‘Analog Squad ทีมรักนักหลอก’ : ไม่ใช่แค่ ‘วัตถุสิ่งของ’ ที่สูญหายไป

คนมองหนัง

“Analog Squad ทีมรักนักหลอก” คือ ซีรีส์ไทยเรื่องล่าสุดในเน็ตฟลิกซ์ ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากพอสมควร

ซีรีส์เรื่องนี้มี “นิธิวัฒน์ ธราธร” (แฟนฉัน, Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย, หนีตามกาลิเลโอ, คิดถึงวิทยา) เป็นผู้กำกับฯ และร่วมเขียนบท โดยบอกเล่าเหตุการณ์ที่ย้อนกลับไปในปี 2542 หรือ ค.ศ.1999 ก่อนจะเข้าสู่สหัสวรรษใหม่

ซีรีส์เล่าเรื่องราวของหนุ่มใหญ่อายุราว 50 ปี ชื่อ “ปอนด์” ที่มีหนี้สินหลายล้าน มีปัญหาครอบครัวแตกแยก และเคยมีคดีความติดตัวเป็นมลทินในชีวิต ซึ่งไปขอความช่วยเหลือจากแฟนเก่าชื่อ “ลิลลี่” ที่ประกอบอาชีพเป็นฝ่ายแคสติ้งดารา ให้ช่วยหาเด็กหนุ่มสาวสองคนมารับบทเป็นลูกๆ ของเขา ส่วนลิลลี่ก็ต้องสวมบทเป็นภรรยาของปอนด์

ไม่นานนัก ทั้งคู่ก็ได้วัยรุ่นชื่อ “บุ้ง” กับ “เก๊ก” มารับงานดังกล่าว แล้วสี่ชีวิตจึงขับรถมุ่งหน้าไปยังตะกั่วป่า เพื่อให้ทันดูใจ “เขียว” พ่อของปอนด์ซึ่งกำลังป่วยหนักใกล้เสียชีวิต โดยมี “สดใส” แม่ของปอนด์ คอยเฝ้าดูแลสามีอาการโคม่าอยู่ที่โรงพยาบาล

นอกจากมีปมเรื่องก่อร่างสร้างครอบครัวของตนเองแล้ว ปอนด์ยังมีปมปัญหาค้างคาใจกับผู้เป็นพ่อ จนไม่ได้เดินทางกลับบ้านเป็นเวลาหลายสิบปี ขณะเดียวกัน เขาก็ไม่อยากให้พ่อแม่ทราบว่า ตัวเองกับภรรยาและลูกๆ “ตัวจริง” นั้นไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน จนนำมาสู่การว่าจ้าง “คนอื่น” ให้มาแสดงเป็น “เมียและลูกปลอมๆ”

ภารกิจหลอกลวงครั้งนี้น่าจะจบลงอย่างง่ายดาย ถ้า “เขียว” เสียชีวิตตามที่หลายคนคาดคิด แต่แล้วชายชราวัย 70 กว่ากลับฟื้นตัวขึ้นมาได้ กระทั่งสายสัมพันธ์ของ “ครอบครัว” ที่ไม่ได้ยึดโยงกันผ่านทาง “สายเลือดแท้ๆ” ได้ก่อตัวแน่นแฟ้นขึ้นมาจริงๆ

ในขณะที่ “สมาชิกครอบครัว” แต่ละราย ต้องประสบปัญหาชีวิตแตกต่างกันไป ตามภูมิหลังของแต่ละคน และมีบางรายที่ต้องลาจากไปอย่างไม่มีวันกลับ โดยปราศจากคำเตือนล่วงหน้า

จุดโดดเด่นแรกของ “Analog Squad ทีมรักนักหลอก” ก็คือฝีมือลายมือของบรรดานักแสดง ที่สวมบทเป็นตัวละครหลักได้อย่างราบรื่นลงตัว

ไล่ตั้งแต่คนที่ยังมีงานแสดงต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอย่าง “ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม” และ “เจเจ-กฤษณภูมิ พิบูลสงคราม”

ดาราที่ห่างหายจากหน้าจอไปในระยะหลัง และดูเหมือนจะไม่ค่อยได้รับเสียงชื่นชมในเรื่องฝีมือการแสดงมาก่อนอย่าง “น้ำฝน-กุลณัฐ กุลปรียาวัฒน์”

หรือคนบันเทิงยุค 90 ที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นนักแสดงสักเท่าไหร่อย่าง “โยโกะ ทาคาโน่” และ “กษาปณ์ จำปาดิบ”

ส่วนสองนักร้องรุ่นเก๋าที่รับบทคนรุ่นปู่-รุ่นย่าในเรื่องก็ทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างน่าทึ่ง ทั้ง “วิยะดา โกมารกุล ณ นคร” ที่แม้จะเคยผ่านงานแสดงมาบ้าง แต่มักได้รับบทแนวตลกหรือร้ายแบบไม่ลึก และ “สุรสีห์ อิทธิกุล” คนดนตรีรายสำคัญของอุตสาหกรรมเพลงไทยยุคตั้งไข่ ที่รับบทเป็นนักแสดง (นำ) เรื่องแรกได้ดี นิ่ง และเนียนเกินคาด

ด้านนักแสดงหน้าใหม่อย่าง “ปริม-วิพาวีร์ พัทธ์ณศิริ” ก็สวมบทและมีรัศมีดาราไม่น้อยหน้าคนบันเทิงรุ่นใหญ่ๆ ที่อยู่ร่วมเฟรมกัน

สำหรับเรื่องบท แม้ซีรีส์จะมีวิธีการคลี่คลายและสรุปตัวเองแบบรื่นรมย์-ลงรอยมากไปนิด แต่กระนั้น ทีมเขียนบทก็พยายามจะ “ไม่เติมเต็ม” อะไรบางอย่าง และ/หรือ “เว้นช่องว่าง” บางประการเอาไว้ เพื่อมิให้บทสุดท้ายของเรื่องราวมีลักษณะ “ปิดตาย-อัดแน่น” จนเกินไป

ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความสัมพันธ์ระหว่าง “เก๊ก” กับ “บุ้ง” ความสัมพันธ์ระหว่าง “เก๊ก” กับ “ป๋า” หรือความสัมพันธ์ระหว่าง “แหม่ม” และ “ม่อน” ตัวจริง กับ “ครอบครัว” ฝั่ง “ปอนด์” เป็นต้น

อย่างไรก็ดี มีจุดหนึ่งที่ไม่ใช่ข้อวิจารณ์หรือข้อติติงเสียทีเดียว หากแต่เป็นหัวข้อที่พลันฉุกคิดนึกสงสัยขึ้นมาระหว่างนั่งดู “Analog Squad” ไปเรื่อยๆ

นั่นคือ เอ๊ะ! คนอายุ 60-70 ปี, คนอายุ 40 ปลายๆ ถึง 50 ปี ตลอดจนหนุ่มสาวอายุไม่เกิน 30 ปี ในสังคมไทยยุคต้น 2540 หรือปลาย 1990 นั้นมีลักษณะการพูดจาสื่อสาร มีกิริยาท่าทาง มีสุขภาพร่างกายโดยเฉลี่ย และมีโลกทัศน์ เหมือนตัวละครในซีรีส์เรื่องนี้ จริงๆ หรือไม่?

จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมองว่า “คนสามวัย” ในซีรีส์ ดูจะเป็น “ภาพแทน” ของ “คนสามเจน” ในยุคสมัยปัจจุบันมากกว่า ขณะที่ถ้าย้อนเวลากลับไปในปี 2542 (หรือก่อน-หลังนั้นเล็กน้อย) คนไทยอายุ 60-70 ปี หรือ 40-50 ปี น่าจะดู “แก่กว่า” สุรสีห์-วิยะดา และปีเตอร์-น้ำฝนแน่ๆ

เช่น ผมรู้สึกว่าสุรสีห์ในวัย 73 ปี ซึ่งมารับบท “ปู่เขียว” ณ ปัจจุบันนี้ กับ “ครูสมาน กาญจนะผลิน” ที่ออกมาแนะนำซิงเกิล “รักคุณเข้าแล้ว” ฉบับเรียบเรียงใหม่โดย “บอย โกสิยพงษ์” เมื่อปี 2537 ในวัย 73 ปีเช่นกัน (ก่อนที่ครูสมานจะเสียชีวิตในปี 2538) มีภาพลักษณ์เป็น “คนต่างวัย” กัน

หรือในช่วงทศวรรษ 2530 หลายคนจะรู้สึกว่า “สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต” คือดาราหญิงรุ่นอาวุโสมากของวงการ ก่อนที่ “ป้าทอง” จะเสียชีวิตในวัย 71 ปี เมื่อ พ.ศ.2535 ผิดกับวิยะดาในวัย 67 ปี ณ ปัจจุบัน ผู้สวมบทเป็นคุณย่านักดื่มยุคปลาย 90 ที่ขึ้นไปร้องเพลง “มีอะไรอ๊ะเปล่า” ในซีรีส์ ซึ่งแลดูเป็น “คนต่างเจน” กับป้าทองในวันนั้นลิบลับ

ประเด็นใหญ่และท้าทายมากลำดับสุดท้าย ที่ผมมองว่า “Analog Squad” สามารถสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยยุคต้น 2540 ออกมาได้น่าสนใจและชวนขบคิดตีความ ก็คือ หากพิเคราะห์ผ่านเรื่องราวของ “ครอบครัวทางวัฒนธรรม/ครอบครัวในจินตนาการ” หน่วยหนึ่ง ที่มิได้ยึดโยงกันทาง “สายเลือด” หรือ “ชีววิทยา” เหมือนซีรีส์กำลังบอกเราว่า ณ ห้วงเวลาหนึ่ง คนไทย “ทุกบ้าน” ยังเคยมี “หัวหน้าครอบครัว” ร่วมกัน

หรือพูดอีกแบบได้ว่า ในยุคสมัยหนึ่ง เมื่อเรากำลังเผชิญหน้ากับสภาวะผันผวนป่วนปั่นไปพร้อมๆ กัน สังคมทั้งสังคม (ในฐานะ “ครอบครัวใหญ่” ครอบครัวหนึ่ง) ต่างเคยรู้สึกว่าพวกเราทุกคนยังมี “หัวหน้าครอบครัว” เป็นหลักยึดพึ่งพิง

สิ่งที่น่าตั้งคำถาม คือ ล่วงเลยมาถึงทศวรรษ 2560 อารมณ์ความรู้สึกร่วมทำนองนี้ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยหรือไม่?

ถ้าหลายคนให้คำตอบไปในแนวทางใกล้เคียงกันว่า “ไม่” นั่นย่อมหมายความว่า หากเปรียบเทียบระหว่างเมืองไทยเมื่อ 20-30 ปีก่อน กับเมืองไทยในปัจจุบัน สิ่งที่สูญหายไปไม่ได้มีเพียง “วัตถุรูปธรรม” เช่น เพจเจอร์ ตู้โทรศัพท์หยอดเหรียญ ซีดีเพลง เทปคาสเส็ต ทามาก็อตจิ หรือกล้องถ่ายรูปอะนาล็อกเท่านั้น

แต่ยังรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกเชิงนามธรรมบางอย่าง (ที่มีศักยภาพในการยึดโยงผู้คนเข้าหากัน และมีอำนาจนำในการกำหนดวิธีคิด-วิธีมองโลกของพวกเขา) ด้วย •

| คนมองหนัง