33 ปี ชีวิตสีกากี (53) | ขึ้นเชียงใหม่ ฝึกปราบปรามความไม่สงบ

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

หลักการปฏิบัติในการส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ ในกรณีที่ใช้เอกสารเป็นพยานหลักฐาน

1. การรักษาสภาพ (Reservation)

2. การบันทึกและการทำเครื่องหมายเพื่อชี้ระบุ (Identification)

3. การเก็บเอกสารของกลาง (Collection)

4. การจัดหาตัวอย่างมาตรฐาน (Obtaining of Standard)

5. การนำส่งและการรับผลการตรวจพิสูจน์ (Transportation)

การรักษาสภาพ เหตุที่ต้องรักษาสภาพนี้ เพราะหลักฐานต่างๆ เราต้องรักษาให้อยู่ในสภาพเดิม ไม่ให้มีการเสียหาย เก็บมาได้อย่างไร ก็ให้รักษาเก็บไว้อย่างนั้น มีหลักดังนี้

1. ห้ามตัด ฉีก เจาะ หรือพับเอกสารที่ได้นั้น เป็นอันขาด

2. ห้ามขีดเขียน หรือวงเครื่องหมายอะไรต่างๆ ลงไปในเอกสารนั้นเด็ดขาด

3. ห้ามเก็บเอกสารนั้นไว้กับตัวเอง เช่น พับใส่กระเป๋า หรือพกพาเอกสารไปในที่ต่างๆ

4. ห้ามเก็บเอกสารไว้ในที่ใกล้กับความชื้นมากๆ ร้อนมากๆ หรือที่มีแสงสว่างมากเกินไป

5. ให้ระมัดระวังมิให้น้ำ หรือน้ำยาเคมี หกราดลงบนเอกสารของกลางเป็นอันขาด

การบันทึกและทำเครื่องหมายเพื่อชี้ระบุ (Identification) เหตุที่มีการบันทึก และทำเครื่องหมายนี้ ก็เพื่อเอาไว้ชี้ระบุ ในการพิจารณาชั้นศาล มี 2 ลักษณะ คือ

1. การทำบันทึก ต้องแสดงว่าเป็นเอกสารของกลางที่ยึดได้จากใคร และลงชื่อทั้งของเจ้าของเอกสาร และพนักงานสอบสวน การบันทึกจะบันทึกในที่ว่างทั้ง 2 ข้าง และมีเนื้อที่พอ ถ้าไม่มีเนื้อที่พอให้เซ็นชื่อตรงมุมที่ว่าง และทำบันทึกประกอบการยึดของกลาง

2. การทำเครื่องหมาย มีวัตถุประสงค์ เพื่อ

– แจง หรือจำแนกว่า มีเอกสารกี่ชิ้น กี่อัน

– เพื่อชี้ระบุ อาจจะใช้เครื่องหมายดอกจัน (ห้ามวงกลมล้อมรอบ) ถ้ามีหลายแห่งก็ให้ทำหลายๆ สี หรือการใช้ */1 */2

 

การเก็บเอกสารของกลาง มีหลักดังนี้

1. ไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากสภาพดินฟ้าอากาศ รักษาสภาพของเอกสารให้คงเดิมได้มากที่สุด

2. ต้องห่อให้มิดชิด จะเป็นการใส่ซองปิดผนึก หรือใส่หีบห่อตีตราครั่งไว้ เพื่อกันคนเปิด (อาจใส่ถุงพลาสติกก่อนแล้วห่อกระดาษทับภายหลัง)

การจัดหาตัวอย่างมาตรฐาน มี 2 แบบ คือ

1. เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน จะต้องหามา

2. เป็นหน้าที่ของผู้ชำนาญการ เป็นผู้หามาเพื่อตรวจในด้านวิชาการ

ซึ่งตัวอย่างมาตรฐานนี้ มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ได้แน่ว่าเป็นสิ่งที่แท้จริง และต้องมีการรับรองจากเจ้าของตัวอย่างมาตรฐานกับพนักงานสอบสวนด้วย คือ

– ตัวอย่างมาตรฐานนี้ต้องได้มาจากการรับรองของเจ้าของตัวอย่างมาตรฐานนี้กับพนักงานสอบสวน

– ต้องมีการดำเนินการตามหลักวิชา

ตัวอย่าง ที่จะต้องมาเกี่ยวข้องนี้ได้แก่ ลายมือเขียน ลายเซ็น ลายพิมพ์นิ้วมือ ตัวอย่างพิมพ์ดีด ตัวอย่างตราประทับ หรือสิ่งพิมพ์ต่างๆ

การนำส่งและรับผลการตรวจพิสูจน์ รายการตรวจพิสูจน์ของกลาง ที่จะนำส่งนั้นให้เขียนให้ชัดเจน จุดประสงค์ที่จะให้ตรวจอะไร ก็ให้เขียนให้ชัดเจน

ในการรับผลการตรวจพิสูจน์ ถ้าเราไปส่งเอง ก็ให้เราเป็นผู้รับผลการตรวจ หรือให้ผู้อื่นไปรับ ก็ให้เขียนระบุชื่อไว้ในใบนั้นด้วยว่า ให้ใครเป็นคนรับ โดยระบุชื่อผู้ที่จะรับด้วย และการส่งการรับนี้ ต้องเซ็นชื่อรับส่งทุกครั้ง

พ.ต.อ.ประชุม สถาปิตานนท์ ร่วมกับ พ.ต.ต.อัมพร จารุจินดา มาเป็นอาจารย์สอนหัวข้อ วิชาการตรวจพิสูจน์อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน มีรายละเอียดในการตรวจและการปฏิบัติของพนักงานสอบสวนมากมาย

ความรู้มากมายเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ผมได้นำไปใช้เพื่อมัดตัวผู้กระทำผิดให้ถูกลงโทษตามกบิลเมือง และยังใช้ป้องกันตัวเองในการทำหน้าที่เมื่อมีผู้คิดร้าย ไม่หวังดี

 

การเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจนั้น กรมตำรวจได้ตั้งใจที่จะผลิตนักเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อสำเร็จออกมา สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกหน่วยในกรมตำรวจ และเหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศ เพราะการเรียนได้เตรียมการไว้สำหรับการเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน ที่จะต้องไปเข้าเวรสืบสวนสอบสวน หรือเป็นรองสารวัตรฝ่ายป้องกันและปราบปราม ตามสถานีตำรวจทั่วประเทศ แต่ถ้าสถานการณ์ของประเทศพลิกผัน ก็สามารถที่จะให้นักเรียนนายร้อยตำรวจ ไปทำหน้าที่เป็นผู้บังคับหมวดตำรวจตระเวนชายแดน ได้ทันที

และมีการสอบท่าการฝึกของนักเรียนนายร้อยตำรวจทุกคน ผมสามารถสอบผ่านไปได้ คือ

ท่าสอบบุคคลมือเปล่า 5 ท่า

1. ซ้ายหันเวลาเดิน

2. ขวาหันเวลาเดิน

3. เปลี่ยนเท้าเวลาเดิน

4. ซ้าย ขวา กลับหลังหัน ขณะอยู่กับที่

5. ตรงหน้า ทางซ้าย ทางขวา วันทยหัตถ์

ท่าสอบบุคคลประกอบอาวุธ 5 ท่า

1. ตรงหน้า ทางซ้าย ทางขวา วันทยาวุธ

2. ถอดหมวก สวมหมวก

3. หมอบ

4. แบกอาวุธ เรียบอาวุธ เปลี่ยนบ่า

5. บ่าขวาแบกอาวุธ เรียบอาวุธ

 

โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้ส่งนักเรียนนายร้อยตำรวจในชั้นปีที่ 3 ไปฝึกหลักสูตรการต่อต้านปราบปรามการก่อความไม่สงบ หรือ ตปส.นรต. ที่ค่ายดารารัศมี กองกำกับการ ตำรวจตระเวนชายแดน เขต 5 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 3-30 พฤศจิกายน 2523 เป็นการปรับพื้นฐาน ตปส. โดยตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร

นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ได้เดินทางออกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2523 ด้วยขบวนรถบัส แต่ในวันนั้น การเดินทางล่าช้ามากเนื่องจากมีน้ำท่วมและสภาพการจราจรที่ติดขัดมากบริเวณหนองแขมจนถึงบางแค กว่าจะมาถึงสถานีหัวลำโพง เสียเวลาเกือบชั่วโมง

แต่ก็มาถึงก่อนที่ขบวนรถไฟซึ่งเป็นขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ จะออกเดินทางจากสถานีหัวลำโพงในช่วงบ่ายสามโมง

ดังนั้น ผู้บังคับกองและผู้บังคับหมวด จึงปล่อยให้ชั้นปีที่ 3 ออกไปซื้อของใช้ที่จำเป็นเพิ่มเติมได้ในบริเวณสถานี โดยทุกคนจะนั่ง 4 โบกี้สุดท้ายของขบวนรถไฟ

เมื่อถึงเวลาขบวนรถไฟก็ออกเดินทาง ขบวนรถไฟได้แวะตามสถานีรายทางทั้งสามเสน บางซื่อ ดอนเมือง ผ่านปทุมธานีเข้าเขตอยุธยา แวะท่าเรือ ภาชี สระบุรี ลพบุรี บ้านหมี่ นครสวรรค์ ตาคลี

ตามสถานีใหญ่ๆ บางแห่งบางสถานี จะมีพี่ชั้นปีที่ 4 หรือ นรต.รุ่น 34 ที่กำลังฝึกงานตามสถานีตำรวจต่างๆ ออกมาส่ง และซื้อขนม ของกินให้กับรุ่นน้อง

ผมจำพี่ นรต.อำนาจ ทีคะสุข ซึ่งเป็นนักกีฬาว่ายน้ำด้วยกันและอีกหลายคนมาส่งด้วย

ในชีวิตของผม นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ขึ้นรถไฟและยังคงรับรู้ถึงความรู้สึกที่ตื่นเต้นอีกครั้ง รวมทั้งเป็นครั้งแรกที่จะผ่านหัวเมืองทางเหนือ ยิ่งเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ที่ในชีวิตได้แต่วาดฝันไว้ว่า เมืองเชียงใหม่จะงดงามขนาดไหน ตามที่เคยอ่านในหนังสือมาตลอด รวมทั้งนวนิยายเรื่องต่างๆ ที่มีฉากเมืองเหนือเป็นฉากหลังเล่าเรื่อง

ผมอยากจะฟังเสียงซอเสียงซึงของชาวเหนือ และมีเพื่อนในรุ่นหลายคนที่อู้คำเมืองให้ได้ยินบ่อยๆ

ขบวนรถไฟมาเสียเวลามากที่นครสวรรค์เพราะมีขบวนรถไฟที่หัวรถจักรเสียจึงต้องคอยเป็นชั่วโมง

จากนั้นผ่านตาคลีก็เข้าชุมแสง บางมูลนาก พิจิตร ตะพานหิน พอเวลาตีสอง ก็มาถึงพิษณุโลก

จนกระทั่งเช้าแล้ว เวลา 6 โมงเช้า ขบวนรถไฟก็พาลอดถ้ำขุนตาล ลำปาง ลำพูน และมาถึงปลายทางที่สถานีเชียงใหม่ เมื่อเวลา 9 นาฬิกา 20 นาที

การเดินทางด้วยรถไฟครั้งนี้หัวรถจักรเสียหลายครั้ง รอสับรางรถสวนมาก็บ่อย จากรถเร็วเลยกลายเป็นรถช้า

จากสถานีรถไฟเชียงใหม่ ก็นั่งในขบวนรถบัสผ่านตัวเมืองไปยังค่ายดารารัศมี ที่ อ.แม่ริม ไกลออกไปจากตัวเมืองเชียงใหม่ 17-18 กิโลเมตร ถึงค่ายดารารัศมี มีพิธีกราบไหว้สิ่งที่ทุกคนเคารพภายในค่าย คือ พระชายาดารารัศมี พระสนมเอกของ ร.5

จากนั้น พล.ต.ต.วิชัย วิชัยธนพัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 3 เป็นผู้กล่าวรับมอบการบังคับบัญชานักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 จาก พ.ต.อ.บุญมี เสือเอี่ยม และ พ.ต.ท.เหมราช ธารีไทย รองผู้กำกับการ 1 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยมอบให้ ร.ต.อ.ถาวร ภูมิสิงหราช และ ร.ต.ท.สะอาด กัณหะ เป็นผู้ควบคุมดูแลบังคับบัญชา พร้อมกับทีมครูฝึกของตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งมี ร.ต.ท.สมมาตร ศรีภิรมย์ กับพวก ร่วมฝึกสอน

พวกผมได้กินข้าวเช้าเมื่อเวลา 10 นาฬิกา จากนั้นจึงได้ขนสัมภาระสิ่งของไปเก็บไว้ที่กองร้อยซึ่งจะใช้เป็นที่พักตลอดการฝึกก่อนเข้าป่า

เมื่อถึงเวลาบ่ายสองโมง ก็ไปรับประทานอาหารกลางวัน

ในเวลากลางคืน ผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารพร้อมกับมีการแสดงดนตรี จนถึงเวลา 4 ทุ่มก็เลิก

เช้าวันรุ่งขึ้น เป็นวันที่ 3 พฤศจิกายน 2523 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 จะมาเปิดการฝึก

เมื่อเริ่มเป็นนักเรียนชั้นสูงขึ้นมา การทำโทษลดน้อยลงมาก