ยึกยัก กี่ขยัก แก้รัฐธรรมนูญ

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นวาระสำคัญซึ่งต้องเร่งรีบดำเนินการ หรือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ยังนำเป็นนโยบายในการหาเสียงว่า จะนำเรื่องการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าเป็นวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรก

ผ่านมาจะครบ 4 เดือน การเริ่มต้นนับหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เกิดขึ้น คำถามประชามติแม้ได้มาแล้วแต่ก็ยังไม่ตกผลึกพอที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ จำนวนครั้งของการทำประชามติยังมีความเห็นแตกต่างว่าจะเป็นกี่ครั้งดี

จนในที่สุด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย จำนวน 122 คน นำโดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล เข้าชื่อกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมถึงประธานรัฐสภา เพื่อหวังให้มีการสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้คำตอบชัดเจนว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ติดตามประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจจะมีความรู้สึกสับสนว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยกำลังดำเนินการอะไร ทำไมจึงมีความเห็นหรือแนวทางในการดำเนินการที่ต่างกัน เป็นการยึกยักต่อการเดินหน้าแก้ไข มีความจริงใจในการดำเนินการต่อหรือไม่ ตลอดจนเวลาที่เหลือนั้นเพียงพอต่อการดำเนินการหรือไม่

 

ความเห็นที่แตกต่าง
ในซีกรัฐบาลด้วยกัน

อาจเป็นเพราะผลการศึกษาของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ใช้เวลาราว 3 เดือนกับคำตอบที่ได้ 2 ข้อ คือ คำถามในการออกเสียงประชามติและจำนวนครั้งในการออกเสียงประชามติที่สรุปว่าควรมี 3 ครั้ง ยังเป็นคำตอบที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม

ยิ่งประเด็นการตั้งคำถามประชามติที่คณะกรรมการมีข้อสรุปให้ใช้คำถาม “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” กลายเป็นประเด็นกระสุนตก ได้รับการวิจารณ์อย่างหนักหน่วงถึงขนาดว่า หากไม่มีการปรับปรุงหรือยังคงใช้คำถามดังกล่าวในการลงประชามติก็อาจมีการรณรงค์ไม่รับ

การไม่ลงตัวดังกล่าว ทำให้ตลอดเดือนมกราคม ไม่มีการนำเรื่องคำถามประชามติเข้าสู่ที่ประชุม ครม. และมีการสอดแทรกกรณี 122 ส.ส.เพื่อไทยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นมา โดยเห็นว่า ควรทำประชามติเพียง 2 ครั้ง เนื่องจากไม่ใช่การแก้ไขทั้งฉบับ โดยครั้งแรกให้ทำหลังจากที่มีการแก้ไข ม.256 ให้มี ส.ส.ร.มาเป็นผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ครั้งที่สองเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จ

ความเห็นที่แตกต่างดังกล่าว จึงอาจเป็นเพียงวิธีการหาทางออก ทอดระยะเวลาออกไปหากมีการส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอความเห็นว่า การทำประชามติ 2 ครั้ง เป็นเรื่องที่ทำได้หรือไม่

 

ศาลรัฐธรรมนูญ
กลายเป็นองค์กรกำกับการทำงานของสภา?

การดำเนินการดังกล่าว นอกเหนือจากการทำให้ต้องเสียเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทอดยาวออกไป ยังเป็นเรื่องที่คล้ายดูราวกับว่า ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งมีหน้าที่ในการออกกฎหมายและเป็นเรื่องสามารถดำเนินการเองได้นั้นขาดความมั่นใจและต้องพึ่งพาการชี้ขาดจากศาลรัฐธรรมนูญ

ทั้งๆ ที่หน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เขียนไว้ในมาตรา 210 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้เพียง 3 ข้อ คือ

(1) พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย

(2) พิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ

(3) หน้าที่และอำนาจอื่นตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564 ไว้แล้วว่า หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” จึงต้องสมควรถามประชาชนผู้สถาปนารัฐธรรมนูญก่อน และเมื่อทำเสร็จแล้ว ควรทำประชามติอีกครั้ง แต่ในเมื่อผู้เป็นรัฐบาลมีความตั้งใจจะแก้ไขโดยยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเท่ากับไม่มีการจัดทำใหม่ทั้งฉบับ เหตุใดจึงต้องหาเรื่องราวไปถามศาลรัฐธรรมนูญอีกรอบ

 

ขยักเพิ่ม เวลามากขึ้น

การที่ฝ่ายรัฐบาลยังไม่ตกผลึกเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ชัดเจนถึงการนำคำถามประชามติเข้าสู่ที่ประชุม ครม. ทั้งๆ ที่ใช้เวลาไปกว่าสามเดือนและใช้คณะบุคคลฝ่ายต่างๆ ที่ถือว่ามีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายและการทำประชามติมากที่สุดในประเทศแล้ว

การเพิ่มช่องทางใหม่ ในการให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 256 ขึ้นมาโดยหวังจะให้ประธานรัฐสภาเห็นต่างว่ายื่นไม่ได้ จนนำไปสู่การส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่

ทั้งหมดเป็นการเพิ่มขยักใหม่ของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแทนที่จะเดินหน้าไปสู่การทำประชามติ และการให้มี ส.ส.ร.เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยเร็ว กลับกลายเป็นการเพิ่มขั้นตอนและเวลา โดยกว่าจะไปจุดเริ่มต้นของการดำเนินการอาจล่าช้าไปกว่าเดิมอีกถึง 6 เดือน และมีความเป็นไปได้สูงว่า ถึงสิ้นปี พ.ศ.2567 เราก็จะยังไม่มี ส.ส.ร.มาเป็นผู้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากความต้องการของประชาชน

เวลาที่เหลือหลังจากนั้น จะเหลือเพียง 2 ปีเศษ ซึ่งค่อนข้างหมิ่นเหม่กับการที่จะไม่สามารถมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก 10 ฉบับที่ต้องแก้ไขใหม่ไปพร้อมกันจะทันกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ไม่นับว่าหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองต้องมีการยุบสภาก่อนกำหนด

 

ใครเดือดร้อน
หากไม่แก้รัฐธรรมนูญ

ประชาชนอาจจะสับสนในการเลือกตั้ง ด้วยหมายเลขผู้สมัครกับหมายเลขพรรคที่แตกต่างกัน

จำนวน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เป็นสัดส่วน 400 : 100 อาจสร้างความยากลำบากให้แก่พรรคที่ไม่มีกระแสนิยมในภาพรวมทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อน้อยมาก จนเป็นปัญหาการจัดสรรตำแหน่งการเมืองภายในพรรค

วุฒิสภา อาจเป็นองค์กรที่ระบบการออกแบบการได้มายังไม่สามารถกลั่นกรองเอาคนที่ปลอดจากการเมืองและมีความเป็นตัวแทนจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ได้จริง

องค์กรอิสระต่างๆ อาจมีที่มาที่เอื้อต่อข้าราชการประจำระดับสูงที่เกษียณอายุแล้วมาอยู่ต่อ อาจมีอำนาจหน้าที่ที่เหนือกว่าฝ่ายการเมืองและขาดกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล

การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อาจเป็นไปอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ปราศจากความมุ่งมั่น จริงใจ จากราชการส่วนกลางที่ยังหวงแหนอำนาจไว้ที่ตน

สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีอยู่ ยังอาจเป็นเพียงข้อความที่เขียนไว้ให้ดูดีแต่ปราศจากการกลไกที่นำไปสู่การดำเนินการที่เป็นจริงและเป็นหลักประกันในเรื่องราวดังกล่าวได้

และที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญยังถูกออกแบบให้แก้ไขได้ยากถึงยากมาก โดยในบางเรื่องต้องทำประชามติแบบพร่ำเพรื่อไม่รู้จบสิ้น

หากฝ่ายการเมืองที่มีอำนาจจะตระหนักในเรื่องดังกล่าวและรีบเร่งในการดำเนินการ ไม่ใช่หลงเริงในอำนาจแล้วมองการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารว่าไม่มีปัญหา หรือแก้ไขแบบประนีประนอมกับกลุ่มผู้มีอำนาจเดิม ไม่เชื่อมั่น ไม่ไว้วางใจประชาชนว่าจะสามารถเขียนรัฐธรรมนูญได้เองโดยปฏิเสธแนวคิด ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ฝ่ายการเมืองนั้น ย่อมไม่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน จัดลำดับความสำคัญไว้ในอันดับหลังการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือให้ความสนใจต่อโครงการลงทุนของรัฐที่มีงบประมาณจำนวนมาก มากกว่าการมาสนใจแก้ไขกติกาของประเทศ

จนวันหนึ่ง เมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้วต้องใช้กติกาดังกล่าวแล้วผลการเลือกตั้งไม่เป็นดังหมาย

วันนั้น ค่อยคิดเสียดายโอกาสว่า เหตุใดจึงไม่ทุ่มเท แต่กลับยึกยัก หลายขยัก จนเสียโอกาส