ได้เวลามีหลักสูตร วปอ. สำหรับ ‘ลูกหลานชาวบ้าน’? | สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

“…เส้นสายสำคัญทำให้พวกท่านเป็นบุคคลพิเศษ หรือเรียกว่าอภิสิทธิ์ชนก็ได้เป็นท็อป 1% หรือน้อยกว่าของประเทศนี้ เป็นสถาบันที่คนส่วนมากอยากได้รับเลือกเข้ามา คอนเน็กชั่นที่ได้รับจากสถาบัน จะสามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกท่านได้อย่างมหาศาล…”

ประโยคนี้กล่าวขานโดยนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 14 กันยายน ปีที่แล้วในฐานะประธานการแถลงผลการศึกษา เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 65 วิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 64 วิทยาลัยการทหารบก รุ่นที่ 68 วิทยาลัยการทัพเรือ รุ่นที่ 55 วิทยาลัยการทัพอากาศรุ่นที่ 57 และหลักสูตรการบริหารความมั่นคงสำหรับผู้บริหารระดับสูง รุ่นที่ 4

ภายใต้หัวข้อ “สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน”

โดยมีคุณสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รมต.ประจำสำนักนายกฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการเหล่าทัพ รวมทั้งผู้แทนจากส่วนร่วมราชการต่างๆ เข้าร่วมฟังด้วย

หลักสูตรประเภทนี้นอกจาก วปอ. แล้วก็ยังมีการขยายผลไปในแวดวงราชการต่างๆ ที่จัดขึ้นในลักษณะเดียวกัน

จนกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของการสร้างกลุ่มก้อนภายใต้หลักการ “การเรียนรู้ร่วมกันของบุคลากรจากหลายๆ ฝ่าย”

 

เป้าหมายแรกเริ่มดูเหมือนจะมีเจตนาที่ดี เพราะจะได้ให้นักบริหารระดับกลางและสูงได้เข้ามาเรียนหัวข้อที่หน่วยงานที่จัดต้องการจะสร้างความรู้และแลกเปลี่ยนกับคนอื่นๆ ในสาขาวิชาชีพต่างๆ

แต่เหมือนหลายๆ อย่างที่เริ่มต้นด้วยเจตนาดี แต่ไปๆ มาๆ มักจะถูกนำไปใช้เพื่อเป้าหมายอื่นที่ถูกบิดเบี้ยวไปนอกลู่นอกทาง

จนกลายเป็นการรวมตัวของ “ชนชั้นนำ” เพื่อการสร้าง “คอนเน็กชั่น” เพื่อการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันและกันในสังคมระดับสูง

หรือที่นายกฯ เศรษฐาเรียกว่า “อภิสิทธิ์ชน 1% หรือน้อยกว่า”

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การรวมกลุ่มกันเช่นนี้เกิดภาพของการสร้างเครือข่ายของผลประโยชน์ข้ามกลุ่มอาชีพ

ซึ่งอาจจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมที่เป็นปัญหาหนักอยู่แล้วเสื่อมทรุดเพิ่มขึ้นอีก

บางคนแย้งว่าการรวมตัวของคนมีตำแหน่งฐานะและบารมีของหลายๆ วงการเช่นนั้นอาจจะเป็นการระดมพลังเพื่อการทำความดีและช่วยเหลือสังคมก็เป็นได้

ทำไมจึงมองแต่ในแง่ร้าย?

 

ที่มีคนมองในแง่ทางลบนั้นเป็นเพราะมีเรื่องราวที่เล่าขานว่าด้วยกิจกรรมของกลุ่มต่างๆ ที่มีแนวโน้มจะ “ประสานประโยชน์” และเกิดกรณี “ฉันเกาหลังเธอ เธอเกาหลังฉัน” มากกว่ากิจกรรมที่มุ่งลดช่องว่างระหว่างรายได้กับคนเสียเปรียบและเปราะบางในสังคม

ภาพของระบบ “เกื้อกูลกันและกัน” และ “อุปถัมภ์ค้ำจุน” จึงเด่นชัดมากกว่าด้าน “เสียสละเพื่อปฏิรูปสังคม”

อีกตอนหนึ่งของคำปราศรัยของคุณเศรษฐาวันนั้นบอกว่า

“…เป็นเกียรติของผมที่ วปอ.เชิญมาพูดคุย ทุกท่านในที่นี้ล้วนเป็นคนมีความรู้ความสามารถ หลายคนประสบความสำเร็จอย่างสูง เป็นไปได้ว่า บางท่านในที่นี้ อาจมายืนในจุดที่ผมยืนอยู่นี้ในอนาคต หวังว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์จากหลักสูตร และนำความรู้ไปทำประโยชต์ต่อไป”

และเสริมว่า “ผมไม่ได้เข้าสถาบันนี้ แต่อยากฝากข้อคิดว่า เรื่องวิชาความรู้ไม่เป็นที่สงสัย สถาบัน วปอ. ยังพาทุกท่านมารู้จักซึ่งกันและกัน สร้างสังคมและสานสัมพันธ์อันดีของทุกท่าน”

“ความแข็งแกร่งของศิษย์เก่าเป็นที่ประจักษ์ เส้นสายสำคัญทำให้พวกท่านเป็นบุคคลพิเศษ หรือเรียกว่าอภิสิทธิ์ชนก็ได้เป็นท็อป 1% หรือน้อยกว่าของประเทศนี้ เป็นสถาบันที่คนส่วนมากอยากได้รับเลือกเข้ามา คอนเน็กชั่นที่ได้รับจากสถาบัน จะสามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกท่านได้อย่างมหาศาล”

“ผมขอฝากขอวิงวอน อ้อนวอนจากใจจริง ขอให้ทุกคนใช้ความรู้ความสามารถและสายสัมพันธ์จากที่นี้ ให้เกิดประโยชน์คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรของรัฐให้ดูถึงความเหมาะสม เพราะทุกสายตาจับจ้องท่านอยู่”

“การกระทำของท่านเป็นที่จับตาของทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งของเยาวชน”

“คอนเน็กชั่นเหล่านี้ไม่ใช่จะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเองแต่ครอบคลุมถึงองค์กรที่ทำงาน แต่อยากให้เผื่อแผ่ไปยังสังคมของท่านด้วย ถือเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะช่วยคนตัวเล็ก ลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยเหลือสังคมให้พวกเขายืนบนสังคมได้ในสภาวะที่ลำบากในปัจจุบัน”

“ความสามารถพวกท่านหากนำมาช่วยเหลือประเทศ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เสมอภาค ที่เพื่อนร่วมชาติของพวกเราเผชิญอยู่ แล้วพวกท่านจะได้ชื่อว่าเป็นสถาบันที่ส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลานทุกคน ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักที่เรามาร่วมอยู่ในสถานที่อันมีเกียรติแห่งนี้”

 

ผ่านมาไม่กี่เดือน ตัดภาพมาที่ข่าวการเปิดหลักสูตรใหม่ที่เรียกขานกันว่าเป็น “มินิ วปอ.” ซึ่งเกิดเสียงฮือฮาเพราะข่าวบอกว่า แพทองธาร ‘อุ๊งอิ๊ง’ ชินวัตร “และเพื่อน” ได้เข้าสมัครในรุ่นแรกแล้ว

หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักรที่ว่านี้ว่ากันว่าออกแบบ สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นแรก

ข่าวที่ออกมาบอกว่าเป้าหมายของหลักสูตรคือเพื่อมุ่งส่งเสริมให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ทั้งจากส่วนราชการ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไปมีจิตสำนึก “ตระหนักถึงภัยคุกคามในมิติต่างๆ ที่มีผลต่อความมั่นคงแห่งชาติ”

โดยที่ผู้เข้าเรียนซึ่งจะเป็น “ผู้บริหารในอนาคต” จะได้มีบทบาทหรือมีส่วนร่วม หรือให้การสนับสนุนภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงในขอบเขตที่พึงกระทำได้

ว่ากันว่าในเอกสารของหลักสูตรนี้ยังระบุว่าเป้าหมายอีกด้านหนึ่งคือเพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้าใจถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติ แนวคิด รูปแบบภัยคุกคามมิติต่างๆ ทั้งในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศไทย สถานการณ์ความมั่นคงระหว่างประเทศ และภายในประเทศ เพื่อจะได้สามารถวิเคราะห์ใช้เครื่องมือในการตรวจสอบ และบริหารจัดการความมั่นคงแห่งชาติได้อย่างเหมาะสม

ข่าวแจ้งด้วยว่าหลักสูตร วปอ.บอ.นี้เปิดสำหรับคนหนุ่มสาว อายุระหว่าง 35-42 ปี ที่จบปริญญาตรี หรือเทียบเท่าขึ้นไป เป็นผู้ปฏิบัติงานในสายงานหลักของหน่วยงานและจะเป็นกำลังสำคัญของหน่วยงานในอนาคต

รวมถึงข้าราชการทหารชั้นยศ พ.ท.-พ.อ. (พ.) และตำรวจ ชั้นยศ พ.ต.ท.-พ.อ. (พ.) หรือเทียบเท่า ที่ต้องสำเร็จการศึกษาหลักสูตรเสนาธิการจากโรงเรียนเสนาธิการเหล่าทัพ ภายในประเทศหรือต่างประเทศ หรือหลักสูตรเสนาธิการร่วม

หากเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรต้องสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรผู้กำกับการส่วนข้าราชการพลเรือน ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับต้น ประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษประเภททั่วไประดับอาวุโส (เทียบเท่าระดับ 8 เดิม)

สำหรับข้าราชการทหาร ตำรวจข้าราชการพลเรือน ยังระบุว่า ต้องเป็นผู้ที่ทางราชการไว้วางใจ ให้เข้าถึงความลับของทางราชการขั้น “ลับมาก”

ส่วนพนักงานองค์การของรัฐ/ รัฐวิสาหกิจ/ องค์การมหาชน ตำแหน่งเทียบเท่า ผู้อำนวยการระดับต้น ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้ง (ในวันเปิดรับสมัคร) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองท้องถิ่นในประเทศไทย

ส่วนนักธุรกิจซึ่งเป็นเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ของหน่วยงาน ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการ หรือผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการโรงงาน หรือผู้จัดการภูมิภาค หรือเทียบเท่า

 

เป็นที่รู้กันว่ามีการวิ่งเต้นจะเข้าเรียนหลักสูตรนี้กันอย่างคึกคัก

ซึ่งไม่ใช่เรื่องต้องแปลกใจเพราะใครต่อใครก็อยากได้ชื่อว่าเป็น “เพื่อนร่วมรุ่นกับว่าที่นายกฯ คนต่อไป”

นี่จะกลายเป็นคำถามของสังคมว่าหลักสูตรเช่นนี้ยิ่งจะตอกย้ำถึงการสร้างความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของกลุ่มผลประโยชน์ระดับสูงของประเทศ

เกิดคำถามว่าทำไมจึงไม่มีหลักสูตรสำหรับ “ลูกหลานชาวบ้าน” เพื่อจะได้เข้าถึงโอกาสเหมือนคนกลุ่มที่ได้เปรียบสังคมอยู่แล้ว

ทำไมสถาบันกองทัพจึงไม่ “ปฏิรูปความคิด” ในอันที่จะลดเสียงวิจารณ์ที่มีมายาวนานว่าไม่ปรับนโยบายให้เป็น “กองทัพมืออาชีพของประชาชน”

ด้วยการเปิดประตูให้กว้างสำหรับชนชนกลางและชนชั้นล่าง

ไฉนจึงทำแต่กิจกรรมที่เอื้อต่อ 1% ของประชากร ขณะที่อีก 99% ของคนไทยกำลังรอโอกาสที่จะปลดป้าย “เขตทหารห้ามเข้า” เสียที

โอกาสจะทำความถูกต้องมาถึงแล้วครับ