การเมืองปี 2567 รถคันเดิม…กับมือใหม่หัดขับ | มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสทุนนิยม คล้ายถนนหนทางที่ตัดใหม่ ขนาดถนนก็ขยายใหญ่เป็น 6 เลน 8 เลน มีทางเชื่อม ทางยกระดับ และเส้นทางไฮเวย์ แถมยังไปเชื่อมกับต่างประเทศ

แต่รัฐบาลของเรายังคล้ายรถคันเดิม เป็นคันเดิมซึ่งสั่งมาในสมัยปี 2549 คิดว่าดีที่สุดหลังจากใช้ไปซ่อมไป หลายปีก็มีการยกเครื่องปรับปรุง และพ่นสีใหม่ในปี 2557 ได้คนขับใหม่ เปลี่ยนเครื่องแบบเป็นสีเขียวเข้ม ขับตะลุยพาผู้โดยสารไปเผชิญชะตากรรมต่างๆ เป็นเวลานานถึง 9 ปี สุดท้ายคนส่วนใหญ่ก็มีมติว่าต้องเปลี่ยนคนขับ ก่อนที่จะเจ๊งไปมากกว่านี้

มีการใช้กระบวนการคัดสรรคนขับใหม่อย่างซับซ้อน ในที่สุดด้วยแรงผลักดันของขาใหญ่หลายกลุ่ม ก็ได้คนขับใหม่ แต่รถคันนี้เป็นรถโดยสารขนาดใหญ่ ใช้งานมา 17 ปีแล้ว

ความหวังของทุกคนคือ ถึงที่หมายอย่างปลอดภัย มีงานทำและมีเงินมากขึ้น จะเป็นจริงหรือไม่?

ปัญหาของมือใหม่หัดขับคนนี้เรื่องแรกก็คือ ตัวเขาเป็นกลไกของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้น จึงไม่ใช่ผู้วางแผนทางยุทธศาสตร์ระยะยาว และไม่ใช่คนวางนโยบายในการบริหารประเทศ แต่เป็นเหมือนผู้มาช่วยงานบริหารให้บรรลุเป้าหมายและเป็นไปตามยุทธศาสตร์

ดังนั้น เขาจะต้องรู้แผนยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย

 

ยุทธศาสตร์ขั้นแรกของเพื่อไทย
คือใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมือง

การเข้าสู่อำนาจของพรรคเพื่อไทยที่วางแผนมา ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครองอำนาจครบ 8 ปีคือจะต้องชิงอำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ 2560

1. การเดินแผนเพื่อแก้ไขการเลือกตั้งให้เป็นแบบบัตร 2 ใบเหมือนปี 2540 จึงเกิดขึ้นและก็ทำได้สำเร็จ

2. แผนที่ 2 คือจะต้องเอาชนะการเลือกตั้งให้ได้ที่ 1 เป้าหมายที่สำคัญคือให้ได้เกินครึ่งของสภา หรือ 251 คน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาได้เพียง 141 คนถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายอย่างมาก

การแก้ไขปัญหาการเมืองด้วยการเมืองจึงต้องจบด้วยการประนีประนอม ซึ่งพรรคเพื่อไทยก็คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าสุดท้ายจะต้องออกมาแบบนี้ เพียงแต่ไม่คาดคิดว่าการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบครั้งนี้จะได้ ส.ส.ต่ำกว่า 180 และพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.มากกว่า

นี่เป็นครั้งแรกที่เพื่อไทยได้ ส.ส.เป็นที่ 2 ในการเลือกตั้ง

นายกฯ คนนี้จึงถือว่ามีกำลังหนุนโดย ส.ส.พรรคตนเองในการเข้าสู่ตำแหน่งบริหารน้อยที่สุดนับตั้งแต่มีพรรคไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทย

3. เพื่อไทยได้เลือกเอาการเป็นรัฐบาล แม้จะถูกข้อหาตระบัดสัตย์ หรือเปลี่ยนจุดยืน หรืออะไรก็ตาม แต่เหตุผลของแกนนำที่เลือกแบบนี้ ก็คือดีกว่าให้อีกฝ่ายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย และมาซื้อ ส.ส.ไปจนกลายเป็นเสียงข้างมาก และนี่คือการประนีประนอมที่จะทำให้หยุดการโจมตี และรักษาพรรคไว้ได้

เรื่องนี้ถือว่าตัวนายกฯ และแกนนำของพรรคได้ตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้แล้ว เมื่อเลือกแล้วต้องเดินหน้าต่อ

 

ยุทธศาสตร์ขั้นที่ 2
ใช้เศรษฐกิจแก้ปัญหาการเมือง

แกนนำเพื่อไทยรู้ดีว่าการเลือกทางเดินการเมืองแบบประนีประนอม มีความเสียหายเรื่องเครดิตการเมือง ความนิยมและกระทบต่ออุดมการณ์ทางการเมืองมากมาย ดูจากคะแนนบัตรปาร์ตี้ลิสต์ซึ่งเพื่อไทยได้ไม่ถึง 11 ล้าน แต่ก้าวไกลได้ถึง 14 ล้าน

แผนของเพื่อไทย คือ ถ้าจะฟื้นฟูความนิยมต่อพรรคเพื่อไทยจะต้องใช้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ได้ผล มาเป็นตัวสร้างคะแนนความนิยม นี่เป็นบันไดขั้นที่ 2

เมื่อเอาการเมืองมาประนีประนอมลดความขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจเก่าได้แล้ว ก็จะมีโอกาส และได้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แม้จะต้องใช้เวลาแต่ก็ น่าจะสามารถทำได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งแน่นอนว่าความสำเร็จนี้จะไม่ชี้ชัดได้ในระยะเวลา 1 ปี แต่ถ้าใน 3 ปีไม่มีผลงานที่ดีออกมาก็จะต้องถือว่ายุทธศาสตร์นี้ล้มเหลวและจะส่งผลต่อการเมืองของพรรคแน่นอน

 

การนำนโยบายไปปฏิบัติ
มีอุปสรรคทุกเรื่อง

ช่วงการหาเสียงมีการใช้นโยบายต่างๆ มาต่อสู้กัน แต่นักบริหารรู้อยู่แล้วว่า การนำนโยบายไปปฏิบัติ (policy implementation) ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะโครงการใหญ่ใช้เงินเยอะ หรือโครงการที่มีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ

เช่น การแจกเงิน digital wallet ให้กับคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปคนละ 10,000 บาท หลายฝ่ายก็ประเมินว่ามันจะมีผลพอสมควรในการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีการสำรวจความคิดเห็นของสื่อมวลชนมติชนกับเดลินิวส์ก็ยังพบว่าความต้องการเรื่องเงินหมื่นบาทยังไม่ใช่อันดับ 1 แต่เป็นอันดับ 3

มีเสียงค้านตามมาอย่างมากเมื่อรู้ว่าสุดท้ายก็ต้องกู้เงินมาถึงประมาณ 6 แสนล้าน

โครงการนี้ถ้าได้ผลก็ดีไป อาจจะชดเชยความนิยมที่สูญไปให้กลับคืนมาได้บ้าง แต่ถ้าไม่ได้ผลมันจะกลายเป็นการตีกลับอย่างแรง

การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ที่ประกาศไว้ 600 บาทในเวลา 4 ปี พอเริ่มครั้งแรกก็ทำได้น้อยมาก จังหวัดที่เพิ่มน้อยสุดได้เพิ่มเพียงวันละ 2 บาท เพราะคณะกรรมการไตรภาคีมีอำนาจในการกำหนดค่าจ้าง ไม่ใช่ ครม.

เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำมาก คนมีหนี้สินมากมายมหาศาลจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไรจึงจะได้ผล ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนจึงออกมาว่า อันดับ 1 ที่ต้องการให้แก้คือลดค่าใช้จ่าย เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน รัฐบาลทำทันทีแต่ก็เป็นมาตรการชั่วคราว ครั้งละ 3 เดือน อันดับ 2 คือให้แก้ปัญหาหนี้สิน ก็ทำได้แค่พักหนี้ชั่วคราว

 

การเมืองปี 2567

1.บทบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะต้องพ้นจากการเป็นผู้ต้องขังหลังปีใหม่ และเมื่อกลับมาอยู่บ้านคงเป็นไปไม่ได้แล้วที่จะแค่มาเลี้ยงหลาน

การกลับเข้ามาในประเทศไทยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ตลอดจนถึงการได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ สะท้อนการประนีประนอม ที่ดูเหมือนอยากจะยุติความขัดแย้งตลอด 17 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งได้ผลมากกว่าการใช้กรรมการปรองดองทุกชุดที่ผ่านมา)

แม้มวลชนที่เคยสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณจำนวนมากจะไม่พอใจ แต่สำหรับแกนนำวงในของเพื่อไทย ได้สรุปว่าไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้

บทบาทของอดีตนายกฯ ทักษิณ จึงอาจไม่ได้จำกัดแค่เมืองไทย แต่จะต้องทำทุกทาง “เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน”

2. จะมีการเลือก ส.ว. แบบเลือกโดยอ้อมตามกลุ่มอาชีพเข้ามาแทน ส.ว.ชุดคำถามพ่วง ซึ่งจะครบวาระ 5 ปีในเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ ส.ว.ไม่มีอำนาจในการเลือกนายกฯ แล้วแม้ตามกฎหมาย ส.ว.จะไม่สังกัดพรรคการเมืองก็ตาม แต่ใครๆ ก็รู้ว่างานนี้พรรคการเมืองก็จะต้องสนับสนุนแบบอยู่เบื้องหลัง

3. ก้าวไกลจะใช้เรื่องการเมืองสร้างอำนาจทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ก้าวไกลไม่รอให้มีการเลือกตั้งใหญ่ปี 2570 แต่จะเริ่มบุกสนามเลือกตั้งท้องถิ่นทันทีในทุกระดับ ทุกชนิด (เลือก อบจ. ประมาณปลายปี 2567 และเลือกเทศบาลปี 2568)

ดังนั้น เราจึงเห็นว่าแม้แต่การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ก็ยังมีนโยบายและสนับสนุนบุคคลต่างๆ เข้าแข่งขัน ผลก็คือในส่วนผู้ประกันตน ทีมประกันสังคมก้าวหน้ากวาดที่นั่งไปทั้งหมด 6 ที่นั่ง

 

สรุปการเมืองปี 2567 คือรถคันเดิมและคนขับใหม่ยังวิ่งไปตาม GPS ที่กำหนดไว้ได้ตลอดปี

ไม่มีใครในรัฐบาลผสม อยากให้รถเก่าคันนี้พัง ทุกพรรคจึงต้องช่วยกันประคองนายกฯ เศรษฐา เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงมากระทบอำนาจของตน

ดังนั้น มือใหม่หัดขับคนนี้จะอยู่ได้เกิน 2 ปี แต่จะครบเทอมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกรรมการไตรภาคี อำนาจพิเศษ ประเมินสถานการณ์