‘พิธา’ ยังมี ‘ความหวัง’ ถ้า ‘ระบบยุติธรรม’ มีบรรทัดฐาน

หมายเหตุ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและอดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล สนทนากับ “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” ในรายการ “มีเรื่องมาเคลียร์ by ศิโรตม์” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566

 

(ศิโรตม์) ปี 2567 เราจะได้เห็นคุณพิธากลับมาทำหน้าที่ในสภาหรือไม่?

(พิธา) ขึ้นอยู่กับ 24 มกราคมนี้ ว่าจะมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการ “ถือแทน” ในฐานะผู้จัดการมรดกของหุ้นไอทีวีอย่างไร

ช่วงที่ไปชี้แจงเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา อย่างสดๆ ร้อนๆ ผมก็พอใจในกระบวนการ และพอใจในการสื่อสารข้อเท็จจริง การทบทวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาเมื่อ 16 ปีที่แล้ว เพราะว่าไอทีวีก็คืนคลื่นให้กับทาง ครม. ให้กับทางสำนักงานปลัดนายกฯ ก็ได้โอนไปเป็นของไทยพีบีเอสตั้งแต่ปี 2551 ในขณะเดียวกัน พ่อผมก็เสียช่วงเดียวกัน ช่วงที่ไอทีวีหยุดประกอบกิจการ

ก็ได้ไปทบทวนว่า กระบวนการตอนนั้น ผมไปขึ้นศาลเป็นผู้จัดการมรดกอย่างไร โอนมาจากหุ้นพอร์ตพ่อมาเป็นพอร์ตผมในฐานะผู้จัดการมรดกอย่างไร ถามโบรกเกอร์ว่าทำไมถึงบันทึกว่าเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ เพราะกฎ-กระบวนการของตลาดหลักทรัพย์ฯ มันเป็นอย่างนั้น ไม่สามารถทำได้เหมือนโฉนด ก็ได้ทบทวนมาหมด

แล้วก็ได้อธิบายว่า ผมสละทรัพย์หรือสละเจตนาที่จะถือครอง (หุ้น) โดยการปันทรัพย์ให้กับน้องชายเมื่อวันนี้ เดือนนี้ ปี 2562 ก่อนเป็นอนาคตใหม่อย่างไร ผูกพันระหว่างผมกับน้องชายอย่างไร

ตรงนี้ รายละเอียดผมลงมากไม่ได้ เพราะจะเป็นการละเมิดศาล แต่ก็คงจะทำได้อย่างที่ กกต. ทำกับมติชนทีวี คือมาบอกว่ามี (หลักเกณฑ์) อยู่ 4 ข้อ ที่ยืนยันว่าผมถือหุ้นสื่อ

เขายืนยันว่า (บริษัทไอทีวี) วัตถุประสงค์ยังเป็นสื่อ อันที่สอง เขาก็บอกว่า (ไอทีวี) ยังดำเนินกิจการอยู่ ยังไม่ได้ชำระบัญชี เอาแค่สองข้อนี้ก่อน ถ้ามีบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีสอดคล้องกันทั้งระบบยุติธรรมจริงๆ แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเอง อันนี้เป็นข้อเท็จจริงในอดีต ซึ่งทุกคนหาได้ ไม่ได้เป็นรายละเอียดในชั้นศาล (ผมสามารถชี้แจงได้)

อย่างในช่วงปี 2563-2564 ที่มีคดี “วี-ลัค” ของคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ก็มีการร้อง (นักการเมืองรายอื่นๆ) เข้าไปน่าจะ 60 กว่าคดี มีถูกตัดสินว่าผิดสองอัน คือคนของอนาคตใหม่ คุณธนาธร กับคุณธัญญ์วาริน (สุขะพิสิษฐ์) แล้วก็มีคนรอด ที่เหลืออีก 50 กว่าคดี ศาลไม่รับบ้าง ลาออกเองบ้าง บอกว่าไม่ผิดบ้าง

ถ้าเทียบคำวินิจฉัยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญด้วยกัน ก็บอกว่าสาระสำคัญไม่ได้อยู่แค่วัตถุประสงค์อย่างเดียว หรือไม่ได้อยู่แค่งบการเงินอย่างเดียว คุณต้องดูว่ารายได้มีไหม มีใบอนุญาตไหม มีคลื่นความถี่ไหม ถ้าเป็นบรรทัดฐานเดิมอย่างนี้ ผมก็คิดว่า ผมมีโอกาสได้กลับเข้าสู่สภา

เพราะว่าอะไร ถ้าทุกท่านย้อนหลังกลับไปดูตั้งแต่ปี 2550 จนกระทั่งปีล่าสุด รายได้ของไอทีวีมาจากดอกเบี้ยและการลงทุนทางการเงิน ไม่มีจากสื่อ อันที่สอง ไอทีวี คลื่นความถี่กลับมาทำธุรกิจตั้งต้นไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะคลื่นถูกโอนไปอยู่ไทยพีบีเอส ด้วย พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ปี 2551 และไม่มีใบอนุญาตที่จะทำธุรกิจสื่อได้อีกต่อไปตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช. ปี 2553

เพราะฉะนั้น ถ้าดูหลักตรงนี้ ไม่ได้ดูแค่ตัวหนังสือ ว่าบริคณห์สนธิมีวัตถุประสงค์เป็นสื่อ แต่อาจจะไปทำธุรกิจอย่างอื่นหรือไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว ผมก็คิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้ (ที่ผมจะมีโอกาสกลับเข้าสภา)

 

หรือถ้าจะดูบรรทัดฐานของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง อย่างกรณีมีนักการเมืองท่านหนึ่งที่ถือหุ้นน่าจะเป็นเอไอเอส คือเป็นหุ้นสื่อที่ยังแอ๊กทีฟอยู่ แต่จำนวนมันน้อยมาก จนกระทั่งไม่สามารถที่จะมีอิทธิพลครอบงำสื่อเพื่อประโยชน์ทางการเมืองได้ ก็ได้คืนสิทธิ์ให้กับนักการเมืองท่านนั้น

ของผมก็เหมือนกัน 42,000 หุ้น หุ้นไอทีวีมีทั้งหมดเท่าไหร่ 1.2 พันล้านหุ้น มัน 0.0035 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีทางที่ผมจะมีอิทธิพลเหนือบริษัทที่ปิดตัวไปแล้ว 16 ปี แล้วผมก็ไม่ได้ประโยชน์ทางการเมือง

เวลาสื่อต่างชาติหรือท่านทูตต่างประเทศถามผม เขาจะถามก่อนว่า คุณได้ประโยชน์อะไร? นั่นคือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ไม่ต้องการให้เจ้าพ่อสื่อมาเป็นนักการเมือง แล้วใช้ประโยชน์จากสื่อ อิทธิพลจากสื่อ

ผมก็บอกว่าไม่ได้รับความได้เปรียบทางการเมืองจากกรณีนี้ครับ แล้วคุณมีอิทธิพลเหนือสื่อไหม? ผมบอกผมก็ไม่มี แล้วสื่อยังประกอบกิจการอยู่ไหม? ก็ไม่ครับ มีรายได้จากสื่อไหม? ไม่ครับ มีใบประกอบการไหม? ไม่มีครับ มีคลื่นความถี่ไหม? ไม่ครับ

แล้วสุดท้าย อย่างที่บอก ผมสละเจตนาที่จะถือครอง (หุ้น) ภายในครอบครัวมีหลักฐานชัดเจน ทั้งตัวอากรแสตมป์ และดิจิทัลแสตมป์ เพราะว่าเราได้ส่งอีเมลให้กันและกัน และพีดีเอฟไฟล์พอเสิร์ชมา มันก็จะเห็นว่าทำตั้งแต่ปี 2562

ส่วนอากรแสตมป์ที่เป็นประเด็นที่ 4 ที่มติชนทีวีเปิดเผยข้อมูลของ กกต. ก็ได้ชี้แจงทางศาลว่า ยินดีให้มีการตรวจสอบ เพราะว่ามันจะเป็นคุณกับผม ว่าพิสูจน์ได้ว่าอากรนี้เกิดขึ้นก่อนปี 2562 แน่นอน อันนี้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมก็เลยอยากจะให้ทาง กกต.ตรวจเลย แล้วถ้าเกิดเจอ ก็แสดงว่ามัดแล้วนะว่า เอกสารอันนี้เป็นหลักฐานที่หนักแน่นว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงนั้น

 

อีกอันหนึ่ง ศาลปกครองเคยตัดสินไว้เมื่อปี 2557 (กรณี) คณะกรรมการ กสทช.ถือหุ้นสื่อไม่ได้ แต่ดันมีหุ้นไอทีวีอยู่ ศาลปกครองสูงสุดก็บอกไปว่า ไอทีวีไม่ได้เป็นสื่อ ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว แล้วก็ไม่ได้ทำให้ผลของคณะกรรมการท่านมีปัญหา ก็คือได้สิทธิ์ในการเข้าสู่ตำแหน่ง

เพราะฉะนั้น ถ้าคุณดูทางศาลรัฐธรรมนูญเอง หรือทางศาลปกครองสูงสุด หรือศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ถ้ามีบรรทัดฐานของระบบ ผมก็คิดว่าพอที่จะมีโอกาสได้กลับไปทำหน้าที่ในสภา วันที่ 25 มกราคม

แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้น ก็แน่นอนว่าดุลพินิจอยู่ที่ศาลท่าน ผมก็ไม่สามารถที่จะก้าวล่วงได้ แต่ถามว่า (ในส่วน) สิ่งที่ผมควบคุมได้ เต็มร้อยให้เท่าไหร่? ผมทำเต็มร้อย ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองผิดพลาด

แต่คำตัดสินก็เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือการตัดสินใจของผม