ลุ้นระทึก ‘ซูเปอร์เอลนีโญ’ ภัยร้ายฉุดผลผลิตเกษตรปี 2567 พยากรณ์ล่าสุดอ่อนกำลัง!!

(Photo by NICOLAS ASFOURI / AFP)

“ซูเปอร์เอลนีโญ” เป็นที่พูดถึงเป็นอย่างมากเมื่อปี 2566 เนื่องจากมีความรุนแรงกว่าเอลนีโญหลายเท่า ฉะนั้น จึงสร้างความเสียหายต่อพืชผลทางเกษตรและการอุปโภค บริโภคของประชาชนแน่นอน

ทันทีที่ข้อมูลนี้ถูกวิเคราะห์ออกมา ได้สร้างความวิตกกังวลต่อประชาชนไม่น้อย แต่สถานการณ์ปัจจุบันเริ่มโล่งใจ เพราะหลายสถาบันการศึกษาวิเคราะห์เรื่องภัยพิบัติ ต่างสรุปเป็นเสียงเดียวกันแล้วว่าไทยจะเผชิญกับเอลนีโญในระดับปกติเท่านั้น

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นำโดย “สุรสีห์ กิตติมณฑล” เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระบุว่า ช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางระลอกใหม่ยังจะส่งผลให้พื้นที่บางส่วนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอิทธิพลของสถานการณ์เอลนีโญทำให้ประเทศไทยมีปริมาณฝนทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติอยู่มาก คาดการณ์ครึ่งแรกของปี 2567 จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติค่อนข้างมาก

สถานการณ์ปัจจุบันปรากฏการณ์เอนโซยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรง คาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรงนี้จะอ่อนลงเป็นเอลนีโญกำลังปานกลาง และต่อเนื่องถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2567 จากนั้นจะอยู่ในสภาวะเอลนีโญกําลังอ่อนไปจนถึงช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2567

หลังจากนั้นมีโอกาสที่จะเปลี่ยนกลับเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567 ด้วยความน่าจะเป็น 60%

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 จะมีปริมาณน้อยกว่าค่าปกติ จากนั้นในครึ่งปีหลังประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณฝนภาพรวมยังต่ำกว่าค่าปกติ 5-10%

คาดว่าประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2567

 

สภาวะดังกล่าวส่งผลให้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยปัจจุบันมีอยู่ 98 แห่ง จำนวนนี้อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือถึง 40 แห่ง ภาคเหนือ 25 แห่ง ภาคตะวันออก 13 แห่ง ภาคตะวันตก 9 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง รวมถึงภาคใต้แม้ภาพรวมจะมีปริมาณฝนค่อนข้างมาก แต่ภาคใต้ตอนบนและตอนกลางยังคงมีฝนตกน้อย ทำให้มีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/67 ด้านอุปโภคบริโภค แบ่งเป็น ในเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) 17 สาขา 13 จังหวัด นอกเขต กปภ. 31 จังหวัด 150 อำเภอ 375 ตำบล

ด้านการเกษตร (อยู่ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน) ได้แก่ นาปรัง 13 จังหวัด 33 อำเภอ 64 ตำบล พืชต่อเนื่อง (ไม้ผลที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ) 22 จังหวัด 68 อำเภอ 168 ตำบล

ด้านคุณภาพน้ำ มีพื้นที่เฝ้าระวังคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค แบ่งเป็น เขต กปภ. 8 สาขา 7 จังหวัด และเขตการประปานครหลวง (กปน.) 3 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก นนทบุรี และสมุทรปราการ

 

แม้เอลนีโญจะมีท่าทีอ่อนกำลังลงแล้ว แต่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้วิเคราะห์พื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย ว่า มีโอกาสเกิดภัยแล้งในปี 2567 โดยใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝน อุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความดันในชั้นบรรยากาศ ข้อมูลการบริหารจัดการน้ำในปี 2566 ข้อมูลสถิติการผลิตพืชที่สำคัญรายจังหวัด ข้อมูลปฏิทินการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญรายเดือน ปี 2566/67 ซึ่งพื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตร ทำให้ผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับลดลง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน รวมทั้งสิ้น 32 จังหวัด ซึ่งจากผลการวิเคราะห์พื้นที่ทำการเกษตรที่เสี่ยงน้ำน้อย

จังหวัดที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ ตาก น่าน กำแพงเพชร นครสวรรค์ พะเยา พิจิตร พิษณุโลก แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุทัยธานี และอุตรดิตถ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ และหนองบัวลำภู และภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี สระแก้ว และสุพรรณบุรี

เมื่อนำข้อมูลด้านสภาพภูมิอากาศและการบริหารจัดการน้ำของภาคส่วนต่างๆ มาดำเนินการวิเคราะห์ คาดการณ์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566-2567 พบว่า พื้นที่นอกเขตชลประทานมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำสูง รวมทั้งอาจเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคมในปี 2567

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเอลนีโญมากที่สุด คืออุตสาหกรรมปลาป่นเพื่อทำอาหารสัตว์เพราะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากปลาป่นมีองค์ประกอบที่สำคัญของอาหารสัตว์ โดยปลาป่นมักจะผลิตมาจากปลาทะเลที่มีขนาดเล็กในธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากโลกร้อนเช่นเดียวกัน จึงทำให้มีปริมาณลดลงและขาดแคลน ราคาของอาหารปลาจะสูงขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนการเพาะเลี้ยงสูงขึ้นด้วย

 

จากการวิเคราะห์สถานการณ์ในเบื้องต้น สศก. มองว่าการมีประกันภัยพืชผลแบบสมัครใจ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์ของเกษตรกร และลดการที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา

แต่อาจจะต้องเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายให้เกษตรกรได้เลือกใช้ เรื่องนี้ได้หารือกรมการประกันภัย เพื่อดำเนินการศึกษาเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากถ้ารัฐบาลจ่ายช่วยเหลือแบบไม่มีเงื่อนไขจะเกิดผลกระทบในระยะยาวได้ สศก. จึงได้มีการถอดบทเรียนจากประเทศอื่นๆ และทำให้เห็นว่าแม้จะเป็นประเทศขนาดใหญ่ก็ต้องปรับตัวในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ทั้งในเชิงป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งได้เน้นย้ำให้มีการรักษาปริมาณน้ำต้นทุนไว้ให้มากที่สุดโดยไม่ประมาท รวมทั้งให้ติดตามคาดการณ์ปริมาณฝนแบบรายเดือนเพื่อปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากที่สุด

นอกจากนี้ สทนช.ได้ประสานไปยังสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อใช้เทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเพิ่มศักยภาพในการผลิตน้ำอุปโภค บริโภค ให้กับประชาชน อีกทั้งได้ประสานการประปาส่วนภูมิภาคสร้างองค์ความรู้เพิ่มเติมในการบริหารจัดการประปาชุมชน พร้อม พิจารณาสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเพิ่มเติมจากแผนที่วางไว้ โดยประชาชนที่ประสบปัญหาแจ้งเข้ามายัง สทนช. หรือผ่านทางแอพพลิเคชั่น National Thai Water ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประเมินสถานการณ์เบื้องต้นเท่านั้น ตลอดปี 2567 ไทยจะก้าวข้ามวิกฤตแล้ง หรือตกหล่มปัญหาซ้ำซาก จับตาดูกันต่อไป!!