คุยกับทูต | ซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ บทบาทนักการทูตหญิงจากเบลเยียม (1)

เบลเยียมเป็นอัญมณีในกลุ่มประเทศยุโรปหรือที่รู้จักกันในนาม ‘หัวใจของยุโรป’ มีที่ตั้งใกล้กับเนเธอร์แลนด์และลักเซมเบิร์ก ซึ่งสามประเทศนี้มักเรียกรวมกันว่า เบเนลักซ์ (Benelux)

เบลเยียมเป็นหนึ่งในหกประเทศผู้ก่อตั้งสหภาพยุโรป (EU) และกรุงบรัสเซลส์ซึ่งเป็นเมืองหลวงถูกใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมสำคัญระดับทวีปที่สำคัญหลายครั้ง

จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ภูมิทัศน์เมืองจึงเต็มไปด้วยสวนสาธารณะ จัตุรัส และพิพิธภัณฑ์ที่สวยงาม มีกังหันลมและปราสาทมากมายอยู่ในพื้นที่ชนบท ที่นี่เหมาะสำหรับการเดินเล่นและปั่นจักรยานระยะไกล

เบลเยียมมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการผลิตเบียร์ซึ่งมีให้เลือกกว่าพันชนิด และแน่นอนที่สุด ช็อกโกแลตเบลเยียมนั้นโด่งดังไปทั่วโลก และเป็นอีกหนึ่งอาณาจักรสำคัญของหนังสือการ์ตูน

นางซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ (H.E. Mrs. Sibille de Cartier d’Yves) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำราชอาณาจักรไทย

ณ ทำเนียบทูตเบลเยียม คฤหาสน์สีขาวอายุ 100 กว่าปีย่านสาทร นางซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ (H.E. Mrs. Sibille de Cartier d’Yves) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำราชอาณาจักรไทย เล่าถึงความประทับใจ ความสัมพันธ์กับประเทศไทย บทบาทของสถานทูต ฯลฯ หลังอยู่เมืองไทยมากว่าสามปีแล้ว

“ในฐานะนักการทูตซึ่งเป็นตัวแทนของประเทศเบลเยียมในการดำเนินกิจกรรมทางการทูต และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลกในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา นำดิฉันไปสู่แอฟริกา ตะวันออกกลาง ยุโรป และล่าสุด กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการมาทำงานครั้งแรกของดิฉันในเอเชีย”

“ช่วงเริ่มต้นการทำงานแต่ละครั้งของดิฉัน ถือเป็นการเพิ่มและพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยมี อาจเรียกได้ว่าเป็นการติดอาวุธหรือเครื่องมือใหม่ๆ ในการเป็นนักการทูต เพราะแต่ละประเทศได้เสนอโอกาสให้ได้เรียนรู้หลากหลายแง่มุม ทั้งในส่วนตัวและหน้าที่การงาน ล้วนแล้วแต่เป็นประสบการณ์ใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นและการปรับตัวอยู่เสมอ”

“เนื่องจากประเทศไทยเป็นที่แรกของดิฉันในเอเชีย จึงต้องมาทำความรู้จัก สร้างความคุ้นเคยกับประเทศ ผู้คน วัฒนธรรม ความคิดและวิธีการสื่อสารกันใหม่ ในขณะที่ตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงโควิด ประเทศประสบกับสภาวะที่ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่ดิฉันรู้สึกประทับใจกับประเทศที่สวยงามแห่งนี้”

“ตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือการที่คนไทยใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ โดยเฉพาะอาหารไทย ทั้งด้วยสีสันและรูปทรงที่หลากหลาย สวยงามจนตะลึง ก่อนที่จะรับประทานอย่างเอร็ดอร่อย”

19 เม.ย 2021 นางซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระราชสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัคีราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม แห่งราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย

ภารกิจในฐานะเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย

“ดิฉันเป็นตัวแทนของประเทศเบลเยียมในทุกมิติ มาประจำประเทศไทยในปี 2020 ที่ไม่ปกติธรรมดา เพราะเป็นช่วงที่เรามุ่งเน้นไปที่การจัดการภาวะวิกฤตเพื่อสนับสนุนชุมชนชาวเบลเยียมที่นี่และประเทศไทยโดยรวม และเมื่อมีการยกเลิกข้อจำกัดหลังโควิด สถานเอกอัครราชทูตได้ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยเฉพาะตัวแสดงทางธุรกิจ นอกจากนี้ เรายังมุ่งไปที่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและวิชาการ”

“ขณะนี้เรากำลังดำเนินการในทุกมิติของความสัมพันธ์ทวิภาคี ดูแลชุมชนชาวเบลเยียม และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเบลเยียมและไทยในทุกระดับ”

“สถานทูตเบลเยียมที่นี่ยังรับผิดชอบในความสัมพันธ์ทวิภาคีกับกัมพูชา ลาว และการติดต่ออย่างจำกัดกับรัฐบาลเมียนมาที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย”

ทำเนียบเอกอีครราชทูตเบลเยียมในอดีต

ความสัมพันธ์ระหว่างเบลเยียมกับไทย เบลเยียมกับ EEC และ ASEAN

“ไทยและเบลเยียมเป็นสองประเทศที่มุ่งมั่นต่อระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม ดิฉันเชื่อว่าเราทั้งสองประเทศเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ว่า เราต้องการความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาคเพื่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง”

“ไทยและเบลเยียมต่างมีสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้วัฒนธรรมของเราค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ชาวเบลเยียมและชาวไทยมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน เช่น เราหลงใหลในเรื่องของอาหาร เรารักการดื่มเบียร์และเชียร์บอล เราภูมิใจในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และงานฝีมือ”

“เราเฉลิมฉลองครบรอบ 155 ปีความสัมพันธ์ทวิภาคีกันในปีนี้ เบลเยียมเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีการจัดตั้งสถานทูตถาวรในกรุงเทพฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรของเรามีความสมบูรณ์และเป็นบวกมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ที่คงอยู่ประการหนึ่งคือมิตรภาพอันยาวนานระหว่างราชวงศ์ทั้งสองของเรา ซึ่งอาจกล่าวถึงมิตรภาพที่โดดเด่นระหว่างสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวง (Baudouin) แห่งเบลเยียม และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ทรงครองราชย์ตั้งแต่เยาว์วัย และมิตรภาพของทั้งสองพระองค์ก็ดำรงอยู่ตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่เรายังคงสานให้ก้าวหน้าต่อไป”

“นอกจากนี้ เรามีบริษัทเบลเยียมที่สำคัญหลายบริษัทมาก่อตั้งในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งนับเป็นเขตสำคัญสำหรับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคีของเรา”

“สำหรับระดับภูมิภาค เบลเยียมสนับสนุนวาระสันติภาพและความร่วมมือของอาเซียน (ASEAN) เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับอาเซียนผ่านช่องทางของสหภาพยุโรป อาเซียนและสหภาพยุโรปเฉลิมฉลองครบรอบ 45 ปีความเป็นหุ้นส่วนการเจรจาในปี 2022 โดยตั้งแต่ปี 1977 ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรปได้เติบโตขึ้นทั้งเชิงลึกและกว้างไกล ได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ในปี 2020 และอีกหนึ่งปีต่อมา สหภาพยุโรปได้แสดงให้เห็นถึงการยอมรับความเป็นแกนกลางของอาเซียนโดยให้ภูมิภาคนี้เป็นหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy)”

“โดยสหภาพยุโรปเป็นผู้ให้บริการการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน ทั้งยังเป็นผู้สนับสนุนที่แข็งแกร่งของการบูรณาการระดับภูมิภาคและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศในภูมิภาค”

ทำเนียบเอกอัครราชทูตเบลเยียมในปัจจุบัน

สิ่งที่เป็นความท้าทาย

“จากที่ได้ทำงานมาแล้ว 4 ประเทศ การติดตามพัฒนาการในทุกประเทศบางครั้งก็เป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะดิฉันได้ประสบกับความหลากหลายในแต่ละวัน การเดินทางเป็นเรื่องประจำ ซึ่งในทางกลับกัน ก็คุ้มค่าเช่นกันที่ช่วยให้เรามองเห็นการพัฒนาในแต่ละประเทศในวงที่กว้างและมากขึ้น”

ส่วนการดำเนินงานและความร่วมมือที่สำคัญในปัจจุบัน “เมื่อปีที่แล้วประเทศไทยและสหภาพยุโรปได้ลงนามในร่างกรอบความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Thai-EU PCA) นี่เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือครั้งใหม่ระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย เป็นการเน้นย้ำถึงคุณค่าและความสนใจที่มีร่วมกันระหว่างเรา โดยอธิบายถึงความร่วมมือและการเจรจาในด้านต่างๆ ตั้งแต่พลังงานไปจนถึงการศึกษา และตั้งแต่การอพยพย้ายถิ่นไปจนถึงการต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรม ขณะนี้เราทุกคนต่างตั้งตารอก้าวต่อไป นั่นคือการปรับปรุงโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีของเราให้มากขึ้นสำหรับความตกลงการค้าเสรีที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น”

“เบลเยียมได้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือครั้งนี้โดยสมบูรณ์ ความสัมพันธ์ทวิภาคีของเราช่วยเสริมและกระชับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างสหภาพยุโรปและไทย เราทำงานในด้านต่างๆ เพื่อปรับปรุงความร่วมมือทวิภาคี ตั้งแต่ความร่วมมือทางวิชาการไปจนถึงความร่วมมือทางวัฒนธรรม ตั้งแต่การค้าและการลงทุนไปจนถึงการติดต่อระหว่างประชาชนต่อประชาชน”

“สถานกงสุลกิตติมศักดิ์แห่งใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่เปิดเมื่อปี 2020 ส่วนสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ในจังหวัดภูเก็ตก็กำลังจะเปิดในอีกไม่นานนี้ และเราเพิ่งแต่งตั้งที่ปรึกษาด้านการทูตทางเศรษฐกิจสองคน คือ นางนวลพรรณ ล่ำซำ และนาย Jean-Louis Graindorge”

“ทั้งนี้ เรายังมองหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อจะช่วยในการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไทย-เบลเยียมอย่างต่อเนื่องต่อไป” •

นางซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ (H.E. Mrs. Sibille de Cartier d’Yves) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำราชอาณาจักรไทย

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin