คนของโลก : อัลแบร์โต ฟูจิโมริ อดีตประธานาธิบดีเปรูผู้ได้รับอภัยโทษ

การได้รับการอภัยโทษของ “อัลแบร์โต ฟูจิโมริ” อดีตประธานาธิบดีเปรู เมื่อวันที่ 24 ธันวาคมที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงเกมทางการเมืองที่ส่งผลให้อดีตผู้นำที่ต้องโทษจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงผู้นี้ได้รับอิสระ

การตัดสินใจดังกล่าวของรัฐบาลเปรูนำโดย ประธานาธิบดี “เปโดร พาโบล คุชซินสกี” แห่งเปรู ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนออกมาเดินขบวนต่อต้าน

และปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม

 

“ฟูจิโมริ” เป็นที่รู้จักในฐานะอดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติของเปรู เป็นที่รักและชื่นชอบของชาวเปรูส่วนหนึ่งจากผลงานปราบปรามกลุ่มกบฏจนสิ้นอิทธิพล

ทว่าก็ถูกเกลียดชังจากประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งจากการใช้อำนาจเผด็จการ และการดำเนินนโยบายอย่างไร้ความปรานี

ช่วงเวลาที่ฟูจิโมริดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีตั้งแต่ปี 1990 และอีกหลายปีต่อมาเต็มไปด้วยเหตุการณ์ปิดล้อม ล่าสังหาร รวมไปถึงเหตุการณ์ตื่นเต้นราวกับภาพยนตร์สงคราม

ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญการเมืองเปรู ระบุว่า ฟูจิโมริ ผู้ที่มีบรรพบุรุษเป็นผู้อพยพชาวญี่ปุ่นนั้น ไม่ได้มีอิทธิพลในหมู่พรรคการเมืองเท่าไรนัก ทว่าเขาได้รับแรงสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจาก “กองทัพ”

ภายใต้การปกครองของฟูจิโมริ และ “วลาดิมิโร มินเตซินอส” ผู้บัญชาการหน่วยงานข่าวกรองของเปรูในเวลานั้น กองทัพได้เปิดปฏิบัติการโจมตีกลุ่มกบฏซ้ายจัดอย่าง “ชายนิงพาธ” และ “ทูแพ็ก-อมารู” ไปได้อย่างสิ้นซาก

ขณะที่ฟูจิโมริเองก็กำจัดคู่แข่งทางการเมืองอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในปี 1992 ฟูจิโมริก่อการรัฐประหารตัวเองด้วยการยุบสภาโดยไม่มีใครตั้งตัว มีเพียงผู้บัญชาการทหารและ “มินเตซินอส” เท่านั้นที่รู้แผนการดังกล่าว

“ทำก่อนแล้วค่อยบอกประชาชนทีหลัง” ฟูจิโมริเคยระบุไว้ในเวลานั้น

 

ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นและส่งผลให้ฟูจิโมริได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุด คือเหตุการณ์นักรบกลุ่มกบฏทูแพ็ก-อมารู ก่อเหตุบุกจับตัวประกันในสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำกรุงลิมา ในเดือนธันวาคม 1996

เหตุการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงหลังคุมเชิงกันเป็นเวลา 4 เดือน ด้วยการส่ง “คอมมานโด” บุกเข้าสังหารผู้ก่อเหตุทั้งหมด 14 ราย และสามารถช่วยตัวประกันได้เกือบทั้งหมด สร้างชื่อเสียงให้กับผู้นำเปรูในเวลานั้นถึงฝีมือในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายอย่างเด็ดขาด

นอกจากผลงานด้านความมั่นคงแล้ว ฟูจิโมริเองยังได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

และนโยบาย “เศรษฐกิจแนวเสรีนิยมใหม่” ของฟูจิโมริ ก็สร้างเสียงสนับสนุนจากชนชั้นสูงและสถาบันการเงินนานาชาติ

 

ด้านมืดจากความสำเร็จของฟูจิโมริ ถูกเปิดเผยออกมาหลังศาลตัดสินให้นายฟูจิโมริมีความผิดฐานละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการใช้ “กองกำลังแห่งความตาย” สังหารผู้ต้องสงสัยจำนวนมาก

หายนะของฟูจิโมริ เริ่มต้นขึ้นในปี 2000 หลัง “มินเตซินอส” ถูกแฉพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่น และก่อนหน้าที่ภัยจะถึงตัว ฟูจิโมริตัดสินใจหนีไปยังประเทศญี่ปุ่น และส่ง “แฟกซ์” ประกาศลาออกจากตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม “สภาคองเกรสเปรู” ก็ลงมติปลดนายฟูจิโมริออกจากตำแหน่ง ก่อนที่สุดท้าย ฟูจิโมริจะถูกจับกุมที่ประเทศชิลีและถูกส่งตัวกลับประเทศ

ศาลเปรูตัดสินจำคุกฟูจิโมริ 7 ปีฐานติดสินบนและใช้อำนาจในทางที่ผิด ในปี 2007 ก่อนที่ในปี 2009 จะถูกตัดสินจำคุก 25 ปี จากการสังหารผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มกองโจรและผู้ฝักใฝ่จำนวน 25 รายระหว่างปี 1991 และ 1992

 

ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวของฟูจิโมริ ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของความ “สับสนอลหม่าน” ระหว่างการครองอำนาจของฟูจิโมริด้วยเช่นกัน อย่างกรณีของ “ซูซานา ฮิกุชิ” ผู้เป็นภรรยาและหย่าขาดกับฟูจิโมโรในปี 1994 กล่าวหาว่าถูกคนของอดีตสามีทำร้ายร่างกาย

หลังการหย่าขาด “เคอิโกะ ฟูจิโมริ” ลูกสาวของฟูจิโมริก้าวขึ้นเป็นสตรีหมายเลข 1 แทนแม่ของเธอด้วยอายุเพียง 19 ปีเท่านั้น ขณะที่ “ฮิกุชิ” ลงสมัครเป็นคู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเปรูในการเลือกตั้งเมื่อปี 1995 ทว่าฟูจิโมริก็ใช้วิธีการออกกฎหมายห้ามญาติใกล้ชิดสืบทอดอำนาจในตำแหน่งประธานาธิบดีโดยตรงเพื่อกันอดีตภรรยาให้พ้นทาง

หลังจากฟูจิโมริถูกจำคุก อดีตผู้นำเปรูต้องเข้าออกโรงพยาบาลบ่อยครั้งจากปัญหาที่หัวใจ หลัง และช่องท้อง และมีรายงานว่าต้องเข้ารับการผ่าตัดเนื้อร้ายออกจากลิ้นด้วย

ล่าสุด หลังจากศาลเพิ่งปฏิเสธคำร้องจากครอบครัวของฟูจิโมริเพื่อให้อภัยโทษและปล่อยตัว “ฟูจิโมริ” ออกจากเรือนจำ เพียงไม่กี่วัน ประธานาธิบดีคุชซินสกี ก็กลับประกาศว่า นายฟูจิโมริจะได้รับการอภัยโทษด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ

ท่าทีของประธานาธิบดีมีขึ้นหลัง “เคนจิ ฟูจิโมริ” ลูกชายของนายฟูจิโมริ อีกคน ตัดสินใจเป็นเสียงที่แตกออกจากพรรค “ป๊อปปูลาร์ฟอร์ซ” (เอฟพี) พรรคครองเสียงข้างมากในสภาของ “เคอิโกะ” ที่กำลังยื่นญัตติไม่ไว้วางใจประธานาธิบดี ส่งผลให้คุชซินสกีรอดพ้นจากการถูกถอดถอนจากตำแหน่งมาได้อย่างหวุดหวิด

และนั่นก็เป็นที่มาของทฤษฎี “เกมการเมือง” ที่นำมาสู่การปล่อยตัวนายฟูจิโมริ ในแบบที่คนกลุ่มหนึ่งตั้งข้อสงสัย