เบื้องหลัง ‘ม้าฮันส์แสนรู้’ อันน่าพิศวง | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509
วิลเฮล์ม ฟอน ออสเทน กับม้าฮันส์ ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Clever_Hans

บางครั้งสัตว์อาจแสดงความฉลาดอย่างที่เราคาดไม่ถึง กรณีคลาสสิคระดับโลกกรณีหนึ่งที่น่ารู้จักคือ ม้าฮันส์แสนรู้ (Clever Hans) ซึ่งเกิดขึ้นในเยอรมนีราวต้นศตวรรษที่ 20 หรือกว่าหนึ่งร้อยปีมาแล้ว

ราวปี ค.ศ.1900 มีชาวเยอรมันคนหนึ่งชื่อ วิลเฮล์ม ฟอน ออสเทน (Wilhelm von Osten) ซึ่งเป็นครูคณิตศาสตร์ที่เกษียณแล้ว เขาเชื่อว่าสัตว์ต่างๆ ล้วนมีความฉลาดไม่ต่างจากมนุษย์ เขาจึงพยายามพิสูจน์ความเชื่อนี้โดยทดลองสอนแมว หมี และม้า ให้คิดเลข

น้องแมวกับพี่หมีนั้นไม่มีทีท่าว่าจะสอนได้ (ซึ่งคงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก) แต่คุณม้าชื่อฮันส์ (Hans) ซึ่งเป็นม้าอาหรับตัวผู้นี่สิกลับฉายแววความฉลาดอย่างน่าทึ่ง

เช่น หากถามว่า 3+4 เท่ากับเท่าไร ม้าฮันส์ก็จะเคาะเท้าหน้าไป 7 ครั้ง จึงจะหยุด – ถูกเป๊ะ!

หรือหากบอกว่าวันที่ 8 ของเดือนเป็นวันอังคาร ถามว่าวันศุกร์ที่จะมาถึงหลังจากนั้นเป็นวันที่เท่าไหร่ ม้าฮันส์ก็จะเคาะเท้าหน้า 11 ครั้ง – ถูกอีก!

ไม่เพียงแต่ดูเหมือนว่าจะคิดเลขหรือนับปฏิทินเป็นเท่านั้น ม้าแสนรู้ตัวนี้ยังดูเหมือนจะรู้จักชื่อคนด้วย เช่น เมื่อยกภาพวาดให้ดู ม้าฮันส์ก็จะสะกดชื่อของจิตรกรได้ หรือเมื่อบรรเลงดนตรี ม้าฮันส์ก็จะสะกดชื่อผู้แต่งเพลงได้ ทั้งนี้ ม้าฮันส์ใช้การเคาะเท้าหน้าเข้ารหัส เช่น ตัว A เคาะ 1 ครั้ง, ตัว B เคาะ 2 ครั้ง…ไปเรื่อยๆ

เก่งขนาดนี้ ถ้าเป็นบ้านเราสมัยก่อนก็คงพาไปออกงานวัด หรือถ้าเป็นสมัยนี้ ก็คงมีคลิป TikTok แชร์กันกระหน่ำโลกโซเชียล แต่ในเยอรมนีสมัยร้อยกว่าปีก่อนโน้น คุณฟอน ออสเทน ผู้เป็นเจ้าของได้พามันออกตระเวนแสดงความสามารถให้ผู้คนชม (ว่ากันว่าแบบไม่เก็บตังค์ด้วย)

 

ไปที่ไหนม้าฮันส์ดึงดูด ‘ฝรั่งมุง’ มากมาย แน่นอนคนที่ไม่เชื่อต่างก็แห่กันไปพิสูจน์ แต่ก็ยังจับผิดหรือกลโกงอะไรไม่ได้ มีนักคณิตศาสตร์บางคนสรุปว่าเจ้าฮันส์เข้าใจคณิตศาสตร์เทียบเท่าเด็กอายุ 14 ปี ส่วนบางคนถึงกับเชื่อว่าม้าฮันส์น่าจะมีโทรจิต…ว่าเข้าไปโน่นเลย! (ถ้าเหตุการณ์เกิดในเมืองไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจมีคนคิดว่าม้าฮันส์ ‘เชื่อมจิต’ กับคนเลี้ยงเป็นแน่ 555)

คุณม้าแสนรู้จึงเป็นที่รู้จักในภาษาเยอรมันว่า de Kluge Hans หรือ ฮันส์แสนรู้ (Clever Hans) นั่นเอง

กรณีม้าฮันส์นี้ทำให้บรรดานักวิทยาศาสตร์ร้อนอาสน์อย่างยิ่ง จำเป็นต้องอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้

ครั้งแรก – นักปรัชญาและนักจิตวิทยาชื่อ คาร์ล ชตุมพฟ์ (Carl Stumpf) ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกได้ 13 คน ตั้งเป็นคณะกรรมการฮันส์ ดำเนินการศึกษาข้อกล่าวอ้างต่างๆ เกี่ยวกับฮันส์แสนรู้ คณะกรรมการชุดนี้มีทั้งสัตวแพทย์ ผู้จัดการคณะละครสัตว์ หัวหน้ากองทหารม้า ผู้อำนวยการสวนสัตว์เบอร์ลิน และครูอีกจำนวนหนึ่ง

ในเดือนกันยายน ค.ศ.1904 คณะกรรมการฮันส์ชุดนี้สรุปว่าการแสดงของม้าฮันส์ไม่มีการหลอกลวงใดๆ และส่งต่อผลการตรวจสอบไปให้กับนักชีววิทยาและนักจิตวิทยาชื่อ ออสการ์ ฟุงสต์ (Oskar Pfungst) ดำเนินการต่อ

ม้าฮันส์กำลังแสดงความสามารถในปี ค.ศ.1904
ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Clever_Hans

ครั้งที่สอง – ฟุงสต์ ทดสอบม้าฮันส์โดยใช้เงื่อนไขหลักต่างๆ 4 ข้อ

หนึ่ง – แยกม้าฮันส์และผู้ถามออกจากผู้เฝ้าดู เพื่อไม่ให้มีการส่งสัญญาณใดๆ จากผู้เฝ้าดู

สอง – ใช้คนอื่น (ที่ไม่ใช่เจ้าของ) เป็นผู้ตั้งคำถาม

สาม – ทำให้ม้ามองเห็น หรือมองไม่เห็นผู้ตั้งคำถามโดยใช้หน้ากากป้องกันตา

สี่ – ใช้คำถามแบบที่ผู้ถามรู้คำตอบสลับไปมากับคำถามแบบที่ผู้ถามไม่รู้คำตอบ

เขาทดสอบม้าฮันส์หลายคำถาม โดยมีแง่มุมที่น่าทึ่งก็คือ แม้จะให้คนอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของเป็นคนถาม มันก็ยังตอบถูกอย่างน่าทึ่ง แสดงว่าเรื่องการหลอกลวงแบบจงใจนั้นตัดทิ้งไปได้…ฮี้…ฮี้!

แต่ในที่สุด…ออสการ์ ฟุงสต์ ก็จับไต๋ได้!

กล่าวคือ ม้าฮันส์จะตอบถูกเป็นส่วนใหญ่ หากมีใครสักคนที่รู้คำตอบอยู่ด้านหน้า แต่หากไม่มีใครที่ม้าฮันส์มองเห็น หรือแม้จะมี แต่คนคนนั้นดันไม่รู้คำตอบ…ม้าฮันส์ก็จะไม่ค่อยแสนรู้เท่าใดนัก…แง…แง

ลองดูตัวเลขจากการทดสอบกันหน่อย หากม้าฮันส์มองเห็นผู้ถามและผู้ตั้งคำถามรู้คำตอบ มันก็จะตอบถูกถึง 89% (คือ ตอบถูก 50 จาก 56 คำถาม) แต่ถ้าม้าฮันส์มองไม่เห็นผู้ถาม มันจะตอบถูกเพียงแค่ 6% เท่านั้น (คือ ตอบถูก 2 คำถามจาก 35 คำถาม)

ม้าฮันส์เคาะคำตอบด้วยกีบเท้าหน้า
ที่มา : https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3921203/

ออสการ์ ฟุงสต์ จึงเสนอสมมุติฐานว่า จริงๆ แล้วเจ้าฮันส์น่ะคิดเลข (หรือจำตัวอักษร) ไม่ได้หรอก แต่ความแสนรู้ของมันอยู่ตรงที่ว่า มันสามารถจับภาษาท่าทางของคนที่รู้คำตอบได้ต่างหากเล่า

เช่น หากถามว่า 3+4 เป็นเท่าไร เจ้าฮันส์ก็จะเคาะกีบเท้าไปเรื่อยๆ จนกว่าคนที่มันเห็นจะแสดงอาการโล่งอก หรืออาการอื่นๆ ที่บ่งว่าตอบถูกแล้ว (ว่าคำตอบเท่ากับ 7) เช่น คนคนนั้นอาจจะพยักหน้าน้อยๆ หรือคลายคิ้วที่ขมวดอยู่ออกมา เป็นต้น

อาการแบบนี้แหละที่นักจิตวิทยาเรียกว่า สัญญาณบอกใบ้จากภาพที่เห็น (visual cue) ซึ่งคนให้สัญญาณมักทำไปแบบไม่รู้ตัว (ม้าฮันส์แสนรู้อ่านภาษาท่าทางของคนได้ทะลุปรุโปร่งขนาดนี้ ถ้าลองให้อ่านสีหน้าและท่าทางของบรรดาชนชั้นนำเวลาพูดว่าทำเพื่อประชาชน – จะเป็นยังไงน้อ?)

อย่าคิดว่านี่เป็นเพียงสมมุติฐานเล่นๆ เพราะฟุงสต์เชื่อว่า หากม้าทำได้ คนก็ต้องทำได้ด้วยเช่นกัน เขาก็เลยจัดการทดลองโดยตัวเขาเองสวมบทม้าฮันส์ แล้วให้ผู้ถามคำถามติดอุปกรณ์ที่คอยตรวจจับการเคลื่อนไหวของศีรษะและจังหวะการหายใจ โดยตัวเขาเองจะตอบคำถามโดยการเคาะเท้าเหมือนอย่างที่ม้าฮันส์ทำ

ผลก็คือ ฟุงสต์ตอบคำถามถูกเกินกว่า 90% โดยการสังเกตสัญญาณบอกใบ้ดังกล่าวจากผู้ถามเท่านั้น เขาจึงสรุปว่า สมมุติฐาน (คือ คำอธิบาย) ของเขาได้รับการสนับสนุน

โปรดสังเกตการใช้คำให้ดีๆ นะครับว่า ฟุงสต์ไม่ได้ฟันธงว่า สมมุติฐานของเขาได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง…เพียงแต่มีหลักฐานมาสนับสนุนเพิ่มเท่านั้น…นี่แหละวิถีแห่งวิทยาศาสตร์ครับ

ปรากฏการณ์ที่สัตว์ (หรือแม้กระทั่งคนเรา) ดูเหมือนจะมีทักษะหรือความสามารถบางอย่างทั้งที่จริงแล้วสัตว์ตัวนั้น (หรือคนคนนั้น) เพียงแต่ตอบสนองต่อสัญญาณบอกใบ้แบบไม่ตั้งใจจากสภาพแวดล้อม จึงมีชื่อเรียกว่า ปรากฏการณ์ฮันส์แสนรู้ (Clever Hans effect)

อาจมีคำถามว่าเหตุใดออสการ์ ฟุงสต์ จึงเสนอสมมุติฐานดังกล่าวได้ คำตอบหนึ่งก็คือ เขาพอรู้มาก่อนแล้วว่าผู้ฝึกสอนม้าในคณะละครสัตว์สามารถฝึกม้าให้ตอบสนองต่อกิริยาท่าทางเพียงเล็กน้อยได้ อีกทั้งเขายังทราบว่ามีสุนัขจำนวนมากที่สามารถชี้ไปยังวัตถุที่เจ้านายของมันมองอยู่ได้ รวมทั้งยังสามารถ “เห่า” ตอบคำถามอย่างค่ารากที่สองได้โดยการมองใบหน้าของเจ้านาย

สุดท้าย มีเรื่องเล็กๆ เกี่ยวกับสัตว์แสนรู้มาฝาก คือเจ้าของแมวคนหนึ่งอ้างว่า แมวของเขาก็คิดเลขได้ เพราะเมื่อถามมันว่า 555 คูณด้วย 0 เท่ากับเท่าไร มันจะทำเฉย ซึ่งแปลว่า “ก็ศูนย์นะสิ”

เห็นไหมล่ะ…แมวแสนรู้จริงๆ!

เริ่มเรื่องด้วยม้า ขอจบด้วยแมวดื้อๆ ซะงั้น…เมี้ยวๆ!