ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มกราคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เครื่องเสียง |
เผยแพร่ |
Vento Series เป็นลำโพงที่จัดอยู่ในอนุกรมกลางๆ ของแบรนด์ Canton โดยที่จะแนะนำให้รู้จักกันเที่ยวนี้เป็นรุ่นเกือบเล็กสุดของซีรีส์จากที่มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 8 รุ่น ซึ่งกอปรไปด้วยลำโพงวางพื้นสามรุ่น ลำโพงวางหิ้งหรือประกอบเข้าขาตั้งสองรุ่น และลำโพงเซ็นเตอร์ แชนเนล, ลำโพงติดผนังหรือฝังฝ้าเพดาน กับลำโพงสับ-วูฟเฟอร์ อีกอย่างละรุ่น
ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นลำโพงแบบปกติทั่วๆ ไป อย่างที่รู้จักและเรียกกันว่าลำโพงแบบ Passive
อย่างไรก็ตาม ลำโพงอนุกรมนี้ยังมีแบบ Active ที่ผนวกแอมป์และระบบไร้สายเข้าไว้ในตัวด้วย ซึ่งสามารถนำแหล่งเสียงมาต่อเข้าหรือให้เล่นเพลงแบบสตรีมมิ่งด้วยได้ทันที เรียกว่า Smart Vento Series โดยมีทั้งหมดสามรุ่น คือรุ่นใหญ่สุดแบบวางพื้น รุ่นเกือบเล็กสุดที่เป็นแบบวางหิ้งหรือประกอบเข้าขาตั้ง (เทียบเท่ากับรุ่นที่นำมาให้รู้จักกันนี่แหละครับ) และรุ่นที่ทำหน้าที่เป็นเซ็นเตอร์ แชนเนล
โดย Canton Vento 30 แม้จะเป็นรุ่นรองของเล็กสุด แต่ตอนที่กำลังแกะกล่องยังไม่เห็นหน้าตานั้น ก็บอกให้รู้ได้ในทีว่าคงเอาการเอางานน่าดู เพราะบรรจุรวมอยู่ในแพ็กเกจจิ้งแบบกล่องเดียวที่หนักเอาเรื่องอยู่ และเมื่อยกแต่ละตู้ออกมาแล้วดูในเอกสารกำกับถึงได้รู้ ว่าลำโพงแต่ละตัวหนักเกือบสิบกิโลกรัม
ลำโพงวางหิ้ง (ประกอบขาตั้ง) ตัวหนึ่งสูงเกินฟุตนิดหน่อย แล้วหนักประมาณนั้นนี่, ด้วยประสบการณ์มันบอกให้รู้ว่าต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ
โครงสร้างตู้แลดูทันสมัยแบบ Black High Gloss ดำเป็นมันเงาวาววามแบบผิวเปียนโน ลบเหลี่ยมมุมด้วยเส้นโค้งมนเล็กน้อยในทุกๆ ด้านที่ประกบกัน แผงหน้าโค้งนิดๆ ขณะที่ผนังข้างทั้งสองโค้งน้อยๆ แบบสอบเข้าหากันที่ด้านหลัง ทำให้โครงสร้างแนวตั้งทั้งสี่ด้าน คือชุดแผงหน้ากับแผงหลังและชุดผนังด้านข้างทั้งสอง ต่างมิได้ขนานกันเหมือนลำโพงตู้สี่เหลี่ยมทั่วๆ ไปแต่อย่างใด แผงหน้าตู้นั้นติดตั้งชุดตัวขับเสียงแบบ 2-ทาง เรียงกันในแนวดิ่ง โดยขอบ Surround ของ Mid/Bass Driver ติดตั้งไว้เกือบเต็มแผงหน้าตู้พอดี
แผงตู้ด้านหลังตอนบนเป็น Port หรือท่ออากาศทรงกลม ขนาดค่อนข้างใหญ่เกือบสองในสามของพื้นที่ ใต้ท่ออากาศเป็นขั้วต่อสายลำโพงชุดเดียวในลักษณะ Single Wired ที่ใช้เทคนิคใหม่ในการออกแบบเป็นพิเศษ ทั้งขั้วภายนอกและเกลียวขันภายใน โดยใช้วัสดุโลหะคุณภาพสูง มีประสิทธิภาพในการทำงานหน้าที่เป็นสื่อตัวนำได้เป็นอย่างดี ทั้งยังแลดูมั่นคงแข็งแรงมาก สามารถรับพื้นที่หน้าตัดของสายได้มากถึง 10 ตารางมิลลิเมตร และให้เสียบกับหัวต่อได้ทั้งแบบ Banana Plug และ Fork Bridge ซึ่งเป็นอีกสิ่งที่บ่งบอกระดับคุณภาพของลำโพงคู่นี้ให้รู้ได้อยู่ในทีอีกเช่นกัน
ตะแกรงแผ่นปิดแผงหน้าตู้ขึงด้วยผ้ายืดโปร่งสีดำ ที่คลื่นเสียงสามารถลอดผ่านออกมาได้แบบไร้ผลกระทบ ตรึงกรอบโครงเข้ากับแผงหน้าตู้ด้วยแป้นแม่เหล็ก เป็นตะแกรงแบบไม่ปิดเต็มแผงหน้าตู้ โดยเหลือตอนล่างเอาไว้ให้เห็นตราสัญลักษณ์อย่างเด่นชัด
ภาพรวมของโครงสร้างภาพลักษณ์กอปรกันขึ้นมาด้วยงานฝีมือที่ประณีต และพิถีพิถันยิ่ง แลเรียบและเนียนตาแบบหมดจดมาก ทั้งยังไร้รอยต่อและปราศจากการเชื่อมหรือขันน็อตสกรูให้เห็นอย่างเด่นชัด องค์ประกอบทั้งหมดที่ตรึงกับตู้แนบสนิทกลมกลืนเข้าด้วยกันเป็นอย่างดี นับเป็นงานฝีมือเชิงช่างชั้นเยี่ยม ที่บ่งบอกความเป็นสินค้าระดับพรีเมียมยิ่งนัก
มิติโครงสร้างตู้ (กว้าง x สูง x ลึก) 22 x 36 x 30 เซนติเมตร หนัก 8.7 กิโลกรัม/ตู้
ความโดดเด่นประการแรกของลำโพงคู่นี้คือ การใช้เทคโนโลยีคุณภาพสูงที่เรียกว่า Titanium Graphite ซึ่งเป็นพัฒนาการล่าสุดที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการขึ้นรูปกรวย (หรือแผ่นไดอะแฟรม) ของมิด/เบส ไดรเวอร์ แทนกรวยรุ่นก่อนที่มีพื้นฐานจากการใช้ไทเทเนียมบริสุทธิ์
การใช้วัสดุผสมอย่างกราไฟต์/ไทเทเนียม มิเพียงดึงดูดสายตาจากความสวยงามอย่างมีเอกลักษณ์เท่านั้น หากยังนำมาซึ่งคุณภาพเสียงอันน่าทึ่งมากอีกด้วย เป็นการยกระดับคุณภาพเสียงขึ้นไปอีกขีดขั้น ทั้งในแง่ของการแผ่คลื่นที่ให้ออกมาอย่างโอ่อ่า ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง ทั้งในการให้เสียงเบสที่ลงไปได้ต่ำลึกเป็นพิเศษ และเป็นเบสที่สะอาด ปราศจากความพร่าเพี้ยน กระชับเก็บตัวเร็ว ไม่มีอาการสั่นค้างที่ปลายเสียงหรือหางเสียง
โดยการพัฒนาวัสดุนี้ได้ทำควบคู่กันไปพร้อมๆ กับการพัฒนาโครงสร้างของเบ้า (ตะแกรง) รับชุดตัวขับเสียง ที่มีความแข็งแกร่งสูง ยึดไดรเวอร์เอาไว้ได้อย่างมั่นคง เป็นฐานที่ช่วยให้ตัวขับเสียงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการผลักคลื่นเสียงออกมาอย่างถูกต้อง เที่ยงตรง เสมอด้วยสัญญาณทางไฟฟ้าที่ป้อนเข้ามา จึงไม่ว่ารูปสัญญาณทางไฟฟ้าจะมีความแปรผันอย่างไร ตัวขับเสียงก็สามารถแปลงเป็นคลื่นเสียงออกมาได้เสมอด้วยเสียงของต้นฉบับขณะที่กำลังบันทึกในสติวดิโออย่างไม่มีผิดเพี้ยน
ทางด้านทวีตเตอร์ที่เป็นแบบโดมนั้น ขึ้นรูปด้วยเซรามิกเคลือบอะลูมิเนียมออกไซด์ ใช้เทคโนโลยี Wave Bead ในการทำงาน ซึ่งช่วยให้การกระจายคลื่นเสียงเป็นไปอย่างรวดเร็ว แม่นยำ มีความต่อเนื่องสูงแบบลื่นไหล ให้รายละเอียดของเสียงออกมาได้ครบถ้วน ปลายเสียงมีความสดใส กระจ่างชัด ทอดยาวไปได้ไกลและให้การลาดลง (Roll-Off) อย่างนุ่มนวล
ในส่วนของครอสส์โอเวอร์ เน็ตเวิร์ก มีโครงสร้างและส่วนประกอบของอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่เหมาะสมต่อการทำงานของชุดตัวขับเสียง ช่วยให้ทวีตเตอร์และมิด/เบส ไดรเวอร์ ทำงานร่วมกันและเสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันอย่างเต็มความสามารถ ช่วยกันสร้างคลื่นเสียงออกมาแบบไร้รอยต่อ
เป็นการรังสรรค์เสียงดนตรีร่วมกันอย่างสุนทรีย์ ด้วยความเป็นเสียงดนตรีที่สมบูรณ์ ตั้งแต่ย่านความถี่ต่ำสุดไปจนถึงย่านความถี่สูงสุดอย่างแท้จริง
ขณะที่โครงสร้างตู้ที่มองเห็นภายนอกว่ามีความสวยงาม หรูหรา และแลดูคลาสสิคแบบเหนือกาลเวลานั้น ภายในได้ถูกออกแบบที่ผ่านการคิดคำนวณ และวิเคราะห์ในแง่ผลกระทบต่างๆ อย่างละเอียด โดยเฉพาะในเรื่องของการขจัดแรงสั่นสะเทือนไม่พึงประสงค์ จึงนอกจากจะมีปริมาตรที่เหมาะกับการทำงานของชุดตัวขับเสียงแล้ว
ภายในยังมีการออกแบบลักษณะของการคาดดามเพื่อให้โครงสร้างรวมมีความมั่นคงมากขึ้น มีความเสถียรสูงขณะที่ชุดตัวขับเสียงทำงาน โดยไม่มีอาการก้องสะท้อนหรือสร้างเสียงแทรกซ้อนขึ้นมาแต่อย่างใด ไม่ว่าจะทำงานที่ระดับความดังแค่ไหน หรือทำงานกับคลื่นความถี่ที่ต่ำลึกเพียงใดก็ตาม ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับชุดตัวขับเสียงให้ทำงานได้อย่างเต็มความสามารถอีกทางหนึ่งด้วย
Canton Vento 30 ระบุคุณสมบัติทางด้านเทคนิคว่าเป็นลำโพงแบบ 2 ทาง ทำงานในระบบ Bass Reflex ทวีตเตอร์ขนาด 25 มิลลิเมตร มิด/เบส ไดรเวอร์ ขนาด 174 มิลลิเมตร รองรับกำลังขับ 80 วัตต์ รองรับสัญญาณเสียงดนตรีสูงถึง 150 วัตต์ อิมพีแดนซ์แปรผันในช่วง 4-8 โอห์ม ออกแบบให้มีจุดตัดความถี่ที่ 3,000 เฮิร์ตซ์ ให้การทำงานตอบสนองความถี่ในช่วง 27-40,000 เฮิร์ตซ์
ครับ, ทั้งหมดนั้นเป็นคุณสมบัติอันพอเป็นสังเขปของลำโพงคู่นี้
เที่ยวหน้ามาว่ากันต่อ เรื่องคุณภาพเสียงล้วนๆ ครับ •
เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022