สำนวนคดีตากใบหาย? ข่าวช็อกส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สำหรับคนชายแดนใต้

(Photo by Madaree TOHLALA / AFP)

ข่าวดังและช็อกส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่สำหรับคนชายแดนใต้น่าจะเป็นข่าวที่ออกมาจากวงประชุมคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ว่าเอกสารสำคัญสำนวนคดีตากใบหาย?

ซึ่งเมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการได้เชิญตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีจากกรณีตากใบไปชี้แจงเพื่อจะแสวงหาข้อมูลและแนวทางในอันที่จะคลี่คลายประเด็นคดีอาญาที่ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าต่อสาธารณะ จึงทราบว่าสำนวนคดีตากใบหาย?

ในกรณีของตากใบ ในพื้นที่และนักวิชาการเห็นสอดคล้องว่า เป็นอาชญากรรมที่รัฐได้กระทำต่อประชาชนในพื้นที่

และต้องการให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีอาญากับผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ครั้งนั้น ก่อนที่อายุความ 20 ปี จะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 ตุลาคม 2567

ซึ่งมันจะส่งเสริมให้เกิดความตระหนักรู้ ความเข้าใจในวงกว้างต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ตากใบ ซึ่งมีการกระทำการที่ละเมิดต่อหลักการปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามมาตรฐานสากล จนนำไปสู่การจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 1,370 คน สูญหายอีก 7 คน และการขนย้ายผู้ชุมนุม ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการเดินทางถึง 85 ราย

โดยที่ถึงทุกวันนี้ยังไม่มีการสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในเหตุการณ์

แม้จะมีการสอบสวนข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมการที่แต่งตั้งจากรัฐบาลแล้วว่าเจ้าหน้าที่ได้กระทำการเกินกว่าเหตุ จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

จากข่าวสำนวนคดีตากใบหาย? ดังกล่าว แน่นอนที่สุดเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วนในการจะนำความยุติธรรมสู่ประชาชนอันเป็นสารตั้งต้นของขบวนการสันติภาพชายแดนใต้

อย่างไรก็แล้วแต่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทางการเมืองนั้นน่าจะหนักสุดคือคนที่เป็นรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีว่ากระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากพรรคประชาชาติ

รองลงมา ทนายแวยูแฮ หรือนายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ประธานคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังเป็น ส.ส.ในพื้นที่นราธิวาสแม้คนละเขตกับเขตเลือกตั้งที่ 2 (อ.ตากใบ และ อ.สุไหงโก-ลก) ซึ่งมีนายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ จากพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็น ส.ส.พื้นที่ตากใบโดยตรง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ต้องรีบดำเนินการในเรื่องนี้

นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ได้เปิดเผยว่า “เหตุการณ์ตากใบล่วงเลยมา 19 ปีเศษแล้ว เหลืออายุความเพื่อนำตัวผู้ที่ต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์มารับโทษตามกฎหมายเพียง 10 เดือนข้างหน้านี้เท่านั้น สรุปคือ ผมให้ทุกคนกลับไปเพื่อต้องเตรียมเอกสารมาชี้แจงให้ได้ภายใน 30 วันจากวันนี้ คือ วันที่ 13 มกราคม 2567 นี้ ว่าสำนวนคดีตากใบหายจริงหรือไม่”

“ตามปกติแล้ว อย่างน้อย พนักงานสอบสวนต้องทำสำนวน 3 สำนวน คือ สำนวนการไต่สวนชันสูตรศพผู้ตาย, สำนวนที่ผู้ตายกระทำและถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิด และสำนวนที่เจ้าหน้าที่ได้ทำให้บุคคลนั้นตายอย่างไร หลักฐานทางพิสูจน์ศพ หลักฐานนิติเวชต่างๆ ต้องมี”

“เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นการแสดงถึงความจริงใจของรัฐ การแก้ไขปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดระยะเวลานาน 19 ปี รัฐต้องมีคำตอบ แน่นอนว่ากระบวนการสำคัญแก้ปัญหาใต้ คือความยุติธรรม ไม่เพียงแต่กับญาติพี่น้องเท่านั้นที่กระทบ แต่กับประชาชนทุกคน คดีอื่นๆ อีกก็เช่นเดียวกัน”

“การสลายการชุมนุมที่ตากใบเป็นเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์หนึ่งของปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะฉะนั้น การดำเนินการแม้ว่าในทางกระบวนการเยียวยา รัฐมีการดำเนินการไปแล้ว แต่ในเรื่องบทพิสูจน์คดี คำตอบ คำขอโทษ ที่ประชาชนต้องการถามหาผู้รับผิดชอบ ต้องคลี่คลาย รัฐต้องมีคำตอบที่ชัดเจน” นายกมลศักดิ์กล่าว

ในประเด็นคดีตากใบนั้น ในทางสื่อพบว่า รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นคนแรกๆ ที่ให้ข่าวนี้

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ทุกสัปดาห์ทำกิจกรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะประเด็นกระบวนการยุติธรรม การละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนและความมั่นคง

โดยล่าสุด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ลงครบทั้งปัตตานี ยะลาและนราธิวาส ซึ่งพรรคก้าวไกลน่าจะเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคประชาชาติในเวทีการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

สำหรับรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้สะท้อนเกี่ยวกับสำนวนคดีตากใบที่หายไปว่า

“แม้ในที่ประชุมจะรับปากในภายหลังจากฝั่งผู้ชี้แจง ว่าจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับอัยการ และจะมีการแจ้งความคืบหน้าต่อ กมธ. ภายในหนึ่งเดือนคือวันที่ 13 มกราคม 2567 แต่การที่สำนวนคดีดังกล่าวหายไปตามปากคำของตัวแทนทุกหน่วยงานข้างต้น ก็ยังคงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง สำหรับกระบวนการยุติธรรมของไทย”

“สำนวนคดีดังกล่าว เดิมทีก็เป็นข้อจำกัดอยู่แล้วในการหาคนมารับผิดชอบต่อความตายของผู้สูญเสียทั้ง 85 ศพ เพราะไม่มีการเจาะจงว่าเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่หรือไม่ ที่ขนคนอัดเข้าไปนอนทับกันเป็นชั้นๆ บนรถบรรทุก เดินทางหลายชั่วโมงกว่าจะถึงค่ายอิงคยุทธบริหารอันเป็นสถานที่ควบคุมตัว จนคนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต แต่การที่สำนวนดังกล่าวหายไป มันคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระบวนการสำคัญที่สุดในวันนี้ คือการดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิต เป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้นในกระบวนการภายในประเทศปัจจุบัน และเป็นไปได้มากว่าคดีอาจหมดอายุความก่อนที่จะส่งไปถึงศาลให้ทันการณ์ได้”

“ซึ่งความไม่ทันการณ์ในการเดินหน้าทวงความยุติธรรมให้กับผู้สูญเสียนี้ อาจจะกลายเป็นการทับถมปมปัญหาที่มีมาแต่เดิมให้หนักหน่วงขึ้น ไม่สามารถคลายปมปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และสร้างข้อจำกัดในการแสวงหาสันติภาพในอนาคตได้”

 

รอมฎอน ปัญจอร์ จากพรรคก้าวไกลจึงเสนอว่า กมธ.ควรตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษาแนวทางการคืนความยุติธรรมผ่านกลไกศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษาแนวทางในการดำเนินคดีอาญาระหว่างประเทศ ที่แม้ไทยจะยังไม่ได้ลงนามในสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม แต่จากบทเรียนกรณีความขัดแย้งในที่อื่นของโลก มันยังคงเป็นไปได้ที่จะมีการขยายขอบเขตในกรณีนี้ย้อนหลังได้

ตากใบ ไม่ใช่กรณีปัจเจกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เป็นความทรงจำหมู่ของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้และคนมลายูไปแล้ว และเป็นความทรงจำที่จะยังคงสร้างความเจ็บปวดและบาดแผลในใจส่งทอดจากรุ่นสู่รุ่นต่อไป ตราบที่ความยุติธรรมยังคงไม่ปรากฏ

คำถามสำคัญคือ รัฐไทยโดยเฉพาะภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน มองเห็นมันในฐานะ “เดดล็อก” สำคัญที่ต้องถูกปลดปล่อยเพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนใต้

หรือจะมองเห็นมันเหมือนที่รัฐบาลที่ผ่านๆ มามองเห็นมันเป็นมาโดยตลอด คือในฐานะของความทรงจำที่ต้องถูกลบและทำให้เลือนหายไปจากสังคมไทยให้ได้?

สิ่งที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สามารถพิสูจน์ความจริงใจต่อการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถทำได้ในทันที ก็คือการเร่งรัดให้มีการทำอะไรที่มากพอในเวลาที่เหลืออยู่ไม่ถึง 10 เดือนข้างหน้า ก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความลง

ซึ่งก่อนอื่นใดเลย การเอาสำนวนที่หายไป หรือถูกซุกซ่อนเอาไว้อยู่ใต้พรม (?) มาคืนเสียก่อน น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในเวลานี้

 

อนึ่ง สำหรับกรณีตากใบนี้มีคดีสำคัญๆ อยู่สองคดี

คดีหนึ่งเนื่องมาจากการที่อัยการฟ้องร้องกลุ่มประชาชน 58 คนจากกรณีไปร่วมการชุมนุมที่ตากใบ

แต่ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีแนวทางปรองดองและต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดแถลงมอบหมายให้อัยการเขต 9 ถอนฟ้อง ทำให้มีการล้มเลิกการฟ้องร้องดังกล่าวไป

ส่วนคดีที่สอง เป็นกระบวนการไต่สวนการตายที่ศาลสงขลามีคำสั่งเมื่อพฤษภาคม 2552 ว่าการเสียชีวิตของประชาชนจำนวน 78 คนที่ถูกจับที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อ 25 ตุลาคม 2547 เกิดเนื่องจากขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานตามหน้าที่ ในด้านหนึ่งครอบครัวของผู้เสียหายได้รับการเยียวยาในเวลาต่อมา

แต่ก็มีความริเริ่มในส่วนของครอบครัวจำนวนหนึ่งที่จะฟ้องร้องเพื่อให้เอาตัวผู้รับผิดชอบมาลงโทษ

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวเงียบหายไปส่วนหนึ่งเพราะครอบครัวผู้เสียหายเชื่อว่าเมื่อมีการเยียวยาแล้วไม่ควรจะต้องฟ้องร้องอีก

แนวทางที่จะดำเนินการได้มี 2 แนวทาง กล่าวคือ

1. พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) มีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถรื้อคดีขึ้นมาสอบสวนและฟ้องใหม่ได้

ทั้งนี้ เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 ที่บัญญัติว่า เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้

2. ผู้เสียหายจากเหตุการณ์ตากใบ หรือทายาท หากมีพยานหลักฐานใหม่ ก็สามารถนำไปร้องต่ออัยการ หรือยื่นฟ้องต่อศาลโดยตรงได้ แต่จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง

นี่คือช่องทางตามกฎหมายเท่าที่มีอยู่แต่โจทย์ใหญ่เราจะช่วยชาวบ้านอย่างไรในแง่กฎหมายในเชิงประจักษ์ ไม่ว่าประชาสังคม ทั้งด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ทั้งนักการเมืองไม่ว่าท้องถิ่นหรือระดับชาติ ทั้ง ส.ส.รัฐบาลหรือฝ่ายค้านที่เคยหาเสียงว่าเมื่อเป็น ส.ส.แล้วจะจับมือแก้ปัญหาใต้ร่วมกันแม้ต่างขั้วต่างพรรคซึ่งจะส่งผลการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต และสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนต่างเชื้อชาติ ศาสนา ให้อำนาจพิเศษแก่เจ้าหน้าที่รัฐเกินสมควร และลิดรอนเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง

นอกจากนี้ ในอนาคตหวังว่า (อาจจะปี 2567) ภายใต้รัฐบาลพลเรือนร่วมรัฐสภาสามารถแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงที่บังคับใช้อยู่ รวมทั้งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

การจัดการปัญหาที่ต้นตอ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค เป็นธรรม เคารพในศักดิ์ศรีและสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะเป็นการถอนฟืนออกจากไฟ

ลดความรู้สึกเชิงลบที่ประชาชนในพื้นที่มีต่อเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบรรยากาศของการพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

อันจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนและความเจริญก้าวหน้ารวมกันของประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนาในพื้นที่ชายแดนใต้