การเมืองไทยเปลี่ยนครั้งใหญ่ ในรอบ 17 ปี (1) | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ
(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

นับจากการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคมปี 2566 ภาพการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในรอบ 17 ปี ก็ปรากฏชัด

ที่สำคัญคือการประนีประนอมระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า กับพรรคการเมืองสายอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่ามวลชนที่สนับสนุนทั้ง 2 ขั้วจะงุนงงสงสัยหรือคัดค้านอย่างไร การประนีประนอมครั้งนี้ก็จะเดินหน้าต่อไป

และประสบความสำเร็จมากกว่าการตั้งคณะกรรมการปรองดองซึ่งเคยมีมาไม่ต่ำกว่า 3 ชุด เพราะนี่เป็นการตกลงระหว่างมหาอำนาจทางการเมืองของไทย ที่ต้องปฏิบัติในท่ามกลางปัญหาของประเทศและความจำเป็นของแต่ละฝ่ายที่ถึงจุดวิกฤตแล้วเช่นกัน

ต้นเหตุคือ…

 

1.รัฐบาลประยุทธ์ ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ

ธันวาคม 2561 The Credit Suisse Global Wealth Report 2018 เผยแพร่รายงานที่ว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก และสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก คนไทย 1% ถือครองความมั่งคั่ง หรือมีทรัพย์สินรวมถึง 66.9% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ เท่ากับว่า คนไทยที่เหลือ 99% ถือครองทรัพย์สินเพียง 33.1 ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ

ส่วนประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 2 คือ รัสเซีย โดยประชากร 1% มีทรัพย์สินรวม 57.1% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ

วิกฤตเศรษฐกิจของโลกลุกลามมากขึ้นในหลายปีต่อมา ซึ่งมีผลมาจากระบบการแข่งขันทางการค้าสงครามและวิกฤตจากโรคระบาด และสงคราม เศรษฐกิจทั่วโลก จึงตกต่ำต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบถึงประเทศไทยอย่างหนัก ครอบครัวชนชั้นกลางจนลง

และชาวบ้านต้องพึ่งบัตรคนจน ถึง 14 ล้านคน

 

2.การเข้าสู่อำนาจและใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม

เริ่มตั้งแต่ได้อำนาจหลังการรัฐประหาร 2557 และสืบทอดอำนาจเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง 2562 การใช้อำนาจก็ยังมีลักษณะเผด็จการสูงจนทำให้เกิดความไม่พอใจมากขึ้น และยังมีการการปิดกั้นเสรีภาพทางการเมือง การแสดงออกของเยาวชนและประชาชน

การก่อกำเนิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ คือการเข้ามาปะทะอำนาจเผด็จการโดยตรง และประกาศจะเปลี่ยนโครงสร้างซึ่งกลุ่มอำนาจเก่าไม่พอใจอย่างมาก ถึงขั้น ยุบพรรคอนาคตใหม่

และนี่คือการท้าทายและทำลายความหวังของคนรุ่นใหม่ในครั้งนั้น

การปะทะกันทางการเมืองจึงเกิดขึ้นอย่างเปิดเผย หลังแปลงกายเป็นพรรคก้าวไกล และได้ ส.ส. 151 คน จึงเป็นตัวแปรทางการเมืองที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

 

การชุมนุมประท้วง
ของเยาวชนนักเรียนนักศึกษา
คือสัญญาณเตือนการเปลี่ยนแปลง

หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ การชุมนุมก็เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นการต่อต้านการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ

จากนั้นในวันถัดมาก็มีการชุมนุมในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาขยายตัวไปยังมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีกหลายมหาวิทยาลัยทั่วทั้งประเทศ

จำนวนผู้เข้าชุมนุมในแต่ละมหาวิทยาลัยมีนับพันคนที่สำคัญคือ กระแสของการชุมนุมยังขยายไปสู่โรงเรียนมัธยมระดับชั้นนำของประเทศหลายแห่งอีกด้วย

จากนั้นนำไปสู่การต่อต้านเผด็จการ การเรียกร้องให้มีประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ และขยายออกไป จนกลายเป็นพลังสร้างกระแสการเปลี่ยนแปลง

การไม่ยอมรับ การต่อต้านรัฐบาลและกลุ่มอำนาจเก่าจึงขยายตัวทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ความเสื่อมถอยของรัฐบาลและกลุ่มอำนาจเก่า ทรุดลงเร็วมาก

18 กรกฎาคม 2563 มีการเดินขบวนบนถนนครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ผู้ประท้วงใช้ชื่อกลุ่ม “เยาวชนปลดแอก” (Free Youth) ยื่นข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ การยุบสภาผู้แทนราษฎร, การหยุดคุกคามประชาชน และการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

จากนั้นการประท้วงได้ลามไปทั่วประเทศ กว่า 20 จังหวัด คนไทยที่กรุงลอนดอน และนครนิวยอร์ก ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลด้วย

 

การชุมนุมขยายตัว
และขยายเป้าหมาย

10 สิงหาคม 2563 มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีการประกาศข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งถือเป็นการชุมนุมที่ทลายเพดานการเคลื่อนไหวแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง

16 สิงหาคม 2563 คณะประชาชนปลดแอกซึ่งยกระดับจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก จัดการชุมนุม “ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ” ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 20,000 คนโดยผู้ชุมนุมข้อเรียกร้องเดิม และยื่นคำขาดว่า ภายในเดือนกันยายน จะต้องยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน

19 กันยายน 2563 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดการชุมนุมภายใต้ชื่อ “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” ที่ท้องสนามหลวง มีผู้ชุมนุมประมาณ 20,000-50,000 คน เช้าวันที่ 20 กันยายน มีการทำพิธีฝังหมุดคณะราษฎร ที่ท้องสนามหลวง เพื่อรำลึกถึงหมุดคณะราษฎรเดิมที่หายไปในปี 2560

วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นวันนัดชุมนุมใหญ่ จำนวนหลายหมื่นคนโดยเคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้ประยุทธ์ลาออก

วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04:00 น. นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร

วันที่ 25 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมใหญ่ที่แยกราชประสงค์ของกลุ่มคณะประชาชนปลดแอก เป็นครั้งที่ 2 และวันถัดมาคือ 26 ตุลาคม 2563 ได้เดินขบวนจากแยกสามย่านไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี เพื่อยื่นหนังสือ

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วน เพราะการชุมนุมจริงมีเป็นร้อยครั้ง ตั้งแต่ต้นปี 2563 และต่อไปตลอดทั้งปี 2564 จนถึง 2565

 

ผลของความไม่พอใจรัฐบาลสืบทอดอำนาจ
สะท้อนออกมาเป็นคะแนนเลือกตั้ง

การปกครองและบริหารงานของกลุ่มที่มีอำนาจจากการรัฐประหารนับตั้งแต่การรัฐประหารนายกฯ ทักษิณปี 2549 จนถึงหลังการรัฐประหาร 2557 ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พิสูจน์แล้วว่ารัฐบาลหลังการรัฐประหารได้สร้างผลร้ายต่อทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

การเลือกตั้งปี 2562 ประชาชนก็มองออกว่าคือการสืบทอดอำนาจ งบประมาณ 9 ปีที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ในการบริหารประเทศมีมากถึง 28 ล้านล้าน นับว่าเป็นผู้ที่ใช้งบประมาณมากที่สุด

คนไม่พอใจออกมาชุมนุมอาจมีไม่กี่หมื่น และแกนนำก็ถูกจับไปขัง ถูกดำเนินคดี แต่คนไม่พอใจรัฐบาลและรอชำระแค้นมีมากมายหลายล้าน

ดังนั้น เมื่อมีการเลือกตั้ง 2566 เวลาที่รอคอยก็มาถึง จึงมีผลการเลือกตั้งแบบที่เห็นคือ พรรคก้าวไกล ที่ต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ สุดขีด และชูธงเปลี่ยนโครงสร้าง ได้เสียงเกินกว่า 14 ล้าน และพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายค้านขณะนั้นก็ได้เกือบ 11 ล้าน

ในขณะที่พรรคฝ่ายรัฐบาลและพรรคอนุรักษนิยมอื่นๆ ได้เสียงรวมกันแล้วไม่ถึง 10 ล้าน

นี่คือเกมที่บังคับให้การเมืองต้องเปลี่ยน

เดิมแผนประนีประนอมถูกวางมาตั้งแต่ม็อบเยาวชนขึ้นสู่กระแสสูง ทันทีที่เห็นผลเลือกตั้ง จึงต้องรีบทำด่วน เพราะถ้าไม่ทำ ความขัดแย้งแบบสองขั้วใหญ่ อาจกระทบโครงสร้างอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง จะวิเคราะห์ในตอนหน้า