‘ชัปนะ ปิ่นเงิน’ บุปผาชนหล่นราน ผูกใบลานปลิดปลิว

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ร่างไร้วิญญาณของ ดร.ชัปนะ ปิ่นเงิน ที่นอนแน่นิ่งอยู่ในโลงศพ ได้ถูกนำเข้าเตาเผาบนกองเพลิงจิตกาธานอย่างเงียบเชียบ ไร้เสียงพิธีกรกล่าวแนะนำเกียรติประวัติ ไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก ขณะนั้นเป็นเวลา 14.00 น. ของวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2567 ณ สุสานวัดสันป่าสักวรอุไรฯ ต.หางดง อ.เมือง จ.เชียงใหม่

เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้วายชนม์ซึ่งเป็นคนสมถะ อิสระ รักสันติ และสันโดษ เมื่อครั้งมีชีวิตก็หยิ่งทระนงอยู่อย่างเงียบๆ ไม่หิวแสง ไม่กระโตกกระตากโวยวายเรียกร้องสิ่งใดจากใคร ยามจากไปก็ไม่ปรารถนาให้โลกต้องมาร่วมฟูมฟาย

“วิถีของผมคือ ผู้ภิกขาจาร ไม่ต่างจากวิถีของสมณะ นักบวช”

อาจารย์ชัปนะกล่าวเช่นนี้เสมอ เมื่อมีการถามว่า “อาจารย์ต้องการอะไรบ้างไหม ค่าวิทยากร ค่าวิจัยงานชิ้นนี้ อาจารย์คิดเท่าไหร่”

จะไม่มีทางเด็ดขาด ที่เราจะได้ยินคำตอบออกจากปากชายผู้วางตัวเสมือน “ภิกขาจาร” ผู้ไม่เคยร้องขอสิ่งใดจากใคร นาม “ชัปนะ” ผู้นี้เลย

ดร.ชัปนะ ปิ่นเงิน นักภาษาโบราณ แนวบุปผาชน ถ่ายที่คานาซาวาเมื่อ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา

จากฮิปปี้คนวงการบันเทิง

สู่นักอ่านจารึก

วงการประวัติศาสตร์ล้านนาได้สูญเสียปราชญ์ ผู้รอบรู้ ซึ่งเป็นเพชรน้ำงามไปแล้วอีกหนึ่งเม็ด โดยเฉพาะตัวดิฉันเอง รู้สึกทั้งใจหาย เสียดาย และเสียใจอย่างสุดจะพรรณนา

ดิฉันรู้จักกับหนุ่มผมยาวท่านนี้มาตั้งแต่ปี 2545 ช่วงที่ยังทำงานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ผ่านการแนะนำจาก “อ้ายไพฑูรย์ พรหมวิจิตร” กวีล้านนา ซึ่งขณะนั้นอ้ายรับราชการในตำแหน่งนักภาษาโบราณ อยู่ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ที่ซึ่งอาจารย์ชัปนะก็ฝังตัวฝังกายมีโต๊ะทำงานอยู่ ณ ที่นั้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ในฐานะนักวิชาการอิสระ นักวิจัยด้านภาษาโบราณด้วย

“เพื่อนอ้ายชื่อ ชัปนะ อย่าไปเรียก ฌาปนะ นะน้องเพ็ญ แกเกลียดระบบราชการ ไม่ยอมบรรจุ ทั้งๆ ที่มีตำแหน่งว่าง แกรักอิสระ มารับจ๊อบช่วยงานสถาบันวิจัย แกเป็นลูกศิษย์คนโปรดของท่านอาจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร สมัยหนุ่มๆ เป็นนักดนตรีฮิปปี้ นึกยังไงอ้ายก็ไม่รู้ ตัดสินใจมาฝากตัวเรียนรู้งานกับ ดร.ฮันส์ เพนธ์ แกเลยเก่งกว่าอ้าย เพราะอ้ายไม่ได้จบ ป.โท คณะโบราณคดีแบบแก มีอะไรเรียกใช้บริการอ้ายชัปได้เลยนะน้องเพ็ญ จะให้อ่านตั๋วเมือง ฝักขาม ขอมโบราณอ่านได้หมด ยกเว้นมอญโบราณ”

อาจารย์ชัปนะ ช่วยดิฉันนำเสนอจุดเด่นของศิลาจารึกวัดพระยืนว่ามีคุณค่าด้านใดบ้าง ทำไมจึงสมควรได้รับรางวัลเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกจากยูเนสโก

นี่คือข้อมูลประวัติของนักภาษาโบราณผิวคล้ำแบบคร่าวๆ ที่อ้ายไพฑูรย์ใช้ชั้นเชิงความเป็นกวีถ่ายทอดได้อย่างกระชับ แทบจะครอบคลุมทุกด้านพอสมควร

“อ้าว! เคยเป็นฮิปปี้ด้วยหรือ แล้วนึกยังไงถึงมาเป็นนักภาษาโบราณล่ะคะ มันย้อนแย้งไหม?”

“ไม่ย้อนแย้งหรอกครับ ต่างอะไรจากคุณ สมัยวัยรุ่นประกาศตัวเป็นกวิณี เป็นบุปผากวี ไว้ผมยาวถึงสะโพก แต่งตัวยิปซี ก็คือฮิปปี้ฝ่ายหญิงดีๆ นี่เอง แล้วอยู่ๆ ก็ผันตัวมาเป็นนักโบราณคดีแบบเอาเป็นเอาตายได้อย่างไรกัน หากผมจะถามบ้าง”

บ๊ะ! หมอนี่ มาแอบรู้ประวัติดิฉันตั้งแต่เมื่อไหร่ ย้ายชีวิต ย้ายนิวาสสถานมาอยู่ลำพูนแบบเงียบๆ คนในพื้นที่แทบไม่ค่อยมีใครรู้ปูมหลังว่าดิฉันเป็นใคร เคยสร้างวีรกรรมอะไรไว้ในแวดวงวรรณกรรมบ้าง

“ผมต้องรู้จักคุณสิ! เพราะผมจบราม คณะมนุษย์วิชาเอกภาษาไทย มีใครไม่รู้จัก เพ็ญ ภัคตะ บ้าง กว่าจะจบรามผมเรียนเกือบ 10 ปี แล้วไปทำงานที่โซโก้ จากนั้นย้ายไปแกรมมี่ สุดท้ายเมื่อค้นพบตัวเองว่าผมไม่ได้ต้องการเป็นนักดนตรี นักแต่งเพลง อะไรนั่น ผมจึงตัดสินใจไปเรียน ป.โท ที่คณะโบราณคดีของคุณ แต่เรียนสาขาจารึกภาษาตะวันออกนะ ช่วงนั้นคุณน่าจะจบ ป.โท ประวัติศาสตร์ศิลป์ไปแล้วก่อนผม”

คำแนะนำตัวครั้งนั้น คือจุดเริ่มต้นของบานประตูช่องเล็กๆ ที่ทำให้เราได้รู้จักปูมหลังของกันและกันพอประมาณ

จากนั้น เมื่อเราเริ่มสนิทกันมากขึ้น อาจารย์ชัปนะก็ค่อยๆ เล่าวีรกรรม (แกเรียก วีรเวร) อะไรต่อมิอะไรแบบหลุดโลก สมัยที่แกเป็นบุปผาชนเมืองบางกอก

ซึ่งดูค่อนข้างย้อนแย้งกับบุคลิกเงียบๆ ติ๋มๆ พูดน้อย ยิ้มน้อย จนได้รับฉายา “ไอ้เสือยิ้มยาก” จากอ้ายไพฑูรย์ อยู่ไม่น้อย

ในทุกๆ ปีของวันเด็ก อาจารย์ชัปนะจะมาช่วยจัดกิจกรรม “สืบสายลายเมือง” สอนเด็กๆ ให้เขียนตัวอักษรพื้นเมืองที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย

งามของผมคือก้มหน้าก้มตา

ชำระสะสางหลักฐานชั้นต้น

ในงานศพที่วัดสันป่าสักฯ มีผู้ไถ่ถามดิฉันกันมากว่า ผลงานชิ้นโดดเด่นของอาจารย์ชัปนะคืออะไร หมายความว่าพอพูดถึงชื่อ “ชัปนะ” ปั๊บ โลโก้โดดเด่นของแกที่โลกต้องจารจำไปชั่วฟ้าดินคืองานชิ้นใดหรือ

ดิฉันขอตอบว่า ตลอดช่วงชีวิตที่แกรับทำงานวิจัยด้านเอกสารโบราณให้กับสถาบันวิจัยสังคม มช.ก็ดี หรือหน่วยงานอื่นๆ ที่มาจ้างเป็นชิ้นๆ เป็นจ๊อบๆ ก็ดี แกมักทำงานในลักษณะ “อยู่เบื้องหลัง” ทำนอง “ปิดทองหลังพระ” คือช่วยอ่านใบลาน ปริวรรตเนื้อหาของคัมภีร์แต่ละผูก จารึกแต่ละหลัก แล้วเรียบเรียงให้เป็นภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้นด้วยการทำเชิงอรรถ

ปัญหาคือ งานส่วนใหญ่ของแกนั้นจะถูกเก็บงำอยู่ในไฟล์ข้อมูล อยู่ในคอมพิวเตอร์ เฉพาะนักวิชาการเท่านั้นที่รู้วิธีว่าจะเสิร์ชหาได้อย่างไร ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลดิบ พร้อมชงพร้อมเสิร์ฟให้คนเจ้าปัญหาขี้สงสัยอย่างดิฉันนำไปใช้แตกประเด็นวิเคราะห์ต่อ

แนวอาจารย์ชัปนะไม่ได้เป็นนักเรียบเรียงบทความเจ้าสำบัดสำนวน หรือนักตั้งประเด็นคำถามต่อปมประวัติศาสตร์หน้าใดหน้าหนึ่ง แล้วต้องขบให้แตกละเอียดแบบดิฉัน

ด้วยเหตุนี้ ผลงานของอาจารย์ชัปนะจึงไม่ได้อยู่ที่ “ชื่อของหนังสือ” ที่มีการพิมพ์รวมเล่ม หรือไม่ได้อยู่ที่การเปิดนักตั้งประเด็น ปริศนามันส์ๆ แสบๆ คันๆ ณ “ฉากหน้า” แบบดิฉัน

แต่แกเป็น “กองหนุนอยู่ฉากหลัง” เป็นคนปรุง “ข้อมูลดิบ” ให้คนช่างสงสัยอย่างดิฉันนำไปใช้ต่อล้อต่อเถียงกับใครๆ ได้อย่างไม่ผิดพลาด เพราะแกช่วยตรวจสอบหลักฐานชั้นต้นให้เรียบร้อยแล้ว

ทุกกิจกรรมที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย สมัยที่ดิฉันเป็นแม่งานจัด อาจารย์ชัปนะไม่เคยพลาดในฐานะแฟนพันธุ์แท้

ช่วยยืนยัน “หริภุญไชย” ว่าสะกดด้วยไม้มลาย

ช่วยผลักดัน “จารึกวัดพระยืน” สู่ยูเนสโก

สําหรับดิฉันแล้ว ช่วงที่ยังทำงานให้กรมศิลปากร เคยใช้บริการอาจารย์ชัปนะปีละหลายจ๊อบหลายโครงการเลยทีเดียว จะนำมาสาธยายในบทความนี้คงต้องใช้พื้นที่มากกว่า 30 หน้า ขอยกตัวอย่างเฉพาะงานชิ้นที่โดดเด่นมาให้ดู พอเห็นได้ว่าเราทำงานร่วมกันในลักษณะไหน อย่างไร

ทำไมการสูญเสียอาจารย์ชัปนะจึงทำให้ดิฉันใจหาย และหัวใจแทบสลายได้ถึงเพียงนี้

งานชิ้นแรก ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่ชาวลำพูนไม่มีวันลืมดิฉันอย่างแน่นอน เพราะเป็นแม่ญิงที่กล้าลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า “หริภุญไชย-หริภุญชัย” ทำไมกรมศิลป์เขียนแบบหนึ่ง วัดพระธาตุเขียนอีกแบบหนึ่ง

ดิฉันอาจหาญจัดสัมมนาประชาพิจารณ์เรื่องนี้นานถึง 2 ปี (ตราบที่ไม่มีคำตอบก็จะไม่ยอมหยุด) ท่ามกลางเสียงก่นด่าของคนลำพูน ว่า หน็อย! ถือดียังไงมายืนยันว่า ไชย ถูก ในเมื่อทางวัดใช้ ชัย

ระหว่างปี 2546-2548 ช่วงที่ดิฉันหน้าดำคร่ำเคร่งกับการหาคำตอบเรื่อง หริภุญไชย-หริภุญชัย เขียนอย่างไรกันแน่ ขอสารภาพว่าที่ยืนหยัดอย่างไม่ยอมแพ้นั้น ก็เพราะได้นักวิชาการสามท่านมายืนประกบซ้ายขวาหน้าหลัง คอยเป็นแบ๊กให้ตลอด

คนแรกคือ พี่วิธูร บัวแดง (ผู้ยืนยันเรื่อง หริ = วิษณุ, ปัญจชยะ = หอยสังข์) คนที่สองคือ ผศ.พงศ์เกษม สนธิไทย (ช่วยยืนยันว่า จารึกมอญโบราณสมัยหริภุญไชย เขียน ภุญเชยฺย = ไชย)

และแน่นอนว่าอีกหนึ่งหนุ่มก็คืออาจารย์ผมยาวเชื้อสายแขกจามของเรานี่แหละที่เป็นเพื่อนแท้ทางวิชาการ คอยเคียงข้างเวลาดิฉันถูกใครต่อใครด่าว่า มาทำแหลม แกจะอกแอ่นปกป้องเถียงแทนให้เสมอ

“ดร.เพ็ญ เสนอว่า ไชย ไม้มลายก็ถูกต้องแล้วนี่ครับ เพราะในจารึกวัดพระยืน ซึ่งเป็นอักษรฝักขามเก่าสุดของล้านนา ก็ใช้ ไชย ไม่ใช่ ชัย อีกอย่างเมื่อเขียนคำว่า ชัยหรือไชย ด้วยตัวอักษรธัมม์ล้านนา เรานิยมใช้ไชยกันมากกว่า หากเขียนว่า ชัย ขัดหูขัดตามากๆ เลย” กำลังใจที่ดิฉันได้รับล้นหลามทีเดียว

พูดถึงจารึกวัดพระยืน ระหว่างปี 2551-2553 ช่วงที่ดิฉันเป็นแม่งานหลักต้องการผลักดันให้จารึกหลักนี้ได้รับรางวัลเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกจากยูเนสโก ก็ได้ทั้ง ผศ.พงศ์เกษม และอาจารย์ชัปนะ มาเป็นสองขุนพลเอกในการช่วยกรอกข้อมูลเพิ่มน้ำหนัก เพิ่มความหนักแน่นให้กรรมการเห็นคล้อยว่าจารึกหลักนี้มีคุณค่ามากยิ่งขึ้นอีกด้วย

“จารึกวัดพระยืน เป็นทั้งหลักฐานที่สะท้อนถึงการสถาปนาตัวอักษรภาษาไทยหลักแรกในล้านนา เป็นทั้งการประกาศว่าล้านนารับพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์เป็นครั้งแรก เป็นจารึกที่ตอกย้ำชื่อพระญามังราย ว่าไม่ใช่เม็งราย มีรายพระนามชื่อกษัตริย์ราชวงศ์มังรายไล่เรียงตามลำดับ ถ้าจารึกหลักนี้ไม่ได้รับรางวัลจากยูเนสโก ก็ปิดทางไม่ให้เอกสารชิ้นอื่นของล้านนาได้รับรางวัลเช่นกัน” อาจารย์ชัปนะกล่าว

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงสองตัวอย่างงานชิ้นโบแดงเท่านั้น ที่ดิฉันอยากชี้ให้เห็นว่า ความสำเร็จเบื้องหน้าใดๆ หลายๆ โครงการของดิฉันนั้น เบื้องหลังไม่เคยผิดหวังเลยที่เรียกใช้บริการจาก “เพื่อนอ้ายฑูรย์” คนที่อยู่นิ่งๆ สงบๆ ไม่ปะทะ ไม่วิวาทะกับใคร แต่คอยแอบชงช่วยตรวจสอบข้อมูลให้ดิฉันอยู่เนืองนิจ

ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสืบค้นชื่อบ้านนามเมือง “ตื๋นนันทบุรี” ที่ อ.อมก๋อย ถ่ายที่ริมน้ำแม่ตื่น จากซ้าย อ.เกริก อัครชิโนเรศ ดร.สุรชัย จงจิตต์งาม ดิฉันผู้เขียน และ อ.ชัปนะ ปิ่นเงิน ขวาสุด

ร่วมสำรวจเมืองตื๋น

แรมรอนในคานาซาวา

ขอยกตัวอย่างผลงานที่วิจัยร่วมกับอาจารย์ชัปนะอีกสองชิ้น

ชิ้นแรกคือ ท่านธานินทร์ สุภาแสน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายดิฉันให้เป็นแม่งานไปพิสูจน์ความจริงเรื่องการที่ชาว ต.ม่อนจอง และ ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย เชียงใหม่ ประสงค์จะรวมตัวกัน ยกระดับสองตำบลนี้ขึ้นเป็นอำเภอภายใต้ชื่อ “นันทบุรี”

ท่านผู้ว่าฯ เกรงชื่อนี้จะซ้ำซ้อนกับทางน่าน “นันทบุรีศรีน่าน” จึงให้ดิฉันไปศึกษาค้นหาหลักฐาน แน่นอนว่าดิฉันก็ต้องกระเตงเอาอาจารย์ชัปนะไปช่วยอ่านคัมภีร์ใบลานที่วัดพระธาตุจอมแจ้ง ต.ม่อนจอง ด้วยกัน ปรากฏว่าชื่อเดิมของเมืองนี้ ไม่ใช่นันทบุรี ตามที่เข้าใจผิดกันมานาน ชื่อที่แท้คือ เมืองตินนทบุรี (ติน-นะ-ทะ-บุรี) ดิฉันเคยเขียนเรื่องนี้อย่างละเอียดแล้วตั้งแต่ 12 ปีก่อน

อีกชิ้นหนึ่ง กระทรวงวัฒนธรรมให้งบฯ ผ่าน มช. ต้องการศึกษาศักยภาพของเชียงใหม่ว่าสามารถเป็น Creative City ได้หรือไม่ ดิฉันดึง อ.ชัปนะมาร่วมเป็นนักวิจัยเช่นเคย ทำให้เราต้องปุเลงๆ ตระเวนเก็บข้อมูลสัมภาษณ์พ่อครูแม่ครูที่ทำงานด้าน Folk & Craft ด้วยกันอย่างยาวนานกว่า 1 ปี รวมทั้งไปศึกษาดูงานที่เมืองคานาซาวา ประเทศญี่ปุ่นกันด้วย

ยอมรับว่าอาจารยชัปนะไม่ได้โดดเด่นแค่การเป็นนักอ่านคัมภีร์ใบลานเท่านั้น แต่ยังเป็น “สุดยอดของนักวิจัย” ผู้สุขุมลุ่มลึก มีน้ำอดน้ำทน อึด เก็บงานละเอียด ไม่ทิ้งงาน ไม่ดูดาย มีอารมณ์ขัน คุยสนุก ภายใต้บุคลิกที่ดูเครียด ขรึม เศร้าลึก ซ่อนโรแมนติก ไม่ยิ้มไม่แย้ม

ทำวิจัยเก็บข้อมูลเรื่อง Folk & Cratf ผลักดันเชียงใหม่เป็น Creative City ร่วมกัน ภาพนี้สัมภาษณ์พ่อครูแม่ครูที่โฮงเฮียนสืบสานล้านนา

ขอทายท้าชะตาชีวิตก่อนวัยชรา

แม้จะสมถะ สันโดษ แต่อาจารย์ชัปนะมิใช่คนงอมืองอเท้า พอใจแค่สถานภาพเดิมๆ ที่มีอยู่ บั้นปลายชีวิตเราได้เห็นความพยายามที่แกมุมานะอุตส่าห์ไปเรียนปริญญาเอกที่ มจร.สวนดอก กว่าจะจบก็นานหลายปี แกสารภาพว่า “ต้องใช้พหุศาสตร์ข้ามสาย มาชำแรกผ่าองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่อย่างทรมาแต่ก็สะใจ”

“ดร.เพ็ญ อย่าคิดว่าการเรียน ป.เอก มจร.แล้วจะจบกันง่ายๆ นะครับ ผมมาจากสายภาษาจารึกวรรณกรรม กึ่งประวัติศาสตร์ แต่ต้องมาเรียนในสถาบันที่เน้นเรื่องหลักพุทธศาสตร์ และปรัชญา วิทยานิพนธ์ของผมจึงไม่สามารถนำเสนออะไรเพียวๆ ตามองค์ความรู้เดิมของเรา ทว่า ผมต้องอ่านพระไตรปิฎกให้แตกไม่รู้กี่สิบรอบแล้ว ซ้ำต้องมานั่งทวนหนังสือปรัชญาตะวันตก-ตะวันออกเปรียบเทียบกันหัวแทบผุแทบพัง ท้าทายชีวิตคนย่างเข้าสู่วัยชราให้เลือดในกายสูบฉีดร้อนแรงได้ดีเหมือนกัน”

อีกหนึ่งความท้าทายที่ทำให้ดิฉันประหลาดใจไม่น้อยก็คือ วันดีคืนดีอาจารย์ชัปนะผันตัวมาวิเคราะห์เจาะลึกอักขระมอญโบราณ จากเดิมที่แกอ่านได้แค่อักษรธัมม์ (ตั๋วเมือง) อักษรฝักขาม (ลายสือไท) และอักษรขอมโบราณเท่านั้น แกไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรมอญโบราณมาก่อน แต่แล้ว…

ร่วมเดินทางด้วยกันไปทัศนศึกษาและประชุมที่คานาซาวา เมืองต้นแบบของ Creative City ด้าน Folk & Craft เมื่อปี 2556

“ผมไปช่วยลำพูนอ่านจารึกมอญโบราณที่ค้นพบใหม่ วัดธงสัจจะ ทำรับบิ้งแล้ว ปริวรรตนำเสนออาจารย์ปู่เทิมให้การันตีแล้ว (อ.เทิม มีเต็ม นักภาษามอญโบราณของกรมศิลปากร อายุมากกว่า 90 ปี) น่าสนุกมากเลย ดร.เพ็ญ ผมอ่านเพราะความจำเป็น ในภาคเหนือของเราไม่มีนักจารึกภาษามอญโบราณเลย คนอ่านตั๋วเมืองมีเยอะแล้ว ผมจึงมุมานะลุยสู้ เรียนรู้ด้วยตัวเอง ฝึกฝนบ่อยๆ ปรึกษาคุณปู่เทิมบ้าง พอดีมีพื้นอักษรธัมม์ อักษรขอม และฝักขามค่อนข้างแน่นปั๋ง จึงไม่ยากเกินไป แต่ก็ต้องเปิดพจนานุกรมจนมือหงิก” ว่าแล้วอาจารย์ชัปนะก็มอบพจนานุกรมเปรียบเทียบอักษรมอญ-พม่า-อังกฤษ-ไทย-ล้านนา 5 ภาษา ที่แกถ่ายสำเนาเผื่อดิฉันเล่มหนึ่งหนาประมาณ 800 หน้ามาให้ดูต่างหน้า

“เอาไว้ใช้งานนะ วันหนึ่ง ดร.เพ็ญต้องหัดอ่านอักษรโบราณเองบ้าง เผื่อวันไหนไม่มีผมคอยชงข้อมูลให้แล้ว ดร.เพ็ญจะได้เป็นผู้รู้ เป็นปราชญ์ล้านนาตัวจริงอย่างสมบูรณ์”

ดิฉันนั่งมองพจนานุกรมเล่มยักษ์อย่างเจ็บช้ำ น้ำตาไหลพราก วันนี้ไม่มีคุณคอยช่วยอ่านอักษรโบราณให้ฉันจริงๆ แล้วหรือนี่ ขอบคุณสำหรับทุกอย่างที่คุณเคยมอบ ขอให้กัลยาณมิตรคนดีของฉันจงสนิทนิทรา ณ ดินแดนสุขาวดี •

 

ปริศนาโบราณคดี | เพ็ญสุภา สุขคตะ