การต่อสู้ของชนชั้นนายทุนไทย กับการสร้างรัฐ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ฟังข่าวการเมืองของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน รู้สึกได้ถึงน้ำหนักและความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจที่มีเหนือเรื่องอื่นๆ อย่างฝุ่นไม่ติด

คิดอย่างง่ายๆ ก็ไม่น่าแปลกใจเพราะมันเป็นเรื่องที่เขาหาเสียงรณรงค์ระหว่างการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว จนเกือบชนะขาดเหมือนหลายครั้งก่อนหน้านี้

แต่คราวนี้มาแพ้เพราะมีพรรคการเมืองใหม่ที่ไม่ใช่ผลจากการปฏิรูปการเมืองใหม่ตามความปรารถนาของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) หากแต่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นดอกผลจากการต่อสู้ระหว่างพรรคประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และต่อมาขบวนการเสรีนิยมจำแลงของสนธิ ลิ้มทองกุล กับพลังสมบูรณาญาสิทธิจำแลงและอนุรักษนิยมสุดขั้ว

พรรคอนาคตใหม่จึงเป็นอวตารของการต่อสู้ของสองกลุ่มการเมืองที่เป็นปรปักษ์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจและโดยเฉพาะทางอุดมการณ์

กล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างแกนนำที่มาจากชนชั้นนายทุน (ทั้งบนกลางและล่าง) ด้วยกันเองได้ เป็นการปะทะทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นนายทุนไทยที่ไม่เคยเกิดมาก่อน

รัฐบาลพรรคไทยรักไทย (ทรท.) พร้อมกับชัยชนะเสียงข้างมากของพรรคเดียวในรัฐสภาเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน

แต่ที่มีผลยาวไกลกว่านั้นคือการปฏิบัติการตามนโยบายที่ต่อมารู้จักกันดีว่า “ประชานิยม”

ที่โดดเด่นคือ “โครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และโครงการธนาคารประชาชน มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนกู้ยืมเงินเพื่อลงทุน เช่นเดียวกับโครงการการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้แก่เกษตรกรรายย่อยมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรนำเงินต้นที่ไม่ต้องชำระเป็นเวลา 3 ปีไปใช้ลงทุนเพิ่มเติม ขณะที่โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ทำหน้าที่เป็นช่องทางหนึ่งในการรองรับการลงทุนจากโครงการต่างๆ ข้างต้น ส่วนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แม้ทำหน้าที่ลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นเบื้องแรก แต่ก็เป็นการเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ประชาชนในเวลาเดียวกัน” (ประชาไทนโยบายประชานิยมรัฐบาลพรรคไทยรักไทย : นัยและการท้าทายต่อขบวนการประชาชน | ประชาไท Prachatai.com 2548, เข้าถึง 1/14/2567)

ในระยะแรกการปฏิบัติโครงการประชานิยมสร้างความฮือฮาให้แก่คนติดตามสถานการณ์การเมืองได้อย่างมาก

เพราะเป็นครั้งที่สองที่รัฐบาลสามารถนำเสนอผลงานแปลกใหม่ที่ประชาชนสามารถได้รับประโยชน์ระดับหนึ่ง

ครั้งแรกผมคิดว่าเป็นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและการเข้ามาของเงินทุนช่วยเหลือจากสหรัฐ ที่ยกระดับการผลิตและการบริโภคในสังคมไทยจากเศรษฐกิจบนเกษตรกรรมและแลกเปลี่ยนจำกัด ไปสู่การบริโภคสินค้าสมัยใหม่จากต่างประเทศได้มากขึ้น

เป็นการนำระบบเศรษฐกิจไทยเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลกอย่างแน่นเหนียวและครอบคลุมมากขึ้น เรียกว่าระบบเศรษฐกิจไทยพัฒนาเข้าสู่การเป็นระบบทุนนิยมแบบตะวันตกที่เน้นการสะสมทุนอุตสาหกรรม (industrial capital) เป็นสำคัญมากกว่าครั้งใด

แต่พัฒนาการต่อมาไม่ได้ดำเนินการไปตามแบบอย่างที่ได้เกิดขึ้นในระบบทุนนิยมตะวันตก คือชัยชนะอันสมบูรณ์ของทุนอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงออกในการทำลายการผลิตของเจ้าที่ดิน ชาวนาน้อยและอิสระ ทำให้กรรมสิทธิ์ที่ดินตกเป็นของนายทุนอุตสาหกรรมแต่ฝ่ายเดียว ทำให้ทุนสามารถขยายมูลค่าของมันเองออกไปได้อย่างมหาศาล (self-valorization) และนั่นคือการขยายเติบใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งก็คือระบบทุนนิยมดังที่เราได้เห็นผ่านมานับทศวรรษ

อย่างไรก็ตาม โมเดลที่กล่าวนี้ในความเป็นจริงเป็นนามธรรม หรือเป็นทฤษฎี ในทางปฏิบัติอาจไม่ได้สมบูรณ์แบบดังว่า

ยิ่งกว่านั้นทฤษฎีกำเนิดและพัฒนาการของระบบทุนนิยมนี้ยังสร้างภาพขึ้นมาบนประสบการณ์ที่เป็นแบบฉบับเดียวคือจากอังกฤษและยุโรปในศตวรรษที่ 17-19

โมเดลนี้จึงไม่ได้ครอบคลุมถึงประสบการณ์ของประเทศและรัฐนอกตะวันตกเช่นเอเชียด้วยอย่างถูกต้อง

 

กําเนิดและพัฒนาการของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ในดินแดนตะวันออกส่วนใหญ่ก่อตัวขึ้นภายใต้ระบบอาณานิคมนับแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา

จำง่ายๆ คือหลังจากโปรตุเกสยึดครองเมืองมะละกาได้ และเข้ามาติดต่อทำการค้าแลกเปลี่ยนกับกรุงศรีอยุธยาจากสมัยพระเอกาทศรถ

อย่างไรก็ตาม ระยะนั้นจนถึงกลางศตวรรษที่ 19 ลักษณะของทุนตะวันตกยังเป็นแบบทุนการค้าพาณิชย์ merchant capital ที่เน้นการซื้อมาขายไป เอากำไรจากส่วนต่างเท่านั้น ยังไม่ยกระดับพัฒนาไปสู่การเป็นทุนอุตสาหกรรม

ความสัมพันธ์ยุคแรกจึงไม่มีผลกระเทือนต่อระบบการผลิตในสยาม ที่สำคัญคืออำนาจรัฐยังเดินตามพ่อค้า ไม่ใช่เป็นนโยบายของรัฐ

นโยบายล่าอาณานิคเกิดหลังจากทุนอุตสาหกรรมเอาชนะเหนือทุนการค้าและยึดอำนาจรัฐไว้ในกำมือได้ นั่นคือที่มาของวิกฤต ร.ศ.112 และการทำสัญญาลับกับอังกฤษและฝรั่งเศสในสมัย ร.5 เพื่อเลี่ยงจากการตกเป็นอาณานิคมทางตรง

ความสำเร็จของสยามยุคปฏิรูปที่สำคัญคือทำให้การเติบใหญ่ของระบบทุนตะวันตกอยู่ใต้ฉายาและกำกับของอำนาจสยามได้ ผลกระเทือนยาวไกลคือการสร้างระบบทุนที่อยู่ใต้สมบูรณาญาสิทธิ์ เป็นทุนราชูปถัมภ์

ลักษณะด้านหลักคือยังเป็นทุนการค้าไม่เป็นทุนอุตสาหกรรม

นั่นคือยังมีแบบฉบับและการผลิตและการค้าและบริโภคที่กระทำโดยชุมชน ชาวบ้านและกลุ่มศาสนา ชาติพันธุ์ วรรณะ ที่ยังปฏิบัติตามแบบแผนเก่าดั้งเดิมของพวกตนสืบกันมา มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นกับพลังและประสิทธิภาพของอำนาจรัฐและระบบการเมืองการปกครองในยุคนั้นๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญคือการสร้างรัฐสมัยใหม่ว่าจะให้เป็นแบบทุนนิยมเต็มที่คือระบบประชาธิปไตยเสรีแบบตะวันตก หรือเป็นระบบผสมระหว่างอำนาจรัฐเก่ากับพลังชนชั้นนายทุนใหม่

ประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยใน 9 ทศวรรษนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มาถึงปัจจุบันอาจสรุปได้ว่าคือการต่อสู้ตอบโต้และปฏิบัติในรูปแบบและเนื้อหาที่ยอมรับกันได้ระหว่างพลังอำนาจรัฐและการเมืองจารีตอนุรักษ์กับพลังใหม่ แสดงออกในการร่างรัฐธรรมนูญ 15 ฉบับที่กลายเป็นซากปรักหักพังของสงคราม (ที่ไม่มีการประกาศ) ทางการเมืองดังกล่าว

ทั้งหมดนั้นดำเนินไปท่ามกลางการพัฒนาประเทศในทางกายภาพที่เป็นสมัยใหม่ตามโลกตะวันตกมากขึ้นเรื่อย

 

เล่ามาเสียนาน ประเด็นที่ผมคิดและเสนอในที่นี้คือ การสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ที่เป็นระบบทุนนิยมจะไม่ประสบความสำเร็จได้เลย หากปราศจากการเข้าร่วมอย่างแข็งขันและเอาจริงเอาจังของทุนอุตสาหกรรม

หมายความว่าพลังนำที่เป็นหลักในการสร้างและพัฒนาประเทศต้องมาจากฝ่ายทุนอุตสาหกรรมโดยมีทุนการค้าแบบต่างๆ หลากหลายเป็นรอง ในทางชนชั้นคือการก้าวเข้ามายึดกุมอำนาจรัฐและสร้างระบบการเมืองภายใต้ฉายาของชนชั้นนายทุนอุตสาหกรรม ที่มีโลกทัศน์และอุดมการณ์เป็นวิทยาศาสตร์และก้าวหน้า

ผู้นำพรรคการเมืองที่เป็นชนชั้นนายทุนที่ประสบความสำเร็จทางการเมืองสามารถเข้ายึดกุมอำนาจรัฐได้ที่ผ่านมาคือคุณทักษิณ ชินวัตร นั่นคือที่มาของนโยบายประชานิยมและการใช้ทุนในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวบ้าน

แต่โดยเนื้อแท้คุณทักษิณเป็นลักษณะทุนพ่อค้า ที่ทำได้สำเร็จคือ

“เพิ่มอำนาจซื้อของประชาชนระดับรากหญ้า หรือเปลี่ยนประชาชนระดับรากหญ้าให้กลายเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการของทุนขนาดต่างๆ ทว่า ไม่ใช่เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพระบบการผลิต ขยายพลังการผลิต หรือเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองของประชาชนระดับรากหญ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการประชานิยมไม่ได้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือสร้างทางเลือกใหม่ต่อระบบเศรษฐกิจทุนนิยมล้าหลังในสังคมไทยซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาความยากจน หากแต่ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจทุนนิยมดังกล่าวให้มีความเข้มแข็งและซึมลึกยิ่งขึ้น”

รัฐบาลใหม่ของคุณเศรษฐา ทวีสิน ก็ดำเนินนโยบายประชานิยมตามแบบคุณทักษิณอีกเช่นเคย ด้วยการประกาศนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาทและโครงการแลนด์บริดจ์

ทั้งหมดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตมากขึ้นกว่าเก่า อันนี้เป็นจุดอ่อนของทุนพ่อค้าที่ไม่อาจยกระดับพลังการผลิตในประเทศตนได้

เพราะไม่ใช่ทุนอุตสาหกรรมที่มีพลังและเทคโนโลยีในมือสำหรับการพัฒนาระบบและการผลิต จึงต้องพึ่งพาอาศัยทุนอุตสาหกรรมจากภายนอกให้เข้ามาช่วยยกเครื่องให้และหวังว่าจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศ จนฉุดให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไป

 

น่าสนใจที่ปรากฏการณ์ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยคราวนี้มาจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นทายาทของพรรคอนาคตใหม่ ที่กำเนิดจากคนรุ่นใหม่ที่เป็นอวตารจากการต่อสูทางอุดมการณ์ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับขบวนการประชาชนเสรีนิยมจำแลง

ที่คิดไม่ถึงคือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ใช่แกนนำการเคลื่อนไหวการเมืองปกติอย่างก่อนหน้านี้ หากเขาได้มีประสบการณ์ในการผลิตที่เป็นแบบทุนอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว การเข้ามาสู่เวทีการเมืองประชาธิปไตยที่ล้มเหลวจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของความคิดเพ้อฝันแบบนายทุนน้อย

หากเขามาพร้อมกับความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของระบบทุนอุตสาหกรรมที่เหนือกว่าทุนการค้า

นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนของทุนอุตสาหกรรมก้าวเข้ามาในวังวนของอำนาจรัฐไทยอย่างเอาจริงเอาจัง

ไม่ใช่เพียงแค่มาขอส่วนแบ่งกำไรและค่าเช่าจากกลุ่มทุนพ่อค้าเก่า

แต่คราวนี้เขามาเสนอโครงการสร้างประเทศไทยใหม่ตามฉายาและอุดมการณ์ของทุนอุตสาหกรรมที่ไม่เคยมีบทบาทจริงๆ ในการสร้างประเทศมาเลย

นี่เองที่ธนาธรกับคณะก้าวหน้าต้องออกไปสร้างระบบน้ำประปากินได้ด้วยมือและเทคโนโลยีในประเทศกันเอง แทนที่จะแจกเงินและสร้างชาวบ้านที่เป็นผู้บริโภคเท่านั้น หากเขากำลังสร้างชาวบ้านที่ทำระบบการผลิตกันเองได้

และนี่คือความหมายของการเปลี่ยนระบบและโครงสร้างในนโยบายของพรรคก้าวไกล

และนี่คือรอยแยกระหว่างพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทย ในการเข้ายึดกุมอำนาจรัฐ

เมื่อฝ่ายหลังตัดสินใจสลายขั้วการเมือง ด้วยการหันไปร่วมมือกับอำนาจรัฐเก่าและคณะ เป็นการตอกย้ำถึงลักษณะทางประวัติศาสตร์ของทุนพ่อค้าที่เป็นได้เพียงอำนาจที่พึ่งพาอาศัยอำนาจรัฐจารีตมากกว่าเปลี่ยนแปลงมัน