ไม่มีอะไรในกอไผ่ | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

หนึ่งปีผ่านไปไวเหมือนโหก เผลอแป๊บๆ ก็ก้าวสู่ปีใหม่ พุทธศักราช 2567 ตรงกับคริสต์ศักราช 2024 ปีมะโรง “งูใหญ่” สถานการณ์ทางการเมืองมีเรื่องให้ร้อนระอุอยู่มากมายหลายปมเงื่อน รอพิสูจน์ฝีมือ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่เข้ามาบริหารประเทศได้แค่ 3 เดือนกว่า แต่เจ้าตัวมั่นอกมั่นใจว่า

“วันนี้ผมเป็นนายกฯ อยู่ก็ต้องทำหน้าที่อย่างเต็มที่ พยายามตั้งใจจะเอา 4 ปีให้ได้ แต่สำคัญมากกว่านั้นไม่ใช่ว่าอยู่ให้ครบ 4 ปีแล้วชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น พี่น้องประชาชนเป็นคนตัดสินมากกว่า ต้องคอยการเลือกตั้งครั้งต่อไป”

ยืนระยะครบเทอม 4 ปี ฝันจะเป็นจริงหรือไม่ มิมีใครพยากรณ์ได้ รู้แต่ว่า ปีมะโรง หรือ “งูใหญ่” สมรภูมิแห่งการเมืองของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ไม่มีสัญญาณอันตรายใดๆ ส่อนัยยะต่อการพังทลาย

เปิดศักราชด้วยวันที่ 3-5 มกราคม สภาผู้แทนราษฎรมีวาระสำคัญ ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยกรอบเวลายึดตามที่วิปได้ตกลงร่วมกันเรียบร้อยแล้ว เรื่องสัดส่วนเวลา ฝ่ายรัฐบาลได้ 20 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 20 ชั่วโมงเสมอกัน

แม้ตามข่าว “พรรคสีส้ม” หรือ “ก้าวไกล” จัดทีมทำการบ้านอย่างขะมักเขม้น เตรียมขุนพลฝีปากเอกไว้ชำแหละ มากถึง 33 คน แต่ขั้วรัฐบาลก็ติวเข้ม โดยเฉพาะเพื่อไทย กำชับ ส.ส.ให้อยู่ในห้องประชุมร่วมทำหน้าที่ตัวเอง ห้ามแตกแถวหรือขาดประชุม ทำให้สภาล่มซ้ำซาก เหมือนสภาชุดที่แล้วเด็ดขาด

อย่างไรก็ตาม แม้ศึกเลือกตั้งใหญ่ 2566 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม จะจบลงด้วยปรากฏการณ์ใหม่ “พรรคก้าวไกล” ที่ปลอดจากบ้านใหญ่ ประสบชัยได้รับเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่ง 14,438,851 ล้านเสียง ยอด ส.ส.รวมกัน 2 ระบบทั้งแบบเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ 151 ที่นั่ง เบียดเต็งหนึ่งคือเพื่อไทย ที่ได้รับเลือกต่ำกว่าประมาณการ 141 เสียง

แต่ด้วยกติกาของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ออกแบบมาพิลึกกึกกือ ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน ด้วยการหมกเม็ดไว้ใน “บทเฉพาะกาล” สามารถร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วย และทาง ส.ว.เสียงข้างมาก มีความรู้สึกด้านลบต่อพรรคสีส้ม ทำให้ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถูกคว่ำกระดาน พังพาบกลางสภา

จนในที่สุด “นายเศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตจากเพื่อไทย ที่ได้รับเลือกตั้งในอันดับที่ 2 ได้จับมือกับขั้วอำนาจเดิม ที่เคยห้ำหั่นกันมาอย่างหนัก ทั้งรวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พลังประชารัฐ 40 เสียง เป็นเสือข้ามห้วย มาร่วมฟอร์มรัฐบาล เป็นนั่งร้านให้ “เพื่อไทย” 141 เสียง “ภูมิใจไทย” 71 เสียง” “ชาติไทยพัฒนา” 10 เสียง “ประชาชาติ” 9 เสียง “ชาติพัฒนากล้า” 2 เสียง พรรคเล็กอีก 3 พรรค รวมฐานที่มั่น 314 เสียง

แข็งโป๊ก ดุจผนังทองแดง กำแพงเหล็ก ฐานเสียงมากมายเหลือจะกล่าว เกินครึ่งหนึ่งถึง 64 ที่นั่ง กอปรกัน “นายเศรษฐา” แม้จะละอ่อนทางการเมือง แต่ด้วยสไตล์การบริหารงานแบบนักธุรกิจ คิดไวทำไว ประกาศพลิกฟื้นนโยบายเศรษฐกิจแบบเฉียบพลัน ออกเดินสายไปหลายประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อป่าวประกาศความเชื่อมั่น และชักชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุนได้จำนวนมาก แปรเป็นจุดเด่นสำคัญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ สามารถฟันธงได้ล่วงหน้าว่า การประชุมสภา ว่าด้วยวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ที่ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมอยู่มาแล้ว ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม “จะไม่มีอะไรในกอไผ่ พ.ร.บ.งบประมาณ ผ่านฉลุยแบเบอร์”

 

ลําดับถัดไป คือกระบวนการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล ภายใต้กรอบ “การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ที่กำหนดให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป โดยการลงมติ และเมื่อเสนอญัตติแล้ว นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการหนีการถูกอภิปรายของนายกฯ

คะแนนเสียง แพ้ชนะ วัดจำนวนกันด้วยมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เท่ากับหรือเกินกว่า 251 เสียง หากสภาลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายแพ้โหวต ต้องพ้นจากตำแหน่งทันที ตามมาตรา 170 ซึ่งศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ คาดหมายกันว่า “พรรคก้าวไกล” จะโชว์ฟอร์มรับน้องที่ชื่อ “เศรษฐา” ครั้งแรก ในเดือนเมษายน

แต่กรณีที่ว่า รถบัสจะยางไม่แตกแน่นอน เพราะฐานเสียงรัฐบาล “นิด 1” จาก 9 พรรคที่คอยค้ำยัน มีมากถึง 314 เสียง คงไม่มีพรรคการเมืองไหนรนหาที่ตาย คนที่ปั่นกระแส ปล่อยข่าว หมายเจาะยางไม่น่าจะเป็นไปได้ ปีงูใหญ่ ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะแพ้โหวต ทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่น่าเกิดขึ้นได้ คงจะอยู่รอดปลอดภัย

ขณะเดียวกัน เงื่อนไขล้มกระดาน ว่าด้วยการยึดอำนาจ ทำรัฐประหาร ก็ไม่มีเหตุและปัจจัยอะไรที่นำมาอ้างอิงเพื่อกระทำการ ปีสองปีนี้ “ปฏิวัติ” ลืมไปได้เลย ชาวบ้านยังเหม็นเขียว เข็ดขี้อ่อนขี้แก่อยู่ ยิ่งทหารหาญในกองทัพเวลานี้ รุ่นหรือเหล่า ไม่โดดเด่น มีพลังไฮเพาเวอร์มากพอที่จะมากดปุ่มปิดเกมได้โดยพลันเหมือนอดีต

ส่วนการปลุกระดมพลังมวลชนนอกสภา เพื่อเขย่าขวดให้ออกมาเดินขบวนขับไล่รัฐบาล หรือสร้างเงื่อนไขทางการเมืองให้ประชาชนกลุ่มสีเสื้อออกท้องถนน เป็นจิ๊กซอว์ต่อยอดให้ทหารต้องขนรถถังออกจากกรมกอง อ้างว่ามาทำหน้าที่ท้าวมาลีวราช ห้ามทัพ ด้วยการการปฏิวัติ-รัฐประหาร ก็ไม่ง่าย และไร้วี่แวว ว่าใครจะกล้าเป็นแกนนำ กล้าเอาคอขึ้นเขียง

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “นายเศรษฐา” หมดความอดทน ยืนระยะไม่ไหว มีประเด็นเดียวคือ “แรงกดดันลึกๆ จากมือที่มองไม่เห็นภายในพรรคเพื่อไทย”