‘ชัยธวัช’ กางมิชชั่น ภารกิจผู้นำฝ่ายค้าน ประเดิมลุย พ.ร.บ.งบประมาณ ก่อนเล็ง ‘ซักฟอก’

บทความในประเทศ

 

‘ชัยธวัช’ กางมิชชั่น

ภารกิจผู้นำฝ่ายค้าน

ประเดิมลุย พ.ร.บ.งบประมาณ

ก่อนเล็ง ‘ซักฟอก’

 

ภายหลัง “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” นำพรรคก้าวไกล (ก.ก.) คว้าชัยชนะเลือกตั้งกวาดคะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ทว่า กลับต้องเผชิญกับวิบากกรรมทางการเมือง ไม่สามารถนำทัพก้าวไกลเดินเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลได้

มิหนำซ้ำยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งเบรกต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร ผลพวงจากการถือครองหุ้นสื่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ที่ 7 เสือกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ส่งเรื่องมาให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.

ด้วยความไม่แน่นอนและความสุ่มเสี่ยงว่าท้ายที่สุดแล้วสถานภาพของสมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของ “พิธา” จะหลุดจากเก้าอี้หรือไม่ โดยต้องรอลุ้นผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 มกราคม 2567 แน่นอนว่าระหว่างรอลุ้นย่อมส่งผลกระทบต่อบทบาทของ “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในฐานะที่เจ้าตัวยังคงสวมหมวกทำหน้าที่หัวหน้าพรรคอย่างแน่นอน

เหตุนี้เอง “พิธา” จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เปิดทางให้พรรค ก.ก.ได้เลือกบุคคลที่เหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่ผู้นำพรรคคนใหม่แทน

และบุคคลที่เข้ามารับไม้ต่อสานภารกิจที่ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ คือ “ชัยธวัช ตุลาธน” เจ้าของฉายา “ขงเบ้งแห่งก้าวไกล” นั่นเอง

 

พลันที่พรรค ก.ก.มีมติเลือกให้ทำหน้าที่ผู้นำทัพพรรคก้าวไกลคนใหม่ “ชัยธวัช” ลุยประกาศเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งการสร้างพรรคก้าวไกลให้เข้มแข็ง เป็นสถาบันการเมือง ลุยเพิ่มจำนวนสมาชิกพรรค และขยายการมีส่วนร่วมของประชาชน

ขณะที่บทบาทการทำหน้าที่ฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารอย่างตรงไปตรงมา ไม่เกรงใจใคร เน้นการทำงานแบบฝ่ายค้านเชิงรุก และอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ ตรึงพื้นที่เก่า รุกพื้นที่ใหม่ เร่งทำงานพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นผลงาน

ส่วนบทบาทผู้นำฝ่ายค้าน ภายหลังมีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง “ชัยธวัช” เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และมีพิธีรับพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา เจ้าตัวยืนยันว่า พรรคฝ่ายค้านจะทำงานอย่างเต็มที่ตามที่ประชาชนคาดหวังและไว้วางใจ การทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ยึดเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ตรงไปตรงมา

“ขณะเดียวกันแม้จะเป็นฝ่ายค้าน แต่เห็นว่าฝ่ายค้านและฝ่ายบริหาร รวมถึง ส.ส.ของรัฐบาลสามารถที่จะร่วมมือผลักดันสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนผ่านตัวแทนนิติบัญญัติได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายและการผลักดันวาระต่างๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องตรงกันข้ามกันตลอด และหวังว่าหลังจากนี้กระบวนการนิติบัญญัติ การทำงานในสภาจะสมบูรณ์และเข้มข้นมากขึ้น”

“ชัยธวัช” ยังกางแผนการทำงานโดยเน้นย้ำว่า จากนี้การตรวจสอบถ่วงดุลไม่จำเป็นต้องค้านฝ่ายรัฐบาลทุกเรื่อง ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป บางเรื่องที่เป็นประโยชน์ของประชาชนที่ถูกต้องสามารถร่วมมือกันได้ ฝ่ายค้านสนับสนุนสิ่งที่ฝ่ายรัฐบาลเสนอในสภาได้ ไม่จำเป็นต้องแย้งเสมอไป

“ทางกลับกันหวังว่าฝ่ายรัฐบาลสามารถที่จะร่วมมือผลักดันสิ่งที่ฝ่ายค้านเสนอด้วยเช่นกัน ซึ่งในสัปดาห์นี้คงได้เห็นความร่วมมือกันในหลายเรื่อง เช่น การพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างกฎหมายสภาชนเผ่า”

 

ภารกิจแรกในฐานะผู้นำฝ่ายค้านของ “ชัยธวัช” ตั้งใจจะประสานแกนนำพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งหมด โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เพื่อกระชับมิตรและความสัมพันธ์ และเปิดประชุมหารือวิปฝ่ายค้านนัดแรกอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะเกิดขึ้นช่วงหลังปีใหม่ เพื่อวางแนวทางการทำงานร่วมกัน อาทิ แบ่งงานทั้งกระทู้ทั่วไป กระทู้ถามสด รวมถึงญัตติ เพื่อให้ครอบคลุมทุกพรรคร่วมฝ่ายค้าน ได้ทำงานได้อย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเป้าหมายของฝ่ายค้าน คือ การให้ความสำคัญกับการพิจารณาร่างกฎหมายทั้งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส.ส. และประชาชน เพราะสภาสมัยประชุมที่แล้ว แทบจะไม่มีโอกาสได้พิจารณาร่างกฎหมายเลย

แต่ทว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา กลับเกิดปัญหาสภาล่ม! ระหว่างการลงมติรับหลักการร่างข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ฉบับแก้ไข ต้อนรับเปิดสมัยประชุมกันตั้งแต่วันแรก และถือเป็นเหตุการณ์องค์ประชุมสภาล่มครั้งที่ 2 ต่อจากครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

เรื่องนี้ มีการตั้งข้อสังเกตจากพรรคเพื่อไทยว่าเป็นการแก้เผ็ดของ ส.ส.พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ไม่พอใจ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล หลังไม่ลงมติโหวตเลื่อนร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จึงมาเอาคืนในการลงมติร่างข้อบังคับการประชุมสภา ทั้งที่ตอนนับองค์ประชุมช่วยแสดงตนให้ แต่ไม่ยอมกดคะแนนตอนลงมติ

ฟากพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กลับย้อนเกร็ดว่า การรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ตามที่พรรคเพื่อไทย (พท.) เคยระบุไว้เมื่อสมัยที่ผ่านมา เมื่อปัจจุบันพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นรัฐบาล

ดังนั้น การรักษาองค์ประชุมรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

 

อย่างไรก็ดี หลังปีใหม่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 รอเข้าคิวเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภา โดยตามปฏิทินที่วางไว้ วาระแรก จะเริ่มช่วงวันที่ 3-4 มกราคม 2567 แต่ทว่า พรรคก้าวไกลเสนอขอให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ออกไปเป็นสัปดาห์ที่สองของเดือนมกราคม 2567 แทน เพื่อเปิดทางให้สมาชิกได้ศึกษาและทำการบ้านเอกสารร่างงบประมาณได้อย่างเต็มที่

แน่นอนว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ช่วงประมาณสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน ต้องรอลุ้นกันว่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะพรรคแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะเสนอญัตติอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ หรือการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ครม. “เศรษฐา ทวีสิน” หรือไม่

โดยท่าทีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ก่อนหน้านี้ ระบุว่า จะต้องมีการหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมกันอีกครั้ง อีกทั้งการซักฟอกจะต้องขึ้นอยู่กับเนื้อหา ข้อมูล และข้อเท็จจริงการทำงานของฝ่ายค้านว่า พร้อมเพียงใด ต้องยึดเนื้อหาเป็นหลัก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการหาข้อมูล แต่ยืนยันว่า ในฐานะฝ่ายค้าน จะใช้โอกาสในสภาในการตรวจสอบ ถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหารทุกช่องทางให้เป็นประโยชน์ที่สุดกับประชาชน

ทว่า ความน่าสนใจของพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน หากจับมือกันล็อกเป้าถล่มรัฐบาล พรรคก้าวไกลซึ่งมี ส.ส.ที่มีฝีปากกล้า ข้อมูลแน่น กล้าได้กล้าเสีย เน้นอภิปรายเชิงสร้างสรรค์ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แม้จะเป็น ส.ส.หน้าเก่า แต่ต้องยอมรับว่าหลายคนเต็มไปด้วยความเก๋า ลีลา สำนวนโวหาร ฝีไม้ลายมือ อัดแน่นด้วยประสบการณ์ทางการเมือง

ฉะนั้น ต้องรอดูว่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะใช้โอกาสช่วงระหว่างรอปิดจ๊อบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จัดเตรียมขุนพล เร่งแสวงหาข้อมูล หลักฐาน ลับมีดรอตรวจการบ้านรัฐบาล “เศรษฐา” ว่าเป็นไปตามที่แถลงนโยบายไว้ต่อสภา รวมทั้งตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนมากน้อยเพียงใด

คงต้องรอติดตามกัน