ชวนชม ‘เมฆห่มฟ้า’ หลายรูปแบบ | บัญชา ธนบุญสมบัติ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

บางครั้งอาจมีเมฆแปลกๆ รูปแบบหนึ่งปรากฏบนฟ้า คือเป็นแผ่นขนาดใหญ่ กว้างสุดสายตา และแบ่งฟ้าออกเป็น 2 ส่วนชัดเจน ลองดูภาพเมื่อหลายปีก่อนที่นำมาฝากสิครับ วันที่ 22 ธันวาคม 2558 ทางแถบจังหวัดน่าน แพร่ และสุโขทัย เกิดเมฆลักษณะดังกล่าว แบ่งฟ้าเป็น 2 สีชัดๆ

สื่อหลายแห่งก็เล่นข่าวนี้ เช่น ข่าว ‘ตะลึงทั้งบาง! เมฆครึ่งฟ้าคลุมเมืองน่านวัน “เห-มา-ยัน”‘ ที่

ชื่อเรียกในข่าวมีหลายชื่อ เช่น “เมฆแบ่งฟ้า” “เมฆครึ่งฟ้า” และ “ฟ้าแบ่งสี” ต่อมาอีก 2 วัน คือวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ก็มีชาวบ้านอีกหลายจังหวัดสังเกตเห็นเมฆลักษณะเดียวกันนี้ เช่น ที่จังหวัดลำปาง ดูตัวอย่างข่าว ‘อย่างสวย! เมฆครึ่งฟ้าโผล่ซ้ำที่ลำปางนานนับชั่วโมง’

เมฆลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วในประเทศไทย เท่าที่สืบค้นและยืนยันได้ เช่น วันที่ 27 มกราคม 2554, วันที่ 18 กรกฎาคม 2558 และวันที่ 26 ธันวาคม 2563 (ลำปาง) เป็นต้น

ส่วนในต่างประเทศ ก็มีภาพหลักฐานจำนวนมากเช่นกัน หมายความว่า เมฆรูปแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดครับ

ฝรั่งมีคำใช้เรียกเมฆลักษณะนี้หลายชื่อ เช่น ถ้ามองว่าเมฆมีขอบค่อนข้างเรียบตรง ก็เรียกตามลักษณะปรากฏว่า straight-edged cloud (เมฆขอบตรง)

หากมองว่าเมฆมาเป็นปื้นขนาดใหญ่ ก็อาจเรียกว่า cloudbank (คลาวด์แบงก์) สังเกตว่าเขียนติดกัน

หากมองในแง่ปรากฏการณ์ ก็เรียกว่า cutting phenomenon (CP) หรือปรากฏการณ์การตัดเฉือน กล่าวคือ หากมองว่าเดิมมีเมฆเป็นแผ่นขนาดใหญ่คลุมฟ้าอยู่ จากนั้นตัดเฉือนเมฆบางส่วนออกไป ตามแนวรอยตัดจึงปรากฏเป็นเส้นค่อนข้างตรงนั่นเอง

คุณผู้อ่านที่สนใจชมภาพ Cutting Phenomenon เพิ่มเติม คลิกที่นี่

เมฆขอบตรงที่จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558
ภาพโดย ทิพสุดา สุทธการ

สําหรับชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของเมฆก้อนซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นคลุมฟ้าและไม่มีช่องเปิดใดๆ ในเมฆขึ้นกับระดับความสูง อย่างนี้ครับ

ถ้าเป็นเมฆระดับต่ำ เรียกว่า สเตรโตคิวมูลัส สแตรติฟอร์มิส โอเพคัส (Stratocumulus stratiformis opacus)

ถ้าเป็นเมฆระดับกลาง เรียกว่า แอลโตคิวมูลัส สแตรติฟอร์มิส โอเพคัส (Altocumulus stratiformis opacus)

คำว่า สแตรติฟอร์มิส (stratiformis) เป็นชนิด (species) ของเมฆซึ่งมีลักษระแผ่คลุมฟ้ากินพื้นที่กว้าง ส่วนคำว่า โอเพคัส (opacus) เป็นพันธุ์ (variety) ของเมฆซึ่งมีลักษณะทึบ ไม่มีช่องว่างในเมฆ

อาจมีคำถามว่า แล้วถ้าเป็นเมฆระดับสูงล่ะจะสามารถคลุมฟ้าได้ไหม?

คำตอบคือ ได้แน่นอนครับ

เมฆระดับสูงสกุลนั้นคือ ซีร์โรสเตรตัส (Cirrostratus) ซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นแบนๆ ปกคลุมท้องฟ้าในพื้นที่กว้าง คำว่า “ระดับสูง” สำหรับแถบเขตร้อนอย่างประเทศไทยคือ ราว 6-18 กิโลเมตร ที่ความสูงระดับนี้อากาศเย็นจัด อุณหภูมิติดลบ (ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส) ดังนั้น เมฆซีร์โรสเตรตัสจึงมีองค์ประกอบทั้งหมดเป็นผลึกน้ำแข็ง

เมฆอีกรูปแบบซึ่งแผ่ปกคลุมฟ้าที่น่ารู้จักเป็นส่วนบนของเมฆฝนฟ้าคะนองชนิดหัวฟู หรือ คิวมูโลนิมบัส แคพิลเลตัส (Cumulonimbus capillatus)

การที่ผมเรียกชื่อไทยอย่างนี้ก็เพราะว่า Cumulonimbus คือเมฆฝนฟ้าคะนอง มีฟ้าร้องฟ้าผ่าได้ ส่วน capillatus เป็นชื่อชนิดของเมฆฝนฟ้าคะนองที่มีส่วนบนยื่นออกมาในแนวระดับ คำคำนี้เป็นภาษาละตินแปลว่า ‘มีเส้นผม’

ส่วนที่ฟูๆ ยื่นออกมานี้อยู่ในระดับสูงราว 10 กิโลเมตร หรือกว่านั้นเล็กน้อย อากาศระดับนั้นเย็นจัด อุณหภูมิติดลบ ดังนั้น ส่วนที่ฟูๆ นี้จึงประกอบด้วยผลึกน้ำแข็งล้วนๆ ครับ

ได้เห็นตัวอย่างเมฆซึ่งแผ่ปกคลุมฟ้าหลากหลายรูปแบบกันไปแล้ว คราวหน้าถ้ามีโอกาสได้พบของจริง ก็เก็บภาพไปฝากเพื่อนๆ ในโลกโซเชียลมีเดีย พร้อมระบุชื่อเรียกได้อย่างถูกต้องนะครับ

ภาพเมฆขอบตรงเมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ.2009 ที่สหราชอาณาจักร ภาพโดย Ian Brough
ที่มา : https://www.flickr.com/photos/ianbphotos/3756537431/in/set-72157618716226456
เมฆซีร์โรสเตรตัส เนบิวโลซัส เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2558 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย รังสิต
ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ
ส่วนบนของเมฆฝนฟ้าคะนองชนิดหัวฟู ที่เมือง Dunkerque ประเทศฝรั่งเศส
ภาพ : คุณลมรำเพย แพน
ปรากฏการณ์ตัดเฉือน (Cutting Phenomenon)
ที่มา : https://www.brockmann-consult.de/CloudStructures/images/cutting/20060721_22957.jpg