รู้จัก สส.บิ๊ก ชัชวาล เสียง(อีกข้าง) ในพรรคไทยสร้างไทย ผู้ล้มช้าง พท. – มั่นใจชีวิตนี้จะไม่เป็นงูเห่า ?

จุดเริ่มต้นชีวิตการเมือง

ตั้งแต่วันแรกที่ผมตัดสินใจลงสมัครสส. ผมมั่นใจว่าถ้าผมตั้งใจก็ต้องทำให้ได้ ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรเหนือบ่ากว่าแรง ถ้าเต็มที่กับสิ่งที่ทำ พี่น้องประชาชนพร้อมให้โอกาสคนที่ตั้งใจที่อยากทำงาน อยู่ที่ว่าได้แสดงออกถึงความตั้งใจให้พี่น้องประชาชนเชื่อและศรัทธาได้หรือเปล่า

ชัชวาล แพทยาไทย (บิ๊ก) สส ร้อยเอ็ด  พรรคไทยสร้างไทย เล่าถึงความฝันทำไมถึงเข้ามาสู่วงการทางการเมืองว่า ผมมีความฝันอยากให้คนรอบข้างคนที่สนันสนุนเรา รวมถึงประชาชน มีความสุข เราไม่ได้อยู่ในโลกเพียงแค่ตัวคนเดียว สังคมไทยก็เช่นกัน ตอนนี้เรากำลังวุ่นวายอยู่กับเรื่องของเราจนลืมไปว่าเราอยู่กับคนทั้งโลก ซึ่งในความเป็นจริงประเทศอื่นไปไหนต่อไหน ขนาดเดียวกันเราคงยังย้ำอยู่กับที่ เรายังมานั่งทะเลาะกัน ถ้าเรายังไม่เตรียมตัวเองให้พร้อมมากกว่านี้เราแก้ปัญหาใหญ่ได้อย่างไร ผมฝันไปถึงว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจด้วยซ้ำ

จากความฝันสู่แรงบันดาลใจในการลงสมัครเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ผมมีความเชื่อและแรงบันดาลใจอยู่อย่างหนึ่ง คนเรามักจะมีเวลาเป็นของตัวเอง สิ่งที่เราฝืนธรรมชาติไม่ได้ก็คือความตาย ทำให้เรากลับมาคิด ถ้ามีโอกาสอยากฝากอะไรไว้กับโลกใบนี้ ถ้าเราอยากอยู่อย่างมีคนรักแล้วจากไปให้คิดถึง เราต้องทำอะไรสักอย่าง บอกกับตัวเองว่าเป็นลูกบ้านนอก เรียนอนุบาล ถึงป.6 อยู่โรงเรียนชนบท รร.บ้านคุยผงดงน้อย จากนั้นสอบเข้าโรงเรียนประจำจังหวัด รร.ร้อยเอ็ดวิทยาลัย มีโอกาสเป็นประธานนักเรียน เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่นก็เช่นกันได้เป็นคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัย รวมถึงการเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้ร่วมทำกิจกรรมหลากหลาย เมื่อจบมาก็มาทำธุรกิจที่บ้าน เป็นสถาปนิกรับเหมาก่อสร้าง ออกแบบตกแต่ง พัฒนาอสังหา ประมาณ 4 ปี  เมื่อปี 60 ถึงได้เริ่มเข้าสู่การเมือง เราเลยซึบซับสิ่งต่างๆและหล่อหลอมตัวเราจนถึงวันนี้

จุดเริ่มต้นหันมาสนใจการเมือง เนื่องจากอยากลองมาทำอะไรสักอย่าง แล้วสิ่งนั้นต้องมีพลัง ถ้าทำในนามของนักธุรกิจก็ทำได้แค่การคืนกำไรให้สังคมเล็กๆน้อยๆ เช่น การมอบของช่วยเหลือ ทำบุญ แต่ถ้าต้องการเป็นรูปธรรมเราต้องเข้าถึงกลไกต่างๆของรัฐ เช่นการเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เพื่อที่จะได้มีโอกาสทำงานแต่ผมต้องเรียนว่า ผมไม่มีต้นทุนทางการเมืองเหมือนคนอื่น ผมไม่ใช่ทายาททางการเมือง ผมไม่ใช่ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นที่มีการปูพื้นฐานมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ หรือไต่เต้าจาก ตำแหน่งเล็กๆ อย่างสจ. คุณพ่อคุณแม่ ก็เป็นนักธุรกิจ มีแค่คุณปู่คนเดียวที่เคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ญาติพี่น้องไม่มีใครที่มีความรู้เรื่องการเมือง แถมคนในครอบครัวไม่มีใครเห็นด้วย เพราะญาติพี่น้องก็เป็นห่วงเราว่าจะทำได้อย่างไรไม่ใช่เรื่องเล็ก ก็ได้ปรึกษากับญาติพี่น้องว่าจะเริ่มจากอะไรก่อน ถ้าจะเริ่มต้นจากนายก อบต.หรือ สจ. ซึ่งตอนนั้นผมก็อายุเพียง 30 ถ้าจะเป็นนายก อบต.ก็ไม่ได้ต้องอายุ 35 หรือถ้าจะเป็นสจ. สุดท้ายปลายทางก็ต้องลงสส.อยู่ดี ก็เลือกที่จะลงสส. ภาษาอีสาน “ดึกมันโลดเอา เอามันนี้ละ” ตอนที่ตัดสินใจไม่รู้จักใครเลย ไม่รู้จะเป็นยังไง รู้แค่ว่าต้องเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนให้ได้ก่อน

นาทีที่ตัดสินใจลงสนามการเมือง

ตั้งแต่วันแรกที่ผมตัดสินใจลงสมัครสส. ผมมั่นใจว่าถ้าผมตั้งใจก็ต้องทำให้ได้ ผมเชื่อว่าไม่มีอะไรเหนือบ่ากว่าแรง ถ้าเต็มที่กับสิ่งที่ทำ พี่น้องประชาชนพร้อมให้โอกาสคนที่ตั้งใจที่อยากทำงาน อยู่ที่ว่าได้แสดงออกถึงความตั้งใจให้พี่น้องประชาชนเชื่อและศรัทธาได้หรือเปล่า ในการตัดสินใจลงผู้แทน ผมคิดว่าผมคิดดีแล้ว ผมกล้าบอกถึงขนาดว่าผมมาทำงานตรงนี้ผมเลือกที่จะขายวิญญาณในพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำผมต้องคิดถึงพี่น้องประชาชน ทุกการตัดสินใจผมจะอยู่บนพื้นฐานต้องฟังเสียงประชาชนก่อนถ้าอะไรที่ไปกระทบความรู้สึก ผมจะหลีกเลียง แล้วอ้นไหนที่ผมไม่แน่ใจผมจะต้องกลับไปถามชาวบ้านก่อนถ้า เราคิดแบบนี้ก็อาจจะทำให้เราพลาดน้อยที่สุด

ในการเลือกปี 62 ผมหาเสียงอยู่ประมาณ 1 ปี แล้วค่อยลงเลือกตั้งก็พ่ายแพ้ กลับมาลงใหม่ในปี 66 ซึ่งพื้นที่ของผมเดิมมีสส.เก่า 8 สมัย แต่ว่าเรื่องเจ้าของพื้นที่ ผมมองว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ถ้ายังทำให้ชาวบ้านศรัทธาได้ ชาวบ้านก็พร้อมที่จะเปลี่ยน แต่ถ้าผูกขาดโดยคนใดคนหนึ่งผมเชื่อว่าไม่จริง เพียงแต่จะสามารถสร้างศรัทธาให้กับชาวบ้านได้หรือเปล่า ตอนนั้นก้มีกังวลอยู่บ้าง เพราะว่าคนเก่าเป็นยักษ์ 8 สมัย ไม่เคยแพ้เลือกตั้ง แล้วท่านก็เป็นถึงครูบาอาจารย์ทางการเมือง ทุกคนรอบข้างคิดเหมือนกันหมดว่า จะทำได้หรอ  พูดแม้กระทั่งว่า ภาษาอีสาน “มันพากันมาเล่นเฮือนหน่อยบ่”คือทำมาเป็นเล่นหรือเปล่า ช่วงแรกทุกคนพูดแบบนี้หมดแต่ผมไม่ท้อถอยแสดงความจริงใจให้ทุกๆเห็น นับแต่วันที่ผมแพ้ ผมไม่เคยหยุดลงพื้นที่แม้วันเดียว ผมไปหาเสียงเหมือนผมหาเสียงใหม่ทุกวัน ไปทุกพื้นที่พื้นที่ไหนคะแนนไม่ดีก็เอากลับมาทำการบ้านพยายามแก้ไขแล้วหาวิธีเอาชนะใจชาวบ้านทุกวิถีทาง

การเป็นนักการเมืองผมยึดคติ 3 ข้อ มาโดยตลอด ข้อแรกต้องทำให้ประชาชนรู้จักให้ได้ ทำให้คนรู้จักให้ได้ว่าชัชวาล แพทยาไทยเป็นใคร นำเสนอตัวตนให้รู้จัก ว่าจะลงสมัครสส. จะเข้ามาขอเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน ข้อที่ 2 คือทำให้คนรัก จะต้องมีความจริงใจ ต้องอยู่กับประชาชนทุกๆช่วงเวลาทั้งเวลาที่ทุกข์และสุข ในช่วงระยะเวลา 4 ปีก่อนมาถึงปี 66  มีวิกฤตโควิดจุดนี้อาจทำให้เห็นถึงความตั้งใจของผมก็ได้เพราะว่าช่วงโควิด คนที่ไปทำงานที่กรุงเทพฯต้องหนีกลับบ้านหมด ไม่มีวัคซีน ไม่มีที่พัก ไม่มีที่ไหนรองรับผู้ป่วยโควิด โรงพยาบาลเต็ม ผมเปิดบ้านเป็นโรงพยาบาลสนามให้คนเข้ามาอยู่3,000 คน รวมกับกองทุนคนเกษตรวิสัยไม่ทิ้งกัน ร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งราชการ พี่น้องประชาชนก็ร่วมบริจาคเข้ามาช่วยกันเป็นอีกหนึ่งเหตุณ์ที่ทำให้พี่น้องประชาชนเกิดความรัก ความศรัทธา ตรงจุดนี้หลายคนมองว่าผมบ้าที่เอาโรคระบาดเข้ามาอยู่ในบ้านตัวเอง แต่ผมกลับมองว่าถ้าทำไม่ทำแบบนี้ผมจะยิ่งรู้สึกผิดมาก เพราะในเมื่อคุณจะเป็นตัวแทนของชาวบ้าน เมื่อชาวบ้านเดือดร้อนแต่คุณกลับอยู่เฉยๆและ สุดท้ายต้องทำให้คนเลือก ต้องมีกลยุทธ์ ต้องการคะแนนเท่าไหร่ จะหาเสียงแบบไหน ใช้ยุทธ์ศาสตร์แบบไหนในการหาเสียง แม้กระทั่งเรื่องกระแสความนิยมของพรรค ผมก็พยายาม เอาบทเรียนเที่เคยอยู่พรรคเก่าพรรคที่ไม่ค่อยมีกระแสเอามาปรับ ครั้งนี้ผมถึงเลือกมาอยู่พรรคไทยสร้างไทย เพราะว่าพื้นที่อีสานเป็นพื้นที่ที่หลายคนก็พอเข้าใจว่ากระแสคนที่ยังศรัทธานายกทักษิณ ยังมีเยอะ เพราะฉะนั้นพรรคที่จะลงไปในพื้นที่อีสานจะต้องมีกระแสใกล้เคียงกัน อยากอยู่พรรคที่มีกระแสที่สุด ในเมื่อพื่นที่มีตัวจริงอยู่แล้วก็ต้องพยายามหาพรรคที่ใกล้เคียง รอบที่แล้วมีบัตรใบเดียวด้วยซ้ำ ชาวบ้านก็บอกว่าชอบคนอยู่ แต่ว่าไม่ชอบพรรค ในรอบนี้ผมถึงต้องมาทำการบ้าน รอบนี้มีบัตรสองใบ เราก็พยายามที่ทำในเรื่องของแบรนด์พรรค เราไม่ทำให้กระทบความรู้สึกของพี่น้องประชาชน แล้วก็เอาตัวตนเข้ามานำเสนอให้มากที่สุด อันนี้คือกลยุทธที่ใช้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด แต่ที่สำคัญกว่าก็คือการรักษาไว้ยากยิ่งกว่าการชิงแชมป์ ซึ่งผมจะแบ่งงานออกเป็นสองส่วน งานพื้นที่ การดูแลพี่น้องประชาชนเราไม่เคยห่าง ทั้งๆที่ถ้าจะมองไปแล้วงานบางอย่างไม่ใช่หน้าที่ผู้แทนด้วยซ้ำนะครับ ผู้แทนตามกฎหมายคือ คนที่จะต้องมาทำหน้าที่ในสภาออกกฎหมาย เอาปัญหาของพี่น้องประชาชนมาขับเคลื่อนในกลไกลรัฐสภา แต่งานบุญ งานบวชแถบไม่ใช่แต่ขาดไม่ได้ เพราะอีสานมีทุกวัน มีทุกหมู่บ้าน 310 หมู่บ้าน แต่ก็ต้องไปดูแลให้ความอบอุ่น รับฟังปัญหาลงพื้นที่ไปเหมือนกันกับตอนที่เราหาเสียงใหม่ๆ ส่วนอีกหน้าที่หนึ่งก็คือหน้าที่ในสภา คืออีกหนึ่งบทบาทที่ผมก็พยายามพัฒนา เพราะเราไม่มีพื้นฐานเลย พยายามข้ามขีดจำกัดของตัวเองเหมือนกันต้องเรียนรู้ให้เยอะที่สุด

ณ วันที่ได้เป็น สส.เต็มตัว กับเป้าหมายที่ตั้งไว้

เมื่อได้เข้ามาเป็นตัวแทนของประชาชนทำให้เราได้รับรู้ว่าอำนาจของผู้แทนมีเยอะมากถ้าเราใช้ให้ถูกวิธี ผมก็พยายามเรียนรู้อำนาจตรงจุดนี้ ถ้าเราใช้มันในทางที่ดีมันก็ทรงพลังในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้จริง แต่ถ้าเราไม่ใช้อะไรเลยมันก็เป็นเหมือนสิ่งไม่มีคุณค่า ตรงจุดนี้ที่เป็นสิ่งที่ท้าทายและสิ่งที่ตั้งใจอยากแก้ไขปัญหาในพื้นที่ คือการช่วยเหลือพี่น้องให้ได้เยอะที่สุดไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ปัญหาปากท้อง ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน เราก็จะเป็นตัวกลางในการเป็นปากเป็นเสียงประสานงาน โดยใช้กลไกสภาในการสื่อสาร ใช้บทบาทการเป็นฝ่ายตรวจสอบ ผลักดันงบประมาณหรือผลักดันวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผมว่า 4 ปีที่ผมได้มีโอกาสมาทำหน้าที่เป็นผู้แทนในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด เขตเจ็ด อำเภอปทุมรัตต์, อำเภอเกษตรวิสัย และอำเภอเมืองสรวง อีก 3 ตำบล คิดว่าน่าจะทำให้พี่น้องมีชีวิตที่ดีขึ้นในระดับหนึ่ง หรือถ้าสิ่งนั้นไม่อาจมองเห็นเป็นเป็นรูปธรรมแต่ผมเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่ผมจะทำได้ก็คือการพยายามให้เห็นว่าเราพยายามเต็มที่ สิ่งที่ประชาชนสนับสนุน สิ่งที่ประชาชนให้มา เพื่อมาเป็นปากเป็นเสียง และประชาชนจะมีความรู้สึกว่าผู้แทนยังอยู่ข้างฟังเสียงทำหน้าที่แทนได้อย่างเต็มที่ แต่ว่าใน 4 ปี อาจจะทำอะไรได้ไม่ได้เยอะ ผมจะโฟกัสของพื้นของตัวเอง แล้วก็ภาคอีสานเพราะพื้นที่ผมเป็นพื้นที่ที่ทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ เจอปัญหารอบด้าน ทั้งผลผลิตไม่ดี  ปัจจัยการผลิตไม่เพียงพอ ต้นทุนการผลิตสูง คิดดูว่าอาชีพเกษตรกรมีคนที่จนที่สุดและคนที่รวยสุดทำอาชีพนี้ เป็นสัดส่วนที่แตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาก็คือ พยายามเป็นปากเป็นเสียง รวบรวมข้อมูล พยามยามแสวงหาความร่วมมือไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม เชื่อไหมครับว่าผมมากรุงเทพฯ ผมตกใจ กรุงเทพฯมีแต่คนอีสาน เชื่อไหมว่าคนไทย 70 ล้านคน เป็นคนอีสาน 30 กว่าล้าน อพยพเข้ามาอยู่กรุงเทพ 10 ล้าน เข้ามารับจ้าง ทำงานหลากหลาย ถ้าเลือกได้อยากมารึเปล่าแต่จะให้ทำอย่างไร บ้านเรามันแล้ง มีครั้งหนึ่งนั่งแท็กซี่ คุยกับลุงขับแท็กซี่ถามว่ามาจากกไหน ลุงบอกมาจากอุบล แล้วทำไมถึงมาขับแท็กซี่ ลุงตอบว่าทำนาเสร็จก็เข้ามาขับรถ บ้านเราไม่มีงานทำ นั้นคือสิ่งที่ได้ยินแล้วน่าหดหู่ มีความรู้สึกว่าคนที่ขาดแคลนมีชีวิตอยู่เพื่อรอวันเฉยๆ แตกต่างจากคนที่เขามีเพียบพร้อมเป็นการจัดสรรทรัพยากรไม่เพียงพออย่างมาก คุณภาพชีวิตต้องดีกว่านี้ คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่ต้องสามารถจัดสรรให้ลงตัวให้ได้ อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ทุกคนต้องมีความสุขด้วยกัน และรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยากให้นายกได้ยินซึ่งผมเชื่อว่านายกก็คงรับทราบ แต่ปัญหาทุกอย่างไม่ใช่จะแก้ได้จากตัวนายกเพียงคนเดียว

พรรคที่สังกัดถูกตั้งคำถาม ?

เมื่อพรรคและคนในพรรคถูกสังคมตั้งถาม สส.บิ๊กเล่าว่า การมาเป็นผู้แทนส่วนใหญ่ผมเชื่อว่าทุกคนก็อยากเป็นฝ่ายที่มีอำนาจในการบริหาร เพื่อที่จะช่วยเหลือพี่น้องให้ได้เยอะที่สุด แต่ที่นี้สิ่งที่พี่ๆในพรรคตัดสินใจ อันดับแรกก็คือผมยอมรับการตัดสินใจเพราะเป็นเอกสิทธิ์ อย่างที่สอง ผมตอบแทนไม่ได้ว่าสิ่งที่พี่ๆตัดสินใจถูกหรือไม่ เพราะพี่น้องประชาชนในพื้นที่ของพี่ๆอาจจะต้องการให้เลือกตัดสินใจแบบนั้น ถ้าผมตัดสินใจอีกแบบหนึ่ง ไม่แน่ชาวบ้านอาจจะชอบก็ได้ แต่พื้นที่ของผม ผมเชื่อว่าพี่น้องในพื้นที่ของผมก็คงจะเลือกให้ผมตัดสินใจแบบนี้นะครับ

จุดยืนส่วนตัวในทางการเมือง

สิ่งที่ทำให้ผมยืนหยัดก็คือ คนที่ทำให้ผมได้เข้าไปก็คือน้องประชาชนที่สนับสนุนเรา เพราะประชุมสภาเสร็จ ทุกศุกร์-จันทร์ ผมจะลงไปพื้นที่ตลอด การลงไปพื้นที่มันทำให้เราได้ยินเสียงประชาชน ประชาชนจะมาชื่นชมถ้าอะไรที่ทำไม่ถูกก็จะตักเตือนทำให้รู้สึกว่าทำถูกแล้ว ฟังเสียงพี่น้องประชาชนเป็นหลักดีกว่า สองก็คือทีมงาน ผมคงทิ้งไม่ได้นะครับ ต้องคิดถึงคนที่ร่วมเดินมาด้วยกัน รวมถึงพรรคบุคลากรของพรรคหลายๆท่าน ผู้หลักผู้ใหญ่ ทำให้เราต้องตัดสินใจแบบนั้น ให้กำลังใจกันและกันแล้วก็เข้าใจสถานการณ์ คิดว่าก็คงผ่านไปได้ด้วยดีแต่ไม่ว่าหลังจากนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็จะยึดมติของพรรค ติดขัดตรงไหนผู้ใหญ่ก็คงรับฟัง เพราะการรับรู้ของพี่น้องประชาชนค่อนข้างที่จะตรงไปตรงมา อะไรที่มันซับซ้อนประชาชนค่อนข้างต่อต้าน ผมขอยืนตรงนี้เลยว่า 4 ปีชัชวาลไม่มีทางเป็นงูเห่าแน่นอน เว้นแต่มีอุบัติเหตุทางการเมือง เกิดขึ้นระหว่างทาง ถ้าจะเป็นก็จะต้องเป็นในนามพรรคทั้งองคาพยพ ถ้าเรามีโอกาสได้รับการเชิญในนามพรรค และไม่ผิดสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชน

การแต่งกายเอกลักษณ์

เรื่องสุดท้ายจะไม่พูดถึงเรื่องการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของสส.บิ๊กไม่ได้ ปกติเวลาผมมาประชุมที่สภานะครับ ผมจะแต่งชุดอยู่สองชุดก็คือชุดสูทสากลแล้วก็ชุดผ้าพื้นเมือง  ซึ่งผ้าพื้นเมืองที่ใส่วันี้ก็เป็นผ้าพื้นเมืองของจังหวัดร้อยเอ็ด เรียกว่าผ้าสาเกตตัดในชุดของชุดพระราชทาน ส่วนที่แปลกตาก็คงจะเป็นผ้าขาวม้าที่ต้องนำผ้าขาวม้ามาด้วย วันไหนที่ผมมีอภิปรายผมมักจะผูกผ้าขาวม้าด้วยถ้าใส่กับชุดไทย เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้มา อีกอย่างเป็นวัฒนธรรมอีสานที่มักจะให้ของที่มีค่า หนึ่งในนั้นก็คือผ้าขาวม้าซึ่งเป็นผ้าไหมนะครับ แล้วผ้าขาวม้าผืนเดียวใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทำเป็นโสร่ง กางเกง มัดเอว เวลาไปทำงานก็เอาโพกหัว เวลาคนเฒ่าคนแก่ไปวัดก็เอามาเป็นเบี่ยงใช้ เอาไปทำเปล เพราะฉะนั้นผ้าขาวม้าเป็นสิ่งที่เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ผ้าขาวม้ายังเป็นหนึ่งสิ่งที่ชาวอีสานยังนำมาใช้เพื่อสะท้อนให้เห็นจิตวิญญาณ ทั้งการใช้ประโยชน์ ผมผูกไว้ไม่ให้ตัวเองหลงระเริง รู้ว่าตัวเองคือคนอีสาน ตัวแทนของพี่น้องประชาชนพี่น้องประชาชนให้มา ส่วนใครจะว่าผมบ้านนอกแต่ผมภูมิใจที่ได้ผูกไว้

Soft power

และผมว่าก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วยนะ ผมเห็นว่าอีสานมีซอฟต์พาวเวอร์เยอะนะไม่ว่าจะเป็น อาหาร
การบันเทิง เพลง หมอลำ การแต่งกายที่มีเอกลักษณทุกอย่างมีเรื่องราว ถ้าเอาซอฟต์พาวเวอร์ อีสานมาใช้ ถ้าใช้ในทางที่ถูกมันจะทรงพลังอย่างมาก เพราะอย่าลืมว่าประชากรชาวอีสาน 30 ล้านคน สามารถกระจายความเป็นอีสานได้ทั่วทุกภูมิภาค โจทย์ของรัฐบาลคือจะทำให้สิ่งเหล่านี้มีมูลค่า หรือทรงพลังมากกว่าที่ควรจะเป็น เราขาดคนที่ส่งเสริมผลักดัน เราจะทำอย่างไรถึงจะส่งออกวัฒนธรรมสู่ออกโลกภายนอกได้ทุกคนได้รู้จัก