รุ่งอรุณ 04.00 น. หนู ณ มท. ‘ร่าเริง’

ในความเป็นรัฐรวมศูนย์ ศูนย์รวมอำนาจ “กระแสกระจายอำนาจ” ไม่สามารถต่อสู้ “รวมศูนย์อำนาจ” ได้ แบบรัฐไทยในปัจจุบัน ส่งผลให้กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงใหญ่ ระดับเกรดเอ มีเครื่องไม้เครื่องมือ-ทรัพยากรบุคคลมากมายทั่วประเทศ

ยิ่งสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เข้าสู่อำนาจด้วยการทำรัฐประหาร ครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานเกือบ 1 ทศวรรษ ยิ่งทำให้ความเป็น “รัฐรวมศูนย์” ยิ่งเข้มแข็ง

มาถึงวันนี้กระทรวงมหาดไทยมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญอีกครั้ง เมื่อตำแหน่ง มท.1 เปลี่ยนคน จากนายทหารยศพลเอก สู่มือนักการเมืองจากการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เรียกได้ว่าภูมิใจไทยแทบไม่สนใจแข่งขันชิง “กระแส” กับใคร เพราะรู้ว่าสู้ได้ยาก หันมาทุ่มเทสรรพกำลังกับของดีมีอยู่ดีกว่า เพราะได้เก้าอี้เห็นๆ จนกลุ่มก้อนบ้านใหญ่ภูมิใจไทยทำสำเร็จ

ยึดครองเก้าอี้ ส.ส.ไว้ได้เกือบ 70 คน

ประสบการณ์เชี่ยวกรากต่อรองร่วมตั้งรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง ทำให้ครั้งนี้ ภูมิใจไทยคว้ากระทรวงเกรดเอแห่งนี้ได้สำเร็จ เข้าไปยึดกุมการนำกระทรวงคลองหลอด จากที่ปกติจะเป็นของพรรคแกนนำ

วันนี้เป็นเวลามากกว่า 3 เดือนแล้วกับบทบาทของอนุทิน ชาญวีรกูล ผู้นำทัพภูมิใจไทย ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบ มท.1 เห็นชัดเจนหนึ่งอย่างคือ มหาดไทยในยุค “มท.หนู” ช่างแตกต่างจาก “มหาดไทยยุคบิ๊กป๊อก” เสียจริง

เพราะยุคของบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา หนึ่งในพี่น้อง 3 ป.บูรพาพยัคฆ์ ที่ครองเก้าอี้ มท.1 มานานเกือบ 1 ทศวรรษ

สะท้อนภาพมหาดไทยแบบดั้งเดิม อันมีระบบราชการนำ ดำเนินไปบนเส้นทางการเสริมสร้างระบบรัฐราชการเป็นใหญ่ ส่วนกลางมีอำนาจสูง บทบาทนำนโยบายทางสังคมจากเจ้ากระทรวงไม่ค่อยเด่นชัด

พูดกันตรงไปตรงมา… ข่าวสารความเป็นไปของกระทรวงมหาดไทย รอบ 9 ปีที่ผ่านมา บทบาทนำเป็นของปลัดกระทรวง-อธิบดีกรม เสียมากกว่า

แต่สามเดือนที่ผ่านมา… สะท้อนว่าทิศทางของกระทรวงมหาดไทย ไม่เป็นแบบเดิมเสียแล้ว

กระทรวงคลองหลอดในยุค “หนู อนุทิน” เป็นเจ้ากระทรวง มีความเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้งสูง ตอบสนองต่อผู้เลือกตั้งมากกว่า

เราจึงได้เห็นเจ้ากระทรวงมหาดไทยผุดไอเดีย สร้างวาระ ดำเนินนโยบายใหม่ๆ หลายอย่าง รอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้แนวทางการทำงานของกระทรวงมหาดไทยมีความชัดเจนขึ้น

ช่วงแรกที่นายอนุทินเข้ากระทรวง เจ้าตัวประกาศกับสื่อมวลชนและข้าราชการในยุคที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี จะไม่มีคำว่า “ท่าน” คำว่า “นาย” มีแต่คำว่า “พี่น้อง”

หรือภาพนายอนุทินลุยถนนข้าวสารลุคเสื้อยืดสุดชิล พบปะพูดคุยผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ตรวจความพร้อมนโยบายสถานบริการเปิดถึงตี 4 คือตัวอย่างล่าสุดที่ตอกย้ำ “ความเปลี่ยนไป” ดังกล่าว

ย้อนไปหลังเข้ารับตำแหน่งไม่นาน มีกรณีข่าวดังเกี่ยวเนื่องกระทรวงมหาดไทย ทั้งกรณีกำนันนกสั่งยิงสารวัตรทางหลวง ครานั้น กระทรวงมหาดไทยของนายอนุทินก็เด้งรับกระแส สั่งขึ้นทะเบียนมาเฟียครั้งใหญ่ทั่วประเทศ

ถัดจากนั้นก็มีกรณีบุกยิงที่พารากอนเป็นข่าวดังทั่วโลก กระทรวงมหาดไทยก็เด้งรับเรื่องการออกใบอนุญาตพกพาอาวุธปืน เข้มงวดเรื่องปืน จนนำมาซึ่งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทย ที่ 3877/2566 เรื่องห้ามการออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12) เป็นการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันนี้ 20 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2567

หรือจะเป็นเรื่องการแก้หนี้ทั้งระบบ ยุทธศาสตร์ใหม่ของรัฐบาลเศรษฐา ที่นายอนุทินก็ร่วมดำเนินการอย่างขึงขังในฐานะเจ้ากระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการช่วยคลี่คลายปัญหาหนี้ ประกาศจัดระเบียบสังคม ปราบการข่มเหงรังแกของเจ้าหนี้ ทั้งยังประกาศจะใช้กฎหมายจัดการเจ้าหนี้ดอกโหด

กระทั่งในสถานการณ์การพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล นายอนุทินรับนโยบายเปิดร้านเหล้าถึงตี 4 นำกระทรวงมหาดไทยเข้าไปตรวจ และจัดการปิดผับ บาร์ สถานบริการเถื่อน ที่ไม่มีใบอนุญาตจำนวนรวมทั้งประเทศแล้วนับร้อยแห่ง

หลายกรณี นายอนุทินนำไปบุกตรวจจับด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า เจ้ากระทรวงซึ่งเป็นระดับนำทางนโยบายเอาจริงเอาจัง มากกว่าแค่การคิดจะเปิดสถานบริการถึงตี 4 แบบนึกถึงแต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยอื่นๆ

ล่าสุดคือกรณีการประกาศนำ KPI มาเป็นตัววัดผลงาน ผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือในการแก้ปัญหาฝุ่น ก็ยิ่งน่าสนใจ น่าติดตาม

แน่นอนว่า การดำเนินนโยบายต่างๆ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ไม่มีนโยบายไหนที่คนเห็นด้วย 100%

การเปิดแนวรบเชิงรุกด้านนโยบายของพรรคภูมิใจไทยในการปฏิบัติงานทั้ง 4 กระทรวงก็เช่นกัน เพราะหลายนโยบายก็สุ่มเสี่ยงอาจจะต้องเจอกระแสสังคมตีกลับ เช่น นโยบายปิดผับตี 4 จะดราม่าขึ้นมาทันทีถ้ามีคนเมาแล้วขับไปชนคนบริสุทธิ์ คนกวาดขยะริมถนนตอนเช้ามืด หรือไปตรวจเจอผับ บาร์สักแห่ง ที่กลายเป็นแหล่งซ่องสุม เสพยาเสพติด ฯลฯ

อย่าลืมว่า เรื่องกระแสตีกลับไปมานั้น กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับกัญชามาแล้ว จนภูมิใจไทยต้องงดการพูดเรื่องนโยบายกัญชาช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา

ส่วนเรื่องที่ได้ประกาศทำมาแล้ว แม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี ด้วยจุดยืนและกระบวนการที่ชัดเจน แต่ระหว่างทางก็ต้องมีความต่อเนื่อง ให้คนเห็นประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล

เช่น นโยบายปลดหนี้ที่วันนี้ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนและมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ เช่นเดียวกับเรื่องการปราบมาเฟีย ที่ผ่านไปแล้ว 1 เดือน ก็ดูยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ก็มีปัญหาใหญ่โต รอแก้ไขอยู่

ขนาดยังไม่เปิดเกมรุกทางนโยบาย ยังเจอกรณีการจัดอันดับเด็กไทย หรือ PISA เข้ามาถล่ม รวมถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายหลักเพื่อไทย แต่เมื่อภูมิใจไทยเป็นเจ้ากระทรวง ก็ต้องมาเป็นคนกลางจัดการปัญหานี้

และต้องทำให้เกิดมรรคผลให้ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า แอ๊กชั่นทั้งหมดของนายอนุทินและทีมงานส่งผลโดยตรงต่อคะแนนนิยมของพรรคภูมิใจไทย รวมถึงทิศทางการเมืองในอนาคตด้วย

พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ในทางการเมือง คะแนนทางการเมืองของภูมิใจไทย ย่อมถูกมองตีคู่มากับเพื่อไทย ในฐานะพรรคฝ่ายรัฐบาลเหมือนกัน

แต่ในสถานะหรือตำแหน่งแห่งหนทางการเมือง ต้องยอมรับว่าพรรคภูมิใจไทยมีความชัดเจนกว่าในแง่ของการประกาศจุดยืนการเมืองแบบอนุรักษนิยม

เรื่องนี้ภูมิใจไทยมีความชัดเจนกว่าพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลเสียอีก นายอนุทินย้ำจุดยืนการเมืองของตัวเองมาตั้งแต่การหาเสียงเลือกตั้ง กระทั่งช่วงตั้งรัฐบาล มาจนถึงการประกาศ 4 ประเด็นหลักทางนโยบายกระทรวงใต้สังกัดพรรคภูมิใจไทย ที่มุ่งเน้นเรื่องความรักชาติ และสถาบันหลักของชาติ

ดังนั้น การทำงานของนายอนุทินในรอบ 3 เดือนภายใต้รัฐบาลเศรษฐาจึงเลี่ยงไม่ได้ที่คนจะเอาไปเปรียบเทียบกับการทำงานของพรรคเพื่อไทย ว่ามีท้าทายกันเบาๆ

ไปดูตัวคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา นับถึงวันนี้ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่มีใครผลงานโดดเด่น ยกเว้นตัวนายกฯ ที่มีภาพของความขยันขันแข็งทำงาน และนายอนุทินนี่แหละ

 

แต่เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นายอนุทินมีความสบายใจในการทำงานมากกว่า เนื่องจากมีอำนาจต่อรองสูง กุมเสียงเป็นอันดับ 2 ของพรรคฝ่ายรัฐบาล กุมกระทรวงการเมืองและสังคมสำคัญ

ทั้งยังมีความชัดเจนในเชิงวาระทางการเมือง จุดยืนทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม

การเมืองสไตล์ภูมิใจไทย รอบ 3 เดือนรัฐบาลเศรษฐา จึงดำเนินไปแบบไม่ปล่อยให้เศรษฐาได้แต้มคนเดียว

จะเห็นว่า นโยบายหลายเรื่องรัฐบาลเกิดติดขัด ทำไม่ได้แบบที่เคยพูดไว้ หรือทำได้แต่น้อย

กลับกันพรรคภูมิใจไทยกลับทำงานโดยมีแรงกดดันน้อยกว่า จึงสามารถทำงานได้รัดกุมกว่า หาช่องเก็บคะแนนได้ตรงเป้าง่ายกว่า

 

ไม่รู้อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตทางการเมืองของรัฐบาลเพื่อไทย แต่หากไปมองในระดับของพรรคร่วมรัฐบาลวันนี้ พรรคภูมิใจไทยพร้อมที่สุด

พรรคพลังประชารัฐ ก็พบความไม่ลงรอยภายใน พรรครวมไทยสร้างชาติ แม้วาระทางการเมืองชัด แต่ตัวบุคลากรยังมีน้อย ส่วนประชาธิปัตย์ ดูเหมือนจะหลุดจากวงโคจรการเมืองไป

ภูมิใจไทยจึงเป็นพรรคการเมืองที่มีทรัพยากรและบุคลากรพร้อมที่สุด ที่จะรองรับการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยมไทย มากกว่ากลุ่มก้อนทางการเมืองอื่นๆ ในซีกอนุรักษนิยม

ในขณะที่เพื่อไทยที่สาหัสมาแล้วจากการพลิกขั้วตั้งรัฐบาล วันนี้ยังต้องลงสนามทางการเมือง รบกันอีกหลายสนาม ทั้งยังต้องต่อรองกลุ่มอำนาจในสถานการณ์ที่บีบบังคับ

1. ต้องต่อรองประนีประนอมฝ่ายอนุรักษนิยมที่พร้อมจะแว้งกัดได้ตลอดเวลา

2. ต้องประคับประคองรัฐบาลพรรคร่วมแต่ละพรรคให้ไปต่อให้ได้ ทุกพรรคยอมยกมือให้ในกฎหมายสำคัญ ไม่ต่อรองทางการเมืองมากจนเสียเสถียรภาพ

3. ต้องทำงานการเมืองตอบสนองข้อเรียกร้องทางการเมืองของผู้สนับสนุน

4. ต้องสู้ในทางการเมืองและการจับผิดทางนโยบายอย่างหนักจากก้าวไกล ที่เริ่มตั้งตัวได้แล้วจากการถูกรุมถล่ม

ภูมิใจไทยในฐานะต้นตำรับบ้านใหญ่ มีระบบดูแลบ้านใหญ่ได้ดี ตอบแทนบุคลากรพรรคอย่างเหมาะ ลูกหลานบ้านใหญ่ที่แพ้เลือกตั้งก็ได้รับรางวัลปลอบใจเป็นเก้าอี้ เลขานุการ รมต. – ที่ปรึกษา รมต. – ผู้ช่วย รมต. – โฆษก กันเป็นแถว

“มท.หนู” วันนี้ จึงอยู่ในสถานะ “ร่าเริง”

เจ็บตัวน้อยกว่า แม้ไม่ชนะอันดับต้น แต่ก็ไม่เคยแพ้หลุดลุ่ย ยืนหล่อๆ สะสมทุนการเมืองไว้รอเลือกตั้งครั้งต่อไปตามสไตล์ดีกว่า