จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (1)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

เงาตะวันออก | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

 

จีนสมัยราชวงศ์หยวนและหมิง (1)

 

ความนำ

การล่มสลายของราชวงศ์ซ่งและถูกแทนที่โดยราชวงศ์หยวนนั้น นับเป็นครั้งแรกที่จีนถูกปกครองโดยชนชาติอื่นอย่างเต็มรูปแบบ เพราะก่อนหน้านั้นนับพันปีแม้จะมีชนชาติที่มิใช่จีนเข้ามาปกครองจีนอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงพื้นที่บางส่วน

และถึงแม้หยวนจะปกครองจีนได้ไม่ถึงร้อยปีก็ตาม แต่ประเด็นที่พึงเข้าใจในประการแรกก็คือ ก่อนที่หยวนจะถือกำเนิดขึ้นนั้น มองโกลที่เป็นผู้ตั้งราชวงศ์ได้แผ่อำนาจไปกว้างไกลจนถึงยุโรปแล้ว

เป็นการแผ่ตามวิถีของชนเผ่าเร่ร่อน ไม่ใช่วิถีของชนชาติจีน การสถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นมาจึงเป็นความคิดที่เกิดขึ้นภายหลัง

ในประการต่อมา มองโกลตั้งราชวงศ์หยวนขึ้นก่อนที่ราชวงศ์ซ่งจะล่มสลายหลายปี และในระหว่างนั้นมองโกลสามารถยึดดินแดนส่วนใหญ่ของจีนได้แล้ว การตั้งอยู่ของซ่งก่อนล่มสลายจริงจึงคล้ายกับไข่แดงที่มองโกลยังตีไม่แตก เหตุฉะนั้น อายุของราชวงศ์หยวนจึงอาจนับได้สามแบบ

แบบแรก นับจากแรกที่เตมูจินประกาศตั้งรัฐของมองโกลใน ค.ศ.1206

แบบต่อมา นับแต่ปีแรกที่ก่อตั้งราชวงศ์ใน ค.ศ.1271 ซึ่งขณะนั้นซ่งยังมิได้ล่มสลาย

และแบบที่สาม นับหลังจากที่ทัพมองโกลได้ตีซ่งจนล่มสลายใน ค.ศ.1279

งานศึกษานี้จะยึดการนับในแบบที่สาม ด้วยเหตุที่ซ่งได้ล่มสลายโดยสิ้นเชิงแล้ว และทำให้ราชวงศ์หยวนก้าวขึ้นมาปกครองจีนอย่างเด็ดขาด

 

ราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1279-1368) แม้จะมีอายุไม่ถึงร้อยปี แต่การกล่าวถึงหยวนไม่ว่าในแง่มุมใด ในด้านหนึ่งจึงย่อมสะท้อนลักษณะเฉพาะของหยวนไปด้วยในตัว ว่าในฐานะที่มิใช่ชนชาติจีนนั้น หยวนได้ทำให้เห็นถึงความแตกต่างไปจากราชวงศ์ของชนชาติจีนอย่างไรบ้าง

เพราะชนชาติจีนที่อยู่ใต้การปกครองของหยวนมิได้รู้สึกว่าหยวนเป็นพวกเดียวกับตน หากคือมองโกลที่เป็นไท้ต่างด้าวท้าวต่างแดนที่มาปกครองตน

ด้วยเหตุนี้ ความรู้สึกต่อต้านหยวนจึงดำรงอยู่ในสำนึกของชาวจีนอยู่เสมอ จนเป็นเหตุให้เกิดขบวนการต่อต้านหยวนขึ้นมา และสามารถโค่นล้มหยวนได้สำเร็จ

จากนั้นขบวนการนี้ก็ตั้งราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) ขึ้นมา แล้วปกครองจีนไปอีกกว่าสองศตวรรษครึ่ง

 

เมื่อมองโกลตั้งวงศ์ขึ้นและมีอายุไม่ถึงร้อยปี ในขณะที่หมิงมีอายุมากกว่าสองศตวรรษครึ่ง ในที่นี้จะศึกษาจักรวรรดิจีนในช่วงนี้โดยรวมสองราชวงศ์ต่อเนื่องกันไป

ซึ่งจะทำให้เห็นว่า จะด้วยหยวนเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมเฉพาะของตนหรือไม่ก็ตาม ปรากฏว่า หยวนไม่เพียงจะขยายดินแดนของจักรวรรดิจีนได้กว้างไกลเท่านั้น หากการปกครองก็ยังต่างจากราชวงศ์อื่นอีกด้วย

และก็ด้วยเหตุนั้น หยวนจึงได้นำเอาหลายสิ่งหลายอย่างของจีนไปยังดินแดนอื่นด้วย ซึ่งถือเป็นการส่งผ่านวัฒนธรรมในอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ทำให้ดินแดนนั้นมีวัฒนธรรมจีนปรากฏอยู่ด้วยระยะหนึ่ง

ครั้นเมื่อหมิงก้าวเข้ามาแทนที่หยวนใน ค.ศ.1368 ดินแดนของจักรวรรดิจีนก็หดแคบลงอย่างถนัดใจ กลายเป็นดินแดนบนพื้นที่เดิมที่ชนชาติจีนคุ้นเคยและอยู่กันมานับพันปี แต่การที่มีดินแดนหดแคบลงนี้มิได้หมายความว่าอิทธิพลต้องหดแคบลงด้วย

ตรงกันข้าม หมิงยังได้ขยายหลักคิดจักรวรรดิที่แตกต่างไปจากเดิมอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่อเกิดการเดินทางออกไปสู่โลกภายนอกทางทะเล แล้วอ้างว่าดินแดนที่ตนเดินทางไปถึงล้วนเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิจีน

การอ้างเช่นนี้ในขณะที่พื้นที่จริงของจักรวรรดิหดแคบลงจึงทำให้เกิดประเด็นคำถามว่า มีปฏิสัมพันธ์กับการขยายดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลของหยวนอย่างไร

นอกจากนี้ หากกล่าวเฉพาะราชวงศ์หมิงแล้วถือเป็นอีกยุคสมัยหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ได้มีกลุ่มบุคคลอื่นมาใช้อำนาจแทนจักรพรรดิดังยุคก่อนหน้านี้ และมันได้บั่นทอนพลังที่หมิงเคยมีอยู่แต่เดิมให้อ่อนแอลง

จนเมื่อกลไกต่างๆ หมดสภาพโดยตัวของมันเองแล้ว จักรวรรดิจีนก็ถูกเปลี่ยนมือไปสู่ผู้ปกครองกลุ่มใหม่ที่มิใช่ชนชาติจีนอีก และทำให้เห็นว่า ชนชาติที่มิใช่จีนนั้นยังคงเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของจักรวรรดิจีน

ที่ไม่ว่าจะอย่างไรหรือยุคสมัยใด จีนก็มิอาจสลัดให้หลุดไปจากปฏิสัมพันธ์ที่มีกับตนไปได้

 

ต้นราชวงศ์หยวน

กุบไลถือเป็น “จักรพรรดิ” องค์แรกของราชวงศ์หยวน แต่มองโกลเรียกขานฐานะที่ว่านั้นด้วยคำว่า “ข่าน” ดังที่เจงกิสผู้เป็นอัยกาของพระองค์ทรงใช้เป็นพระองค์แรก ในที่นี้จะได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นฐานบางประการของสังคมมองโกลก่อนสมัยกุบไลข่าน

เมื่อถึงยุคของข่านพระองค์นี้ที่อยู่ในสถานการณ์ใหม่ที่ราชวงศ์ซ่งได้ล่มสลายแล้ว และเป็นสถานการณ์ที่มีหยวนยืนหนึ่งแต่เพียงราชวงศ์เดียว

อะไรคือสิ่งที่หยวนได้ทำไปภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว

 

จีนานุวัตรแห่งมองโกล

แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า กุบไลข่านผู้เป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หยวนมีความยิ่งใหญ่ไม่แพ้เจงกิสข่าน และเป็นอัยกา (ปู่) ของพระองค์ก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า กุบไลข่านก็ทรงได้รับอานิสงส์หลายอย่างหลายประการที่เจงกิสข่านทิ้งเอาไว้ให้

และทำให้การปกครองส่วนหนึ่งของพระองค์เป็นการสืบทอดจากสิ่งที่อัยกาได้วางเอาไว้

โดยสิ่งที่ได้รับการสืบทอดเรื่องหนึ่งก็คือ จีนานุวัตร (sinicization) ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของมองโกลอย่างมาก กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากมิใช่เพราะจีนานุวัตรแล้วก็ยากที่มองโกลจะปกครองจีนได้โดยง่าย

จีนานุวัตรที่ถูกมองโกลนำมาใช้จึงเป็นประเด็นที่พึงกล่าวถึงตามสมควร

บุคคลที่มีบทบาทสำคัญต่อจีนานุวัตรของมองโกลเป็นอย่างสูงคือ เยลี่ว์ฉู่ไฉ (ค.ศ.1190-1244) ซึ่งเป็นเชื้อสายรุ่นที่แปดของอาเป่าจี ชาวคีตันผู้ตั้งตนเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งราชวงศ์เหลียว

เยลี่ว์ฉู่ไฉกำพร้าบิดาเมื่ออายุได้สามขวบ เขาจึงมีมารดาเป็นผู้เลี้ยงดูตั้งแต่เล็กจนโต