คำ ผกา : ผู้บริโภคอันสำส่อน

คำ ผกา

เป็นเรื่องที่ฉันค่อนข้างแปลกใจ ที่คนตระหนกอย่างหนักกับการปิดตัวของนิตยสารต่างๆ

จนมาถึงคู่สร้างคู่สม ไปจนการตื่นเต้นกับโคว้ตของ คุณดำรง พุฒตาล ว่า “ถ้าผมมีลูกจะไม่ให้เรียนนิเทศศาสตร์”

ความรู้สึกแรกคือ จะตระหนกทำไม? ตอนนี้คนที่เราควรไปสัมภาษณ์ไม่ใช่คนที่ต้องปิดนิตยสาร แต่คือนิตยสารที่ยังอยู่ได้ ขายได้ มากกว่า

เอาล่ะ มาว่าเรื่อง “ถ้ามีลูกจะไม่ให้เรียนนิเทศศาสตร์” ก่อน

มันแปลกตรงไหนกับการที่ไม่ให้ลูกเรียนนิเทศศาสตร์ เมื่อเทียบกับการพูดว่า ถ้ามีลูกจะไม่ให้เรียนปรัชญา ถ้ามีลูกจะไม่ให้เรียนประวัติศาสตร์

นึกออกไหม วิชาทางสังคมศาสตร์ทั้งหลาย เป็นวิชาที่โดยมากแล้วไม่ทำเงิน มีลูกมีเต้าก็อยากให้ไปเรียนอะไรที่หาเงินได้เยอะๆ มีความปลอดภัย มั่นคงในชีวิต อันนี้ถ้ามองจากมุมมองพ่อแม่

บอกตามตรง ตั้งแต่เกิดมาฉันยังไม่เคยเห็นใครร่ำรวยจากการเป็นนักข่าวหรือประกอบอาชีพทางสื่อสารมวลชน

มิหนำซ้ำ สมัยฉันเป็นเด็ก ครูบาอาจารย์ก็สอนว่า “เป็นนักข่าวก็เหมือนเอาเท้าข้างหนึ่งไปอยู่ในคุก” ไม่รู้จะโดนเรื่องอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่

มิใช่แต่เมืองไทย สถิตินักข่าวถูกฆ่า ถูกจับ หรือเผชิญกับสถานการณ์ความรุนแรงนานาทั่วโลกก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

ดังนั้น อาชีพทางสื่อสารมวลชน จึงไม่น่าจะเป็นอาชีพที่พ่อแม่อยากเห็นลูกเลือกเป็นหนทางของชีวิต

เว้นพ่อแม่จะคิดว่า อาชีพนิเทศศาสตร์ หรือสื่อสารมวลชน คือการแต่งตัวสวยๆ หล่อ พูดจา หัวเราะฮิฮะในโทรทัศน์แล้วได้เงินมากมาย อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

คนที่เลือกมาอยู่ในสายงานสื่อสารมวลชน น่าจะรู้ตั้งแต่แรกว่าเลือกมาทางนี้

ไม่ใช่เพราะอยากรวย ไม่ใช่เพราะอยากสบาย (ถ้าคิดอย่างนั้นก็ถือว่าคิดผิดมากๆ)

งานสื่อสารมวลชน งานข่าว สารคดี งานเขียน ไม่มากก็น้อย เป็นงานของคำจำพวก exhibitionist คือเป็นจำพวกชอบแสดงออก ที่มีความโรแมนติกทางอุดมการณ์นิดหน่อย นั่นคือเชื่อว่าการทำงานข่าวไม่ว่าจะในสื่อใด ถือเป็นการ “สร้างสิ่งดีๆ ให้กับสังคม”

ไม่ต้องดูอื่นไกล อย่างตัวฉัน ที่มานั่งเขียนนู่นเขียนนี่มาเกือบยี่สิบปี ส่วนหนึ่งก็เขียนเพื่อเงินนั่นแหละ

แต่อีกส่วนหนึ่งก็เชื่อว่าเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราจะสร้างสมดุลของความคิด ความเชื่อของคนในสังคม

หากไม่เชื่อในสิ่งเหล่านี้เสียแล้ว จะมานั่งเขียน ทะเลาะ ด่าทอ ถูกด่าทอ เถียงกลับ อะไรต่อมิอะไรเยอะแยะไปหมดแบบนี้ได้อย่างไร

อย่างมาก เขียนมาครั้งหนึ่งก็สะบัดก้นหนี บอกว่า “เออ พอเหอะ อยากดักดานแบบเดิมก็ตามใจ ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน” ไม่มาเขียนซ้ำ เถียงซ้ำซากเหมือนคนบ้าอย่างที่เป็นอยู่

นักข่าวที่ไปเฝ้าขุดคุ้ยการโกง การคอร์รัปชั่นทางอำนาจในรูปแบบต่างๆ เผชิญภัย เสี่ยงตาย หรือต้องไปอยู่ในแดนสงคราม ต้องไปรู้ไปเห็นการกระทำอันไร้ความเป็นมนุษย์ในกิริยาอาการต่างๆ

เช่น นักข่าวที่ทำข่าวโรฮิงญาอยู่ตอนนี้ ที่หลายคนต้องเผชิญกับภาวะหดหู่ ซึมเศร้าไปตามๆ กันนั้น ทำไปเพื่ออะไร? หากเขาไม่เชื่อว่า ข่าว ภาพ ข้อมูลจากเขา มันจะเพิ่มความรัก เพิ่มสันติภาพให้กับโลกใบนี้ หรือสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้อยู่ในความอยุติธรรม

ดังนั้น คำพูดของคุณดำรงที่บอกว่า ถ้ามีลูกจะไม่ให้เรียนนิเทศศาสตร์ มันจึงธรรมดาจะตายไป ตื่นเต้นอะไรกันนักหนา เหมือนหลายๆ คนที่เป็นหมอ ก็บอกว่า มีลูกก็ไม่อยากให้เรียนหมอ เพราะมันเหนื่อยเหลือเกิน เครียดเหลือเกิน

ขอบคุณภาพจาก TNN

หรือถ้าจะบอกว่า ที่ไม่ให้เรียนนิเทศศาสตร์เพราะวิชาชีพนี้มันตายไปแล้ว มันถูกทดแทนด้วยสื่อใหม่ วงการทีวี นิตยสาร วิทยุ จะตายหมด ดังนั้น จึงไม่ต้องเรียน หรือมิเช่นนั้น นิเทศศาสตร์ต้องปรับมาสอนนิเทศศาสตร์ที่อยู่ในโลกดิจิตอล

บางทีปัญหาของนิเทศศาสตร์อาจจะอยู่ตรงนี้ ตรงที่คิดว่า แค่เปลี่ยนจากโลกอะนาล็อกในเชิงเครื่องมือมาเป็นโลกดิจิตอลในเชิงเครื่องมือก็จบ เปลี่ยนจากทำรายการทีวี มาทำรายการออนไลน์ให้ได้ก็จบ

เอาเข้าจริงๆ ฉันไม่แน่ใจว่า วิชานิเทศศาสตร์เป็นวิชาที่สอนได้หรือไม่?

เพราะมันเป็นวิชาชีพที่อยู่กับความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งความเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และแม้แต่ตัว “ข้อมูล” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของวิชาชีพนี้

เอาเข้าจริง นิเทศศาสตร์สามารถเป็นศาสตร์ด้วยตัวของมันเองอย่างโดดๆ หรือไม่ก็ยังต้องเถียงกันอีกยาว

แค่การมีคณะสื่อสารมวลชน และมีสาขาหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุโทรทัศน์ ประชาสัมพันธ์ ก็สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ก่อตั้งสาขาวิชาเหล่านี้ ไม่เคยคิดเลยหรือว่าวันหนึ่ง โลกของวิทยุจะจบลง โลกของโทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งโลกของหนังสือพิมพ์จะจบลง

นั่นชี้ให้เห็นอีกว่า ที่ผ่านมา เราเรียนและสอนนิเทศศาสตร์โดยอิงกับ “เครื่องมือ” หรือแพลตฟอร์มของการสื่อสาร มากกว่าตัวการ “สื่อสาร” ด้วยตัวของมันเอง

และนี่อาจเป็นปัญหาของการแปลความหมายของคำว่า journalism ในภาษาไทยอีกนั่นแหละ

การเป็น journalist นั้นไม่ได้บ่งชี้ว่าคุณอยู่ทีวีหรือหนังสือพิมพ์ แต่บังเอิญเราก็ไม่มีคำคำนี้ในภาษาไทยอีก

เราจึงมีคำว่า นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ส่วนนักสื่อสารมวลชน หรือนักนิเทศศาสตร์ นั้นจะหมายถึงกลุ่มอาชีพอะไรบ้างก็ยังคลุมเครือ พอไปเป็นคณะในมหาวิทยาลัย ก็ใช้ทั้งสื่อสารมวลชน นิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์

ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาเราเรียนและสอนนิเทศศาสตร์แบบยึดรูปแบบมากกว่าเนื้อหา ถึงได้แบ่งว่า อันนี้คือหนังสือพิมพ์ อันนี้คือโทรทัศน์ วิทยุ

ทั้งๆ ความเป็นหนังสือพิมพ์ หรือวิทยุ โทรทัศน์ เป็นแค่ทักษะภายนอก ที่จะไปฝึกฝนที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องฝึกฝนในมหาวิทยาลัย เช่น การเขียนข่าวสำหรับวิทยุเขียนแบบนี้ การเขียนข่าวสำหรับหนังสือพิมพ์เขียนแบบนี้ เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าเรายังสอนนิเทศด้วยยึดทักษะเพื่อตอบโจทย์เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปเรื่อย – ในยุคนี้ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไวกว่าเวลายุงลายวางไข่ เราไม่ต้องเปลี่ยนหลักสูตรนิเทศศาสตร์กันทุกๆ สามวันหรือ?

สิ่งที่น่าตระหนกว่าไม่ใช่ประโยค “จะไม่ให้ลูกเรียนนิเทศศาสตร์” แต่ “นิเทศศาสตร์ยังจำเป็นหรือไม่?” ถ้าจำเป็น นิเทศศาสตร์คืออะไร? แปลว่าอะไร? ปรัชญาของมันคืออะไร? จะเรียนอะไร และจะสอนอะไร? หากนิเทศศาสตร์มองว่าตนผลิตคนสู่อุตสาหกรรมสื่อ ก็ต้องถามว่าผลิต “ช่างฝีมือ” ให้อุตสาหกรรมใช่หรือไม่? ถ้าผลิตแค่ช่างฝีมือ ต่อไปนี้นิเทศศาสตร์คืออาชีวศึกษา ใช่หรือไม่?

หลายคนอาจจะบอกว่า ก็ต้องสอนนิเทศศาสตร์สำหรับ “สื่อใหม่” ไง?

ก็ต้องถามต่อไปว่า สื่อใหม่คืออะไร?

สื่อใหม่คือตัวเทคโนโลยี หรือสื่อใหม่คือระบบนิเวศน์ใหม่ของการผลิต “สื่อ”

เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่มันคือการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกใบใหม่อย่างสมบูรณ์แบบ

คือเปลี่ยนตั้งแต่ความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างผู้ผลิต ผู้บริโภค จิตสำนึก คุณค่า เรียกว่าเปลี่ยนหัวจิตหัวใจกันใหม่หมดเลย

ดูแค่นิตยสารที่ล้มหายตายจากเราไปก็ย่อมได้

ก่อนมีสื่อใหม่ พฤติกรรมการอ่านนิตยสารของเราคือการอ่านอย่างเป็นเส้นตรง เรียงต่อเนื่องกันไป ต่อให้อ่านตรงกลางก่อน อ่านจากหลังย้อนมาหน้า อ่านสลับคอลัมน์ แต่ลำดับการของเนื้อหามันถูกจัดระเบียบมาหมดแล้ว จากปกหน้า สู่ปกหลัง ไม่มีอะไรอย่างอื่น

เราชินกับการดูหน้าปก อ่านบทบรรณธิการ อ่านจดหมายจากคนอ่าน บางทีก็ลุ้นจะได้อ่านจดหมายของเรา ได้อ่าน บ.ก. ตอบจดหมายของเรา ไปดูข่าวสังคม เรียงไปเรื่อยเช่นนี้ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย

และหากยังจำกันได้ คนที่มีอำนาจมีบารมีเหลือล้นของนิตยสารแต่ละเล่มคือบรรณาธิการ และในยุครุ่งเรืองของนิตยสาร บ.ก. มีสถานะเท่ากับเซเลบริตี้ เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของหัวหนังสือ เป็นผู้กำหนดเทรนด์ เป็นผู้ชี้ชะตานางแบบ ดีไซเนอร์ เป็นผู้ชี้ชะตานักเขียนด้วย และเกือบจะเป็นศาสดาของคนอ่านอยู่กลายๆ

บ.ก. จึงเป็นประหนึ่งศูนย์กลางจักรวาลอำนาจ สินค้าก็เข้าหา พีอาร์ทุกแบรนด์ต้องคารวะ นายแบบ นางแบบ ดารา ต้องสยบ

ทำให้เกิด บ.ก. ในตำนานอย่าง แอนนา วินทัวร์ ขึ้นมาเป็นประจักษ์พยานให้เรารำลึกว่า ครั้งหนึ่งการเป็นบรรณาธิการนิตยสารที่ทรงอิทธิพลนั้น มันหมายถึงอิทธิพลจริงๆ

แล้วคงจำกันได้ว่า ในยุคหนึ่ง นิตยสารของไทยแต่ละหัวหนักเป็นกิโล พิมพ์ด้วยกระดาษอย่างดี แต่เปิดไปข้างในแทบไม่มีอะไรให้อ่าน นอกจากโฆษณาๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ กับเรื่องราว พี่น้อง เพื่อนฝูง ของเหล่า บ.ก. และเซเลบก๊วนนั้นก๊วนนี้ มีคอลัมนิสต์นิดนึง มีบทสัมภาษณ์นิดนึง มีข่าวต่างประเทศแปลมาก๊อกแก๊กๆ พอเป็นพิธี มีเคล็ดลับ ความรักครองเรือนนิดหน่อย

กองบรรณาธิการทุกคนมีหน้าที่ออกงาน เขียนข่าว ไปเที่ยวตามบัตรเชิญลูกค้า กลับมาเขียนเรื่องให้ – ทุกคนอู้ฟู่ หรูหรามากจริงๆ

อันนี้ไม่ได้ว่าใคร เพราะตัวฉันเองก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่ออกทุกงาน อู้ฟู่ทุกปาร์ตี้กับเขาด้วยเช่นกัน

ตอนนั้นคนอ่านก็ไม่รู้สึกอะไร รู้สึกว่านิตยสารแต่ละหัวคือเพื่อนรักเพื่อนซี้ เราดูเพื่อนแต่งตัว ดูเพื่อนออกงาน อ่านเรื่องราวที่เพื่อนคัดสรรมาให้เราอ่าน อ่านรีวิวขนมอีลุกจุ๊กจิ๊กของ บ.ก. ที่เรารัก นิตยสารจะแพง จะเต็มไปด้วยโฆษณา จะหนักจนถือไม่ไหวแค่ไหน เราก็ไม่ว่า – คนมันรัก มันผูกพัน

นิตยสารยังบ่งบอกสถานะของบ้าน ของสถานที่อีกด้วย

เช่น ร้านทำผมที่หรูๆ หน่อย ก็จะมีนิตยสาร “เล่มหรู” หัวต่างๆ เหล่านั้น ส่วนร้านเสริมสวยที่บ้านๆ หน่อยก็มีดาราภาพยนตร์ และคู่สร้างคู่สมคือสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้

นิตยสารกับการสระผม ทำผม เกือบจะเป็นสุนทรียศาสตร์ที่ขาดเสียไม่ได้ ยังไม่นับร้านกาแฟ ในยุคหนึ่งก็มีนิตยสารวางให้อ่าน

ฉันจำได้ไม่ลืม เมื่อครั้งบทความถูกตำหนิว่าใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมจากกองบรรณาธิการของนิตยสารเล่มหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า “รู้ไหม หนังสือเรา เป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านวางไว้บนโต๊ะรับแขกอย่างภาคภูมิใจ อย่าให้ภาษา หรือเนื้อหาอะไรพรรค์นั้นต้องมาทำให้คนอ่านของเรารู้สึกว่าไม่กล้าวางหนังสือของเราในห้องรับแขกของเขาอีกต่อไป”

เพียงพริบตาเดียวเท่านั้น

ลำดับการอ่าน “สาระบันเทิง” อย่างที่เขียนมาข้างต้นนั้น ฟังดูราวกับเป็นเรื่องราวอันไกลโพ้นจากดวงดาวของเจ้าชายน้อยก็มิปาน

ตอนนี้เราอ่านอะไร?

เราอ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ที่ขึ้นมาหน้าฟีด ที่เราวางระบบ ลำดับ แบบต่อรองกับเฟซบุ๊กไว้ประมาณหนึ่ง สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง เช่น การตั้งค่า see first หรือการจัดหมวดหมู่รายชื่อเพื่อน

ดังนั้น เราจึงอ่านข่าวสด ตามมาด้วย vice news ตามมาด้วย buzzfeed ตามมาด้วย BCC สลับไปกับสเตตัสบ้าๆ บอๆ ของเพื่อนเรา พ่อแม่เรา เพื่อนร่วมงานเรา อะไรไม่รู้สารพัดสารพัน ไม่มีลำดับชั้นต่ำสูง ไม่มีการเรียงลำดับเนื้อหา อ่านสงครามซีเรียอยู่ดีๆ -cookcat ขึ้นคลิปเนื้อย่างน้ำมันตกฉี่ฉ่า ที่น้ำตากำลังจะไหลก็กลายเป็นน้ำลายไหลแทน

ความเป็นเล่มของนิตยสารถูกฉีกทิ้งออกเป็นชิ้นๆ ไม่แม้แต่จะเป็นแผ่นๆ แต่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กระจัดกระจาย ไร้พลัง ไร้อำนาจในการร้องขอให้จดจำ บ.ก. ไม่สามารถใช้อำนาจอะไรได้อีกแล้วที่จะกำกับการอ่านของเรา ทุกอย่างร่วงผล็อยลงไปหมด – ตอนนี้ใครแคร์ แอนนา วินทัวร์ บ้าง?

สำคัญกว่านั้น ชิ้นส่วนของการอ่านอันกระจัดกระจายเหล่านี้ ยังอ่านได้ฟรี ไม่ต้องเสียตังค์

แน่นอน มีหลายงานเขียนที่ไม่ได้อยู่บนออนไลน์ มีแต่ในนิตยสารเล่ม แต่ใครแคร์ แค่อ่านของฟรีออนไลน์ก็อ่านไม่หวาดไม่ไหว อ่านไม่รู้จักจบสิ้นอยู่แล้ว

รสนิยมของคนอ่านที่ถูกเก็บกดอยู่ใน “กรอบ” โดยมีคุณพี่ บ.ก. ทั้งหลายกำกับความถูกต้อง เหมาะสม ก็พลอยทลาย

ตอนนี้ไม่มีครูใหญ่แล้ว บรรดาคนอ่านพากันเป็นตัวของตัวเองสิคะ เราอ่านเพจ แดกเพจ ไม่อร่อยอย่าแดก หรือแดกจนขาหนีบสั่น อะไรก็ว่าไป

ถ้อยคำในมุมมืดแต่สนุกสนานใจเหลือกำลัง พวยพุ่งขึ้นมารับเสียงปรบมือ

ปลดปล่อยเราออกจากความ pretencious ดัดจริตทั้งมวล โอ้ โลกใหม่แสนเบาสบาย

แล้วไง ใครแคร์ว่าใครเอานิตยสารอะไรโชว์รสนิยมตัวเองในห้องรับแขก? โอ๊ยยยยย เชยมากๆๆ

พรมแดนของการอ่านมันแตกออกเป็นเสี่ยงๆ และพรมแดนของข้อมูลข่าวสารก็ระเบิดขึ้นตรงนั้นทีตรงนี้ที จนกลายเป็นความโกลาหลของโลกข้อมูลไปประมาณหนึ่ง ไม่มีอะไรเรียงเป็นลำดับ เป็นหมวดหมู่ เราไม่เห็นชุดข้อมูลที่เรียงร้อยต่อกันป็นเส้นสายยาวออกไปอีกต่อไป

บรรณาธิการที่เคยมีอำนาจในการเรียงเรื่องราวเหล่านี้จึงหมดความหมาย หมดบทบาท

ยิ่งนิตยสารประเภทที่เคยเรียงแต่โฆษณามาเป็นตับดูถูกคนอ่านและละเลยเรื่องเนื้อหาไปโดยสิ้นเชิงก็ดูเหมือนจะสิ้นชีวิตไปก่อนใคร

ความรู้สึกว่ามีนิตยสารเป็นเพื่อน เป็นครอบครัว หายไปในพริบตาเดียวเท่านั้น ลืมตามาอีกทีนี่ ทำเหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน จนกระทั่งมีเล่มไหนลาแผงเราก็สะเทือนใจหน่อย เขียนอำลานิด รำลึกความหลังสวยงาม โลกอินเตอร์เน็ตมันโหดร้าย รำพึงถึงเยื่อใยโรแมนติกครั้งเก่า บลา บลา บลา ประเดี๋ยว เอ้าลิป ก่อการร้าย ภูเขาไฟระเบิด เบียด ฟีดเข้ามา เราก็ลืมละ ว่าตะกี้หวนไห้อาลัยหากับอะไร

พีอาร์ของแบรนด์สินค้าตอนนี้วิ่งเข้า influencers ไม่ได้วิ่งเข้าหา บ.ก. ผู้เคยทรงอำนาจชี้เป็นชี้ตายให้ใครต่อใครได้อีกต่อไป หรือทุกแบรนด์ก็ทำเพจเอง ทำเนื้อหาเอง ไม่ง้อใคร

เพราะอย่างนี้ นิตยสารจึงต้องตายอย่างช่วยไม่ได้

แล้วนิตยสารอย่างคู่สร้างคู่สม ทำไมถึงตาย

โอ้โห เนื้อหาแบบที่อ่านในคู่สร้างคู่สม ตั้งแต่ดวงไปถึงชีวิตเมียฝรั่งต่างแดน ตอนนี้อ่านได้เป็นร้อยๆ พันๆ เพจ สนุกกว่า เข้มข้นกว่า จริงจังกว่า และที่สำคัญไม่ต้องไปผ่านอำนาจของ บ.ก. ที่ไหน

เพจหนูนาสวีเดน แม่บ้านไทยในสวีเดน ที่เล่าเรื่องชีวิตของเธอผ่านส้มตำทุกวันๆ มันแซบกว่าอ่านจดหมายเมียฝรั่งในคู่สร้างคู่สมไม่รู้กี่เท่า แถมเรายังคุยกับเธอทางไลฟ์สดได้เดี๋ยวนั้นเลย

พูดอีกอย่างหนึ่งได้ว่า สื่อใหม่ได้พาคนอ่านแต่ละคนออกไปสู่ดวงดาวของตนเอง ทุกคนมีความเป็นไท มีเอกราชทางการจัดการเนื้อหา ทำมาค้าขายได้เท่าเทียมกันหมด อย่างน้อยพื้นที่โซเชียลมีเดีย มันก็ไม่มานั่งดูว่าเรานามสกุลอะไร ลูกใคร ไฮโซหรือเปล่า มีคอนเน็กชั่นแค่ไหน

มัน “นับ” แต่ยอดไลก์ยอดแชร์ตามตัวเลขจริงๆ

เมื่อมองอย่างนี้ จะเห็นว่านี่ไม่ใช่การล้มหายตายจากของสื่อเก่า สื่อหลัก สื่อประเพณีนิยมอะไรทั้งนั้น

มันคือการล้มหายตายจากของสื่อที่สมัยก่อนอิงอยู่กับสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และ exploited ตรงนั้นมาเป็นกำไรของตนเอง

พูดง่ายๆ ว่าหากินกับ “ความไม่รู้” ของลูกค้า

ด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ด้วยโซเชียลมีเดีย ทำให้ทุกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ในโลกนี้ออกมายืนอยู่ในระนาบเดียวกันหมด

เมื่อก่อนเราอ่านเรื่องคุณดำรงไปเที่ยวอียิปต์ เดี๋ยวนี้เราจะดูสารคดีอียิปต์ให้พิสดารให้ยังไงก็ได้ จากไหนก็ได้

เมื่อก่อนไก่กาอาราเร่ มาเขียนคอลัมน์สอนทำอาหาร อาหารญี่ปุ่น นู่น นั่น นี่ มั่วๆ ผิดๆ ก็ไม่มีใครรู้ เดี่ยวนี้เรากดดูจากเพจของญี่ปุ่นดูได้เองเลย จะดูกี่เพจ กี่คลิป มาเปรียบเทียบ มาเลือก ฟังไม่ออก กดแปลภาษา

ระบบนิเวศน์ของสื่อเปลี่ยนไปแล้ว

ตอนนี้เราดูทั้งข่าวและบันเทิงจากทุกสำนักข่าวใหญ่ ขณะเดียวกันก็อะเมซิ่งกับคลิปเด็กเขมรจับงูด้วยมือเปล่า อันถ่ายวิดีโอจากกล้องกากๆ หรือนั่งดูอะไรแปลกๆ จากดินแดนไกลปืนเที่ยงที่สุด ไม่ต้องไปประณามว่า สื่อเหล่านั้นไม่มีมาตรฐานวิชาชีพ เชื่อถือไม่ได้ ภาษาที่ใช้ก็ผิดๆ ถูกๆ – นั่นคือโลกเก่า

ความโหดหินของโลกใหม่ ระบบนิเวศน์ใหม่ คือ ทุกดินแดนของโลกใบนี้ได้ออกสำแดงตัวโดยพร้อมหน้ากันบนหน้าฟีดของเรา

และนั่นแปลว่า เราไม่ได้ทำงานเพื่อแข่งกับในดินแดนขวานทองเท่านั้น แต่เราทำสื่อแข่งกับโลกทั้งใบ แข่งแม้กระทั่งกับคลิปเด็กเขมรจับงู คุณตา คุณยายทำอาหารอินเดียข้างลำคลองในหมู่บ้านอะไรสักแห่ง

สิ่งที่เราจะตระหนก ไมใช่เรื่อง อุ๊ย ถ้ามีลูกจะไม่ให้เรียนนิเทศ หรือควรปรับวิชานิเทศให้เข้ายุคเข้าสมัยยังไง

แต่ต้องเขย่าตัวเองออกจากโลกเก่า กระบวนทัศน์เก่า ภูมิศาสตร์แบบเก่า

เลิกมองสื่อใหม่เป็นภัยคุกคาม โอ๊ย โลกสวยของวันวานกำลังจะลาลับ จากนั้นออกมาอยู่ในโลกใหม่ที่คนอื่นเขาอยู่กัน ที่คนอื่นเขาคุยกัน และทำใจให้ได้ว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงในระดับ “จิตสำนึก” ของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปพร้อมกับเทคโนโลยี

และการเปลี่ยนแปลงของจิตสำนึกนี้ มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่พำนักทางอำนาจที่ไม่รวมศูนย์ที่ไหนอีกเลยในโลกออนไลน์นี้ (ถ้าไม่นับเจ้าของดวงดาวอย่างเฟซบุ๊ก) เมื่ออำนาจมันไม่รวมศูนย์ มันจะไม่มีคำว่า loyalty ต่อแบรนด์ของสื่ออีกต่อไป

ผู้บริโภคข่าวสารของคุณคือมนุษย์ผู้สำส่อน ไร้พรมแดน พร้อมจะย้ายไปดูอะไรก็ได้ที่ดึงความสนใจของเขาได้ ณ ขณะนั้น โดยไม่ต้องอิงกับคุณค่าชุดเดิมๆ ที่พวกนักวารสารศาสตร์ยุคเก่าๆ คิดว่าตนเองได้สร้างสมมา

เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่เรื่องของการปรับตัว แต่เป็นเรื่องของการเปลี่ยนจากโลกใบหนึ่งไปสู่โลกใบใหม่อย่างหมดจดทั้งกาย ใจ และจิตสำนึก