ประวัติศาสตร์ (ไม่) ลับฉบับ ‘เหา’ (7) ‘เหา’ สายพันธุ์ B แห่งตะวันออกกลาง

ดร. ป๋วย อุ่นใจ

คอสตา มัมคูโอกลู (Kosta Y Mumcuoglu) นักกีฏวิทยาทางการแพทย์จากโรงเรียนแพทย์ฮาดาสซาห์ (Hadassah Medical School) มหาวิทยาลัยฮีบรูว์ (Hebrew University) ในอิสราเอล คือ นักวิจัยที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เรื่องเหาตัวจริงที่มีประสบการณ์ศึกษาเหามาแล้วกว่า 35 ปี

“มันยากนะที่จะบอกผู้คนว่าเหานั้นมีประโยชน์ แต่ถ้าคุณเริ่มทำความเข้าใจเหา คุณจะไม่สามารถหยุดที่จะพิศวงไปกับความมหัศจรรย์ที่คุณได้พบเจอจากการศึกษาเหา” คอสตากล่าวพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า

คำถามก็คือ “พระเจ้าถึงสร้างเหาขึ้นมาทำไม?”

เพราะเหามนุษย์จะติดเฉพาะแค่กับโฮสต์ที่เป็นมนุษย์ (และบรรพบุรุษของเผ่าพันธุ์มนุษย์) เท่านั้น พวกมันจะไม่ติดเชื้อข้ามไปสู่สิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เหาจึงเหมือนปีศาจร้ายที่เฝ้าจองล้างจองผลาญเผ่าพันธุ์มนุษย์ (และวงศ์วานว่านเครือของมนุษย์) อย่างรักเดียวใจเดียวมาแล้วกว่า 6 ล้านปี คือตั้งแต่ก่อนที่มนุษย์โฮโม เซเปียนส์ (Homo sapiens) คนแรกจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก

นอกจากจะเป็นปรสิตที่คอยสร้างความรำคาญ ความทุกข์ทรมานและความอับอายมาสู่มนุษย์โชคร้ายที่ติดพวกมันแล้ว เหายังเป็นตัวนำโรคร้ายที่อันตรายถึงชีวิตอีกหลายโรค อย่างเช่น ไข้ไทฟัส (Typhus) และไข้เทรนช์ (trench disease) มาสู่มนุษย์อีกด้วย

และถ้าว่ากันตามพระคัมภีร์พันธสัญญาเดิม ในหนังสืออพยพ (Exodus) บทที่ 8 มีช่วงหนึ่งที่กล่าวถึงแมลงปรสิต ซึ่งเป็นช่วงที่พระเยโฮวาห์ (Lord Jehovah) ทรงสั่งให้โมเสสไปแจ้งฟาโรห์ให้ปล่อยผู้คนของพระองค์ไป แต่ฟาโรห์ไม่ยอม

“พระเยโฮวาห์ จึงตรัสรับสั่งให้โมเสส (Moses) บอกอาโรน (Aaron) ให้ยกชูไม้เท้าขึ้น แล้วหวดลงไปที่ผืนดินให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย ฝุ่นที่คลุ้งขึ้นมานี้จะกลับกลายเป็น “เหา (lice)” (บางตำราบอกว่าเป็นริ้น (gnat)) ระบาดไปทั่วทั้งดินแดนแห่งอียิปต์ เมื่อทั้งสองได้ยินคำตรัส อาโรนก็เหยียดชูไม้เท้าขึ้นสูง และทันทีที่เขาหวดไม้ลงไปที่ผืนดิน ฝูงเหาก็เข้าจู่โจมสู่คนและสัตว์ ฝุ่นทั้งหลายบนผืนพิภพก็กลับกลายเป็นเหาไปเสียสิ้น ไปจนทั่วทั้งดินแดนแห่งอียิปต์”

บางที เหาอาจจะเป็นหนึ่งในปีศาจร้ายที่พระเจ้าสร้างขึ้นมาเพื่อลงโทษมนุษย์ที่ออกนอกลู่นอกทางก็เป็นได้

แต่คำถามที่ต้องถามถัดมาคือ ในยุคนั้น มี “เหา” แล้วอย่างงั้นหรือ?

ภาพอาโรนและโมเสสเสกฝุ่นผงให้กลายเป็นเหาจาก Exodus 8:16 (ภาพสร้างจาก DALL-E 3 AI)

คําตอบคือ “มี” ดังที่บอกไปในตอนก่อนๆ หวีสางที่ได้จากการขุดค้นเพื่อวิจัยทางโบราณคดีในเมืองลาชิช (Lachish) ในอิสราเอล ที่มีอายุยาวนานกว่า 3,700 ปี บนหวีมีจารึกภาษาแคนันโบราณ (Canaan) เอาไว้ว่า “ขอให้งาช้างนี้ขจัดปัดเป่าเหาออกไปจากผมและเครา (May this tusk root out the lice of the hair and the beard”)

นั่นหมายความว่าเหานั้นระบาดอยู่ในอิสราเอลและแถบตะวันออกกลางมานานแล้ว

แต่ที่คอสตาสงสัยคือเหาตะวันออกกลางพวกนี้เป็นสายพันธุ์ไหนกันแน่?

เพราะถ้าแบ่งเหาตามสายวิวัฒนาการแล้ว เหาจะแบ่งออกได้เป็น 5 สายพันธุ์ (Clade) ซึ่งก็คือ A B C D และ E (ในเอกสารส่วนมาก จะพูดถึงเหาแค่ 3 สายพันธุ์ คือ A B และ C ในส่วนของสายพันธุ์ D และ E ที่เพิ่งถูกแยกออกมา มักจะไม่ถูกกล่าวถึงในตำราและเปเปอร์ส่วนใหญ่)

อาจจะเป็นสายพันธุ์ A ซึ่งก็คือสายพันธุ์เหาที่พบมากที่สุด แพร่กระจายไปทั่วโลก

เหาสายพันธุ์ A มีทั้งที่ดำรงชีวิตเป็นเหาที่รุกรานอยู่บนศีรษะของคนและเหาที่อยู่บนร่างกายมนุษย์

และที่จริง เหาสายพันธุ์นี้เองที่พบอยู่ในผมถักของหัวมัมมี่พันปีจากประเทศเปรูที่อยู่ยั้งยืนยงมาตั้งแต่สมัยก่อนยุคเฟื่องฟูของอาณาจักรอินคาที่เป็นหลักฐานสำคัญที่ช่วยเคลียร์ประเด็นที่ว่าคณะสำรวจของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นั้นไม่ใช่ตัวการที่พกพาเหาจากโลกเก่ามาระบาดในทวีปอเมริกาใต้

ที่จริง เหานั้นมันระบาดมาอยู่ก่อนแล้วเป็นร้อยปี ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มต่อเรือให้คริสโตเฟอร์เสียอีก

หรืออาจจะเป็นสายพันธุ์ B ที่เป็นสายพันธุ์ของพวกเหาศีรษะ เหาสายพันธุ์นี้พบระบาดเป็นส่วนใหญ่ในแถบดินแดนโลกใหม่ (อเมริกา) ลามไปยุโรป ออสเตรเลีย และพบบ้างในแอฟริกา

หรืออาจจะเป็นเหาศีรษะสายพันธุ์ C ที่หาค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่พบกระจายตัวกันไปในหลายๆ ประเทศ เช่น เนปาล เอธิโอเปีย รวมไปถึงประเทศไทยด้วย หรืออาจจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ D และ E ที่เพิ่งแยกออกมาจาก A และ C เมื่อไม่ถึงสิบปีก่อน

 

ทว่า น่าเสียดายที่ซากเหาจากหวีโบราณจากเมืองลาชิชนั้น เสียหายมากเสียจนไม่สามารถเอามาสกัดแยกดีเอ็นเอออกมาศึกษาอะไรได้ เพื่อสืบสาวหาต้นตอแห่งเหาแห่งแถบตะวันออกกลาง คอสตาและทีมจึงเริ่มคัดเลือกและค้นหาตัวอย่างเหาโบราณในแถบตะวันออกกลาง นอกเหนือจากหวีโบราณจากเมืองลาชิชกันอย่างจริงจัง

และแล้ว ทีมของคอสตาก็ไปสะดุดกับตัวอย่างหวีโบราณจากยุคโรมันที่มีอายุอยู่ราวๆ 2,000 ปี อยู่ 3 เล่ม

เล่มแรกขุดได้จากป้อมปราการเล็กๆ ของพวกนาบาเทียน (Nabatean) ที่แถบฮาตเซวา (Hatzeva) ในทะเลทรายจูเดียน (Judean dessert) ระหว่างเมืองเจริโค (Jericho) กับทะเลสาบเดดซี (Dead Sea) ในอิสราเอล

ส่วนอีกสองเล่มนั้นขุดพบในจุดพักแรมโบราณบนเส้นทางคาราวานค้าขายเครื่องเทศระหว่างเมืองเพทรา (Petra) และเมืองกาซ่า (Gaza) ในไซต์นี้มีเศษซากอารยธรรมเหลืออยู่อย่างล้นเหลือ ทั้งโรงเตี๊ยม (caravanserai) ป้อมปราการ และโบสถ์โบราณ

คอสตาตัดสินใจที่จะสกัดแยกซากเหาโบราณที่ติดอยู่บนหวีทั้งสาม และเริ่มสกัดดีเอ็นเอออกมาเพื่อวิเคราะห์พันธุกรรมเหายุคโรมัน และเมื่อได้ผล คอสตาและทีมก็แทบจะอ้าปากค้าง นอกจากจะเจอเหาสายพันธุ์ A ที่เป็นสายพันธุ์เดียวกันกับที่พบจากผมเปียของมัมมี่ในเปรูตามที่คาดหวังเอาไว้

คอสตาและทีมยังพบดีเอ็นเอที่มาจากเหาสายพันธุ์ B อีกด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก

เพราะว่านี่คือการค้นพบเหาโบราณสายพันธุ์ B ครั้งแรกในตะวันออกกลาง!!!

 

ปกติ เหาสายพันธุ์ A นั้นระบาดไปทั่วอยู่แล้ว เพราะมีประวัติรังควานมนุษย์มายาวนานตั้งแต่ยังอยู่กันที่แอฟริกา และเมื่อมนุษย์ที่อพยพย้ายออกจากมาแอฟริกาเมื่อราวๆ 100,000 ปีก่อน พวกมันเริ่มระบาดกระจายไปทั่วพร้อมๆ กับมนุษย์อพยพ

การที่จะพบเจอเหาสายพันธุ์ A ในอิสราเอลนั้นจึงไม่ใช้เรื่องแปลก

แต่สำหรับเหาสายพันธุ์ B นั้นไม่ใช่ การค้นพบเหาสายพันธุ์ B จากหวีในยุคโรมัน ในประเทศอิสราเอลถือเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะแต่เดิม เชื่อกันว่าเหาสายพันธุ์ B นั้นวิวัฒน์ขึ้นมาในทวีปอเมริกา หรือ “ดินแดนแห่งโลกใหม่” และเริ่มระบาดไปยังยุโรปในยุคล่าอาณานิคม พร้อมกับกลุ่มนักสำรวจดินแดนใหม่ หรือก็คือพวกของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นั่นแหละ

ตอนสายพันธุ์ A โดนหาว่าเอาเข้าไปติด พอสายพันธุ์ B โดนหาว่าไปเอาออกมาแพร่… งานนี้ โคลัมบัสโดนอีกแล้ว

ทว่า งานวิจัยหวีโบราณของคอสตา ชี้ชัด (อีกแล้ว) ว่านั่นไม่ใช่ประเด็น คริสโตเฟอร์ยังคงบริสุทธิ์อยู่ เหาสายพันธุ์ B ไม่ได้อุบัติขึ้นในดินแดนโลกใหม่ และทีมลูกเรือของคริสโตเฟอร์ก็ไม่น่าจะใช่ทีมแรกที่เข้าไปเอาพวกมันออกมาจากอเมริกา ไปยุโรป และเอเชีย เพราะถ้าดูจากหลักฐานเหาในหวี เหาสายพันธุ์ B ระบาดไปถึงตะวันออกกลางแล้ว ตั้งแต่ยุคโรมันเรืองอำนาจ ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะค้นพบทวีปอเมริกาเป็นพันปี

คอสตาตั้งสมมุติฐานว่าเหาสายพันธุ์ B นี้น่าวิวัฒนาการมาจากเหาที่ติดมนุษย์ดึกดำบรรพ์ซักกลุ่มอาจจะเป็นพวกมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลที่อพยพจากแอฟริกาเข้าไปในยุโรปและเอเชีย และจึงค่อยติดต่อข้ามโฮสต์มารังควานมนุษย์เซเปียนส์แทนในภายหลังผ่านทางความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างสังคมมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลและมนุษย์เซเปี้ยนส์ในยุคนั้น

สมมุติฐานจะจริงหรือไม่นั้นไม่รู้ แต่ที่รู้คือมีมนุษย์ที่ไหน มีเหาที่นั่น และ “ที่สำคัญ ไม่ต้องไปเพ่งโทษคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส และกลุ่มนักล่าอาณานิคมว่าเป็นพาหะนำเหา เพราะแท้จริงแล้ว พวกมันกระจายไปทั่ว (เป็นร้อยปี) แล้ว ตั้งแต่ก่อนยุคล่าอาณานิคม”

 

อย่างที่คอสตากล่าวไว้ “มันยากนะที่จะบอกผู้คนว่าเหานั้นมีประโยชน์” แต่การค้นพบนี้ของเขาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS ONE ในปี 2016 ได้ทำให้เรามองเห็นเรื่องราวจากอดีตชัดเจนแจ่มแจ้งมากยิ่งขึ้น

คอสตาได้แสดงให้เห็นชัด… ด้วยผลงานว่าแท้จริงแล้ว (ซาก) เหา (โบราณ) นั้นมีประโยชน์จริงๆ อย่างน้อยก็เป็นกระจกที่ช่วยสะท้อนภาพแห่งประวัติศาสตร์ที่เมื่อได้รู้เพิ่ม ก็ยิ่งทำให้เริ่มที่จะสงสัยสิ่งที่เรารู้และพิศวงกับความมหัศจรรย์ของเหามากขึ้น

และจากที่ผมไปแอบส่งเปเปอร์ดู ยังคงศึกษาเหาอย่างแอคทีฟจนถึงปัจจุบัน

ส่วนตัวผมชอบงานวิจัยเหาของคอสต้า เพราะเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจ

“บางทีสิ่งเล็กๆ ที่ดูไร้ค่า อย่าง ‘เหา’ ที่แสนจะน่ารำคาญ อาจจะแฝงไปด้วยคุณค่ามหาศาล และอาจจะให้ประโยชน์อย่างคาดไม่ถึง หากเรารู้วิธีที่จะดึงเอาคุณค่าของมันออกมาใช้…”