12 ปี คดีย้ายเลขาฯ สมช. ยุติธรรม หรือเพื่อปรองดอง

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

12 ปี คดีย้ายเลขาฯ สมช.

ยุติธรรม หรือเพื่อปรองดอง

 

26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยกฟ้อง และถอนหมายจับ ม.157 คดีอดีตนายกฯ ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ‘จากเลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ โดยมิชอบ…

ศาลฎีกาชี้ไม่ได้มีเจตนาทุจริต

 

บทเรียนในอดีต

เลขาฯ สมช. เคยทำรัฐประหารมาแล้ว

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ประมาณ 1 ปี รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยุบสภา ผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง เกินครึ่งสภา ยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2554

วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2554 ครม.ยิ่งลักษณ์ มีคำสั่งให้นายถวิลไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

ทำไมต้องทำ?

สมช.ควรจะเป็นเครื่องมือในการป้องกันประเทศและรัฐบาล เป็นทั้งโล่และหอก แต่สภาพความเป็นจริงทางการเมือง บางครั้งก็เป็นหอกข้างแคร่ที่ตกไปอยู่ในมือคนอื่น

สรุปบทเรียนสมัยนายกฯ ทักษิณ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เข้ามารับตำแหน่ง เลขาฯ สมช.ในปี 2545 และอยู่ในตำแหน่งจนถึงปี 2549 วันที่เกิดการรัฐประหาร ก็ยังเป็นเลขาฯ สมช. การรัฐประหารครั้งนั้น สมช.ไม่ได้มีบทบาทช่วยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เลยแม้แต่น้อย

ในที่สุดความจริงก็ปรากฏว่า พล.อ.วินัย กลับมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการของคณะรัฐประหาร แม้แต่ชื่อคณะรัฐประหาร (คปค.) ก็เป็นคนตั้ง งานนี้ต้องถือว่ารัฐบาลโดนหอกข้างแคร่แทงทะลุหลัง

และ พล.อ.วินัย ก็โดดขึ้นชั้นจากเลขาฯ สมช. กลายเป็นเลขาฯ ของคณะรัฐประหาร (คปค.) เป็นหนึ่งในหกของคณะผู้มีอำนาจสูงสุดของคณะรัฐประหารขณะนั้น

 

อดีตนายกฯ ต่างก็ย้ายคนไว้ใจ

ไปเป็นเลขาฯ สภาความมั่นคงแห่งชาติ

ตําแหน่งเลขาฯ สมช. ต้องได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรี ถ้ามองย้อนหลังไปก็จะพบว่า สภาความมั่นคงฯ ที่มีนายกฯ เป็นประธานและบริหารงานในรูปคณะกรรมการมักจะตั้งเลขาธิการมาจากคนซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้ใจ เมื่อเปลี่ยนนายกฯ ก็มักจะเปลี่ยนเลขาธิการ สมช.

หลังรัฐประหาร 2549 ในปี 2550 เมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ ก็ตั้ง พล.ท.ศิรพงศ์ บุญพัฒน์ ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.

ในปี 2551 เมื่อนายสมัคร สุนทรเวช ขึ้นเป็นนายกฯ การเมืองเปลี่ยนขั้ว มีการโยกย้ายและตั้ง พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา ขึ้นเป็นเลขาธิการ สมช.แทน

ในปี 2552 หลังจากมีการตุลาการภิวัฒน์ สลับขั้วรัฐบาลและจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารสำเร็จ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็เปลี่ยนเลขาฯ สมช. เป็นนายถวิล เปลี่ยนศรี

การไว้วางใจและทำงานเข้าขาของหัวหน้ารัฐบาล กับเลขาฯ สมช. จึงเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นอย่างนี้ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศมหาอำนาจหรือประเทศเล็ก

นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาฯ สมช.ที่เติบโตมาด้วยการสนับสนุนของ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล หลังการรัฐประหารกันยายน 2549 ก็ได้รับตำแหน่งเป็นรองเลขาฯ ของ สมช. และเมื่อประชาธิปัตย์ขึ้นเป็นรัฐบาล ก็ได้ย้าย พล.ท.สุรพล ออกไปเพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ประชาธิปัตย์ไว้ใจนายถวิลมากกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ

คนที่เข้าใจธรรมเนียมแห่งอำนาจของ สมช.ดีที่สุดคือคุณถวิลเพราะได้เข้าทำงานมาตั้งแต่เจ้าหน้าที่ระดับ 3 ได้เห็นการรัฐประหารรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ศึกษาการทำงานของคุณประสงค์ สุ่นสิริ ไต่เต้ามาจนมาถึงการรัฐประหารนายกฯ ทักษิณ ก็ได้เป็นรองเลขาธิการ

และเป็นเลขาธิการในยุคนายกฯ อภิสิทธิ์

 

ย้ายศัตรู ไม่ให้มาเฝ้าอยู่หน้าห้อง…

เป็นเรื่องปกติ

ศาลฎีกาก็ให้เหตุผลประกอบว่า “ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาได้มีการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ แตกต่างจากกรณีข้าราชการอื่นทั่วไป ประกอบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือจำเลย ไม่ได้มีเหตุขัดแย้งส่วนตัวกับนายถวิล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยกล่าวอ้างว่า นายถวิลเคยเป็นกรรมการและเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่ความรุนแรง (สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง หรือ นปช.) ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะย้ายนายถวิล และนำ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี มาแทน ไม่ได้เป็นการกลั่นแกล้ง”

เมื่อฝ่ายที่ถูกทำรัฐประหารในปี 2549 และถูกปราบในปี 2553 แต่กลับมาชนะเลือกตั้งในปี 2554 จะเอาศัตรูทางการเมือง ที่ควรร่วมรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน มานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ สมช. ก็เป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติ ฝืนความรู้สึกประชาชน

เพื่อให้การทำงานแบบคณะกรรมการของสภาความมั่นคงฯ เดินไปได้ เพราะถ้าประธาน สมช.คือนายกรัฐมนตรี เป็นศัตรูทางการเมืองกับเลขาฯ สมช.จะทำงานกันได้อย่างไร

การที่นายกฯ ถูกฟ้องและต้องถูกล้มด้วยข้อหาย้ายเลขาฯ สมช. จึงเป็นเรื่องตลกมาก ที่รัฐบาลมีความผิดเพราะไม่ยอมเอาศัตรูทางการเมืองมานั่งอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ

 

สุดท้าย แผนรัฐประหารก็เกิดขึ้นจริง

หลัง กปปส.ชุมนุมใหญ่ ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มกราคม 2557 ม็อบ กปปส.ปิดกรุงเทพฯ กุมภาพันธ์ ล้อมหน่วยเลือกตั้งจนโมฆะ แต่รัฐบาลยังอยู่

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี

7 พฤษภาคม 2557 สิ่งที่คาดไว้เกิดขึ้นจริง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์พ้นจากการรักษาการ เนื่องจากการย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี แต่ ครม.ได้มีมติให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

22 พฤษภาคม 2557 เป็นจริงดังที่คาด เกิดการยึดอำนาจจากรัฐบาล แต่นายถวิลยังเป็นเลขาฯ สมช.ไปตามปกติถึง 30 กันยายน 2557 ตามอายุ

 

หลังการเลือกตั้ง 2562

ประยุทธ์ เป็นนายกฯ คดีเดินต่อ

1 กรกฎาคม 2563 ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดยิ่งลักษณ์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

28 กุมภาพันธ์ 2565 อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกา (แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) ตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

22 พฤศจิกายน 2565 ศาลฎีกาออกหมายจับยิ่งลักษณ์

26 ธันวาคม 2566 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาคดี (หลังจากเลื่อนมา 2 ครั้ง)

ตุลาการเสียงข้างมาก พิเคราะห์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล “ไม่ได้มีเจตนาพิเศษ” ที่จะสร้างความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้นายถวิล หรือมีเจตนาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

คดีย้ายเลขาฯ สมช. เริ่มจากความจำเป็นทางการเมือง และเดินไปตามเกมการเมืองเต็มตัว จนเกิดการรัฐประหาร หลังรัฐประหารก็เดินต่อ ใช้ทั้ง ป.ป.ช. ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

คดีนี้ถือว่าจบแบบยุติธรรมหรือไม่ แล้วแต่มุมมอง อย่าไปเทียบกับประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ายข้าราชการ เพราะเขาใช้อำนาจเผด็จการของคณะรัฐประหาร

แต่เรื่องนี้จะมีผลต่อการปรองดองมากน้อยแค่ไหนต้องคอยดูต่อไป เพราะคดีนี้เป็นฉากเดียวของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งจะวิเคราะห์ต่อไป