ก้าวต่อไปของพิธา และคดีพรรคก้าวไกล

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/

 

ก้าวต่อไปของพิธา

และคดีพรรคก้าวไกล

 

ในที่สุดคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ชนะคดีหุ้นไอทีวีตรงตามที่ผมเคยประเมินไว้ในมติชนทีวี

จากนี้ไปก็เป็นเรื่องพรรคก้าวไกลจะเผชิญมรสุมคดีหาเสียงว่าจะแก้ 112 ซึ่งศาลในวันที่ 31 มกราคม ไม่มีทางจบที่คำสั่งยุบพรรคอย่างที่ผมพูดไว้ในวันตัดสินคดีไอทีวีไปแล้ว เพราะตัวคำร้องไม่ได้มีเรื่องการยุบพรรค มีแต่การเสนอให้ก้าวไกลหยุดพฤติกรรมหาเสียงดังกล่าวทันที

โดยทั่วไปแล้วคนเรียกคดีหาเสียงแก้ 112 ว่าเป็นคดียุบพรรคการเมือง

แต่เมื่อผู้ยื่นคำร้องก้าวไกลข้อหานี้ไม่ได้พูดถึงการยุบพรรค ทางเดียวที่จะนำไปสู่ยุบพรรคจึงได้แก่การลุ้นให้ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าการเสนอแก้กฎหมายอาญา ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง จากนั้นต้องลุ้นให้นักร้องไปยื่นศาลยุบพรรคต่อ และก็ต้องให้ศาลตัดสินยุบพรรคซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน

ก้าวไกลจะถูกยุบพรรคหรือไม่ต้องใช้เวลานานกว่าที่ทุกคนคิดกัน

แต่ที่ต้องคิดต่อไปอีกคือจากนี้ขบวนการต่อต้านพรรคที่ชนะเลือกตั้งจะใช้แผนอะไรทำลายพิธาและพรรคก้าวไกลอีก

เพราะต้องยอมรับความจริงว่าประเทศนี้มีกลุ่มที่ต้องการทำลายฝ่ายชนะเลือกตั้งย้อนไปตั้งแต่ยุคไทยรักไทยปี 2549 รวมทั้งพรรคเพื่อไทยในปี 2557 และ 2562 ด้วยเช่นกัน

 

มองในแง่นี้ ประเทศไทยในรอบยี่สิบปีหลังรัฐประหาร 2549 วนเวียนอยู่กับวงจรอุบาทว์ที่เริ่มต้นด้วยการสกัดไม่ให้พรรคชนะเลือกตั้งได้ตั้งรัฐบาล, ตั้งรัฐบาลที่มาจากฝ่ายแพ้เลือกตั้งอย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2562 และคุณเศรษฐา ทวีสิน ในปี 2566 และหาทางยุบพรรคที่ชนะเลือกตั้งอย่างไทยรักไทยและพลังประชาชน

ถ้าไม่เอาประเทศไทยออกจากวงจรอุบาทว์แบบนี้ ก็ไม่มีทางสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในประเทศไทยได้เลย

ไม่ใช่ความลับว่าชัยชนะของพรรคก้าวไกลคือฝันร้ายของทุกพรรคการเมืองในประเทศไทย เพราะทันทีที่พิธานำพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้งปี 2566 ด้วยคะแนนเสียงและ ส.ส.สูงขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับสมัยอนาคตใหม่ปี 2562 ก็เท่ากับว่าก้าวไกลแย่งคะแนนเสียงจากทุกพรรคจนได้ ส.ส.และคะแนนเสียงรวมกันน้อยลงเท่าตัวด้วยทันที

ก้าวไกลทำพรรคโดยมีจุดยืนและอุดมการณ์ต่างจากพรรคการเมืองอื่นอย่างชัดเจน ชัยชนะของก้าวไกลจึงเป็นหลักฐานของความสนับสนุนที่ประชาชนมีต่อจุดยืนและอุดมการแบบก้าวไกลด้วยแน่ๆ

และการเติบโตจากอนาคตใหม่ถึงก้าวไกลก็คือสัญลักษณ์แห่งการถดถอยของจุดยืนและอุดมการณ์แบบพรรคการเมืองอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม

 

โดยปกติทุกพรรคการเมืองล้วนอ้างว่าตัวเองมีอุดมการณ์ แต่โดยปกติอีกเช่นกันที่พรรคการเมืองมักอ้างว่าตัวเองทำอะไรก็ได้เพราะไม่ได้ยึดติดอุดมการณ์จนตายตัวไปหมด

อุดมการณ์ของนักการเมืองและพรรคการเมืองทั่วไปจึงเป็นเหมือนกับน้ำปลาพริกบนโต๊ะอาหารของคนไทยที่เอะอะต้องมีไว้ก่อน แต่ถ้ามีแล้วเน่าคาโต๊ะก็ไม่มีปัญหาอะไร

ด้วยการแสดงจุดยืนและอุดมการณ์แบบพรรคก้าวไกล “กระแส” ของประชาชนทำให้ทุกพรรคต้องแสดงจุดยืนและอุดมการณ์ที่ตัวเองอาจมีหรือจริงๆ แล้วไม่มี บางพรรคต้องพูดว่าปิดสวิตช์ 3 ป.และต่อต้านอำนาจพิเศษของทหาร บางพรรคต้องพูดว่าสนับสนุนนายกฯ จากพรรคที่ได้เสียงข้างมาก ฯลฯ โดยที่พอหมดเทศกาลเลือกตั้งก็ไม่ทำตามคำพูดเลย

นักการเมืองไทยจำนวนมากชอบอ้างเวลาโกหกประชาชนว่าตัวเองเป็นพวก “ปฏิบัตินิยม” แต่ถ้านักการเมืองจะขยันอ่านมากกว่าจำขี้ปากฝรั่งมาพูด นักการเมืองก็คงจะรู้ว่า “ปฏิบัตินิยม” หรือ “Pragmatism” ไม่ได้หมายถึงคนกะล่อนหรือข้ออ้างเพื่อโกหกปลิ้นปล้อนแบบศรีธนญชัย แต่คือการหาทางทำให้อุดมการณ์บางอย่างเกิดผลทางปฏิบัติจริงๆ

ทันทีที่ก้าวไกลประกาศอุดมการณ์และจุดยืนซึ่งต่างจากพรรคอื่น รวมทั้งทันทีที่ก้าวไกลไม่ตระบัดสัตย์ประชาชนโดยเลิกนโยบายแก้ 112 ตามที่ ส.ว.และพรรคภูมิใจไทยขอเพื่อแลกเสียงโหวตนายกฯ สังคมยิ่งเห็นว่าพรรคมีอุดมการณ์เกิดขึ้นจริง, เติบโตจริง และชนะอันดับหนึ่งได้

เช่นเดียวกับเห็นปัญหาของพรรคที่ไม่มีอุดมการณ์นอกจากขอเป็นรัฐบาล

 

ส.ส.ของก้าวไกลทั้งหมดคือ “คนหน้าใหม่” ที่ไม่เคยมีใครเป็น ส.ส.ก่อนมีพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา วิธีทำพรรคแบบก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นเท่าตัวโดย ส.ส.กว่า 150 เป็นคนใหม่ทั้งหมดจึงเป็นปรากฏการณ์ซึ่งสะท้อนว่าสังคมไทยต้องการการเมืองแบบก้าวไกลและปฏิเสธการเมืองแบบอื่นสูงขึ้นเรื่อยๆ จนสั่นคลอนทุกพรรคมุ่งแต่แย่งอำนาจรัฐบาล

ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่พรรคใหญ่ทุกพรรคจะอึดอัดก้าวไกล เพราะก้าวไกลให้ทางเลือกกับประชาชนว่าประเทศนี้ไม่ได้มีแต่นักการเมืองบ้านใหญ่กับพรรคของกลุ่มทุนการเมือง

ที่สำคัญกว่านั้นคือก้าวไกลทำลายวาทกรรมว่า “การเมืองที่เป็นจริง” ต้องมีแต่นักการเมืองบ้านใหญ่และกลุ่มทุนตั้งพรรคเพื่อทำดีลลับทางการเมืองทางประตูหลังตลอดเวลา

อดีตรัฐมนตรีชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พูดถูกว่าเลือกตั้งรอบหน้าทุกพรรคต้องร่วมมือกันเพื่อเอาชนะก้าวไกล

แต่สิ่งที่คุณชัยวุฒิผิดคือการรวมหัวโค่นก้าวไกลไม่ใช่ภารกิจที่ทุกพรรคต้องทำให้ได้

เพราะสิ่งที่พรรคการเมืองควรทำคือการเอาชนะใจประชาชนที่มีความคาดหวังแบบใหม่ๆ มากกว่าที่พรรคเก่าๆ กับนักการเมืองหน้าเก่าๆ และลูกหลานเสนอให้กับประชาชน

 

ถ้าเปรียบเทียบการเมืองในประเทศไทยกับตลาด ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจซื้อในตลาดก็แสดงออกแล้วว่าต้องการสินค้าการเมืองแบบใหม่จนเลือกก้าวไกลเป็นอันดับหนึ่ง แต่สิ่งที่คุณชัยวุฒิคิดคือพรรคการเมืองเก่าๆ ต้องจับมือกันฮั้วขายสินค้าเก่าๆ โดยไม่ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ตรงกับที่ประชาชนต้องการ อย่างมากก็แค่ปรับหีบห่อนิดเดียว

หากมองการเมืองเหมือนสินค้าในตลาด เมื่อใดที่ผู้ผลิตสินค้าหน้าเก่าๆ ไม่รู้จักปรับตัว หรือปรับเต็มที่ก็แค่เปลี่ยนโลโก้หรือเปลี่ยนหีบห่อภายนอก เมื่อนั้นผู้บริโภคก็จะหันไปซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นๆ อย่างช่องทางออนไลน์ต่างๆ หรือไม่อย่างนั้นก็คือลดปริมาณการซื้อลงให้เหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ

คำพูดคุณชัยวุฒิมีข้อดีอย่างเดียวตรงการสารภาพให้เห็นว่า “ชนชั้นนำ” คิดเรื่องการสนธิกำลังเพื่อเอาชนะพรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับพรรคการเมืองเก่าๆ ที่คิดเรื่องฮั้วเพื่อบีบบังคับคะแนนเสียงจากประชาชนหลายสิบล้านคน

แต่ที่จริงการฮั้วเพื่อแย่งอำนาจก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นอยู่แล้วจากกรณี “ดีลลับ” จนเกิด “รัฐบาลข้ามขั้ว” และ “ชั้น 14” ในปัจจุบัน

 

ในคำตัดสินคดีพิธาข้อหาไอทีวีที่เพิ่งผ่านไป ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือนักกฎหมายชั้นนำของประเทศที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งทำงานวิชาการจริงๆ ล้วนให้ความเห็นตรงกันว่า “ตามหลักกฎหมาย” แล้วพิธาไม่ผิด ไอทีวีไม่มีสภาพเป็นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามพิธาเป็น ส.ส.ไม่ได้ และยิ่งไม่มีสิทธิที่ กกต.จะใช้เรื่องนี้ฟ้องอาญาเพื่อตัดสิทธิการเมืองพิธาอีก 20 ปี

ไม่มีสังคมปกติที่ไหนที่นักกฎหมายต้องประเมินคดีต่างๆ โดยระแวงว่ากระบวนการยุติธรรมอาจตัดสิน “ตามหลักอื่นๆ” ซึ่งไม่ใช่ “หลักกฎหมาย” ต่อให้คำตัดสินคดีพิธาจะจบแบบที่พิธาไม่ผิดเพราะไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ แต่การใช้กฎหมายและองค์กรอิสระเพื่อกำจัดพรรคที่ชนะเลือกตั้งจะไม่จบไปพร้อมกับการวินิจฉัยคดีพิธาและพรรคก้าวไกลอย่างแน่นอน

แม้แต่เพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน การดำเนินนโยบายอย่างแจกเงิน 1 หมื่นก็เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงจะถูกคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไปยื่นองค์กรอิสระเอาผิดอยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้พรรคก้าวไกลจะย้ำจุดยืนประชาธิปไตยว่าไม่เห็นด้วยและจะไม่ใช้วิธียื่นองค์กรเหล่านี้เอาผิดรัฐบาล แต่พรรคอื่นและ “นักร้อง” ก็ไม่ได้มีจุดยืนแบบเดียวกับก้าวไกล

ในโอกาสที่สังคมไทยกำลังเดินหน้าจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถึงเวลาแล้วที่องค์กรอิสระและองค์กรกระบวนการยุติธรรมควรจะได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังว่าเป็นองค์กรที่แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันแน่

เพราะไม่มีนักการเมืองคนไหนและพรรคการเมืองไหนควรเผชิญปัญหานี้แบบเดียวกับพิธาและพรรคก้าวไกลแม้แต่พรรคเดียว