‘ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง’ (2566-67) : พลังของ ‘คนรุ่นใหม่’?

คนมองหนัง

ท่ามกลางสถานการณ์ที่เรตติ้งรวมของอดีตแชมป์ตลอดกาลอย่างสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 (35 HD) อยู่ในภาวะขาลง จนตกไปเป็นเบอร์สองรองจากช่อง 3

“ละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียร” ซึ่งเป็นหนึ่งในโปรแกรมเด่นอมตะนิรันดร์กาลและอัตลักษณ์สำคัญของวิกหมอชิต ก็พลอยประสบปัญหาไปด้วย

ไม่ว่าจะพิจารณาจากตัวเลขเรตติ้งที่เริ่มตันอยู่ตรงหลัก 1 ปลายๆ (จากที่ยังเคยแตะหลัก 10 สมัย “แก้วหน้าม้า” และ “สังข์ทอง” ฉบับล่าสุด เมื่อไม่ถึงทศวรรษก่อน)

เช่นเดียวกับปริมาณลูกค้าโฆษณาในโทรทัศน์ที่ไม่ได้แออัดคับคั่งเหมือนเก่า จนต้องมี “แอดประเภทอินเฮาส์” เช่น “น้ำดื่มจ๊ะทิงจา” สอดแทรกเข้าไปเพื่อถมสล็อตเวลาให้เต็ม

ขณะเดียวกัน ยอดวิวโดยเฉลี่ยของละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องใหม่ๆ ในช่องยูทูบสามเศียรก็ลดต่ำลง จนแทบไม่มีคลิปหลักล้านหรือกว่าจะเกินห้าแสนวิวได้ ก็ต้องลุ้นกันเหนื่อย

เมื่อไปค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก็ยิ่งประจักษ์ชัดว่า แม้จะอยู่ในยุคโพสต์โควิดแล้ว แต่ผลประกอบการของบริษัทผู้ผลิตละครทีวีที่เคย “มั่นคง-เข้มแข็ง” มากๆ อย่างสามเศียรกลับไม่ดีเอาเสียเลย เห็นได้จากตัวเลข “ขาดทุน” (ครั้งแรกน่าจะในรอบหลายสิบปี) ในปี 2565

ดูเหมือนว่านี่จะเป็นจุดท้าทายอันหนักหน่วงสำหรับป้อมปราการท้ายสุดของ “ละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทย” และคนที่ไม่ใช่แฟนประจำของมหรสพประเภทนี้ อาจฟันธงล่วงหน้าไปแล้วเรียบร้อยว่า ใกล้จะถึงกาลอวสานของความบันเทิงดั้งเดิม ที่เคยมีศักยภาพในการปรับประสานตนเองเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ (ตั้งแต่ยุคการพิมพ์จนถึงสื่อโทรทัศน์) ได้อย่างน่าทึ่ง

ละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องล่าสุด ที่สามเศียรผลิตออกฉายทางช่อง 7 และยูทูบ ก็คือ “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” ฉบับใหม่ (16 ตอนแรกใช้ชื่อว่า “ดาบเจ็ดสี” โดยขึ้นเครดิตให้ผู้บริหารค่ายอย่าง “สยม สังวริบุตร” เป็นผู้กำกับฯ ก่อนจะเปลี่ยนชื่อละครเป็น “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” ในตอนที่ 17 และมีผู้กำกับฯ หน้าเดิมอย่าง “หนำเลี้ยบ-ภิพัชพนธ์ อภิวรสิทธิ์” กลับมารับหน้าที่)

ดูคล้ายสามเศียรกำลังเดินไปถึง “ทางสองแพร่ง” ระหว่าง หนึ่ง การเลือกปักหลักอยู่กับคนดูกลุ่มเดิม (ซึ่งอาจไม่หนาแน่นมหาศาลเท่าเก่า) ที่ชอบแนวทาง-รายละเอียดของละครในแบบเดิมๆ กับ สอง การลองแสวงหาผู้ชมกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งนับเป็นภารกิจที่ยาก เพราะละครจักรๆ วงศ์ๆ ไม่ใช่ตัวเลือกความบันเทิงสำหรับคนหนุ่มสาว แม้แต่เด็กเล็ก ที่เคยสับเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของละครรุ่นแล้วรุ่นเล่า ก็ไม่แน่ใจว่ายังติดตามสื่อบันเทิงประเภทนี้อยู่หรือไม่ ณ ปัจจุบัน

เห็นได้ชัดเจนว่า “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” (2566-2567) พยายามผลักดันตนเองให้กล้าเดินไปบนทางสายที่สองมากขึ้น ผ่านการวางลักษณะตัวละครนำ (พระ-นาง) ให้มีบุคลิก-การพูดจาเฮี้ยวๆ กวนๆ แบบ “เด็กวัยรุ่นสมัยใหม่” มากกว่าจะเป็น “เจ้าชาย-เจ้าหญิง” ที่หลายคนคุ้นตาในจักรวาลจักรๆ วงศ์ๆ

ปฏิกิริยาที่พอสัมผัสได้ ก็คือ แฟนเก่าๆ ของละครแนวนี้ ดูจะไม่ค่อยชื่นชอบความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสักเท่าไหร่ ยิ่งพอมีการรื้อโครงสร้างบทกันใหม่ (โดย “ภาวิต- รัมภา ภิรมย์ภักดี” ผู้เขียนบทมือเก๋าที่มีส่วนร่วมกับความสำเร็จของค่ายสามเศียรมายาวนาน) ก็ยิ่งมีเสียงวิจารณ์แง่ลบเกิดขึ้นตามมา

อย่างไรก็ดี ในมุมมองส่วนตัว (ซึ่งเป็นแฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ ค่ายสามเศียรมาเกินสามทศวรรษ) กลับรู้สึกว่า การเลือกแผ้วถางหนทางสายใหม่นี้ ได้นำไปสู่ผลลัพธ์บางประการที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้น

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า ตัวละครนำใน “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” รุ่นนี้ มิได้ถูกกำหนดแคแร็กเตอร์ให้เป็น “พระ-นาง” ตามจารีตจักรๆ วงศ์ๆ ดั้งเดิม หากถูกแปรสภาพให้เป็น “เจ้าชายเฮี้ยวๆ” เอาแต่ใจตนเอง และไม่มีแววจะเป็นผู้ปกครองที่ดีได้ “เจ้าหญิงทโมนๆ” ที่ชอบหนีเที่ยวในรูปลักษณ์ผู้ชาย หรือ “เจ้าหญิงปากร้าย” ที่ด่ากราดผู้คนไปทั่ว

เพียงแค่แคแร็กเตอร์เหล่านั้นอาจมิได้ถือเป็น “เรื่องแปลกใหม่สุดๆ” สำหรับ “จักรวาลสามเศียร” หากมันไม่ถูกหนุนเสริมให้แลดู “ผิดหูผิดตา” (ขัดหูขวางตา) ยิ่งขึ้น เมื่อ “เจ้าชาย-เจ้าหญิง” ที่ครองตนไม่ค่อยเหมาะสมทั้งหลาย ดันมีบุคลิกการพูดจาและกริยาท่าทางเป็น “วัยรุ่นสมัยใหม่” (แบบที่เดินกันตามย่านสยามฯ)

ลักษณะภายนอกที่ “ผิดแผก” ได้ค่อยๆ กลืนกลายเข้ากับ “หน้าที่เฉพาะพิเศษ” ของตัวละครกลุ่มนี้

ไม่ว่าจะเป็นการต้องรับภาระหนักอึ้งจากบุพการี ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่ไร้สามารถ

หรือเมื่อถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวเอาไว้ใน “กรอบกรงกติกา” ที่ผู้เป็นพ่ออธิบายว่าคือกลไกในการ “ปกป้องลูก” ก็มี “ลูกสาว” ถึงสองรายในละครที่เริ่มตั้งคำถามกลับไปว่า “เสด็จพ่อต้องการปกป้องลูกจากอะไรกันแน่?”

เรื่องราวยังชวนสะดุดใจมากขึ้น เมื่อ “สองอาวุธวิเศษสุด” คือ “ดาบเจ็ดสี “และ “มณีเจ็ดสี” ในละครเวอร์ชั่นนี้ มิได้ถูกซุกซ่อนอยู่ตามสถานที่ลึกลับ เพื่อให้ตัวละครมากหน้าหลายตาต้องออกดั้นด้นค้นหา

แต่อาวุธทั้งสองชนิดกลับเป็นสัญลักษณ์ของ “คุณธรรมความสามารถ-อาญาสิทธิ์” ที่แฝงฝังอยู่ในร่างกายของตัวละครบางคนแบบไม่มีเหตุผลแน่ชัด

กระทั่งตัวละครรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมารร้าย พญาครุฑ และฤๅษีผู้ทรงศีล ต่างก็ให้คำอธิบายไม่ได้ว่า ทำไม “อาวุธวิเศษ” จึงไปโผล่อยู่ในร่างของ “เจ้าชายไม่ได้เรื่อง” “เจ้าหญิงไม่ได้ราว” หรือพวกเด็กๆ ที่ดูไม่มีอำนาจและคุณค่าใดๆ

บทละคร “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” ฉบับครึ่งหลังทศวรรษ 2560 จึงไม่เพียงปรับเปลี่ยนให้ตัวละครนำมีความเป็น “วัยรุ่นปัจจุบัน” เด่นชัดขึ้นเท่านั้น หากยังมอง “วัยรุ่น” ในแง่ดี ว่าพวกเขามี “ศักยภาพเร้นลับ” บางประการ ที่ “ผู้ใหญ่” ไม่มีและไม่เข้าใจ

นี่คือศักยภาพที่พวกเขาต้องนำไปใช้แก้ปัญหาใหญ่หลวง ที่คนรุ่นก่อนทิ้งค้างมาถึงคนรุ่นหลัง นี่คือศักยภาพที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่การตั้งคำถามถึงกระบวนการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมของผู้ใหญ่

ทั้งหมดนี้เป็น “สารหลัก” ที่ไม่ควรมองข้าม ในช่วงครึ่งเรื่องแรกของ “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” ก่อนจะสิ้นปีใหม่ 2566

องค์ประกอบเดิมๆ ที่ยังคงอยู่เคียงคู่กับ “สิ่งใหม่ๆ” ใน “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” ฉบับนี้ ก็คือ บรรดา “อาวุธ-สิ่งของ-สัตว์วิเศษ”

นอกจาก “อาวุธ-ของวิเศษที่สูงศักดิ์” เช่น “ดาบเจ็ดสี” (ถ้าในเวอร์ชั่นก่อนๆ มันคือ “เอ็กซ์แคลิเบอร์แบบไทยๆ” นั่นเอง) “มณีเจ็ดแสง” “แหวนวิเศษ” (ที่มีฟังก์ชั่นประมาณ “ตะเกียงวิเศษของอะลาดิน”) ตลอดจน “ตำราวิเศษประจำเมือง” ที่พูดได้แล้ว

“สิ่งของและสัตว์บ้านๆ” ที่มีอำนาจเหนือธรรมดาในละครเรื่องนี้ ยังประกอบไปด้วย “พี่ไม้เท้าพูดได้” ที่สามารถกลายร่างเป็น “ม้าบิน” “ลูกแก้วมหัศจรรย์” ที่พอข้ารับใช้กษัตริย์ (ในละครเรื่องอื่นๆ มักไม่มีฤทธิ์เดชอะไร) อมเข้าปาก ก็จะสามารถยืดแขนยืดขาให้ยืดยาวเกินปกติ และ “หมาพูดได้” ชื่อ “ดำทมิฬ” (ซึ่งในฉบับล่าสุด กลายร่างเป็น “พุดเดิลยักษ์” ซะงั้น)

“วัตถุ-สิ่งมีชีวิตติดดินที่ไม่ธรรมดา” ใน “ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดสี” น่าจะอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับ “ขวานวิเศษ” (เครื่องใช้ของชาวบ้านที่มีฤทธิ์เดชน่าเกรงขาม) ใน “ขวานฟ้าหน้าดำ” เพราะละครทั้งสองเรื่องล้วนดัดแปลงจากบทประพันธ์ของ “เสรี เปรมฤทัย” (เปรมเสรี) เหมือนๆ กัน

“ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง” (2566-67) ยังมีตัวละคร “น้าผี” เช่นเคย แถมผู้เขียนบทได้เล่นสนุกกับคำถามทำนอง “น้าผีมาจากไหน?” ด้วยการเล่าเรื่องราวว่า “น้าผีในดาบเจ็ดสีฯ” นั้นเป็นผีโครงกระดูกของ “ฤๅษีโอม” 1 ใน 7 ผู้ทรงศีลแห่งเทือกเขาสายรุ้งที่ปลุกเสก “ดาบเจ็ดสี” ขึ้นมาจากพื้นพสุธา

แต่พอดาบวิเศษปรากฏขึ้น ฤๅษีทั้งเจ็ดกลับไม่สามารถครอบครองมันได้ และกายเนื้อของบางคนที่เข้าไปแตะต้องมันก็ถึงกับสูญสลายไปโดยพลัน เช่น กรณี “ฤๅษีโอม”

นี่เป็นที่มาของ “น้าผี” ที่เข้าท่าอยู่ไม่น้อย ในโลกสมมุติที่คนรุ่นใหม่ สิ่งของบ้านๆ สัตว์เลี้ยงใกล้ตัวล้วน “วัฒนา” ไปหมดแล้ว (เหมือนที่ “น้าผี” และ “พี่ไม้เท้า” ชอบพูดกันในละคร) •

| คนมองหนัง