จากกู้ 5 แสนล้าน ถึงปัญหาดอกเบี้ย ทางขนาน รัฐบาล-ธปท.

ท้ายที่สุด “ระเบิดเวลา” ของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้งติดต่อกันตลอดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ก็ระเบิดออก

เมื่อ “หนุ่มเมืองจันท์” นามปากกาของ “สรกล อดุลยานนท์” คอลัมนิสต์ นักเขียน อดีตนักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ได้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊ก จากรายงานข่าวของประชาชาติธุรกิจ ที่คาดการณ์กำไรธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ 2.2 แสนล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

คำถามแรก รายงานข่าวชิ้นนี้เกินจริงไปหรือไม่? ตอบได้ทันทีเลยว่าไม่เกินจริง เพราะข่าวการประกาศกำไรแต่ละไตรมาส มีมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยปากของผู้บริหารของหลายๆ ธนาคารเอง (ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารของรัฐ) ไม่เชื่อลองค้นหาข่าวเก่า เจอเต็มไปหมด

กระแสทางจิตวิทยาที่แสดงความไม่พอใจต่อกำไรของธนาคารในแต่ละไตรมาสของปี 2566 ที่ผ่านมา ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง

เพียงแต่รอบนี้แรงที่สุด โดยมี “หนุ่มเมืองจันท์” เป็นตัวแทนหมู่บ้าน สรุปรวบยอดปัญหาและคำถามที่อยู่ในใจคนไทยจำนวนมาก

หนุ่มเมืองจันท์ ไม่รู้สึก “เอ๊ะ” บ้างหรือ? กำไรธนาคารขยายตัวเกือบ 20% ขณะที่จีดีพีประเทศ ต่ำเตี้ย โดยใช้คำว่า “รัฐบาลและแบงก์ชาติ” นั่นแปลว่าเขาพุ่งเป้าไปยัง 2 ฝ่าย

คำถามต่อมาก็คือ กำไรของธนาคารที่ได้มาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ผิดไหม? ผิดมากไหม? ใครมีส่วนผิด ถ้าไม่ผิดเลย เพราะอะไร? และจะแก้ปัญหาอย่างไร?

เกิดเป็นมุมมองถกเถียงกัน 2 มุม

 

มุมมองแรก นำเสนอโดย สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน ชี้ว่า ธนาคารกำไรสูงเป็นประวัติการณ์นั้นไม่ใช่เรื่องผิดในมุมการเงินทั่วๆ ไป อัตราส่วนต่างของดอกเบี้ยก็ไม่ได้สูงจนเว่อร์เมื่อเทียบกับต้นทุน ที่คนโวยวายอาจจะเป็นเพราะเจอกับตัวเลยเดือดร้อน ครั้นแบงก์ชาติจะไปสั่งให้ธนาคารลดดอกเบี้ย ยิ่งอาจจะเพิ่มปัญหา เพราะแบงก์จะยิ่งไม่อยากปล่อยกู้ ยกเว้นลูกค้าชั้นดี

ขณะที่นักการเมืองก็มีที่เห็นคล้อยไปกับมุมมองนี้ นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ที่มองว่า ธนาคารมีกำไร เป็นการการันตีอย่างหนึ่งว่าถ้าลูกค้ามีเงินมาจ่ายดอกเบี้ย แปลว่าลูกค้ามีเงิน สะท้อนเศรษฐกิจประเทศยังมั่นคง แต่ถ้าธนาคารขาดทุน ประเทศก็ไปก่อน

นอกจากนี้ ยังมีมุมมองจากนักวิเคราะห์ที่มองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยมีผลต่อกำไรธนาคารก็จริง แต่ไม่ใช่ปัจจัยของกำไรธนาคารทั้งหมด หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นจะเห็นว่ากลุ่มธนาคารมี ROE เฉลี่ยที่ 8-9% เท่านั้น ถือว่าต่ำมาก กำไรของธนาคารไทยไม่ได้อยู่สูงไปกว่าโลกเลย หรือเมื่อเทียบกับอดีตก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ

 

ขณะที่อีกมุม สนับสนุนคำถามของหนุ่มเมืองจันท์ อาทิ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช นักวิชาการเศรษฐศาสตร์-อดีต รมว.คลัง ที่ระบุว่า ธนาคารไทยมีกำไรมากจริง เพราะระบบสถาบันการเงินของไทยค่อนข้างผูกขาด ที่ผ่านมาแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินไป ทำให้เงินเฟ้อติดลบติดต่อกันมา 3 เดือนแล้ว ครั้งสุดท้ายขึ้นดอกเบี้ย แม้เห็นตัวเลขเงินเฟ้อติดลบแล้ว ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรมากเกินปกติ

อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิความร้อนแรงพุ่งขึ้นสูงทันที เมื่อมีความเห็นจากฝั่งรัฐบาลในเรื่องนี้

เริ่มจากโฆษกรัฐบาลออกมาแถลงข่าวชื่นชมความเห็นของ “หนุ่มเมืองจันท์”

ตามมาด้วยความเห็นของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง โพสต์ผ่าน X (ทวิตเตอร์เดิม) เรื่องดอกเบี้ย วิจารณ์แบงก์ชาติตรงไปตรงมาว่า ขึ้นดอกเบี้ยสวนทางเงินเฟ้อ ทั้งที่ตัวเลขเงินเฟ้อติดลบติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

ในทางการข่าวนี่เท่ากับเป็นการเปิดศึกกับแบงก์ชาติครั้งที่ 3 ตอกย้ำทางเดินที่ “ขนาน” กันอีกครั้ง

สองครั้งก่อนหน้าที่ของรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เริ่มจากช่วงแรกของการเข้ารับตำแหน่งกับการพยายามผลักดันนโยบายแจกเงินดิจิทัล

ช่วงนั้นผู้ว่าการแบงก์ชาติแสดงจุดยืนสวนทางกับความเห็นของนายกฯ ที่ชี้ว่าประเทศวิกฤตแล้วในขณะนี้ ยืนยันประเทศยังไม่ถึงขั้นวิกฤต เศรษฐกิจยังเติบโตได้ ไม่ห้ามแจกเงิน แต่ต้องไม่หว่านแห

ครั้งนั้น นอกจากผู้ว่าการแบงก์ชาติ ยังมีอดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติอีกหลายคนออกมาทักท้วง รวมกระทั่งนักวิชาการเศรษฐศาสตร์นับร้อยคน ร่วมกันออกแถลงการณ์ จนมีกระแสข่าวการปลดผู้ว่าการแบงก์ชาติ สุดท้ายฝ่ายรัฐบาลเงียบลง

ครั้งที่สอง เกิดขึ้นช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2566 รัฐบาลไม่เห็นด้วยกับการลดเป้าหมาย GDP ในขณะที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก่อนจบที่ภาพการพูดคุยเคลียร์กันที่ทำเนียบรัฐบาล

และครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งที่ 3 โดยมีฝ่ายรัฐบาลเปิดฉากปล่อยอาวุธใส่ก่อน ท่ามกลางความสงบนิ่งของผู้ว่าการแบงก์ชาติ

 

พลันเกิดภาพนายกฯ เชิญผู้ว่าการแบงก์ชาติเข้าพูดคุยที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการพูดคุยอะไรนอกจากบอกว่ารัฐบาลไม่เคยมีการไปโน้มน้าวอะไรแบงก์ชาติ

ทั้งนี้ ในทางหลักการ ฝ่ายรัฐบาลไม่สมควรอย่างยิ่งในการแทรกแซง หรือสั่งการให้กระทำการเช่นใดเกี่ยวกับนโยบายการเงิน เพราะประเทศจะสูญเสียเครดิตด้านนโยบายการเงิน

ที่ผ่านมา ขนาดรัฐบาลจากรัฐประหารยังไม่กล้าแตะ

แม้แต่การปลดหรือเปลี่ยนตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติ ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย เพราะหากทำตามอำเภอใจ จะยิ่งสร้างความเสียหายด้านภาพลักษณ์ประเทศอย่างใหญ่หลวง

แต่แน่นอน การวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นต่อแบงก์ชาติก็ย่อมต้องทำได้ด้วยหลักวิชาการ ข้อมูลและสถิติ เพราะในอดีตแบงก์ชาติก็เคยผิดพลาดเรื่องนโยบายการเงิน

อย่างไรก็ตาม ทั้งการทำงานของรัฐบาลและแบงก์ชาติ ต่างกระทบเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ ปากท้องของประชาชนคนส่วนใหญ่อย่างมาก แต่การจะชี้ว่าใครผิด/ถูก ใครตอบสนองแก้ปัญหาเร็ว/ช้า ในวิกฤตเศรษฐกิจปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เป็นความซับซ้อนที่ต้องมองอย่างรอบด้าน

มุมมองของแบงก์ชาติ มีความเป็นเทคโนแครตสูง จำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพทางการเงินตามระบบทุนนิยมเสรี อำนาจฝ่ายบริหารไม่ควรแทรกแซง

ในมุมมองของธนาคาร ก็ต้องแข่งกันเพื่อทำกำไร โดยมีผู้กำกับกว้างๆ คือแบงก์ชาติ

ขณะที่มุมมองรัฐบาล ต้องไม่แทรกแซงแบงก์ชาติ และต้องตระหนักในหน้าที่ของตน ทำหน้าที่บริหารประเทศให้ดี ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้คนส่วนใหญ่มีสภาพคล่องทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ส่วนภาคประชาชน ก็มีหน้าที่ติดตาม วิพากษ์วิจารณ์ ส่งเสียงถึงรัฐบาลให้บริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงติดตามการทำงานของแบงก์ชาติด้วย

 

การแก้ปัญหา อาจเริ่มด้วยการยอมรับความจริงที่เป็นตัวเลขก่อนก็ได้ วันนี้ต้องยอมรับความจริงจากปัญหาดอกเบี้ยสูง

คนไทยลำบากขึ้นมากๆ ธุรกิจเอสเอ็มอีล้มหายตายจากไปมาก พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ดี ปี 2566 คนเลิกกิจการไปมากกว่าปี 2565 ถึง 11%

คนกู้ซื้ออสังหาฯ บ้าน-คอนโดฯ ไม่ผ่าน 50-70% รถยนต์ถูกยึดเดือนละเกือบ 30,000 คัน เพราะคนผ่อนไม่ไหว

และก็ต้องยอมรับว่าการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมามีส่วนช่วยทำให้ธนาคารมีกำไรดอกเบี้ยสุทธิสูงขึ้นจริง มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจริง จนทำให้ธนาคารมีอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) เพิ่มสูงขึ้นระดับใกล้เคียงช่วงก่อนโควิด

วันนี้ทุกคนเหนื่อย ภาคครัวเรือนลำบาก ใช้ชีวิตยากขึ้น ภาคธุรกิจก็ยากลำบาก ปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นข่าวดังหลายกรณี ทำนองผ่อนบ้านแทบตาย เงินต้นลดนิดเดียว ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยล้วนๆ

นั่นคือความจริง

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลและแบงก์ชาติ ต้องยึดหลักการโน้มเข้าหาประชาชน ต้องคุยกัน โดยเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

แน่อนว่า ในระบบทุนนิยมเสรี การมีกำไรของธนาคารไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใด แต่ถ้าเมื่อใดความเหลื่อมล้ำกลายเป็นคำถามสำคัญของยุคสมัย

ในยุคที่ผู้คนยากลำบาก ชีวิตคนจำนวนมากอยู่ในสภาวะคอปริ่มน้ำ ผู้คนจำนวนไม่น้อยต้องล้มหายตายจากไปเพราะสภาวะ “หนี้” การวิพากษ์วิจารณ์กำไรมหาศาลของธนาคาร จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติเช่นกัน

ไม่มีใครผิดหมด ไม่มีใครถูกหมดตลอดเวลา ทุกอย่างเป็นเรื่องของการต่อรอง ประนีประนอม สำคัญที่สุดคือทำเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ เดินบนทางขนานกันไปบนผลประโยชน์ของประชาชน