830 นาที ก้าว(ที่)ไกล จากเพื่อไทย?

เริ่มต้นปีใหม่ ก็เปิดมาด้วยฉากสมรภูมิสงครามการเมืองสงครามแรก กับศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ระหว่างฝ่ายค้านที่นำโดยก้าวไกล กับฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยเพื่อไทย

นับเป็นการเริ่มต้นทำงานแบบเป็นจริงเป็นจังของพรรคก้าวไกล หลังจากเพิ่งฝ่ามรสุมการเมือง วิกฤตข่าวสารเรื่อยยาวมาตั้งแต่กลางปีที่ชนะเลือกตั้ง กระทั่ง ส.ส.หลุดร่วงไปหลายคน

จนล่าสุด ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็น “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร”

สนามศึกอภิปรายงบฯ ปี 2567 จึงเปรียบเป็นสมรภูมิแรกๆ ภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคก้าวไกลคนใหม่ ในฐานะ ผู้นำฝ่ายค้าน

ถือว่าการทำงานของ “ก้าวไกล” ในครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่ในฐานะ พรรคแกนนำหลักฝ่ายค้าน เพราะพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ยังดูเหมือนจะไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซะเท่าไหร่

3 วัน กับเวลา 830 นาที ที่พรรคก้าวไกลได้รับจึงเป็นการพิสูจน์ถึงผลงานและกระบวนการในการทำงานในฐานะ “ฝ่ายค้าน” ว่าจะเจ๋งแค่ไหนจากที่สร้างมาตรฐานไว้ในรัฐบาลก่อน

นอกจากนี้ ยังมีนัยยะสำคัญทางการเมืองอีกอย่างที่บ่งบอกอนาคตความสัมพันธ์ทางการเมืองจากนี้ไประหว่างเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ว่าจะร้าวลึกลงไปในระดับแตกละเอียดหรือไม่?

 (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

ในแง่หนึ่งต้องไม่ลืมความเห็นของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หนึ่งในบุคคลสำคัญผู้ให้กำเนิดสปิริตทางการเมืองแบบชาวก้าวไกล พร่ำพูดมาตั้งแต่การเลือกตั้งกลางปี 2566 จนถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า ก้าวไกลและเพื่อไทย แม้จะเป็นคู่แข่งกัน แต่หากมองไปที่การปลดล็อกพันธนาการทางการเมือง ที่ครอบงำประเทศนี้อยู่

จำเป็นอย่างยิ่งที่ “ก้าวไกล” ต้องมี “เพื่อไทย” และ “เพื่อไทย” ก็ต้องมี “ก้าวไกล”

มิฉะนั้นการเดินทางไปสู่เส้นทางสายประชาธิปไตยที่แท้จริงก็เป็นไปได้ยาก

แต่สถานการณ์ที่กำลังดำรงอยู่ในขณะนี้ กลับอยู่ในลักษณะที่แทบจะตรงกันข้ามกับยุทธศาสตร์ของประธานคณะก้าวหน้า ยิ่งเวลาผ่านไปดูเหมือนยิ่งห่าง

ในความเป็นเพื่อไทย เมื่อแรกเคยเป็นพันธมิตรกับก้าวไกล ต้องถีบตัวออกห่าง เพราะการเมืองแบบก้าวไกล เป็นการเมืองที่เข้ามา “ดิสรัปต์” โครงสร้างการเมืองแบบเพื่อไทยโดยตรง

หลังเลือกตั้งยิ่งชัด เพื่อไทยกระโจนออกจากก้าวไกล เพราะรู้ว่ายังไงก็ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้จาก หลุมพรางการเมืองที่ถูก “เครือข่ายอำนาจเก่า” วางสกัด ดักพลังทางการเมืองใหม่ไว้หมด

แต่จะสลัดทิ้งเฉยๆ อย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องมีกระบวนการต่อเนื่องคือ ต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับฝ่าย “อำนาจเก่า” ด้วย มิฉะนั้น เป้าหมายทางการเมืองของเพื่อไทยทั้งระยะสั้นจนถึงระยะยาว คงจะสำเร็จโดยยาก

กระบวนการผลักก้าวไกลให้เป็นศัตรู ก็เกิดขึ้นในคราวเดียวกัน ทำงานอย่างเข้มข้นล้ำหน้ากว่าฝ่ายอำนาจเก่าเสียอีกในบางที เรียกได้ว่าถูกรุมสกรัมจากทั่วสารทิศ

ขณะที่ก้าวไกล ที่ผ่านมาถูกวิจารณ์ช่วงหลังเพื่อไทยพลิกขั้วตั้งรัฐบาลสำเร็จ ว่าทำงานไม่สมกับเป็นฝ่ายค้านที่เคยแสดงฝีมือช่วงรัฐบาลก่อน แทบไม่แตะหรือวิจารณ์ กรณีสองมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมจากเหตุการณ์ชั้น 14 รพ.ตำรวจ

รอบนี้ต้องยอมรับว่า ศึกอภิปรายงบประมาณปี 2567 ครั้งนี้ ก้าวไกลมีการเตรียมการมาอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ตั้งแต่การโหมโรงผนึกกำลังภาคประชาชน แปลงเอกสารงบ 2567 เป็นไฟล์ Excel เพื่อให้ประชาชนร่วมตรวจสอบ นำทีมโดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

หลังเปิดเอกสารดูไม่นาน ก้าวไกลก็ปล่อยการบ้านให้รัฐบาลว่า งบฯ ปี 2567 ไม่พบการจัดงบประมาณตามนโยบายหลักที่หาเสียง มิหนำซ้ำยังลดงบประมาณของท้องถิ่น

ตามมาด้วยการประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ทางโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นภาพการนั่งอ่านกองเอกสาร ปลุกกระแสให้ประชาชนร่วมติดตามการอภิปรายตลอดช่วงปีใหม่

แต่ขณะเดียวกัน ตลอดการให้สัมภาษณ์ 2-3 วันก่อนอภิปราย ทางฝั่งเพื่อไทยโดยเฉพาะแกนนำวิปรัฐบาลกลับยังวนอยู่กับนายทักษิณ ชินวัตร เรียกร้องไม่ให้พรรคก้าวไกลและฝ่ายค้านกล่าวถึง มีกระทั่งขู่ประท้วงไปจนกระทั่งขู่ฟ้องกลับ

ดังนั้น ตลอดการอภิปราย 3 วัน ยิ่งก้าวไกลโชว์ผลงานได้ดี ใช้ความสามารถด้านเทคโนโลยีในการแกะข้อมูล กระทั่งสรุปรวบยอดประเด็นปัญหาออกมาได้ และตีแผ่ให้ประชาชนรับทราบ

ความกดดันทางการเมืองยิ่งไปตกกับพรรคเพื่อไทย

อาการนี้สะท้อนออกมาตั้งแต่ก่อนการอภิปรายจากปรากฏการณ์ “นางแบกพรรคเพื่อไทย” ประท้วงขอหยุดงานในวันอภิปรายงบฯ (แม้วันจริงจะไม่หยุด) เพื่อประท้วงการสื่อสารของพรรค จนภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ต้องออกมารับลูก ยินดีรับฟัง

830 นาที แห่งการประลองยุทธ์อย่างเป็นระบบครั้งแรก ของพรรคฝ่ายค้านนำโดยก้าวไกล ปะทะกับฝ่ายรัฐบาลเพื่อไทย จึงน่าสนใจ

การเปิดศึกครั้งใหม่ผ่านการนำของชัยธวัชผ่านกองทัพพรรคก้าวไกล ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ

ชัยธวัชฉายภาพงบประมาณ 2567 เป็นงบฯ เบี้ยหัวแตก ไร้ยุทธศาสตร์ ไม่มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน สะท้อนรัฐบาลเศรษฐาเป็นเพียงรัฐบาล ‘รวมการเฉพาะกิจ’ แบ่งปันอำนาจ แบ่งกันกินแบ่งกันใช้ ไม่มีวาระเป้าหมายทางนโยบายที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน

“…รัฐบาลชุดนี้รวมตัวกันเพื่อรักษาสภาวะเดิมของสังคมไทยเอาไว้ ฝืนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย รวมตัวกันเพื่อปกป้องพลังทางสังคมแบบจารีต และต่อต้านพลังทางสังคมใหม่ๆ…”

ตามด้วยศิริกัญญา ตันสกุล แม่ทัพด้านเศรษฐกิจ ชี้ช่องโหว่งบฯ 2567 จัดงบประมาณไม่สอดคล้องข้ออ้างเรื่องวิกฤต งบฯ กระทรวงกลาโหมกลับเพิ่ม แต่ไม่ปรากฏงบฯ โครงการเงินดิจิทัล พร้อมถามตรงๆ ไปยังรัฐบาลว่า หวังพึ่ง พ.ร.บ.เงินกู้ทำนโยบายกระตุ้นอย่างเดียวหรือ ก่อนปิดท้ายเรียกร้องให้ประชาชนทบทวนฝีมือบริหารพรรคเพื่อไทย

หลังฉายภาพภาพใหญ่ปัญหาประเทศจบ กองทัพพรรคก้าวไกลก็ระดมสาดกระสุนทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม สังคม หลายประเด็น เรียกเสียงฮือฮาต่อเนื่อง

แน่นอนว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 รู้ตั้งแต่ก่อนโหวต ว่าถึงอย่างไรก็ผ่านสภาผู้แทนราษฎร การระดม ส.ส.มาโหวตไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับฝ่ายรัฐบาล แต่ทั้งหมดสะท้อนชัดว่ายุทธศาสตร์ที่ธนาธรฝันถึง “ก้าวไกลจับมือเพื่อไทย” ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้แน่นอน

ยิ่งเวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ของ 2 พรรคที่เคยเป็นพันธมิตรทางความคิดกัน ยิ่งห่างออก

ยังไม่นับสมรภูมิถัดไป ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.เงินกู้เพื่อโครงการเงินดิจิทัล หากผ่านเข้าสู่สภาจริง ที่ต้องต่อสู้กันอย่างหนักอีกยก เพราะก้าวไกลประกาศจุดยืนชัดว่าไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของเพื่อไทยที่บอกไว้ชัดว่าจะไม่ “กู้” มาแจก แต่กลับหันพึ่งวิธีการ “กู้”

ยังจะมีสมรภูมิยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เกิดการปะทะกันมาแล้วอย่างต่อเนื่องจากการที่เพื่อไทยเกิดเปลี่ยนใจ ไม่เลือกวิธีเลือกตั้ง สสร.ทั้งหมด แถมกั๊กการแก้ไขบางหมวดไว้ ไม่ยอมให้เป็นหน้าที่ของ ว่าที่ สสร.ในอนาคตเข้ามาจัดการ

เห็นชัดแล้วว่าวันนี้ พรรคก้าวไกลก็เดินหน้าทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเข้มแข็งเช่นที่เคยทำกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แม้รู้ว่าแพ้ในเกมสภา แต่ก็เดินหน้าเปิดแผลรัฐบาลเพื่อไทย ขยายบาดแผลให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เดินเกมช่วงชิงความชอบธรรมทางการเมืองปูทางไปสู่การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นอีกหลายครั้งจากนี้

ส่วนเพื่อไทยก็รู้ว่าตัวเองเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองจากปัญหาการตั้งรัฐบาล ปัญหาการดำเนินนโยบายหาเสียงที่พลาดเป้าหลายๆ อย่าง

แต่ก็รู้ทางก้าวไกลเป็นอย่างดี จึงเริ่มแก้เกมผ่านการทำนโยบายทางการเมืองให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งการประกาศความสำเร็จการเจรจายกเลิกหนังสือเดินทางไปจีนแบบถาวร จนถึงการเว้นภาษีสุราท้องถิ่น 1 วันก่อนการอภิปรายงบฯ

ทั้งสมรภูมิงบประมาณปี 2567 และอีกหลายสมรภูมิการเมืองตลอดปีนี้ยิ่งจะทำให้ “เพื่อไทย” ห่างกับ “ก้าวไกล” มากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้ายิ่งมีการซักฟอก จนถึงเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ คงถึงขั้นแตกหัก ยุทธศาสตร์ที่ “ธนาธร” บอกกล่าว วันนี้จึงเป็นไปได้ยากลำบาก-ไม่น่าจะเป็นไปได้

แต่ไม่ว่าทั้งสองพรรคจะห่างกันแค่ไหนในทางความคิดและเป้าหมายทางการเมือง มีวิธีการทางการเมืองต่างกันอย่างไร อย่างน้อยขอให้ยืนอยู่บนวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยก็แล้วกัน อย่างน้อยประเทศก็ได้ประโยชน์ ทั้งในเชิงข้อมูลข่าวสาร และนโยบายสาธารณะ