รัฐไทยกับ ‘หล่มสงคราม’ ในภาคใต้! ครบรอบ 2 ทศวรรษแห่งความรุนแรง | สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“ยอดผู้เสียชีวิตคือ การวัดขนาดของสงครามที่ง่ายที่สุด เป็นการพรรณนาความที่ตรงไปตรงมาที่สุดถึงความสูญเสีย และเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่สุดถึงการเสียสละ”

Lawrence Freedman
นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ

 

การปล้นปืนจากค่ายทหารในพื้นที่ของ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นในคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด เพราะหลังจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในสังคมไทยในปี 2526 แล้ว ดูเหมือนทั้งรัฐบาล กองทัพ และภาคส่วนต่างๆ ในสังคมไทย จะมีความเชื่อในทิศทางที่คล้ายคลึงกันว่า ชุดของความรุนแรงในแบบสงครามก่อความไม่สงบเช่นที่ไทยเคยเผชิญมาแล้วในยุคสงครามเย็นได้จบไปแล้ว และนับจากนี้ รัฐและสังคมไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคของสันติภาพ ที่สอดรับกับการสิ้นสุดของสงครามเย็นในเวทีโลกในเวลาต่อมา

แน่นอน สงครามชุดเก่าของยุคสงครามเย็นได้จบไปพร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 2534 เพราะภัยคุกคามทางทหารแบบเดิมจากการเปิดสงครามใหญ่ของ “กองทัพแดง” ภายใต้การขับเคลื่อนของขบวนคอมมิวนิสต์สากลนั้น จบลงจริง แต่คำถามเก่าของยุคสมัยไม่เคยแปรเปลี่ยนก็คือ แล้วสงครามในยุคหลังสงครามเย็นจะมี “รูปแบบ” (character of warfare) อย่างไร… ไม่ใช่ปัญหาจะเกิดหรือไม่!

ดังนั้น การสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ในไทยจึงอยู่ในบริบทของคำถามเช่นนั้น ไม่แตกต่างกัน

กล่าวคือ การสิ้นสุดของสงครามชุดหนึ่งไม่ใช่หลักประกันที่จะบ่งบอกว่าสังคมไทยได้ก้าวสู่ “โลกแห่งความฝัน” ตามความเชื่อของนักสันติวิธีไร้เดียงส

หากแต่ความเป็นจริงของไทยไม่ต่างจากบริบทของความรุนแรงในเวทีโลก ที่เห็นการเปลี่ยนผ่านของสงครามจากชุดหนึ่งของยุคสมัยหนึ่ง ไปสู่อีกสงครามอีกชุดหนึ่งของอีกยุคสมัยหนึ่ง

ดังจะเห็นได้จากความรุนแรงชุดใหม่เริ่มด้วยการก่อการร้ายกับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2544 อันมีนัยถึงการกำเนิดของ “สงครามก่อการร้าย” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามใหญ่ในเวทีโลกของศตวรรษที่ 21

แล้วในวันที่ 4 มกราคม 2547 สงครามชุดใหม่ในสังคมไทยก็เปิดฉากขึ้น…

ไม่น่าเชื่อว่าวันนี้สงครามดังกล่าวเดินทางมาเป็นระยะเวลาถึง 20 ปีแล้ว และเป็น 2 ทศวรรษแห่งความรุนแรง ความสูญเสียของทุกฝ่าย และความเหนื่อยล้าของผู้เกี่ยวข้อง

แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเราอาจจะยังไม่เห็น “แสงสว่างของสันติภาพ” อย่างที่เราหวังในปีที่ 21

ดังนั้น บทความจึงอยาก “ชวนคิด-ชวนคุย” กับปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวาระครบรอบ 20 ปีของสงครามก่อความไม่สงบของสังคมไทยในโลกยุคปัจจุบัน โดยจะเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสถิติและตัวเลขของความรุนแรงและความสูญเสีย

 

สถิติแห่งความตาย

บทความนี้ขอเริ่มต้นด้วยสถิติของความรุนแรงจากปี 2547 ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร จนถึงปี 2565 ซึ่งมีข้อสังเกตดังต่อไปนี้

ในปีแรกคือ 2547 นั้นมีการก่อเหตุรุนแรงรวม 502 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 342 คน เป็นประชาชน 180 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ 162 คน มีผู้บาดเจ็บ 380 คน เป็นประชาชน 180 คน และเจ้าหน้าที่รัฐ 200 คน และพิการอีกเป็นจำนวน 39 คน

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าความรุนแรงที่เกิดเช่นนี้ เป็นเรื่องใหม่อย่างแน่นอน เพราะสงครามภายในของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ยุติไปราว 20 ปีก่อนหน้านี้ และสังคมไทยไม่เคยต้องเผชิญเหตุรุนแรงในรูปแบบของสงครามหลังจากการสิ้นสุดของสงครามชุดนั้นอีกแต่อย่างใด

ในปี 2565 อันเป็นปีที่ 19 ของสงคราม สถานการณ์ความรุนแรงดูจะดีขึ้นมาก เพราะเกิดเหตุเพียง 67 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 24 คน เป็นประชาชน 10 คน และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 14 คน มีผู้บาดเจ็บรวม 248 คน เป็นประชาชน 104 คน และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 144 คน และมีผู้พิการอีก 8 คน

ซึ่งหากมองสถิติของความรุนแรงในปีที่ 19 แล้ว ดูจะเป็นแนวโน้มในเชิงบวกอย่างมาก เพราะสถิติมีทิศทางที่ลดลงในทุกด้านอย่างชัดเจน

แต่กระนั้นก็มิได้เป็นสัญญาณถึงการสิ้นสุดของสงครามชุดนี้แต่อย่างใด เพราะความรุนแรงยังคงดำเนินต่อไปในปี 2566

ปีที่มีเหตุรุนแรงมากที่สุดคือ ปี 2550 โดยมีเหตุรุนแรงรวมทั้งหมด 1,407 ครั้ง และเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ 892 คน เป็นประชาชน 645 คน และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 247 คน เช่นเดียวกันเป็นปีที่มีผู้บาดเจ็บมากที่สุดด้วย เป็นจำนวน 1,551 คน เป็นประชาชน 897 คน และเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 654 คน และมีผู้พิการมากที่สุดเช่นกัน เป็นจำนวน 102 คน

ซึ่งในอีกด้านหนึ่งน่าสนใจว่าความรุนแรงสูงสุดนั้น เกิดในสมัยรัฐบาลทหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร 2549

นอกจากนี้ ปีที่มีความรุนแรงเป็นจำนวนเกินระดับ 1 พันครั้งอีกปีหนึ่ง ได้แก่ ปี 2549 ที่มีจำนวนเหตุรุนแรงมากถึง 1,046 ครั้ง มีความสูญเสียในระดับรองลงมาคือ เสียชีวิตรวม 609 คน บาดเจ็บ 857 คน และพิการ 85 คน และปีนี้เป็นปีที่เกิดการยึดอำนาจที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน

หลังจากความรุนแรงเกิดสูงสุดในปี 2550 แล้ว ความรุนแรงในปี 2551 มีจำนวนใกล้เคียงกันคือ มีมากถึง 939 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 501 คน บาดเจ็บ 1,095 คน และลดลงมากในปี 2552 เหลือเพียง 826 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 472 คน บาดเจ็บ 1,048 คน

 

วัดระดับความรุนแรง

หากพิจารณาจากจำนวนของการก่อเหตุรุนแรงเกินกว่า 500 ครั้งต่อปีแล้ว เราจะเห็นภาพการจัดอันดับของจำนวนเหตุ ดังนี้

– อันดับ 1 ปี 2550 จำนวน 1,407 ครั้ง

– อันดับ 2 ปี 2549 จำนวน 1,046 ครั้ง

– อันดับ 3 ปี 2551 จำนวน 939 ครั้ง

– อันดับ 4 ปี 2548 จำนวน 856 ครั้ง

– อันดับ 5 ปี 2552 จำนวน 826 ครั้ง

– อันดับ 6 ปี 2553 จำนวน 610 ครั้ง

– อันดับ 7 ปี 2554 จำนวน 574 ครั้ง

– อันดับ 8 ปี 2556 จำนวน 564 ครั้ง

– อันดับ 9 ปี 2555 จำนวน 536 ครั้ง

– อันดับ 10 ปี 2547 จำนวน 502 ครั้ง

จากจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในช่วงระยะเวลา 20 ปีนั้น มีเหตุความรุนแรงเกิน 500 ครั้งมากถึง 10 ปี และสถิติความรุนแรงเริ่มค่อยๆ ลดลงตามลำดับจากปี 2557 เป็นต้นมา โดยในปีนี้เกิดเหตุ 425 ครั้ง และลดเป็น 304 ครั้งในปี 2558 และขยับขึ้นเป็น 344 ครั้งในปี 2559

แต่จากปี 2560 สถิติความรุนแรงเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และปี 2563 เป็นครั้งแรก ที่เหตุรุนแรงลดลงต่ำกว่า 100 ครั้ง ดังจะเห็นได้จากสถิติ ดังนี้

– ปี 2560 เกิดเหตุ 174 ครั้ง

– ปี 2561 เกิดเหตุ 153 ครั้ง

– ปี 2562 เกิดเหตุ 120 ครั้ง

– ปี 2563 เกิดเหตุ 57 ครั้ง

– ปี 2564 เกิดเหตุ 83 ครั้ง

– ปี 2565 เกิดเหตุ 67 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม ปี 2563-2565 เป็นปีที่สังคมไทยต้องเผชิญกับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การก่อเหตุการณ์ความรุนแรงลดลง

 

สถิติความตาย

หากมองในอีกมุมหนึ่งถึงการสูญเสียในภาพรวมแล้ว เราจะเห็นปีที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 10 อันดับแรก ดังนี้

– อันดับ 1 ปี 2550 ตาย 892 คน

– อันดับ 2 ปี 2549 ตาย 609 คน

– อันดับ 3 ปี 2548 ตาย 503 คน

– อันดับ 4 ปี 2551 ตาย 501 คน

– อันดับ 5 ปี 2552 ตาย 472 คน

– อันดับ 6 ปี 2554 ตาย 421 คน

– อันดับ 7 ปี 2555 ตาย 395 คน

– อันดับ 8 ปี 2553 ตาย 391 คน

– อันดับ 9 ปี 2556 ตาย 383 คน

– อันดับ 10 ปี 2546 ตาย 342 คน

จากปี 2557 เป็นต้นมา ยอดผู้เสียชีวิตเริ่มขยับลดลงเป็นลำดับ ดังนี้

– ปี 2557 ตาย 272 คน

– ปี 2558 ตาย 151 คน

– ปี 2559 ตาย 146 คน

หลังจากปี 2560 เป็นครั้งแรกที่ยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนต่ำกว่า 100 คน และจากปี 2563 ยอดนี้ลดลงอย่างมาก มีจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2563 และ 2564 คือ 36 และ 37 คนตามลำดับ และในปี 2565 ผู้เสียชีวิตลดเหลือ 24 คน

ซึ่งต้องถือว่ายอดผู้เสียชีวิตจากปี 2563 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 นั้น จำนวนของผู้เสียชีวิตจากการก่อเหตุร้ายลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ยอดรวมเหตุรุนแรง

จากปีแรกของเหตุการณ์ความรุนแรง จนถึงปีที่ 19 ในปี 2565 นั้น เกิดเหตุรุนแรงทั้งหมด 9,587 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5,836 คน บาดเจ็บ 12,541 คน และพิการ 885 คน

ข้อมูลที่กล่าวในข้างต้นนี้ รวบรวมจากมกราคม 2547 จนถึง 30 พฤศจิกายน 2565 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งสำหรับตัวเลขและสถิติเหล่านี้คือ ภาพรวมในเชิงมหภาคก่อนการขึ้นสู่อำนาจของรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางของสถานการณ์จากตัวเลขและสถิตินั้นอาจจะดูดีขึ้นอย่างมาก

แต่ก็มิได้หมายถึงการสิ้นสุดของสถานการณ์สงครามก่อความไม่สงบในภาคใต้…

สถานการณ์และความท้าทายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลพลเรือน โดยเฉพาะท้าทายในบริบทของการบริหารจัดการความมั่นคงของประเทศในปีที่ 21 ของสงคราม!

หมายเหตุ : บทความนี้อ้างอิงข้อมูลจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้