วิกฤตชายแดนใต้! 20 ปีสงครามก่อความไม่สงบ

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

วิกฤตชายแดนใต้!

20 ปีสงครามก่อความไม่สงบ

 

“สงครามของรัฐและของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐเป็นปรากฏการณ์ที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก และมีข้อกำหนดในการได้รับชัยชนะที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน”

Stephen Biddle

Nonstate Warfare (2021)

 

เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่ออย่างมากที่เหตุการณ์การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยที่เริ่มจากการปล้นปืนที่ค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาสในวันที่ 4 มกราคม 2547 นั้น จะเดินทางมาเป็นระยะเวลาครบรอบ 20 ปี ต้องถือว่าเป็น “สถานการณ์สงคราม” ชุดที่ยาวนานที่สุดของสังคมไทย เนื่องจากสงครามชุดก่อนของยุคสงครามเย็นนั้น ใช้ระยะเวลาทั้งหมด 18 ปี

ดังนั้น ในระยะเวลา 20 ปีของความรุนแรงชุดใหม่ของสังคมไทยในยุคหลังสงครามเย็น จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สังคมควรต้องนำมาพิจารณาด้วยความใคร่ครวญ เพื่อที่จะก้าวเดินไปสู่ปีที่ 21 ของสงคราม

 

แรงขับเคลื่อนสงคราม

เหตุการณ์ความรุนแรงหลังวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด หากมองในภาพมหภาคของการเมืองโลกแล้ว ก็ถือว่าการเปิดปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธของชาวมุสลิมในหลายพื้นที่ของโลกนั้น สอดรับกับกระแสของเหตุการณ์การโจมตีสหรัฐในวันที่ 11 กันยายน 2544 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ “คลื่นความรุนแรงใหม่” หรือที่ถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเส้นแบ่งของมิติความรุนแรงที่เป็น “การก่อการร้ายใหม่” ในเวทีโลก

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เราจะเห็นการขยายตัวของปฏิบัติการทางทหารของกลุ่มติดอาวุธ เช่น กลุ่มเจไอ กลุ่มอาบูซายัฟ เป็นต้น จากปฏิบัติการเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามสืบเนื่องว่า แล้วจะเกิดความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ของไทยหรือไม่ เพราะหากพิจารณาถึงการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์แล้ว อาจจะต้องถือว่าเป็นการสิ้นสุดของสงครามคนละชุด

กล่าวคือ สงครามแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มติดอาวุธของมุสลิมในไทยนั้น ไม่ได้อยู่ในกรอบของสงครามเย็น

กลุ่มติดอาวุธเช่นนี้ไม่ได้รบภายใต้เงื่อนไขของความแตกต่างของอุดมการณ์ที่เป็นพลังของสงครามเย็น แต่รบด้วยเงื่อนไขของศาสนาและลัทธิชาตินิยมที่ผูกโยงกับเรื่องของชาติพันธุ์ หรือที่เรียกปัจจัยนี้ในทางทฤษฎีสังคมวิทยาว่า “ชาติพันธุ์ชาตินิยม” (Ethnonationalism)

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งของปัจจัยนี้คือ ความต้องการที่จะแยกตัวออกมาเป็น “รัฐอิสระ” ของกลุ่มชาติพันธุ์ตน อันทำให้เกิดข้อเรียกร้องในระดับสูงสุดคือ เรื่องเอกราช และในระดับรองลงมาคือ “สิทธิในการกำหนดใจตนเอง” (the right to self-determination) อันจะเป็นพื้นฐานของการสร้างรัฐเอกราชในอนาคต เพราะข้อเรียกร้องนี้เป็นพื้นฐานเดิมของขบวนการชาตินิยมในยุคอาณานิคม และใช้เป็นข้อเรียกร้องทั่วไปของการสร้างความเป็นอิสระของพื้นที่

 

แล้วในที่สุดก็ได้เกิดเหตุการณ์ในไทยในต้นปี 2547… ดังนั้น การปล้นปืนที่นราธิวาสคือ จุดเริ่มต้นของสถานการณ์ความรุนแรงในยุคหลังสงครามเย็นของไทย หรือในอีกมุมหนึ่งคือ “สงครามยุคหลัง พคท.” (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) แต่มีคุณลักษณะของสงครามที่ไม่แตกต่างกันคือ การเป็น “สงครามก่อความไม่สงบ” (insurgency warfare) เช่นที่รัฐไทยเคยมีประสบการณ์มาแล้วในยุคสงครามคอมมิวนิสต์ เป็นแต่เพียงแรงขับเคลื่อนของสงครามมีความแตกต่างกัน

ดังนั้น หากมองผ่านบริบทในทางทหารแล้ว สิ่งที่รัฐไทยต้องดำเนินการคือ การทำ “สงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ” (COIN) ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว หัวข้อนี้ถือเป็นเรื่องเก่าแก่ประเด็นหนึ่งในทางทหาร และมีตำราและคำสอนเป็นจำนวนมากในหัวข้อนี้ แต่ไม่มีคำสอนไหนจะดีไปกว่าสิ่งที่ประธานเหมาเจ๋อตุงกล่าวไว้เป็นหลักการของสงครามประชาชนว่า “ประชาชนเป็นน้ำ ทหารเป็นปลา” ฉะนั้น สิ่งที่จะต้องทำให้ได้ในทางยุทธศาสตร์และยุทธการคือ การ “แยกปลาออกจากน้ำ และจับปลา”

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรามักจะพบว่าฝ่ายรัฐลงไปลุยงานยุทธการในพื้นที่ที่มีปัญหาจนเกิดสภาวะ “น้ำขุ่น จนไม่เห็นปลา”… สภาวะเช่นนี้ “จับปลา” ไม่ได้อย่างแน่นอน และเมื่อจับไม่ได้แล้ว ก็มักจะเกิดสภาวะทางจิตวิทยาที่จะต้อง “ลุยมากขึ้น” จนในที่สุด “น้ำขุ่นมาก” จนมองไม่เห็นอะไรเลย และยิ่งลุยไปอย่างไร้ทิศทางมากเท่าใด น้ำก็ยิ่งขุ่นมากเท่านั้น…

คำอธิบายดูจะสะท้อนปัญหาของการดำเนินการของฝ่ายรัฐในสงครามต่อต้านการก่อความไม่สงบ ที่มักจะพบเห็นได้เสมอ เพราะผู้นำรัฐและผู้นำกองทัพมักจะอยู่ในชุดความคิดเดียวกัน ที่เชื่อในความเหนือกว่าของพลังอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจทางทหาร ที่ฝ่ายก่อความไม่สงบในความเป็น “ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ” (non-state actors) ไม่มีศักยภาพใดที่จะเทียบเคียงกับรัฐได้เลย

 

ความเข้าใจสงคราม

ในหลายกรณี เราจะพบว่าอุปสรรคใหญ่ที่สุดของฝ่ายรัฐมีปัญหาหลัก 2 ประการที่ไม่แตกต่างกัน คือ

1) ความเข้าใจของผู้นำรัฐและผู้นำองค์กรความมั่นคง โดยเฉพาะผู้นำกองทัพต่อปัญหาสงครามที่เกิดขึ้น เนื่องจากคุณลักษณะของสงครามที่มีลักษณะของ “สงครามนอกแบบ” (irregular warfare) ของตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ซึ่งชุดความคิดของสงคราม และการเอาชนะในสงครามชุดนี้มีความแตกต่างกับ “สงครามในแบบ” (conventional warfare) อย่างสิ้นเชิง นโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับสงครามชุดหนึ่ง อาจจะไม่สามารถนำมาใช้ได้กับสงครามอีกชุด เพราะความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องการชุดความคิดที่แตกต่างกันในการต่อสู้

2) ความเชื่อพื้นฐานของผู้นำรัฐและผู้นำทหาร ซึ่งในทุกกรณีจะพบปัญหาว่า ความเชื่อในพลังอำนาจของฝ่ายรัฐที่เหนือกว่านั้น ทำให้พวกเขาพร้อมที่จะใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือหลัก และละเลยเครื่องมืออื่นๆ ในการแก้ปัญหา และเชื่ออีกว่าสงครามชุดนี้น่าจะใช้เวลาไม่นานนัก เพราะกำลังที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยต่อปฏิบัติการใน 2 ลักษณะหลักคือ “กวาดล้าง-กดดัน” หรือในทางยุทธการคือ “ค้นหาและทำลาย” (search and destroy) ซึ่งถือเป็น “มรดกทางความคิด” ที่สำคัญของยุคสงครามเวียดนาม แต่ยังมีนัยสำคัญกับงานยุทธการในการต่อสู้กับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การผสมผสานของแรงขับเคลื่อนสงครามในยุคหลังสงครามเย็นมีความแตกต่าง และอาจจะซับซ้อนมากกว่าในยุคสงครามเย็น ดังเช่นอิทธิพลของปัจจัย “ชาติพันธุ์ชาตินิยม” ที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับปัจจัยสำคัญ 5 ประการ คือ “เชื้อชาติ-ประวัติศาสตร์-ศาสนา-ภาษา-วัฒนธรรม” ซึ่งหากมองในความเชื่อมโยงกับมิติของความรุนแรงแล้ว สงครามจึงมีความซับซ้อนมากกว่าจะเป็นเพียงเรื่องของ “การต่อสู้ทางอุดมการณ์” แบบเก่า อันทำให้การทำความเข้าใจกับโจทย์ของสงครามเช่นนี้มีความยุ่งยากในตัวเอง

เว้นแต่จะเชื่ออย่างง่ายๆ ว่า ผู้ก่อความไม่สงบเป็นเพียง “อาชญากรธรรมดา” จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจกับพลวัตสงครามและมิติทางการเมือง

อีกทั้งในโลกความมั่นคงสมัยใหม่นั้น ปัญหาเช่นนี้อาจมีความเชื่อมโยงกับอีกเรื่องที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการก่อความไม่สงบกับองค์กรอาชญากรรม ที่อาจจะเป็นเรื่องของยาเสพติด การค้ามนุษย์ การรับจ้างก่อเหตุร้าย หรือในบางกรณีอาจจะเป็นเรื่องของการเรียกค่าคุ้มครอง เป็นต้น

ผลสืบเนื่องจากความสัมพันธ์เช่นนี้ อาจทำให้ผู้นำรัฐบางส่วนเชื่อว่า การก่อความไม่สงบเป็นเพียงการก่อเหตุของกลุ่มอาชญากรในพื้นที่ ที่แม้อาจจะเชื่อมโยงกับขบวนทางการเมืองบางส่วน แต่พวกเขาในส่วนนี้ก็เชื่อว่าโดยเนื้อแท้แล้ว การก่อเหตุเช่นนี้มีมูลเหตุจูงใจมาจากเรื่องอาชญากรรม มากกว่าเรื่องทางการเมือง

การคิดถึงมิติทางการเมืองจึงกลายเป็นเรื่องรอง หรืออาจไม่ถูกนำมาคิดเลย

 

ในอีกส่วนหนึ่งของปัญหาคือ ปฏิบัติการความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีความโน้มเอียงไปสู่การก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิด การสังหารเจ้าหน้าที่รัฐ การสังหารประชาชน เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้ว่าที่จริงสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของสงครามก่อความไม่สงบที่มักจะใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือ เพราะตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมีขีดความสามารถทางทหารต่ำกว่าฝ่ายรัฐเสมอ การก่อการร้ายจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญของสงครามนอกแบบเสมอในทุกพื้นที่ของโลก และสะท้อนอีกส่วนว่า สงครามเช่นนี้ไม่มีกติกาในแบบของ “กฎการปะทะ” (rules of engagement) เช่นในสงครามตามแบบ

อย่างไรก็ตาม สงครามก่อความไม่สงบและ/หรือสงครามนอกแบบ มีความคล้ายคลึงกันใน 4 ประการหลัก คือ 1) การไม่มีแนวรบที่ชัดเจน 2) ไม่มีพื้นที่การรบที่ชัดเจน 3) ไม่มีข้าศึกที่ชัดเจน 4) ไม่มีกฎกติกาที่ชัดเจน แต่มีความชัดเจนเพียงประการเดียวคือ พวกเขาจะเป็นฝ่ายที่เลือก “เวลา-พื้นที่-โอกาส” ของปฏิบัติการตามเงื่อนไขของสถานการณ์ อีกทั้งผู้ก่อความไม่สงบทั่วโลกมีปฏิบัติการในแบบ “จรยุทธ์” อันเป็นผลจากความได้เปรียบในความชำนาญพื้นที่ และปัจจัยการสนับสนุนของมวลชนในพื้นที่

ดังนั้น การก่อความไม่สงบจึงเป็นปฏิบัติการแบบ “รบแล้วจร” หรือที่ทฤษฎีสงครามกองโจรเรียกว่า “hit and run” อันเนื่องมาจากการอ่อนแอกว่าของฝ่ายตน จึงต้องหลีกเลี่ยงการปะทะโดยตรงกับฝ่ายรัฐ เพราะการปะทะอาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียกับฝ่ายผู้ก่อเหตุได้มากกว่า การรบแบบจรยุทธ์จึงเอื้อให้ฝ่ายที่ทำการรบนอกแบบสามารถจำกัดความสูญเสียของฝ่ายตนได้

แม้ในบางครั้งการปะทะอาจจะถูกนำมาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของฝ่ายต่อต้านรัฐก็ตาม

 

ความท้าทายในอนาคต

ไม่น่าเชื่อว่าเป็นระยะเวลา 20 ปีแล้ว ที่สภาวะเช่นนี้เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่กระนั้น ก็มีความ “โชคดีทางยุทธศาสตร์” สำหรับรัฐไทย ที่สงครามชุดนี้ยังไม่สามารถยกระดับ หรือขยายสงครามได้จริง แต่ก็มิได้บอกว่าสงครามเช่นนี้ไม่เป็นภัยคุกคามต่อปัญหาความมั่นคงไทย…

ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงเป็นปัญหาความมั่นคงในวาระครบรอบ 20 ปีที่ผ่านมา แม้ระดับของความรุนแรงบางส่วนจะลดลงบ้างในช่วงจากยุคโควิด-19 ก็ตาม

ดังนั้น ในวาระที่รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้งในปี 2566 นั้น ปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งในปี 2567 ซึ่งเป็นความท้าทายของการก้าวสู่ปีที่ 21 ของสงครามด้วย

ฉะนั้น จึงหวังอย่างมากว่า สงครามในกาซาอันเป็นผลของเหตุการณ์ 10/7 ที่อิสราเอล จะไม่เป็นปัจจัยที่นำพา “คลื่นระลอกใหม่” ของการก่อการร้ายให้เกิดในเวทีโลกและเวทีภูมิภาค เช่นที่เห็นในยุคหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่นิวยอร์กมาแล้ว!