ยุทธการ 22 สิงหา : วันแห่ง ประวัติศาสตร์ ณ 28 กุมภาพันธ์ 2551

(Photo by SAEED KHAN / AFP FILES / AFP)

การเดินทางกลับประเทศของ นายทักษิณ ชินวัตร เมื่อเวลา 09.40 น. ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2551

มีลักษณะในทาง “ประวัติศาสตร์” อันทรงความหมาย

อาจเพราะ ทักษิณ ชินวัตร เป็นคนในยุค “เบบี้ บูมเมอร์” เติบโตมาพร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง “บ้านทรายทอง” และความรุ่งเรืองสุดขีดของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และการสืบทอดอำนาจของ จอมพลถนอม กิตติขจร

ภายในความคิดจึงอวลด้วยเพลงของ สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร

อย่าได้แปลกใจที่เมื่อ นายทักษิณ ชินวัตร บินจากฮ่องกงมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ความต้องการแรกคือการทรุดลงกราบแผ่นดิน

อ่านจาก “มติชนบันทึกประเทศไทย ปี 2551” ก็จะสัมผัสรายละเอียดอย่างเป็นแบบแผน ชัดเจน

ดำเนินไปอย่างนี้

 

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบิน ทีจี 603 จากเกาะฮ่องกงถึงสนามบินสุวรรณภูมิ

เป็นการเดินทางกลับประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 1 ปี 5 เดือน

หลังถูกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้นทำการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

สนามบินสุวรรณภูมิวันนี้แน่นขนัดด้วยผู้คนที่มารอต้อนรับ

โดยนอกเหนือจากครอบครัว ญาติพี่น้องแล้ว ยังมีอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ทหาร ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนที่รักชมชอบอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้

รวมแล้วนับพันคน ท่ามกลางการอารักขาของเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 300 นาย หลังจากออกจากห้องรับรองชั้นพิเศษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้คุกเข่าลงกราบที่พื้นบริเวณหน้าห้อง

และลุกขึ้นเดินไปโบกมือทักทายประชาชนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

จากนั้น เดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลยที่ 1 ในดคีการซื้อที่ดินถนนรัชดาภิเษก

และต่อไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก เพื่อมอบตัวสู้คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

เวลา 12.30 น. คณะของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากสำนักงานอัยการสูงสุดหลังได้รับการประกันตัว มุ่งหน้าเข้าบ้านพักในซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เพื่อรับประทานอาหารกลางวันพร้อมครอบครัว

เมนูมื้อแรกเมื่อกลับประเทศไทย คือ “ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ”

และมีกำหนดการแถลงเปิดใจที่โรงแรมเพนนินซูล่า คลองสาน ในเวลา 14.30 น. โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แถลงว่า

“ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ขอต่อสู้คดีเพื่อรักษาชื่อเสียง”

 

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งในท่ามกลางการอยู่ในที่ตั้งของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ประกาศฟื้น “องค์กร” ขึ้นมาอีกครั้งในวันที่ 25 กุมภาพันธ์

3 วันก่อนการเดินทางกลับของ นายทักษิณ ชินวัตร

คือการเลี้ยงอำลาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังเสร็จสิ้นการประชุมนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์

1 วันหลังการเดินทางกลับของ นายทักษิณ ชินวัตร

เป็นการเลี้ยงสังสรรค์โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งกำลังกลายเป็นอดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดบ้านสวนลาดบัวหลวง เป็นสถานที่นัดพบและเลี้ยงอำลา

คำกล่าวของประธาน มีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ากับสถานการณ์ยิ่ง

“งานเลี้ยงในวันนี้ไม่ใช่เลี้ยงอำลา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการพบปะกันในวันข้างหน้า ซึ่งได้ตั้ง ‘ชมรม สนช.’ เป็นเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสานต่อความสัมพันธ์”

สนช.บางคนได้ขึ้นไปร้องเพลง “บ้านเรา” มอบให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

พร้อมกับได้ก้มลงกราบพื้นเวทีในลักษณะเดียวกันกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ก้มกราบพื้นสนามบินสุวรรณภูมิ

ไม่ว่าการขยับของ “พันธมิตรฯ” ไม่ว่าการสังสรรค์ของ “สนช.” คือการส่งสัญญาณ

 

การเคลื่อนไหวในบรรยากาศก่อนและภายหลังการเดินทางกลับของนายทักษิณ ชินวัตร จากภายในรัฐบาลดำเนินไปด้วยความคึกคัก

เป็นความคึกคักในลักษณะของการจัดแถว ปรับขบวน

นั่นเห็นได้จากเสนอปลด นายปราโมทย์ รัฐวินิจ ออกจากตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นั่นก็คือ นายจักรภพ เพ็ญแข

จากนั้นในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 1 วันหลัง นายทักษิณ ชินวัตร เดินทางมาถึงประเทศไทย

ก็มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช

ให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

และให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นผู้รักษาราชการแทน

 

ในท่ามกลางการรุกอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และของพรรคพลังประชาชนก็ปรากฏกระแสแห่งการต้านขึ้นอย่างเงียบๆ

ไม่ว่าจะเป็นการฟื้น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของ “อดีต” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่นำโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ภายใต้ “ชมรม สนช.”

ขณะเดียวกัน การรุกอันเท่ากับเป็นสัญญาณหนึ่งในทางการเมืองก็ปรากฏ

นั่นก็คือ มติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยคะแนนเสียง 3 ต่อ 2 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งพร้อมทั้งดำเนินคดีอาญา นายยงยทธ ติยะไพรัช ส.ส.ระบบสัดส่วน กลุ่มที่ 1 พรรคพลังประชาชน

จากนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ส่งเรื่องไปให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ผลเฉพาะหน้าก็คือ นับจากวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป นายยงยุทธ ติยะไพรัช ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ขึ้นทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมอบหมายให้รองประธานขึ้นทำหน้าที่แทน

แต่ยังคงเข้าประชุมสภาทำหน้าที่ในฐานะ ส.ส.ตามปกติ

กระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา

นั่นหมายความว่า นายยงยุทธ ติยะไพรัช ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

 

สภาพการณ์ภายหลังการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ภายหลังชัยชนะในการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนจึงมีสัญญาณทั้งในด้านอันเป็นคุณและในด้านอันอาจเป็นอันตราย

ที่เป็นคุณจากชัยชนะของการเลือกตั้งทำให้พรรคพลังประชาชนได้จัดตั้งรัฐบาล และ นายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ผลที่ตามมาก็คือ การจัดแถวกระชับอำนาจในกลไกแห่งอำนาจรัฐ

ผลที่ตามมาก็คือ เปิดทางสะดวกให้ นายทักษิณ ชินวัตร สามารถเดินทางกลับประเทศได้ด้วยความมั่นใจ

แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าชัยชนะของพรรคพลังประชาชนจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

การเดินทางกลับประเทศจึงถือเป็นความเสี่ยง เป็นความแหลมคมหนึ่งในทางการเมือง

ดำเนินไปในลักษณะแห่งความพ่ายแพ้ของผู้ชนะ

ดำเนินไปในลักษณะแห่งชัยชนะของผู้ที่ถูกโค่นล้มจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549