ศิลปินผู้สำรวจความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ ในมหกรรมศิลปะ Thailand Biennale Chiang Rai 2023

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้ขอต่อด้วยเรื่องราวของศิลปินระดับโลกที่มาร่วมแสดงงานใน มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ที่จังหวัดเชียงรายกันอีกคน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า แฮกู ยาง (Haegue Yang) ศิลปินชาวเกาหลีใต้ ผู้ทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง ตั้งแต่งานคอลลาจ ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง Kinetic art (จลนศิลป์ หรือศิลปะนำเสนอการเคลื่อนที่ของวัตถุ) ไปจนถึงศิลปะแสดงสด

ผลงานของแฮกู ยาง มักจะหยิบเอาวัตถุสิ่งของรอบตัวทั่วไปอย่าง เส้นด้าย, โคมไฟเพดาน, ราวตากผ้า, หลอดไฟ, สายไฟ, มู่ลี่ และพัดลม รวมถึงเทคนิคงานฝีมือและวัสดุที่หลากหลาย และความหมายแฝงทางวัฒนธรรมของวัสดุเหล่านี้ มาเปลี่ยนบริบทการใช้งานในรูปของศิลปะ เพื่อสำรวจความหมายว่าพวกมันสามารถนำมาใช้นอกเหนือจากฟังก์ชั่นการใช้งานทั่วไปได้อย่างไรบ้าง

เธอเป็นที่รู้จักอย่างมากจากผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบขึ้นจากมู่ลี่อะลูมิเนียม ที่เปลี่ยนสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่แสดงงานด้วยการปรับแสงของมูลี่ มูลี่ที่ว่านี้ยังทำหน้าที่แบ่งพื้นที่ และกระตุ้นให้ผู้ชมเคลื่อนที่ไปรอบๆ พื้นที่แสดงงานเพื่อหามุมมองในการชมผลงานขนาดใหญ่ทั้งชิ้นให้ได้อีกด้วย

ผลงานศิลปะจัดวางของเธอยังใช้วัตถุที่สร้างสภาพแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับหลายประสาทสัมผัสเพื่อกระตุ้นการรับรู้นอกเหนือจากการมองเห็น ไม่ว่าจะเป็น ระฆัง, ไฟโรงละครเคลื่อนที่ได้ และเครื่องกระจายกลิ่น เพื่อเข้าถึงประสาทสัมผัสอันหลากหลายของผู้ชม ด้วยการผสาน แสง, เสียง, กลิ่น และสัมผัสจากวัสดุที่มีพื้นผิวสัมผัสหลากหลาย เพื่อสร้างประสบการณ์ในการรับรู้ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ชม

ผลงานของเธอมักอ้างอิงจากแหล่งที่มาอันหลากหลาย ทั้งเรื่องราวส่วนตัวของเธอเอง ไปจนถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์, ภาพยนตร์ และวรรณกรรม

หรือแม้แต่ประเด็นทางสังคมอย่าง แรงงาน, การโยกย้ายถิ่นฐาน, การพลัดถิ่น, แนวคิดสตรีนิยม และการตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายทางสุนทรียศาสตร์ เธอให้ความสำคัญกับความเลื่อนไหลของความหมายและการเปิดพื้นที่ให้เกิดการตีความใหม่ๆ มากกว่าการเล่าเรื่องที่ชัดเจนตายตัว ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า

“การคงไว้ซึ่งความคลุมเครือไม่แน่นอนของรูปแบบ, เนื้อหา, วัสดุ ไปจนถึงสื่อวัสดุ และประเด็นในการทำงานศิลปะ คือการแสดงความหมายถึงการต่อสู้ดิ้นรนในชีวิตของคนคนหนึ่ง”

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้เป็นแนวคิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรม ศิลปะจัดวาง และศิลปะแสดงสดอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเธอขึ้นมา

ผลงาน The Randing Intermediates – Inception Quartet (2020) และ Incantations – Entwinement, Endurance, and Extinction (2022) ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
ผลงาน The Randing Intermediates – Inception Quartet (2020) และ Incantations – Entwinement, Endurance, and Extinction (2022) ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย

แฮกู ยาง มีผลงานจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวที่สำคัญในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก และร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะสำคัญของโลกอย่าง เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 53 และ Documenta 13 ผลงานของเธอยังถูกสะสมในพิพิธภัณฑ์ศิลปะทั่วยุโรป เอเชีย และอเมริกา

ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ครั้งนี้ แฮกู ยาง นำเสนอผลงานสามชุด ในสองพื้นที่แสดงงาน

เริ่มจากผลงานที่จัดแสดงใน หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) อย่าง The Randing Intermediates – Inception Quartet (2020) ประติมากรรมจัดวางที่ทำขึ้นจากหวาย, เปลือกหอย และต้นไม้ประดิษฐ์ รูปทรงน่ารักปนแปลกตา น่ารักน่าชัง

“ผลงานชุดนี้เป็นประติมากรรมจากหวายสานที่ผลิตในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ สร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจาก มนุษย์, สัตว์, แมลง, พืชพรรณ, หุ่นยนต์, เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายและเครื่องมือเครื่องใช้ท้องถิ่น ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลกอย่างมนุษย์ต่างดาว”

ผลงาน The Randing Intermediates – Inception Quartet (2020) และ Incantations – Entwinement, Endurance, and Extinction (2022) ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย
ผลงาน The Randing Intermediates – Inception Quartet (2020) และ Incantations – Entwinement, Endurance, and Extinction (2022) ที่หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย

“ประติมากรรมเหล่านี้ประกอบขึ้นจากรูปทรงต่างๆ ที่ดูเหมือนเป็นสิ่งมีชีวิตที่ดูคุ้นตาเอามากๆ แต่ก็มีความแปลกประหลาดไม่เข้าพวกบางอย่างอยู่ ประติมากรรมหวายเหล่านี้ถูกย้อมด้วยสีธรรมชาติทั้งหมด”

“งานประติมากรรมชุดนี้เป็นงานใหม่ที่ไม่เคยแสดงที่ไหนมาก่อน และฉันเองก็ไม่เคยทำงานกับวัสดุหวายมาก่อน ฉันสนใจในการทำงานฝีมือ แต่ฉันต้องการทำให้งานฝีมือเป็นอะไรที่มีความเป็นลูกผสมกับงานศิลปะร่วมสมัย และไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของอดีตหรือความเป็นประเพณีนิยมใด”

ประติมากรรมหน้าตาประหลาดเหล่านี้ยังทำให้เรานึกไปถึงเครื่องแต่งกายสุดประหลาด ล้ำยุคล้ำสมัย ในการแสดงบัลเล่ต์ Triadisches Ballett (1921-1929) ของ ออสการ์ ชเลมเมอร์ (Oskar Schlemmer) ศิลปินและผู้กำกับละครเวทีหัวก้าวหน้าแห่งสถาบันเบาเฮาส์ (Bauhaus) อยู่ไม่น้อย

The Randing Intermediates – Inception Quartet – Crested Duck King (2020)
The Randing Intermediates – Inception Quartet – Open-Hearted Royal Shoulder (2020)

ตามมาด้วยผลงาน Incantations – Entwinement, Endurance, and Extinction (2022) ที่ติดตั้งบนผนังขนาดใหญ่ในห้องแสดงงานเดียวกัน ในหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย ในรูปของวอลล์เปเปอร์ขนาดใหญ่ ที่มีกังหันทำมือเล็กๆ ติดอยู่จำนวนกว่า 300 ชิ้น

“กังหันเหล่านี้เป็นการแสดงถึงความเคลื่อนไหวของอากาศ และกระแสของสสารในจักรวาลขนาดจิ๋วที่เราไม่รู้จัก ส่วนลวดลายบนวอลล์เปเปอร์ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ชิ้นส่วนของดีเอ็นเอ โมเลกุล และลวดลายของป่าไม้ที่เรามองเห็นบนโลก จากท้องฟ้าเบื้องบน ฉันต้องการแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายทอดความรู้จากธรรมชาติสู่มนุษยชาติ ดังเช่นในทฤษฎีทางมานุษยวิทยาและชีววิทยาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋ว ที่ค้นพบว่ามีความเชื่อมโยงซ่อนเร้นระดับโมเลกุลระหว่างสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์แต่ละคน และวอลล์เปเปอร์ทั้งหมดคือการแสดงวิวัฒนาการของทฤษฎีที่ไม่ได้รับการพิสูจน์เหล่านี้ และฉันเชื่อว่าศิลปะและศิลปินควรทำหน้าที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติเช่นเดียวกับที่หมอผี (Shaman) เคยทำมาในอดีต”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ กังหันเหล่านี้เคลื่อนไหวด้วยแรงลมจากพัดลมเพดาน ซึ่งเป็นกลวิธีอันเรียบง่ายจนคาดไม่ถึงจริงๆ

Incantations – Entwinement, Endurance, and Extinction (รายละเอียดผลงาน)
Incantations – Entwinement, Endurance, and Extinction (รายละเอียดผลงาน)

ศิลปินยังจงใจปล่อยสายไฟของพัดลมให้หย่อนระโยงระยางลงมา เพื่อให้ดูเหมือนเถาวัลย์ ซึ่งดูเชื่อมโยงกับลวดลายป่าไม้บนวอลล์เปเปอร์ข้างหลังนั่นเอง

“ที่ทำเช่นนี้ นอกจากจะให้ดูเหมือนป่าไม้แล้ว ฉันยังพยายามไม่ซ่อนเทคนิคเบื้องหลังของงานตัวเอง ฉันมองว่าเทคนิคเบื้องหลังเหล่านี้สามารถใช้เป็นภาษาทางสุนทรียะในงานของฉันได้ และศิลปินแต่ละคนก็สามารถใช้สิ่งเหล่านี้เป็นภาษาทางศิลปะของตัวเองได้ด้วย”

ถึงแม้ประติมากรรมนี้จะมีล้อเลื่อนติดข้างใต้ แต่เธอก็ไม่อนุญาตให้ผู้ชมจับต้องหรือเคลื่อนไหวประติมากรรมเหล่านี้แต่อย่างใด (ศิลปินกล่าวว่า ถ้าชิ้นไหนต้องการให้ผู้ชมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับผลงาน หรือขยับเขยื้อนงานเล่นได้ เธอจะติดที่จับไว้ให้เป็นสัญลักษณ์ให้ขยับเล่นได้น่ะนะ) ส่วนการติดล้อเลื่อนใต้ประติมากรรมเหล่านี้ก็เพื่อให้สะดวกต่อการขนย้ายนั่นเอง

“ฉันสนใจในเทคนิคการจักสาน ซึ่งเป็นวิธีการพื้นฐานในการสร้างพื้นผิวของวัตถุต่างๆ ในขณะเดียวกัน งานจักสานหรืองานฝีมือก็เป็นกระบวนการผลิตที่ถูกมองว่าเชื่องช้าและไร้ประสิทธิภาพในสังคมร่วมสมัย เป็นแค่งานอดิเรกหรืองานฝีมือ ที่ไม่ได้ถูกรวมในงานศิลปะร่วมสมัย”

“ฉันจึงต้องการกลับไปสำรวจกระบวนการผลิตอันเชื่องช้าที่ว่านี้ เพื่อค้นหาความหมายใหม่ๆ ของงานฝีมือ แต่ฉันไม่ได้ต้องการแค่อนุรักษ์เทคนิคเหล่านี้ หากแต่ต้องการเรียนรู้เทคนิคแบบประเพณีเก่าแก่เหล่านี้ และใช้มันในการสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน ด้วยรูปทรง สัดส่วน และเทคนิคที่หลอมรวมกันอย่างแยกไม่ออก”

Enveloped Domestic Soul Channels – Mesmerizing Mesh #208 (2023) ที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง
Enveloped Domestic Soul Channels – Mesmerizing Mesh #208 (2023) ที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

ส่วนผลงานอีกชุดของแฮกู ยาง อย่าง Enveloped Domestic Soul Channels – Mesmerizing Mesh #208 (2023) นั้นจัดแสดงในพื้นที่ของอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงนั่นเอง

“ผลงานชุดนี้เป็นงานคอลลาจ (ปะติด) กระดาษที่ได้แรงบันดาลจากศิลปะการปะติดกระดาษของหมอผีและลัทธินับถือภูตผีและวิญญาณ (Shamanism) ซึ่งฉันศึกษาในเกาหลี และขยายมาจนถึงญี่ปุ่น ฉันยังโอบรับเอาวัฒนธรรมของชนเผ่าม้ง ที่ปะติดกระดาษเงินกระดาษทองเพื่อตกแต่งแท่นบชูาในบ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลัทธินับถือภูตผีบรรพบุรุษของพวกเขา ชนเผ่าม้งแต่ละครอบครัวจะมีแท่นบูชาที่ตกแต่งด้วยกระดาษตัดและปะติดเป็นลวดลายซ้ำๆ แบบนี้ในบ้าน ฉันจึงใช้งานคอลลาจกระดาษในลักษณะนี้ในงานชุดใหม่ชุดนี้ของฉัน ที่ใช้กระดาษฮันจิของเกาหลี ผสมกับกระดาษเงินกระดาษทองที่ชาวม้งใช้กับแท่นบูชาของพวกเขา โดยใช้รูปแบบการตัดปะติดกระดาษของชาวม้ง ซึ่งแตกต่างจากงานกระดาษพับของเกาหลีและญี่ปุ่น”

“ชาวม้งเป็นชาติพันธุ์กลุ่มเดียวที่ใช้ศิลปะการปะติดกระดาษเหล่านี้ในพิธีกรรมของพวกเขา ชาวม้งยังใช้เครื่องดนตรีในพิธีกรรม ซึ่งแทบจะเป็นเครื่องดนตรีแบบเดียวกันกับที่ฉันพบจากกลุ่มชนท้องถิ่นในเกาะเชจู ประเทศเกาหลี ทำให้ฉันประหลาดใจมาก ฉันรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักมานุษยวิทยามือสมัครเล่น ที่พยายามสำรวจความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้”

“ฉันเกิดและเติบโตในเกาหลี และศึกษาเล่าเรียนและเริ่มต้นอาชีพของฉันในยุโรป ทำให้ฉันมีความรู้สึกบางอย่างในการมองอาชีพการทำงานศิลปะแบบองค์รวม ว่าเราไม่ใช่แค่คนที่ทำงานศิลปะและจัดนิทรรศการเท่านั้น เราเป็นอะไรมากกว่านั้น และความปรารถนาที่ว่านี้อาจจะคล้ายกับสิ่งที่เราเรียกว่า ความคิดทางการเมือง ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราควรจะเป็นคนที่ครุ่นคิดถึงมวลมนุษยชาติ ชุมชน ฯลฯ”

“ฉันไม่ได้หมายความว่าเราต้องเป็นผู้นำทางการเมืองหรือโลกร่วมสมัย ฉันมองว่าตัวเองค่อนข้างคล้ายกับหมอผี ที่ซึมซับจิตวิญญาณของสิ่งต่างๆ รอบตัว โดยไม่รู้ว่าทำได้อย่างไร ฉันเพียงแค่ดำดิ่งลงไปในสิ่งเหล่านั้นอย่างลึกซึ้งเท่านั้น เราอาจจะทำได้สำเร็จหรือไม่ก็ได้ แต่เราก็พยายามจะทำมัน เพราะนั่นคือหน้าที่ของเรา”

Enveloped Domestic Soul Channels – Mesmerizing Mesh #208 (2023) ที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง
Enveloped Domestic Soul Channels – Mesmerizing Mesh #208 (2023) ที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจชมผลงานของ แฮกู ยาง ก็สามารถมาเยี่ยมชมกันได้ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567 ในพื้นที่แสดงงาน หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย (CIAM) และ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย •

ขอบคุณภาพจาก Wanchai Phutthawarin, Thailand Biennale Chiang Rai 2023

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์