ข้อคิดปีใหม่จากวนาถึงนาคร : การออกแบบวิถีชุมชนบ้านเมือง ให้มีคุณค่าคือจิตวิญญาณของธรรมชาติ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

ข้อคิดปีใหม่จากวนาถึงนาคร

: การออกแบบวิถีชุมชนบ้านเมือง

ให้มีคุณค่าคือจิตวิญญาณของธรรมชาติ

 

คุณพฤ โอ่โดเชา เขียนในสารปีใหม่ผ่านทางเฟซบุ๊ก เนื่องในการส่งลูกชายคนโต ซึ่งจะเดินทางในวันที่ 1 มกราคมนี้ จากหมู่บ้านเข้าเมืองเพื่อไปเรียนต่อในเมืองกรุง

มีข้อความหลายตอนที่สะท้อนภาพของความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยและชุมชนชาติพันธุ์ต่างๆ อย่างน่าสนใจและมีความหมายลึกซึ้งมาก

เช่น มีคำกล่าวถึงเงินของชาวปกากะญอที่ว่า

“‘ให้เราเป็นเจ้าเงินแต่อย่าให้เงินเป็นเจ้าเรา’ และมีพิธีสำคัญในงานสีดำที่กล่าวถึงเงินทองไว้ว่า ‘หากเงินปิดตา ปิดใจ ปิดปาก ปิดมือ ปิดเท้า เมื่อไหร่ เราจะไม่เหลือความเป็นปกากะญอ หรือคนอีก’ นั่นหมายถึงเงินไม่ใช่สิ่งที่บรรพชนอยากให้ลูกหลานชนพื้นเมืองชาวปกากะญอประสงค์ให้พบ แต่บรรพชนอยากให้ออกแบบวิถีชุมชนบ้านเมืองให้ลูกหลานมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ได้พบคุณค่า อย่างน้อยคือจิตวิญญาณของธรรมชาติก่อนจะแก่ตายและทันส่งสารประสบการณ์นี้ให้ลูกหลานรุ่นต่อไป”

“ไปอยู่เมือง ลูกคงต้องเหนื่อยและเวลาชีวิตของลูกก็คงหมดไปกับการหางานทำในเมืองเพื่อจะได้เงินมาใช้หนี้ ใช้กิน ใช้ค่าที่นอน ค่าเดินทาง สุดท้ายชีวิตจะเป็นอย่างไร จะรวยไหม หรือหาเช้ากินค่ำเป็นเดือนๆ ไป พ่อนี้เดาไม่ถูกเลย”

“อาจผิดหรือถูกที่บรรพชนปกากะญอเราสอนให้เข้าใจเคารพธรรมชาติ ดูแลป่าแม่น้ำ ดูแลธรรมชาติแล้วธรรมชาติจะดูแลเรา เราจะเป็นใหญ่เป็นโต เป็นเศรษฐี เป็นดั่งเช่นป่า ดังคำกล่าวของชาวปกากะญอว่า ‘บะโดะ บะปก่า’ ไม่มีคำปกากะญอว่าเป็นใหญ่เป็นเงินเลย ดังบรรพชนสอนว่าหากจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่นั้นจิตใจต้องเป็นดั่งเช่นแม่น้ำผืนป่าดั่งธรรมชาติ”

ก่อนอื่นต้องแนะนำคุณพฤ โอ่โดเชา เล็กน้อย

สำหรับคนที่ไม่เคยได้ยินชื่อและภูมิหลังของเขา อาจสงสัยว่าทำไมผมต้องให้ความสำคัญกับข่าวสารทางเฟซบุ๊กของเขา

คุณพฤเป็นบุตรชายของพะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชาวปกากะญอ วัย 79 ปี ผู้กลายเป็นผู้นำชาวปกากะญอในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชนเผ่ามายาวนาน

เริ่มแต่ปี 2537 ถือว่าเป็นยุคที่พี่น้องชาวบ้าน พี่น้องชนเผ่าออกมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ปักหลักชุมนุมกันเป็นเดือนๆ คือต้องการแสดงพลัง เรียกร้องสิทธิชนเผ่าให้คนทั้งประเทศและทางการได้รับรู้ด้วย

หมายความว่าชายแดนและเขตดอยภูเขาบัดนี้ถูกเปิดออก ไม่มีเส้นพรมแดนที่ขีดกั้นไว้ด้วยอคติของคนเมืองและความรู้สมัยใหม่ที่ไม่มีก่อนสมัยใหม่ ประเทศไทยจึงไม่มีอยู่แต่เฉพาะในภูมิกายาที่สร้างจากแผนที่สมัยใหม่เท่านั้น (Siam Mapped) หากยังมีคนจริงๆ ที่สร้างชายแดนและเขตป่าเขารวมถึงรักษามันไว้อย่างเป็นธรรมชาติด้วย

พูดในทางอุดมการณ์ของชาติ คนชายเขตก็มีสิทธิในการสร้างชาติที่เป็นชุมชนจินตกรรมของพวกเขาด้วย (Imagined Communities)

คุณพฤผู้ลูกก็ทำหน้าที่เป็นเหมือนล่ามประจำตัวของพ่อ ได้รับรู้และเรียนรู้ปัญหาของชนเผ่าจากการปฏิบัติในการเรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกับชาวชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงพี่น้องคนอีสานในสมัชชาคนจนด้วย

ผมจำชื่อพะตี (แปลว่าลุง) จอนิได้ดีเพราะไปร่วมการประชุมนานาชาติไทยคดีศึกษาปี 1999 (2542) ที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการไปร่วมประชุมไทยศึกษาครั้งแรกของผม คิดว่า อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้สนับสนุนให้จอนิ โอ่โดเชา ได้ไปร่วมและแสดงความเห็นในที่ประชุมนานาชาติไทยศึกษาในต่างแดนเป็นครั้งแรกและน่าจะเป็นครั้งสุดท้าย

ที่จำติดใจคือคำพูดที่จอนิ โอ่โดเชา กล่าวหลังจากไปร่วมประชุมกับนักไทยศึกษาทั่วโลกได้สองสามวันว่า ตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ยังไม่ได้เหยียบบนผืนหญ้าสักนิ้วเลย

อีกตัวอย่างพะตีจอนิ เล่าให้ฟังว่าในช่วงปี 2515 นั้น พะตีจอนิได้รับรู้ถึงปัญหาของหมู่บ้าน เรื่องมีนายทุนพยายามเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน คือเอาข้าวสารให้ชาวบ้านกู้ยืม 1 ถัง แต่ต้องจ่ายคืน 3 ถัง ในขณะที่ไปถามหมู่บ้านอื่นๆ เขาให้ยืม 1 ถัง ก็ใช้คืน 1 ถัง

“แบบนี้มันไม่มีความยุติธรรมเลย พะตีก็เลยพยายามหาทางช่วยเหลือชาวบ้าน”

ข้อมูลนี้ให้ภาพถึงการเปลี่ยนผ่านจากชุมชนเกษตรกรรมที่อาศัยการแลกเปลี่ยนเป็นหลักมาสู่ชุมชนเมืองที่แลกเปลี่ยนทุกอย่างเหมือนเป็นสินค้า จนต้องอาศัยเงินตราเป็นสื่อ

พูดแบบนักเศรษฐศาสตร์การเมืองก็ได้ว่า นี่คือระยะเปลี่ยนผ่านจากวิถีการผลิตก่อนทุนนิยมมาสู่วิถีการผลิตแบบทุนนิยม ที่เราพยายามศึกษาแต่เฉพาะหลักฐานของส่วนกลางเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ของชาวกะเหรี่ยงหรือชื่อที่พวกเขาเรียกคือปกากะญอนั้นจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่หายไปในกำเนิดรัฐชาติไทย พวกเขาไม่มีที่ทางและฐานะอะไรในประวัติศาสตร์ชาติ นอกจากการเป็นคนกลุ่มน้อยชาวเขาที่ขาดความเจริญ เรื่องแรกที่ชาวกรุงรู้จักพวกเขาคือการเป็นคนทำลายป่าไม้ด้วยการทำไร่เลื่อนลอย เผาป่าแล้วย้ายไปเรื่อยๆ กระทั่งเมื่อเกิดการแทรกซึมของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเขตป่าเขา ทำให้ทางการออกไปจัดการทำให้เขตป่าเขาเป็นผืนดินไทยที่มีความเจริญเหมือนอย่างคนเมือง เขตแดนและคนชายขอบกลายเป็นคนไทยไปด้วยความบังเอิญของสถานการณ์ แต่หลังจากนั้นมาการได้สัญชาติไทยและบัตรประจำตัวคนไทยกลายเป็นเขาวงกต 7 ชั้นที่แสนยากเย็นและคดเคี้ยวยิ่งภายใต้ระบบราชการที่อ้างความมั่นคง (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อัตลักษณ์เอกสาร : วงศาวิทยาการควบคุมประชากรของรัฐไทย 2561)

ที่ย้อนแย้งคือปัญหาความเป็นคนไทยของคนปกากะญอกลับแตกต่างตรงข้ามกับของคนมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในขณะที่คนภูเขาอย่างปกากะญอเป็นคนไทยและได้รับสัญชาติไทยยาก เพราะ “ประวัติศาสตร์หาย” ทั้งๆ ที่ในระยะหลังพวกเขายินยอมลงมาและทำไร่เพาะปลูกตามความต้องการของรัฐแล้ว แต่ก็ไม่สามารถได้รับสัญชาติและบัตรประจำตัวอย่างง่ายดาย

ส่วนคนมลายูมุสลิมชายแดนใต้นั้น ได้รับสัญชาติและบัตรประชาชนไทยจากรัฐไทยโดยไม่ได้ร้องขอ รัฐพยายามยัดเยียดให้ตลอดมา แต่คนมลายูมุสลิมก็มีเงื่อนไขในการรับอยู่เรื่อยมา

ด้านหนึ่งมาจากการมี “ตัวตนอัตลักษณ์ของตน” ในการเกิดรัฐและประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะมลายูมุสลิมมีประวัติศาสตร์ของตนเอง ซึ่งต่างจากคนกลุ่มน้อยอื่นๆ ที่ไม่มี ประวัติศาสตร์ของพวกเขาจึงต้องกลายเป็น “ประวัติศาสตร์ที่ผิด” จึงจะเข้ากับประวัติศาสตร์ชาติไทยได้

 

เรื่องเล่าของคนปกากะญอมีมาก ที่สำคัญคือเรื่องราวชีวิตพวกเขาในชุมชนแบบเดิมยังรักษาลักษณะและความเชื่อแบบดั้งเดิมค่อนข้างมาก ทำให้สามารถมองเห็นลักษณะโครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติได้ค่อนข้างดี

เมื่อตอนผมร่วมทำงานวิจัยในโครงการ “สิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล” ที่มีศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นหัวหน้า โดยผมรับมาศึกษาในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในประวัติความคิดของสังคมไทย” ข้อมูลส่วนใหญ่มาจากหลักฐานทางการและของคนไทยภาคกลาง

ส่วนมากเมื่อรับคติเรื่องสิทธิมนุษยชนก็เป็นการลอกเอามาจากทฤษฎีตะวันตกแล้วมาแปลงเป็นไทยโดยเฉพาะกฎหมายสมัยใหม่ ทำให้ค้นหาไม่ได้ว่าแล้วในทางพื้นฐานคนไทยเคยมีแนวคิดเรื่องสิทธิอะไรของตนเองบ้างไหม

คำตอบคือแทบไม่มี หรือถ้าพอมีก็ถูกใช้ในบริบทของผู้มีอำนาจ ดังที่นิยามของสิทธิแต่โบราณคืออำนาจอันชอบธรรมและความสำเร็จ

เมื่อมีโอกาสขึ้นไปแลกเปลี่ยนกับนักวิจัยภาคเหนือ ผมจึงถือโอกาสถามปัญหาที่ค้างคาใจมานาน ว่าคนชาวเขาในชุมชนนั้นมีคติแนวคิดเรื่องสิทธิกันบ้างไหม

แน่นอนคำตอบแรกๆ ก็คือย่อมไม่มี เพราะไม่มีคำดังกล่าวในภาษาของเขา

ผมเลยหาทางเลี่ยงบาลีว่า ไม่ต้องหาตามภาษาสิทธิก็ได้ เอาแค่ในความคิด ความต้องการของพวกชาวบ้านที่เป็นสิ่งที่มีความหมายและต้องการมากกว่าเพื่อน โดยเฉพาะหาใน “สิ่งที่มุ่งหวังของชุมชน” คือคำว่าอะไร

คราวนี้ได้ผล พบว่ามีอยู่สองคำที่สะท้อนความคิดฝันและความต้องการดังกล่าว

คำแรกคือ “ต่าซ่ะเบล” แปลได้ความว่าอิสรภาพ สันติภาพและเสรีภาพ

กับอีกคำคือ “ต่าลอโจ๊ะลอทอ” หมายความว่าความยั่งยืน ชั่วลูกชั่วหลาน

คำแรกกินความถึงการไม่ถูกกดขี่ ไม่ถูกบังคับ ตรงกันข้ามได้แก่การยอมรับ เช่น “บารมี” “ขวัญ”

ส่วนคำว่ายั่งยืนนั่นกินความถึงความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความปลอดภัย การพึ่งตนเองได้และการสามารถรักษาวัฒนธรรมของตนเอง

อีกความหมายหนึ่งของความยั่งยืนคือการจัดการดี กินความถึงความรู้ ความเชื่อและประเพณี (วราลักษณ์ ไชยทัพ, “สิทธิชุมชนและสิทธิเกษตรกรในทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น” 2542)

น่าสนใจว่าเมื่อมองกลับไปสิทธิแบบโบราณนี้ใกล้เคียงกับคำว่าวัฒนธรรมในปัจจุบันในความหมายของการปฏิบัติทางขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชน สมาชิกของชุมชนรู้จักและเข้าใจไปถึงปฏิบัติตามสิทธิเหล่านั้นกันเองได้เพราะมีอำนาจของชุมชนและธรรมชาติกำกับและบังคับอยู่

สิทธิดังกล่าวจึงไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงออกในตัวบุคคล หากแต่จะแสดงออกในตัวของชุมชนหรือสิ่งที่นับถือว่าเป็นตัวแทนของชุมชน จึงเป็นสิทธิของชุมชนมากกว่าสิทธิของปัจเจกบุคคล

ลักษณะของสิทธิก็จะเป็นแบบเชิงซ้อน เพราะไม่ได้วางอยู่บนบุคคลแต่ละคน หากวางอยู่บนชุมชนที่เป็นองค์รวมของทุกคนที่อยู่อาศัยร่วมกัน

 

นี่เป็นตัวอย่างที่ดีในการศึกษาวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ที่ไม่อาจสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้เหมือนทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์

แต่หากขาดมิติด้านนี้ไป การศึกษาเพื่อรู้จักและเข้าใจในตัวเองและความเป็นมาก็ปราศนาการไปสิ้น การศึกษาของเราก็ทำแบบเลียนแบบและเดินตามเขาไปอย่างเซื่องๆ เท่านั้นเอง

อธิบายความหมายของสิทธิชุมชนแต่โบราณมาถึงปัจจุบันก็ทำไม่ได้ เพราะหาแหล่งข้อมูลของตนไม่ได้

ใครคิดบ้างว่าชาวเขาปกากะญอเป็นฐานข้อมูลพอๆ กับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (หจช.) ที่เข้าไปใช้ยาก

ที่สำคัญยังทำให้ตระหนักถึงความเป็นคนที่ยังไม่แยกออกจากภาวะธรรมชาติที่สหประชาชาติได้เสนอให้เราทำตามในแผนพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDG) ซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วในการปฏิบัติของสิทธิแต่ดั้งเดิมในชุมชนของคนปกากะญอใน “การออกแบบวิถีชุมชนบ้านเมืองให้ลูกหลานมีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้ได้พบคุณค่าคือจิตวิญญาณของธรรมชาติ”