปากกากับกระดาษใกล้ๆ มือ วาดวงกลม 1 วง แต้มจุดใหญ่ๆ เข้าไปในวงกลม 2 จุด ค่อนไปทางซ้ายและขวา จากนั้นเติมเส้นโค้งหงายยาวสักหน่อยใต้จุดทั้งสอง

สิ่งที่เห็นคือ…ใช่แล้ว หน้าคน (อย่างง่ายๆ) นั่นเอง

ทำไมเราถึงชอบมองเห็นใบหน้า หรือรูปร่างคนหรือสัตว์ ในสิ่งต่างๆ?

คำอธิบายยอดฮิตก็คือ ปรากฏการณ์นี้มีที่มาจากวิวัฒนาการตั้งแต่อดีตอันไกลโพ้น กล่าวคือ บรรพบุรุษของเราต้องแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งที่เห็นอยู่ไกลๆ หรือเห็นในที่มีแสงน้อยๆ สลัวๆ ว่าเป็นคนหรือสัตว์ เพราะต่างก็เคลื่อนที่มาหาเราได้ ที่สำคัญคือเป็นมิตรหรือศัตรู (ยิ้มหรือแยกเขี้ยว) เพราะถ้ามาดีก็แล้วไป แต่ถ้ามาร้าย หากเราไม่เผ่นก็ต้องเตรียมต่อสู้

การแยกแยะที่ว่านี้ต้องทำให้เร็วด้วย เพราะหากตัดสินใจช้าก็อาจผิดพลาดใหญ่หลวง เช่น หากเห็นเงาๆ คล้ายเสือหรือสัตว์ร้าย ก็ต้องรู้ในเสี้ยววินาทีเพื่อให้เผ่นทัน ไม่งั้นอาจโดนงาบเอาได้

ด้วยเหตุนี้เองสมองจึงถูกโปรแกรมให้ตีความเกินกว่าที่เป็นจริงในหลายกรณี เช่น เมื่อสิ่งที่เห็นไม่ใช่เสือ แต่สมองอาจบอกว่าเป็นเสือ เราก็จะหลบหนีไปทั้งๆ ที่ไม่มีอันตรายใดๆ แต่แบบนี้ย่อมดีกว่าเจอเสือตัวจริง แต่สมองตัดสินใจไม่ทันว่าเป็นอะไร ผลก็คือเรากลายเป็นอาหารของเสือไปซะนี่

ปรากฏการณ์ซึ่งเราเห็นภาพ แล้วตีความว่าเป็นภาพหน้าคน หน้าสัตว์ รูปคน รูปสัตว์ ที่ว่ามานี้ เรียกว่า พาไรโดเลีย (pareidolia) ครับ

Chicken church – โบสถ์หน้าไก่
ที่มา : https://imgur.com/6H2VVCj

คําคำนี้ยังอาจใช้เรียกปรากฏการณ์ซึ่งเราได้ยินเสียงที่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นข้อความในภาษาหรือมีความหมายจริงๆ อะไร แต่สมองกลับให้ความหมายบางอย่าง เช่น ได้ยินเสียงโทรศัพท์ขณะอาบน้ำ หรือได้ยินคำหรือวลีที่มีความหมายในเทปที่เล่นย้อนกลับอีกด้วย

คำว่า pareidolia มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ คำว่า para (หมายถึง “ควบคู่ไปกับ”) บวกกับคำว่า eidolon (หมายถึง “ภาพ” หรือ “รูปร่าง”)

โดยในปี ค.ศ.1866 จิตแพทย์ชาวเยอรมันชื่อ คาร์ล ลุดวิก คาห์ลเบาม์ (Karl Ludwig Kahlbaum) ใช้คำภาษาเยอรมันว่า pareidolie ในบทความชื่อ “Die Sinnesdelierien” (“ว่าด้วยความเข้าใจผิดของการรับรู้”) และในปีถัดมาคือ ค.ศ.1867 มีการรีวิวบทความนี้ใน Journal of Mental Science และแปลคำนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า pareidolia

กรณีที่โด่งดังระดับโลกคือ Face on Mars หรือใบหน้าบนดาวอังคาร กล่าวคือเมื่อปี ค.ศ.1976 ยาน Viking 1 Orbiter ของ NASA ถ่ายภาพบริเวณหนึ่งบนดาวอังคารแล้วพบว่ามีลักษณะคล้ายใบหน้าอยู่ด้วย เล่นเอาผู้คนแตกตื่นยกใหญ่ แต่ต่อมาเมื่อได้ถ่ายภาพบริเวณเดียวกันนี้อีกก็พบว่าแสงเงาที่ได้ไม่ได้ทำให้เห็นใบหน้าดังกล่าวอีกต่อไป ดังเช่น ภาพถ่ายในปี ค.ศ.2001

แม้แต่ศิลปินยอดอัจฉริยะอย่างเลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) ก็เคยเขียนแนะนำศิลปินวัยเยาว์ให้ใช้พาไรโดเลียในการสร้างสรรค์งานศิลปะเอาไว้อย่างนี้

“ท่านอาจค้นพบรูปแบบบนผนังที่ดูคล้ายกับทิวทัศน์ต่างๆ หลากหลาย ประดับประดาไปด้วยภูเขา แม่น้ำ หินผา ต้นไม้ ที่ราบ หุบเหวกว้าง และเนินเขาที่จัดเรียงตัวในลักษณะแตกต่างกัน หรืออีกครั้งที่ท่านอาจมองเห็นการสู้รบและบุคคลต่างๆ กำลังเคลื่อนไหว หรือใบหน้าและชุดแต่งกายที่แปลกประหลาด และวัตถุต่างๆ นานาชนิดไม่รู้จบ ซึ่งท่านสามารถเปลี่ยนมันให้กลายเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์และถูกวาดขึ้นอย่างดี ผลที่เกิดขึ้นจากผนังที่เต็มไปด้วยลวดลายนี้คล้ายกับเสียงของระฆัง ซึ่งท่านอาจได้ยินเป็นชื่อหรือคำใดๆ ที่ท่านเลือกที่จะจินตนาการ…มันไม่ควรเป็นเรื่องยากสำหรับท่านที่จะมองไปที่รอยเปื้อนบนผนัง หรือขี้เถ้าของไฟ หรือเมฆ หรือโคลน และถ้าหากท่านพิจารณาสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างดีแล้ว ท่านก็จะพบแนวคิดใหม่ที่น่าพิศวง เพราะว่าความคิดถูกกระตุ้นให้สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ โดยสิ่งต่างๆ ที่ดูคลุมเครือ”

(สำนวนแปลของผมในหนังสือชื่อ ‘เลโอนาร์โด ดา วินชี’ หน้า 374 แปลจาก ‘Leonardao da Vinci’ เขียนโดยวอลเตอร์ ไอแซ็กสัน ฉบับแปลจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Being)

 

ในปี ค.ศ.2009 มีการศึกษาสมองด้วยเทคนิคเอ็มอีจี (MEG, Magnetoencepphalography) ซึ่งเป็นการวัดสนามแม่เหล็กที่เกิดจากการทำงานของเครือข่ายเซลล์ประสาทสมอง พบว่าวัตถุที่ดูเหมือนใบหน้าจะกระตุ้นสมองส่วนที่รับรู้ใบหน้าในเวลา 0.165 วินาที สมองส่วนดังกล่าวนี้เรียกว่า ventral fusiform cortex ในขณะที่วัตถุอื่นๆ ไม่ได้กระตุ้นสมองส่วนนี้แต่อย่างใด

การกระตุ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีนี้สอดคล้องกับการที่สมองต้องตัดสินใจว่าภาพที่เห็นน่าจะเป็นอะไรนั่นเอง

เรื่องพาไรโดเลียนี้อย่าทำเป็นเล่นไป แม้แต่สิงคโปร์ซึ่งมีระบบการศึกษายอดเยี่ยมในอันดับต้นๆ ของโลกก็ยังเคยเกิดเหตุการณ์น่าสนใจ เช่น ในวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.2007 มีคนไปแปะป้ายบนต้นไม้ต้นหนึ่งบน Jurong West Street 42 ต้นไม้ดังกล่าวมีผิวเป็นรูปร่างซึ่งจะว่าไปก็ดูคล้ายลิงอยู่บ้าง ทั้งนี้ ข้อความภาษาจีนระบุว่าลิงตัวนี้ได้มายังต้นไม้ต้นนี้เมื่อ 3 ปีก่อน เพื่อตามหาพ่อของมันซึ่งเป็นลิงเทพเจ้า

หนังสือพิมพ์สิงคโปร์ลงข่าวนี้อย่างน้อย 3 ฉบับ ได้แก่ The New Paper, The Straits Times และ Lianhe Zaobao เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ผู้คนก็แห่กันมาดู บ้างก็มาบูชา แน่นอนว่าของบูชาต้องมีกล้วย ของบูชาอื่นๆ เช่น ถั่วลิสงใส่ซอง ดอกไม้และธูป คนที่มามีทั้งชายและหญิง จีนและอินเดีย

คนที่เชื่อเรื่องปาฏิหาริย์บอกว่านี่คือภาพของเห้งเจียหรือหนุมานนั่นเอง!

สารานุกรม Wikipedia เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Monkey tree phenomenon หรือ ปรากฏการณ์ต้นไม้ลิง สนใจตามไปอ่านได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Monkey_tree_phenomenon

ไม่เพียงแค่คนเอเชียเท่านั้นที่มีพฤติกรรมสนุกๆ ทำนองนี้ ฝรั่งเองก็ไม่น้อยหน้า ในปี ค.ศ.1994 สุภาพสตรีอเมริกันคนหนึ่งชื่อ Diana Duyser สังเกตว่าแผ่นขนมปังปิ้งที่เธองับไปแล้ว 1 คำนั้น ส่วนที่เหลืออยู่มีภาพคล้ายแม่พระผู้นิรมล (Virgin Mary)

เธอจึงเก็บขนมปังศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้นานกว่า 10 ปี และสุดท้ายก็ประมูลขายไปบน eBay ได้เงินสูงถึง 28,000 ดอลลาร์! คิดเป็นเงินไทยเท่าไร ลองคูณดูเองจ้า

ปรากฏการณ์ต้นไม้ลิงที่สิงคโปร์

ส่วนในบ้านเรา ขอบันทึกไว้สักหน่อยว่าวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2558 ทีมงานช่อง 3 รายการของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา โทร.มาสอบถามผมเรื่องเมฆที่กว๊านพะเยาซึ่งมีรูปร่างคล้ายพระพุทธรูปหลวงพ่อศิลา

ผมจึงให้ข้อมูลไปว่าคำอธิบายหนึ่งคือปรากฏการณ์พาไรโดเลีย

อีกทั้งคนไทยส่วนใหญ่ผูกพันกับพุทธศาสนา จึงไม่น่าแปลกใจที่บางคนจะมองเห็นภาพเมฆและตีความไปเช่นนั้น

เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะมีข่าวแนวพาไรโดเลียโผล่มาอีกในอนาคต มารอดูกันว่าข่าวไวรัลครั้งต่อไปจะเป็นอะไร ถ้าได้ทราบแล้วก็อย่าลืมนึกถึงบทความนี้กันนะครับ!

ขนมปังที่คุณ Diana Duyer บอกว่ามีรูปปรากฏคล้ายแม่พระผู้นิรมล