ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มกราคม 2567 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ฟ้า พูลวรลักษณ์
หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๒๑๐)
๑
ฉันแปลกใจว่า พระพุทธเจ้า ท่านรู้ไหมว่า มีสิ่งหนึ่งไม่ใช่อนัตตา สิ่งนั้นคือ ความเร็วแสง
แสงมีความเร็วคงที่ เป็น constant
๒
นี้เป็นความประหลาดล้ำในโลก
ธรรมทั้งปวง ล้วนเป็นอนัตตา
ทำไมมีข้อยกเว้นได้
ไม่มีปัญหาใด หากเรายอมให้ ธรรมทั้งปวง มีข้อยกเว้นได้
หนึ่งในข้อยกเว้นนั้น คือ constant
๓
แสดงว่า พระพุทธเจ้า ท่านพูดผิดหรือ ท่านรู้ไม่จริงหรือเปล่า
ท่านอาจไม่รู้ใน ฟิสิกส์
อย่างอื่นท่านรู้ และท่านก็สอนออกมา ด้วยภาษาของท่าน
ท่านต้องอ้อม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ในขณะที่หากใช้ภาษาฟิสิกส์ ก็เพียงแค่ไม่กี่บรรทัด แต่ไม่ใช่ความผิดของท่าน
ท่านจะรู้ในทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ก่อนล่วงหน้า หลายพันปีได้เชียวหรือ
ความรู้นั้น ไม่ใช่ไอน์สไตน์รู้คนเดียว
หากแต่ได้มาจากการสั่งสมของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายหมื่นหลายแสนคน
รวมเป็นองค์ความรู้เดียว
ไอน์สไตน์เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง
เป็นตัวอย่าง ที่โดดเด่น
ฟิสิกส์เป็นผลงานรวบยอด ของนักวิทยาศาสตร์นับแสนนับล้าน
รวมเป็นจิตหนึ่ง
ผ่านความยากลำบาก การทดลอง การลงทุนมหึมา
เกินเลยกว่า นักบวชใด นักปราชญ์ใด จะเทียบได้
๔
แสงเดินทางด้วยความเร็วคงที่
แต่กาลเวลา
และอวกาศ
กลับไม่คงที่ มันยืดหดได้
สัมพัทธภาพหมายถึง
มันสามารถพูดได้ว่า แสงเดินทางเร็วขึ้น หรือช้าลง
หากผู้สังเกตการณ์เอาตัวเองเป็นหลัก
แต่ผู้สังเกตการณ์มีได้จำนวนไม่สิ้นสุด
ความสับสนครั้งใหญ่จึงเกิดขึ้น
ความสับสนจะหยุดกึก หากเรายอมรับว่า กาลอวกาศต่างหาก ที่ยืดหดได้
แสงกลับมีความเร็วคงที่
มันนิ่ง สถาพร
๕
เป็นไปได้ ว่าพระพุทธเจ้า ท่านรู้ว่า กาลเวลา ยืดหดได้
ความกว้าง ยาว ลึก ยืดหดได้
ระยะทาง กี่วา กี่โยชน์ ล้วนยืดหดได้
นี่เองคือความหมายที่แท้ ของคำว่า อนัตตา
และท่านก็อธิบายได้ละเอียดยิบ แต่ทว่า เราไม่ได้แตะความเร็วแสง ซึ่งเป็นตัวกำหนดกฎในจักรวาล
มันเล็กน้อยมาก หากเทียบกับธรรมทั้งหลาย
แต่ทว่า มันกลับลึกซึ้ง
เหลือจะกล่าวได้
๖
แสงเดินทางด้วยความเร็วคงที่ในสุญญากาศ
แต่หากมันเดินทางผ่านตัวกลาง ความเร็วของมันก็เปลี่ยนได้
เช่น แสงเดินทางผ่านน้ำ มันก็ช้าลง
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า มันเป็นอนัตตา
มันช้าลงด้วยเรตคงที่ ตามความหนาแน่นของน้ำ
แสงเดินทางผ่านหลุมดำ ด้วยความช้าเป็นอนันต์
๗
น่าประหลาด
ในมุมมองของเรา
หลุมดำ ไม่ใช่หลุมดำ
เพราะกาลเวลาในหลุมดำ มันช้ายิ่งนัก
มันช้าจนกระทั่งว่า สสารยังไม่ทันยุบตัว
๘
ทุกหลุมดำ จึงไม่ใช่หลุมดำ
ด้วยเพราะกาลเวลาของมัน ช้าเกินกว่าเราจะสังเกตการณ์ได้
ไม่น่าประหลาดใจเลย
เพราะหลุมดำ ก็เป็นอนัตตา
๙
นี่ไม่สับสน หากเรายอมรับว่าแสงมีความเร็วคงที่
กาลเวลาต่างหากที่มีปัญหา ด้วยมันเป็นอนัตตา
มันเป็นแม้ในขณะนี้
ไม่จำเป็นต้องในเวลาไหน ในเงื่อนไขใด มันเป็นอนัตตาโดยตัวมันเอง
เช่นเดียวกับอวกาศ
หากแต่มันแอบแฝงมาในสามัญสำนึกของมนุษย์
คล้ายหนึ่งกับว่า มันคงที่
มันหลอกเราไม่พอ มันยังแบ่งร่างออกมาเป็นขันธ์ ๕ หลอกเราซ้ำ
แบ่งตัวออกมาเป็นอายตนะ ๑๒ หลอกเราซ้อน
แบ่งร่างได้ไม่สิ้นสุด
๑๐
มีคนเข้าใจพุทธธรรม น้อยยิ่งนัก
แต่มีคนเข้าใจทฤษฎสัมพัทธภาพ ของไอน์สไตน์น้อยยิ่งกว่า
และหากเทียบกับทฤษฎีควอนตัม
ยิ่งมีคนเข้าใจน้อยลงไปอีก
ส่วนคนที่จะเข้าใจสองทฤษฎี คือทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์
ควบคู่กับควอนตัม
จนเข้าใจทะลุเป็นเนื้อเดียว สนามเดียว
ยังไม่มีเลย แม้สักคนหนึ่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022