เศรษฐกิจ / เอกชนตีเหล็กร้อน รุก รบ. ผุด “WEC” กังขาลงทุนฝั่งตะวันออกยังไม่เกิด เร่งเปิดตะวันตกเชื่อมอินเดีย…รอดไหม

เศรษฐกิจ

เอกชนตีเหล็กร้อน รุก รบ. ผุด “WEC”

กังขาลงทุนฝั่งตะวันออกยังไม่เกิด

เร่งเปิดตะวันตกเชื่อมอินเดีย…รอดไหม

หนึ่งในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจไม่น้อย ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันอังคารที่ 26 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา คือแนวคิดภาคเอกชนเสนอให้รัฐประกาศระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกแห่ง ต่อจากระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC : Eastern Economic Corridor)

นั่นคือระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันตก (WEC : Western Economic Corridor) ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาความเป็นไปได้ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์แล้ว

รายละเอียดของโครงการ WEC ที่ส่งให้สภาพัฒน์ ระบุว่าเป็นโครงการที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชนจังหวัดตาก สุโขทัย และพิษณุโลก พร้อมทั้งเครือข่ายวิชาการผังเมือง ประกอบด้วยสมาคมการผังเมืองไทยและสถาบันวิจัยการเติบโตอย่างชาญฉลาดประเทศไทย ร่วมจัดทำขึ้น

เป็นโครงการ 2 ต่อจากโครงการ EEC ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งนับเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่โครงการแรกที่รัฐบาลได้ประกาศดำเนินการ

เป้าหมายและกลยุทธ์สำคัญที่เอกชนระบุไว้คือ เป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของอนุภูมิภาคทั้งเอเชียใต้และลุ่มน้ำโขง ตามด้วยการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และบริการสุขภาพของอนุภูมิภาคและของภาคเหนือ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวและประวัติศาสตร์ การท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ และการประชุมนานาชาติ และเป็นศูนย์กลางการเดินทางและขนส่งของอนุภูมิภาค

ซึ่งแน่นอนว่าคงเป็นการลงทุนจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมและขนส่งที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก จะยกเว้นการลงทุนในบางกิจการ เช่น รถไฟความเร็วสูง ระบบขนส่งมวลชนหลักและรองในเมือง และสายการบินที่ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนหรือร่วมในการลงทุน

ตามแผนมีการชูบทบาทเด่นของแต่ละจังหวัด ได้แก่

จังหวัดตาก บทบาทหลักคือประตูการค้าระหว่างประเทศ บทบาทรองเป็นเมืองพาณิชยกรรมและการลงทุน ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (จีพีพี) ของจังหวัดจากปัจจุบัน 45,188 ล้านบาท เป็น 135,564 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า

จังหวัดพิษณุโลก บทบาทหลักเป็นศูนย์การขนส่งและโลจิสติกส์ บทบาทรองคือการท่องเที่ยวเชิงการประชุมและนิทรรศการ ช่วยเพิ่มจีพีพีของจังหวัด จากปัจจุบัน 82,417 ล้านบาท เป็น 247,251 ล้านบาท

และจังหวัดสุโขทัย บทบาทหลักเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และมรดกโลก บทบาทรองเป็นเมืองเกษตรกรรมเพื่อการส่งออก ช่วยเพิ่มจีพีพีจาก 37,188 ล้านบาท เป็น 111,564 ล้านบาท

หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมสำคัญการจัดทำแผนนี้ นายฐาปนา บุณยประวิตร อุปนายกสมาคมการผังเมืองไทย และผู้ประสานเครือข่ายบริษัทพัฒนาเมือง ระบุว่า การประกาศ WEC มีความจำเป็นเร่งด่วนเพราะเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ในการเชื่อมโยงสู่เอเชียใต้

โดยอินเดียเป็นประเทศที่มีจีดีพีเติบโตไม่แพ้จีน และโตต่อเนื่องมาหลายปี เป็นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศที่ต้องรีบผูก ด้วยการเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพก่อน โดยเฉพาะโลจิสติกส์ ทางถนน ราง และเครื่องบิน ถ้าเชื่อมได้ก่อนก็ชนะก่อน

อีกเหตุผลที่นายฐาปนาเอ่ยถึงคือพม่ามีเขตเศรษฐกิจอยู่ 3 เขต จะเปิดการผลิตไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า ไทยสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายก่อน ซึ่งจะมีโอกาสสูงสุด

หากไม่ทำอะไร การพัฒนาท่าเรือทวายและที่ใกล้เคียงเมื่อทำสำเร็จได้ สินค้าการผลิตขั้นสุดท้ายก็จะออกไปทางนั้นหมด

ถ้าเราทำยุทธศาสตร์ดีๆ เชื่อมได้ก่อน นำสินค้าเข้าไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้น มีการเชื่อมโยงได้ก็จะครองตลาดได้ก่อน ด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไม่ได้แข่งขันเพียงอย่างเดียว ซึ่งประมาณกลางเดือนมกราคม 2561 ตัวแทนภาคเอกชนจะเข้าหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อผลักดันโครงการ WEC

ด้านนายวีระยุทธ สุขวัฑฒโก ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ เสริมว่า ทั้ง 3 จังหวัดในโครงการ WEC เป็นพื้นที่มีศักยภาพและจุดเด่นแตกต่างกัน ซึ่งจะใช้เป็นฐานพัฒนาต่อยอดการลงทุนเพิ่มเติมได้ เช่น จังหวัดพิษณุโลก มีโรงพยาบาลที่จะสามารถรองรับธุรกิจบริการด้านสุขภาพได้

ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ราง และอากาศ มีพื้นฐานเดิมอยู่แล้ว ที่จะพัฒนาเพิ่มเติมได้อีก และในอนาคตจะมีโครงการลงทุนจากนโยบายรัฐเข้ามา ซึ่งจะยิ่งผลักดันให้โลจิสติกส์และการขนส่ง การค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก

เพราะบริเวณนี้หากพัฒนาอย่างเต็มที่จะสามารถเชื่อมโยงได้ในระดับอินโดจีน รวมถึงอินเดีย

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตจากภาคเอกชนด้วยกัน นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย ระบุว่า ตามที่พิจารณาดูโครงการ WEC หากจะเทียบภาพกับ EEC มีจุดแข็งในเรื่องโลจิสติกส์และการค้าชายแดน

อย่างไรก็ตาม ยังมีจุดต่างจาก EEC ที่มีอุตสาหกรรมพื้นฐานเดิมที่จะต่อยอดอยู่แล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมเคมี

แต่สำหรับ WEC ยังไม่ถึงขั้นนั้น

จึงจะต้องมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายออกมาว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งบริเวณนั้นมีจุดเด่นด้านวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

นอกจากนี้ มองว่าการเสนอให้มี WEC นอกจากการขยายการค้าไปในเอเชียใต้ผ่านพม่าแล้ว ถือเป็นการสร้างความเชื่อมโยงทางการค้าของไทยไปยังประเทศมหาอำนาจอื่น นอกเหนือจากจีน

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แสดงความเห็นต่อเรื่องนี้หลังรับทราบประเด็นเรื่อง WEC จากภาคเอกชนแล้วว่า พร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อเตรียมการใช้ประโยชน์จากศักยภาพได้อย่างเต็มที่

เช่น โครงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าของภาคเหนือตอนล่าง การเชื่อมโยงธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว กับลาว และเมียนมา รวมทั้งจะนำแนวคิดการตลาดนำการผลิตเพื่อสนับสนุนให้ภาคเหนือตอนล่างเป็นฐานการผลิตอาหารที่มีมูลค่าสูงและสินค้าเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการที่ภาคเอกชนเสนอในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ก็จะประสานให้ได้รับการพิจารณาในระดับรัฐบาลต่อไป

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อสังเกตจากภาคส่วนอื่นๆ อีกว่า ขณะที่การลงทุนจริงใน EEC ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก เพราะยังต้องรอความชัดเจนของการประกาศใช้กฎหมายพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … ซึ่งยังอยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนประกาศบังคับใช้

ขณะเดียวกันแม้จะมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุน แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าจะเกิดการลงทุนจริง

โดยข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ระบุว่า ใน 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) 2560 มีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนใน EEC 104,164 ล้านบาท จำนวน 229 โครงการ จากยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดของ 9 เดือนที่ 376,000 ล้านบาท

จึงทำให้เกิดคำถามว่าระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกยังไม่บูม แล้วแห่งที่สองจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม