วรศักดิ์ มหัทธโนบล : จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ (1)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ความนำ

แม้จะเป็นความจริงที่ว่า ราชวงศ์ฉิน (ก.ค.ศ.221-206) คือราชวงศ์แรกที่นำจีนก้าวขึ้นเป็นจักรวรรดิ แต่ด้วยเหตุที่ราชวงศ์นี้มีอายุเพียงสิบปีเศษแล้วถูกแทนที่ด้วยราชวงศ์ฮั่น (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.220) จากนั้นฮั่นก็สร้างจักรวรรดิต่อไปอีกกว่า 400 ปี ซึ่งถือว่ายาวนานมาก จักรวรรดิในสมัยฮั่นจึงให้ภาพที่ชัดเจนมากกว่าที่สมัยฉินได้ให้ไว้

ด้วยเหตุนี้ การศึกษาประเด็นจักรวรรดิจีนเมื่อแรกกำเนิดจึงมักดำเนินควบคู่กันไปในสองราชวงศ์นี้ โดยเฉพาะฮั่นแล้วราชวงศ์นี้ยังแบ่งออกเป็นสองช่วงอีกด้วย คือช่วงฮั่นตะวันตก (ก.ค.ศ.206-ค.ศ.25) และช่วงฮั่นตะวันออก (ค.ศ.25-220)

ซึ่งในที่นี้จะแยกการศึกษาราชวงศ์นี้เป็นสองช่วงเช่นกัน

การที่ฉินมีอายุราชวงศ์ที่ไม่ยืนยาวนั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีคำถามเบื้องต้นว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คำถามนี้อาจแตกประเด็นได้เช่น ฉินปกครองอย่างไรจึงได้อ่อนแอลง ทั้งๆ ที่ก่อนจะตั้งราชวงศ์ได้สำเร็จนั้น ฉินเป็นรัฐที่เข้มแข็งเกรียงไกรอย่างยิ่ง

หรือฉินซึ่งใช้หลักคิดของสำนักนิตินิยมเป็นธงนำในทางการเมือง และมีมหาอำมาตย์ที่สมาทานสำนักนี้คอยรับใช้จนทำให้ฉินตั้งจักรวรรดิได้สำเร็จนั้น อะไรที่ทำให้หลักคิดที่ประสบความสำเร็จอยู่นี้กลับดูเหมือนมิอาจทำให้จักรวรรดิตั้งอยู่ได้

หรือฉินมีนโยบายพัฒนาจักรวรรดิในด้านต่างๆ อย่างไร จนทำให้ดูเหมือนว่านโยบายนั้นมิได้ช่วยให้ราชวงศ์มีเสถียรภาพหรือเป็นที่ยอมรับของราษฎร เป็นต้น

แน่นอนว่า คำถามข้างต้นนี้ย่อมเป็นคำถามในด้านกลับให้กับฮั่นไปด้วยในตัว ในฐานะที่เป็นราชวงศ์ที่ก้าวมาแทนที่ฉิน ว่าถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือระบบการปกครอง หลักคิด นโยบายที่ฮั่นนำมาใช้จนทำให้จักรวรรดิจีนสามารถยืนยงได้ยาวนานหลายร้อยปี

ที่สำคัญ หากการยืนยงได้ยาวนานเช่นนี้จะมีผลต่อราชวงศ์หลังๆ อีกหลายราชวงศ์แล้ว อะไรคือผลที่ว่าที่ฮั่นได้ทิ้งให้ไว้เสมือนมรดก

จากเหตุดังกล่าว การศึกษาในบทนี้จึงดำเนินไปสองราชวงศ์คือฉินและฮั่น ทั้งมีประเด็นในการศึกษาอยู่ตรงการหาคำตอบให้กับประเด็นคำถามข้างต้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมต้องครอบคลุมไปถึงประเด็นทางการเมือง การปกครอง หลักคิด นโยบาย การเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตลอดจนจุดจบของราชวงศ์ทั้งสอง

โดยในเบื้องต้นพอจะได้กล่าวได้ว่า ในฐานะที่เป็นราชวงศ์ที่ให้กำเนิดจักรวรรดินั้น ทั้งฉินและฮั่นย่อมได้สร้างสิ่งที่มีทั้งลักษณะสร้างสรรค์และทำลายดำรงอยู่ ทั้งสองลักษณะนี้ย่อมเป็นบทเรียนให้แก่ราชวงศ์ในชั้นหลังได้ศึกษา

แต่ศึกษาแล้วจะได้ผลเพียงใดย่อมแล้วแต่เหตุปัจจัย โดยเฉพาะเหตุปัจจัยที่นำความล่มสลายมาให้แก่ราชวงศ์ ที่ดูเหมือนราชวงศ์ในชั้นหลังแทบมิได้ซึมซับบทเรียนจากสองราชวงศ์นี้เลย

และนี่ก็คือนัยสำคัญเบื้องต้นที่การศึกษาในบทนี้จะพยายามสะท้อนให้เห็น

 

ฉินกับเอกภาพที่ไร้เสถียรภาพ

ราชวงศ์ฉิน (ก.ค.ศ.221-206) ที่มีเสียนหยางเป็นเมืองหลวงนี้สถาปนาโดยกษัตริย์ของรัฐฉิน หลังจากได้ทำศึกกับรัฐที่ทรงอิทธิพลอีกหกรัฐในยุครัฐศึก (ก.ค.ศ.475-221) จนได้รับชัยชนะ กษัตริย์ของรัฐฉินในขณะนั้นคือ อิ๋งเจิ้ง หรือกษัตริย์เจิ้งแห่งฉิน (ครองราชย์ ก.ค.ศ.246-210)

และเมื่อสถาปนาราชวงศ์ฉินขึ้นแล้วก็ยังได้เปลี่ยนฐานะของพระองค์จากกษัตริย์ (หวัง) มาเป็นจักรพรรดิ (ฮว๋างตี้) โดยถือตนว่าในเมื่อมีฐานะและอำนาจเหนือกษัตริย์อีกหกรัฐแล้ว ไยต้องเรียกพระองค์ว่ากษัตริย์ ที่ฟังดูแล้วไม่ได้สะท้อนความแตกต่างกับกษัตริย์ของหกรัฐนั้น

และเมื่อได้คำว่าจักรพรรดิมาเรียกขานแล้วก็ยังประกาศตนเป็นปฐมจักรพรรดิแห่งฉิน (ฉินสื่อฮว๋างตี้) อีกด้วย โดยมีเจตนารมณ์ว่า ในเมื่อมีปฐมจักรพรรดิแล้วก็จักต้องมีจักรพรรดิองค์ต่อๆ ไปเป็นลำดับ และจักสืบทอดเช่นนี้ไปเป็นหมื่นๆ ปีไร้ที่สิ้นสุด แล้วก็กำหนดคำเรียกขานพระองค์เองว่า เจิ้น นับแต่นั้นสืบมา

จากเหตุนี้ กษัตริย์เจิ้งจึงไม่เพียงจะเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์ฉิน หากยังเป็นจักรพรรดิพระองค์แรกของจักรวรรดิจีนอีกด้วย

แม้จะเป็นราชวงศ์แรกที่ปกครองจีนด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยังถือเป็นจักรวรรดิแรกด้วยเช่นกันนั้น ฐานะหรือเกียรติภูมิของราชวงศ์ฉินจึงย่อมมีประเด็นที่น่าสนใจในหลายประการ ยิ่งเป็นราชวงศ์ที่มีอายุสั้นเพียงสิบกว่าปีก็ยิ่งเป็นที่น่าศึกษายิ่งขึ้นไปอีก ว่ามีเหตุปัจจัยใดที่ทำให้เป็นเช่นนั้น ในขณะที่ราชวงศ์นี้ได้ทิ้งสิ่งที่เป็นเสมือนมรดกให้แก่ราชวงศ์ในชั้นหลังอยู่ไม่น้อย เท่าๆ กับที่ได้ทิ้งบทเรียนที่มิควรเอาเยี่ยงอย่างไว้ให้เช่นกัน

ประเด็นที่กล่าวมานี้เป็นภาพรวมของคำถามที่มีต่อราชวงศ์หรือจักรวรรดิฉิน ที่แม้จะเป็นราชวงศ์ที่มีอายุสั้น แต่ก็มีประเด็นคำถามที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อย ในที่นี้จะได้อธิบายโดยแบ่งเป็นประเด็น ดังนี้

 

ก.บางด้านของภูมิหลัง

ประเด็นเกี่ยวกับภูมิหลังของฉินนั้นก็ไม่ต่างกับราชวงศ์อื่นทั้งก่อนและหลังราชวงศ์นี้ ที่มีรายละเอียดมากมาย ในที่นี้จะหยิบยกเฉพาะภูมิหลังอันเป็นที่มาของฉินก่อนที่รัฐนี้จะตั้งราชวงศ์ใน ก.ค.ศ.221 และภูมิหลังที่ชวนสงสัยเกี่ยวกับกำเนิดของจักรพรรดิฉินสื่อ

ด้วยทั้งสองประเด็นนี้มีความสัมพันธ์กับการประเมินบทบาทของราชวงศ์ฉินในเวลาต่อมา ว่าเหตุใดบทบาทนั้นจึงส่งผลให้ฉินมีนโยบายทั้งที่เป็นคุณและโทษต่อตนเองหรือผู้อื่น โดยเฉพาะบทบาทที่เป็นโทษที่มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ราชวงศ์นี้มีอายุสั้นเพียงสิบปีเศษ จนกลายเป็นบทเรียนให้แก่ราชวงศ์ฮั่นที่มาแทนที่ในเวลาต่อมา

เริ่มจากภูมิหลังที่มาของฉินที่มีบันทึกและปกรณ์บางฉบับได้ระบุว่า กลุ่มชนที่เป็นชาวฉินนั้นคือ ชนต่างชาติ (alien) หรือชนชาติที่มิใช่ฮั่น หรือหากเป็นชนชาติฮั่นก็เป็นฮั่นที่อยู่ปะปนกับชนป่าเถื่อนมาก่อน

ในประการหลังนี้หมายความว่า ชาวฉินได้ซึมซับเอาขนบธรรมเนียมหรือประเพณีของชนป่าเถื่อนมาไว้กับตน แต่ไม่ว่าชาวฉินจะเป็นชนชาติใดในสองชนชาติที่ว่า (คือเป็นชนต่างชาติหรือชนชาติฮั่นที่อยู่ปะปนกับชนป่าเถื่อน) สิ่งที่พบคือ ชาวฉินมีขนบธรรมเนียมเหมือนกับชนป่าเถื่อน โดยเฉพาะหญงกับตี๋

นั่นคือ มีจิตใจเยี่ยงเสือกับสุนัขป่ารวมกัน มีความละโมบ เล็งแต่ผลกำไร ไม่น่าไว้วางใจ ไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับแบบแผนการดำเนินชีวิต หน้าที่ หรือศีลธรรมจรรยาใดๆ และคิดแต่จะกลืนกินโลกทั้งใบ ชาวฉินจึงเป็นศัตรูที่ถาวรของชนทั้งผองในใต้หล้า

นอกจากนี้ ปกรณ์บางฉบับยังระบุอีกว่า มหาอำมาตย์ของฉินนามว่า ซางยาง (มรณะ ก.ค.ศ.338) เล่าว่า พวกฉินได้ถูกเสี้ยมสอนมาจากพวกหญงกับพวกตี๋ ดังนั้น ทั้งบิดากับบุตรจึงไม่มีอะไรที่ต่างกัน พวกเขาหลับนอนอยู่ในห้องเดียวกัน ข้าพเจ้าจึงปฏิรูปด้วยการสอนพวกเขาให้รู้จักแยกกันอยู่ระหว่างชายกับหญิง (1)

คำบอกเล่านี้ได้บอกเป็นนัยว่า แต่เดิมชาวฉินมิได้แยกการหลับนอนระหว่างบุพการีกับบุตรหลานของตน ซึ่งเป็นไปได้ว่าชาวฉินอาจจะมีการสมสู่กันในหมู่พ่อแม่ลูกหรือพี่น้องด้วยกันเอง

อย่างไรก็ตาม ภูมิหลังของฉินจากที่กล่าวมานี้มีผลไม่น้อยต่อพฤติกรรมของชาวฉินไปด้วย โดยเฉพาะเมื่อตั้งราชวงศ์ได้แล้ว พฤติกรรมที่ดู “ป่าเถื่อน” จึงยังคงปรากฏอยู่ ถึงแม้จะได้รับการปฏิรูปจากซางยางแล้วก็ตาม

ภูมิหลังต่อมาคือ กำเนิดของอิ๋งเจิ้ง ที่ต่อมาได้ก้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ของรัฐฉิน และก่อตั้งราชวงศ์ฉินขึ้นเป็นจักรวรรดิแรกของจีน

เกี่ยวกับเรื่องนี้แม้ในบันทึกจะระบุว่ากษัตริย์เจิ้งทรงเป็นโอรสของกษัตริย์เซี่ยวเหวินแห่งฉินก็ตาม แต่ใน สื่อจี้ ของซือหม่าเชียนกลับมีบางตอนที่ชี้ชวนให้สงสัยว่าไม่น่าจะใช่

————————————————————————–
(1) ซางยางถือเป็นบุคคลสำคัญในยุคต้นประวัติศาสตร์จีน มีบทบาทสูงยิ่งในการปฏิรูปรัฐฉินจนทำให้รัฐนี้เข้มแข็งเกรียงไกรในเวลาต่อมา ในกรณีคำบอกเล่าของซางยางเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฉินนี้ทำให้เห็นว่า ซางยางน่าที่จะเป็นชาวฮั่นที่เข้าไปเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฉิน