เศรษฐกิจการเมือง ชนชาติลุ่มแม่น้ำโขง (จบ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ภูมิหน้า

ไม่มีใครปฏิเสธว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขงนั้นเป็นเรื่องที่ดี และก็ย่อมดียิ่งขึ้นถ้าหากการเติบโตนั้นได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาติเหล่านี้พลอยดีขึ้นมาด้วย

แต่ประเด็นคำถามก็มีอยู่ว่า ที่ว่าดีนั้น ดีตามมาตรฐานของใคร? ดีจริงหรือไม่? และดีอย่างยั่งยืนจริงหรือ?

ทุกวันนี้โลกให้การยอมรับว่า การพัฒนาที่ดีในเบื้องต้นสุดต้องเป็นประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย หาใช่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งไม่ และประโยชน์ที่ได้นั้นจะต้องไม่ทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ดีๆ ของชนชาติใดแม้แต่น้อย

หากการพัฒนาเป็นได้ดังที่ว่า เราก็อาจจินตนาการได้ว่า ชนชาติต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงน่าจะมีวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจการเมืองที่สงบ สะอาด และสว่าง

นั่นคือ เราอาจจินตนาการได้ว่า…

 

หนึ่ง ชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงพึงดำรงชีวิตอยู่โดยยังรักษาวัฒนธรรมเดิมของตนเอาไว้ได้ ไม่ใช่มีชีวิตอยู่ด้วยการขายวัฒนธรรมของตนประดุจหนึ่งสินค้า แต่ในชีวิตจริงของแต่ละคนในแต่ละวันกลับถูกยัดเยียดให้ยอมรับวัฒนธรรมใหม่ อันเป็นวัฒนธรรมบริโภคนิยมและวัตถุนิยม

สอง ชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงพึงดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับมนุษย์ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้ย่อมหมายความว่า ชนชาติเหล่านี้จะต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจการเมืองให้กับกลุ่มอำนาจใดที่มีอำนาจเหนือกว่า มุ่งใช้ความล้าหลังของพวกเขามาแสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง

สาม ชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงย่อมมีสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง โดยความร่วมมือของผู้ปกครอง วัฒนธรรมหรือความคิดความเชื่อของพวกเขาไม่ควรได้รับการดูถูกดูแคลน เพียงเพราะเป็นวัฒนธรรมที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของอีกชนชาติหนึ่ง ที่ให้บังเอิญว่ามีความเจริญทางวัตถุมากว่า หรือมีอำนาจเหนือกว่า

ในทางตรงข้าม ผู้ปกครองพึงส่งเสริมการศึกษาวิจัยภูมิปัญญาของชนชาติของตนเพื่อต่อยอดให้มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืนอยู่ได้อย่างยาวนาน

สี่ ชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงย่อมหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเขตที่ตนสังกัดได้ยาก สิ่งที่พึงกระทำได้จึงคือ การรวมตัวกันเพื่อต่อต้านการกระทำใดๆ ที่เลวร้าย

เช่น การผลิตและการค้ายาเสพติด การล่อลวงเพื่อไปเป็นแรงงานทาส การล่อลวงหรือโน้มน้าวชักชวนให้ค้าประเวณี การถูกข่มขืนโดยผู้ปกครองที่กดขี่ หรือการหลอกลวงให้กระทำการใดๆ ที่ผิดกฎหมายภายในและภายนอกประเทศ เป็นต้น

 

โดยทั่วไปแล้ว จินตนาการมักจะถูกมองว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน

แต่จินตนาการที่มุ่งไปสู่โลกที่ดีกว่าข้างต้นแทบกล่าวได้ว่า ไม่มีส่วนใดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

ถ้าหากจินตนาการที่ว่ามิอาจเกิดเป็นจริงแล้ว ก็คงมิใช่เพราะความไม่เป็นวิทยาศาสตร์ หากเป็นเพราะความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของผู้มีอำนาจในลุ่มแม่น้ำโขงมากกว่าอะไรอื่น

กล่าวคือ เป็นความคิดที่มุ่งแต่จะใช้อำนาจทางการเมืองที่ดิบ เถื่อน และขาดมโนธรรมสำนึก จนทำให้การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจการเมืองเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ตน หรือชนชาติตนแต่เพียงฝ่ายเดียว

ในทางตรงข้าม หากผู้มีอำนาจมีพื้นฐานความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ พวกเขาย่อมรู้ดีว่า การพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองที่ยั่งยืนนั้น ย่อมต้องอาศัยความยินยอมพร้อมใจอย่างรู้เท่าทันของเหล่าชนชาติต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

แต่กระนั้น เราก็ควรยอมรับความจริงด้วยว่า การเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในหลายพื้นที่ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก เพราะจากนับสิบปีที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจเหล่านี้ได้พิสูจน์ตนให้เห็นแล้วว่า พวกเขาห่างไกลต่อมโนธรรมสำนึกมากน้อยเพียงใด

ด้วยเหตุนี้ การรวมตัวกันในภาคประชาชนของเหล่าชนชาติพันธุ์ต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

 

อนาคตที่ยังมืดมน

ในขณะที่ปัญหาและความขัดแย้งของบางชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงยังดำรงอยู่นั้น โดยฉับพลันก็ได้เกิดโรคระบาดโควิด-19 ขึ้นเมื่อต้นปี 2020 (2563) การระบาดเป็นไปทั่วโลกและต่อเนื่องไปจนถึงปี 2021 และ 2022 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 18 ล้านคนทั่วโลก โดยคาดการณ์กันว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจริงน่าที่จะสูงกว่านั้นสามเท่า

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า ตัวเลขคาดการณ์ที่ว่าสูงกว่าสามเท่านั้น ย่อมรวมตัวเลขที่ตกสำรวจ หรือสำรวจไปไม่ถึง หรือแม้กระทั่งยากที่จะสำรวจเข้าไว้ด้วย ตัวเลขเหล่านี้ส่วนหนึ่งก็คือ ชนชาติต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงนั้นเอง

ตัวอย่างที่ชี้ชัดอาจเห็นได้จากกรณีของไทย โดยครึ่งหลังของกลางปี 2020 นั้น สถานการณ์ของโควิด-19 ดีขึ้นอย่างมาก มากจนไม่เหลือผู้ติดเชื้อหรือมีผู้ติดเชื้อรายวันเท่ากับศูนย์ เวลานั้นคนไทยเริ่มที่จะกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้มากขึ้น เพียงแต่ยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัยเป็นการไม่ประมาทเท่านั้น

แต่พอถึงปลายปี 2020 ต่อตลอดปี 2021 การระบาดก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ระบาดอย่างรวดเร็วและรุนแรง โดยพื้นที่หนึ่งที่ระบาดเช่นนั้นคือ จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจำนวนมาก

กรณีนี้ทำให้เห็นว่า เมื่อสถานการณ์สงบลงเมื่อก่อนหน้านี้แล้ว แรงงานเหล่านี้ก็กลับมาทำงานที่ไทยตามปกติ แต่ตอนที่มานั้นคงได้ติดเชื้อนี้มาก่อนแล้ว พอมาถึงเชื้อก็ปะทุขึ้นและระบาดในเวลาต่อมา จนทำให้เห็นว่า พื้นที่ในภูมิลำเนาเดิมของแรงงานเหล่านี้น่าที่จะมีการระบาดเช่นกัน

เพียงแต่ไม่มีใครเข้าไปสำรวจได้เท่านั้น

 

ซํ้าร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือว่า ในเดือนกุมภาพันธุ์ 2021 ได้เกิดรัฐประหารขึ้นในเมียนมา

นับแต่นั้นมาสงครามระหว่างชนชาติที่มิใช่พม่ากับรัฐบาลเมียนมาก็เกิดขึ้น

ข่าวสงครามได้เข้ามาแทนที่ข่าวโควิด-19 แทบจะเป็นรายวัน และทำให้รู้ว่า คราวนี้ชนชาติต่างๆ ที่ทำสงครามกับรัฐบาลเมียนมาไม่เพียงจะไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เท่านั้น หากยังสามารถเอาชนะกองกำลังของรัฐบาลได้ในหลายพื้นที่อีกด้วย

ตราบจนปี 2023 สงครามกลางเมืองยังไม่จบ เราไม่มีข้อมูลตัวเลขที่ชัดเจน เพราะการสู้รบนั้นได้กระจายไปทั่วประเทศ

แต่ในระหว่างนี้ก็มีรายงานว่า รัฐบาลจีนได้ร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาในการเข้าปราบปรามกลุ่มโกกั้งครั้งใหญ่

โดยได้เข้าทำลายแหล่งยาเสพติด บ่อนการพนัน และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ก่อปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้านมานานหลายปี

 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วง 2-3 ปีมานี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงก็ว่าได้

สถานการณ์ของกลุ่มอาชญากรข้ามชาติอาจดีขึ้น แต่จะดีโดยถาวรหรือไม่นั้นยังคงตอบได้ยาก

แต่ที่เห็นทีจะจบได้ยากก็คือ สงครามกลางเมืองในเมียนมา

ชะตาของชนชาติในลุ่มแม่น้ำโขงจึงยังไม่สิ้นกระแสกรรม ตราบใดที่ชนชั้นนำบางกลุ่มบางคนยังขาดมโนธรรมสำนึกทางเศรษฐกิจการเมืองที่สร้างสรรค์

ความมืดมนจะยังคงปกคลุมในอีกหลายพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำโขงต่อไปอีกยาวนาน