การเมืองเรื่องความกลัว กับการอยู่กับความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน 3 จังหวัดชายแดนใต้

(Photo by KATAWUT CHUM / AFP)

เป็นโอกาสอันดีที่ได้พูดคุยกับ นิศาชล ชัยมงคล เจ้าของรางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก ประจำปี 2566 จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองเรื่องความกลัวกับการอยู่กับความขัดแย้งในมิติชีวิตประจำวันบนพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้” จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันศึกษาระดับปริญญาโทที่ประเทศออสเตรเลีย

ความน่าสนใจของวิทยานิพนธ์นี้ คือเป็นครั้งแรกที่มีการเข้าไปศึกษาเรื่องความกลัว อย่างเป็นระบบด้วยหลักวิชาทางด้านมนุษยวิทยา

อันจะนำมาสู่การเข้าใจปัญหาความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างใกล้ความจริงให้มากที่สุด

นิศาชล ชัยมงคล

นิศาชล เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า เกิดจากการทำงานด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ ส่วนตัว ช่วงแรกก็มีภาพพื้นที่ 3 จังหวัดแบบคนธรรมดาคือ ความกลัว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

แต่พอไปทำงานในพื้นที่ คลุกคลีกับเยาวชน พบว่า เรามักได้ยินแต่เสียงของผู้ใหญ่ต่อปัญหาชายแดนใต้ แต่ไม่ค่อยได้ยินเสียงเยาวชน ทั้งที่สถานการณ์มันลุกลามต่อเนื่องนานเกือบ 20 ปี มีเยาวชนที่โตมากับเหตุการณ์ความรุนแรง ลืมตามาก็เห็นแต่ด่าน เห็นทหารถือปืนซื้อของในตลาด

ยิ่งทำงานสร้างกิจกรรมให้เยาวชนต่างศาสนา ก็พบว่าบรรยากาศภาคใต้มันไปไกลมากในแง่ที่ว่า มันเกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนจากความรุนแรง คนจีน คนพุทธ คนที่มีกำลัง ก็จะย้ายออกจากพื้นที่ ไปซื้อบ้านที่หาดใหญ่ ไปซื้อบ้านที่ภูเก็ต ลูกหลานคนพุทธแทบจะไม่ได้กลับมา

ผนวกกับโรงเรียนสอนศาสนาทางใต้ก็ฮิตขึ้น นั่นหมายความว่าเด็กๆ เขาเข้าไปตามลู่ทางของศาสนาของตัวเอง

ฉะนั้น โรงเรียนที่มันจะสร้างพื้นที่ของความเป็นเพื่อนหรือการรู้จักกัน มันไม่มีเลย

ยิ่งทำงานแบบนี้ก็ยิ่งเห็นประเด็นความสัมพันธ์ของคน ยิ่งได้ฟังเรื่องเล่าว่าเมื่อก่อนคนเคยไปมาหาสู่กัน เคยมีเพื่อนคนพุทธ โตมาด้วยกัน เคยถือศีลอด แอบไปกินข้าวบ้านคนพุทธ เรื่องเล่าตลกพวกนี้ พอมีความรุนแรงเกิดขึ้น เขารู้ว่าเขาเป็นเพื่อนกัน แต่กลับไม่มีปฏิสัมพันธ์กันเหมือนเดิม

เพื่อนพุทธก็ไม่ข้ามไปหมู่บ้านเพื่อนมุสลิม

คนมุสลิมก็ไม่มาหมู่บ้านคนพุทธ จากคนที่เคยเอาข้าวไปให้เพื่อนบ้านได้ อยู่มาวันหนึ่งเหมือนเส้นนี้มันหายไป

 

อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันต์ เคยวิเคราะห์ว่าความสัมพันธ์มันเหมือนแก้วที่ร้าวหรือเปล่า?

แต่พอตัวเองอยู่ในสนามไปนานๆ พบว่ามันแตกเลย มันไม่ใช่แค่ร้าว

คือมันแตกชนิดที่ว่าความสัมพันธ์ที่เคยมี มันทำงานไม่ได้แล้วในพื้นที่

มันจึงเป็นปัญหามากกว่าเวลาเราฟังปัญหาชายแดนใต้เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ชาติ เรื่องเอกราชหรือไม่เอกราช (อันนั้นก็มีอยู่ เราไม่ปฏิเสธ) แต่ว่าสิ่งที่มันเกิดคำถามเพราะสิ่งที่มันเกิดระดับหมู่บ้าน ชุมชน ความสัมพันธ์ของคนที่มันเคยเท่ากัน อยู่มาวันหนึ่ง เราไม่เป็นเพื่อนกันอีกแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องสำคัญอันหนึ่งที่ทุกคนพูดถึงคือ “ความกลัว” คำพูดทำนอง “อย่าไปตรงนี้มันน่ากลัว” “อย่าทำอันนี้มันน่ากลัว” “อย่าข้ามถนนเส้นนี้ อย่าไป (แม้ว่าจะเป็นอีกซอยเดียวเอง)”

คำพูดเหล่านี้ล้วนก่อให้เกิดคำถามว่าเมื่อก่อนมันไม่ได้กลัว แล้วมันเกิดอะไรขึ้น ความกลัวมันมายังไง มาจากอะไรบ้าง?

ยุคหนึ่ง ความกลัวมันเป็นของชนชั้นนำของรัฐไทย เช่น รัฐไทยกลัววิถีของมุสลิม จึงพยายามทำงานด้วยการกดปราบ แต่มันมีหลักฐานชัดเจนว่าในยุคนั้นๆ คนในชุมชนเขาไม่ได้กลัวกันเอง ความกลัวมันอยู่ในระดับชนชั้นปกครอง

“ความลึก” ของ “ความกลัว” มันทำให้เห็นว่าสถานการณ์เมื่อปี 2547 มันทำงานต่างออกไป

มันเป็นความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงอีกประเภทหนึ่งเลย เพราะมันมีหลายอย่างเข้าไปทำงานในพื้นที่มากๆ

ความกลัวมันเคลื่อนจากแนวดิ่งมาสู้แนวราบ จากชนชั้นนำเป็นความรุนแรงแบบคนกับคนแนวราบด้วยกัน

 

ส่วนเหตุการณ์สำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนคือเหตุการณ์ปล้นปืนซึ่งเกิดขึ้นก่อน ซึ่งการจัดการของรัฐไทยในเหตุการณ์ความรุนแรงต่อมาในเหตุการณ์ที่ตากใบ ยิ่งสร้างบาดแผล ไม่สามารถหาคำอธิบายได้และรัฐไทยก็ไม่เคยอธิบายเรื่องนี้ว่ามันเกิดอะไร

พอมันเป็นความรู้สึกข้างในจิตใจคน เป็นเรื่องความรู้สึกแล้วมันแก้ยาก ตอนที่เราไม่เห็นเราก็จะไม่กลัว แต่ถ้ามันมีความรุนแรงขึ้นมาในครั้งไหน เราก็จะกลับมาเป็นแบบเดิม

ต้องเข้าใจก่อนว่า การพูดกันเรื่องปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ มักจะมีการแบ่งชุมชนออกเป็นพุทธ มุสลิมให้เป็นตรงข้ามกัน

แต่จริงๆ แล้วทั้งพุทธและมุสลิมก่อนหน้านี้มันคือชุมชนที่เรียกว่ามลายู มันไม่ได้แบ่งกันด้วยศาสนาแบบความคิดในปัจจุบันของพวกเราว่าเป็นคนพุทธ คนมุสลิม ตรงนี้คือสิ่งที่ความกลัวมันเข้าไปทำงานมากๆ

งานวิจัยชิ้นนี้บอกว่า คนพุทธที่อยู่ในพื้นที่ยังไม่เชื่อเลยว่าตอนที่เกิดเหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์มันจะยาวขนาดนี้ มีหลายคนด้วยที่บอกว่าตอนเกิดกรือเซะเขาไม่ได้กลัวนะ เพราะเขารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องมุสลิมกับรัฐไทย เขาไม่ได้เป็นอะไรด้วย เขาก็อยู่ตามปกติของเขา

จนกระทั่งปี 2550 ที่พบว่าการใช้ความรุนแรงมันเปลี่ยน มันไม่ใช่การตอบโต้กับรัฐอย่างเดียว แต่มันเริ่มมีการจ่อยิงคนมากขึ้น มันไม่ใช่วิธีการแบบใช้ระเบิด

การจ่อยิงมันคือการสร้างความหมายว่า มันมีการเลือก มันมีการเล็งและคนที่ตายส่วนใหญ่มันกระทบความสัมพันธ์กับคนพุทธ

 

ความรุนแรงภาคใต้จึงมีพัฒนาการของมัน ระดับความรุนแรงก็ต่าง วิธีการก็ต่าง ข้อค้นพบของงานก็คือ การกระทำความรุนแรงต่อประชาชนนี่แหละ กระทบความรู้สึกของคนมาก อย่างน้อยที่สุดคือความกลัว ไม่นับว่าเป็นความแค้น

ในเชิงทฤษฎีมันก็จะบอกว่าความกลัวกับความเกลียดชังมันจะทำงานแบบไต่ระดับกันไป เราไม่รู้เลยว่าแต่ละคนตีความต่างกันอย่างไร ว่าอะไรบ้าง ถึงแม้คนหนึ่งตาย มันจะไม่เท่ากันอีกแล้ว มันจะไม่ใช่ทหารนายนี้เสียชีวิตในสามจังหวัด ถ้าจะอธิบายไปอีกคือ ทหารนายนี้เป็นลูกใครซักคนในภาคเหนือหรืออีสาน

ปี 2550 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ ประชาชนเริ่มโดนความรุนแรง จากเป้าปกติที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ฝ่ายปกครอง ต่อมาก็เป็นครู แล้วก็เป็นชาวบ้าน

ซึ่งในระดับชาวบ้านก็มีหลายระดับ เพราะมันมีการสร้าง อรบ. หรือ ชรบ. ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกระบวนการที่ทหารไทยลงไปฝึกยิงปืนให้คนไทยพุทธเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งด่านความมั่นคง ขณะที่ทหารพรานที่เข้าไปในพื้นที่ก็จะไปตั้งค่ายอยู่ในวัด ซึ่งมันหมายความว่าเป็นการไปยึดเอาชุมชนพุทธเป็นฐาน

เพราะมันคือกระบวนการทำให้คนพุทธไม่เป็นคนพุทธ เป็นการเอากระบวนการของความเป็นรัฐไทย ไปใส่ในความเป็นคนพุทธในพื้นที่ ผ่านการเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนให้เป็นพื้นที่ความมั่นคง คนพุทธต้องกลายเป็นหูเป็นตาแทนรัฐ ซึ่งในแง่นี้มันคาบเกี่ยวกับความเป็นสายข่าว

 

เมื่อถามว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ความขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทอดยาวตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ? นิศาชลเล่าในฐานะผู้คลุกคลีอยู่ในพื้นที่มายาวนานว่า ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงจนไหลมาสู่ความกลัวแผ่ไปทั่วพื้นที่ ส่วนตัวมองว่าเกิดจากความไม่จริงใจในการแก้ปัญหา มันไม่สามารถจัดการความขัดแย้งที่มันเกิดขึ้นหลายระดับได้จริงๆ ข้อเรียกร้องเรื่องการเมืองยังไม่มีการคุยอะไร แต่รัฐกลับดันไปแก้เรื่องเล็กน้อย

เช่น ไปสร้างหมู่บ้านพหุวัฒนธรรม หมู่บ้านศีลห้า ให้งบประมาณไปแสวงบุญอะไรแบบนี้ ถามว่ามันแก้หรือเปล่า?

แน่นอนว่านโยบายที่จะสร้างความหลากหลาย ความเท่าเทียมก็ทำไป มันมีแนวทางที่ควรจะทำ แต่ความขัดแย้งที่มันเป็นแกนกลางมันไม่ถูกพูดถึง มันไม่มีใครที่จะกล้าพูด แล้วมันเป็นเรื่องใหญ่ที่รัฐไทยยอมไม่ได้ แล้วไม่เคยยอมมาเป็นร้อยปี

อันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันทำให้เห็นว่าการที่ไม่ทำ มันส่งผลกับชีวิตคนและมันก็คากันอยู่อย่างนี้ มันคือการไม่ยอมรับว่าแก่นกลางของความขัดแย้งมันคืออะไร อันนี้ก็อย่างหนึ่ง

 

สองก็คือ ถ้ารัฐยังคงใช้วิธีการเช่นนี้ในการทำงานในพื้นที่ ทำให้พื้นที่ชุมชนกลายเป็นพื้นที่ทางการทหาร ก็จะยิ่งทำให้คนพุทธไม่ปลอดภัย คนในพื้นที่ก็จะไม่ปลอดภัย การเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัย ถามว่ามันจะปลอดภัยจากตรงไหน ทหารต้องออกก่อนไหม มีกลไกในการคืนพื้นที่ให้ตำรวจไหม

จะเห็นว่าเวลาพูดเรื่องความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดมีหลายระดับมากๆ อยู่ที่ว่าจะเอาความขัดแย้งชุดไหนมาคุยกัน

ประเด็นคือตอนนี้ก็ต้องทำสองระดับ ปัญหาทางการเมืองก็ต้องพูด ก็ต้องคุยแบบตรงไปตรงมา จะทำรูปแบบการปกครองพิเศษแบบเมืองพัทยา แบบกรุงเทพฯ หรืออะไรก็ไม่รู้ แต่มันต้องคุยให้เห็นว่าความรุนแรงต้องไม่มีอีกต่อไป ต้องทำให้ความรุนแรงเป็นความไม่ชอบธรรม การไปปิดล้อมตรวจค้น กฎหมายพิเศษต้องไม่ต่อ พวกนี้คือกลไกในการคืนพื้นที่ 3 จังหวัดให้มันเป็นปกติแบบก่อนหน้านี้

ลองจินตนาการว่าที่นี่คือสนามการต่อสู้ แล้วพอมีบทบาทแบบนี้ของคนไทยพุทธ มันเลยทำให้คนมุสลิมที่เป็นเพื่อนกันก็ไม่ไว้ใจอีก ไม่รู้ว่าจะพูดอะไรได้ไหม พอเกิดเหตุความรุนแรงคนก็ช็อก ไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง บางคนถูกจับไปหลายวันเพิ่งถูกปล่อยออก

กระบวนการที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็เช่น การติดป้ายไวนิลขนาดใหญ่แล้วแปะหน้าคนไว้ลักษณะเป็นป้ายผู้ต้องหาตามด่าน

ป้ายพวกนี้ความรู้สึกอย่างหนึ่งมันคือการสร้างภาพของ “ผู้ก่อการ” แล้วคนในรูปซักคน ก็เป็นลูกของคนในพื้นที่ เห็นชื่อนามสกุล เห็นหน้า ก็รู้แล้วว่าเป็นคนใน

 

เหล่านี้คือส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการในการสร้างความกลัวขึ้นในพิ้นที่ของสนามทางการทหาร มันเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนที่เคยมีปฏิสัมพันธ์ให้เป็นพื้นที่ทางการทหาร การเมือง คนพุทธในพื้นที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ทางการทหารของไทย

สรุปก็คือ ท่าทีของรัฐไทยมันก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเลยนับตั้งแต่อดีต

แม้เราจะมีรัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบสิบปี ถามว่าจะแก้ปัญหานี้ได้ไหม ในส่วนตัวก็ต้องบอกว่ายาก

ช่วงที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ขึ้นมาแรกเป็นช่วงจุดเปลี่ยนว่าจะต่อกฎหมายฉุกเฉินหรือไม่ แต่สุดท้ายก็ต่อ มีความเข้าใจว่ารัฐบาลคงจะทยอยเปลี่ยนแปลงเลิกลงในบางจุด ซึ่งก็คาดว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีถ้าเขาทำได้

แต่ตอนนี้ทุกอย่างยังเป็นแบบเดิม

นี่คือสิ่งที่ตอกย้ำว่า มันไม่ใช่รอยร้าว แต่คือแก้วที่แตกไปแล้ว แล้วมันซ่อมไม่ได้ มันต้องสร้างใหม่ สร้างพื้นที่ใหม่ สร้างความสัมพันธ์ใหม่ เรื่องเล่าในอดีตก็เอามาเป็นฐานในการอยู่ร่วมกัน