บทเรียนจาก ‘อาร์เจนตินา’

(Photo by JUAN MABROMATA / AFP)

แม้จะไม่เป็นข่าวที่กระจายในวงกว้างนัก แต่สำหรับผู้ที่ติดตามแนวโน้มประชาธิปไตยโลก ข่าวที่ถือว่าเป็นเรื่องฮือฮาควรให้ความสนใจอย่างมากคือ การเลือกตั้งประธานธิบดีอาร์เจนตินา ที่ “ฮาเวียร์ มิลเล” ได้รับเลือกตั้ง

“มิลเล” เป็นนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม ได้รับเลือกเข้ามาเพราะนโยบายที่จะฟื้นวิกฤตเศรษฐกิจระดับประเทศจะล่มสลายของอาร์เจนตินาด้วย “ยาแรง” ชนิดที่สำนักข่าวต่างๆ ใช้ศัพท์ใกล้เคียงกับคำว่า “บ้าไปแล้ว” กันเลยทีเดียว

หลังได้รับเลือกตั้งเขาเสนอแผนฟื้นฟูประเทศด้วยความเด็ดขาด ด้วยคำ “ไม่มีที่ว่างสำหรับความค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีที่ว่างสำหรับความเพิกเฉยหรือมาตรการเพียงครึ่งๆ กลางๆ”

ด้วยการเสนอยุบ “ธนาคารชาติ” และกระทรวง พร้อมกับปลดข้าราชการครั้งใหญ่ เพื่อลดรายจ่ายภาครัฐ โอนงานไปให้เอกชนทำ

ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะอาร์เจนตินาทศวรรษที่ผ่านมาบริหารประเทศแบบ “ประชานิยม” เต็มที่ จนหนี้ภาครัฐสูงขึ้นมหาศาล พร้อมๆ กับเงินเฟ้อ เกิดปัญหาด้านการคลังรุนแรง จนเป็นที่รู้กันว่าจะเป็นประเทศที่ไปไม่รอด

ประชาชนอาร์เจนตินาเลือก “มิลเล” มาเป็นผู้นำด้วยความหวังว่าจะผ่าตัดประเทศครั้งใหญ่

หลังจากประกาศนโยบายเช่นนั้น มีการประเมินกันว่า อาร์เจนตินาต้องแลกความหวังที่จะสร้างอนาคตใหม่ให้ประเทศกับความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนปัจจุบันอย่างรุนแรงทั่วทุกหัวระแหง และมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกต่อต้านจนเกิดความไม่แน่นอนในเสถียรภาพทางการเมืองจากนโยบาย “ผ่าตัดประเทศ” ครั้งใหญ่นี้

 

นั่นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับการถูกค่านิยมการเมืองนำพาไปในทาง “ประชานิยมไม่หยุดหย่อน” ที่วันหนึ่งประชาชนต้องเลือกคนที่จะมาสร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง เพราะให้ประเทศมีทางฟื้นฟูกลับสู่การมีความหวังที่จะอยู่รอด

ความน่าสนใจเรื่องนี้อยู่ที่การหันกลับมาประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาเดินหน้า “ประชานิยม” กันอย่างครึกโครม ในนามของ “การสร้างแรงกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ”

“การกู้เงินมาแจกประชาชน” เพื่อสร้างกำลังซื้อให้เกิดหมุนเวียนสู่การผลิตและการจ้างงาน ดูจะเป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลเลือกใช้ กระทั่งหนี้สินภาครัฐสูงลิ่ว

ตามด้วยมาตรการขึ้นเงินเดือนและเพิ่มสวัสดิการข้าราชการครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อหวังในกำลังซื้อ จนภาระรายจ่ายในการบริหารงานของรัฐบาลสูงลิ่ว ท่ามกลางหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ยังมีนโยบายเพิ่มค่าจ้างภาคเอกชนเข้ามา ด้วยความหวังเดียวกันคือเพิ่มกำลังซื้อไปกระตุ้นระบบเศรษฐกิจ

ความน่าสนใจอยู่ที่ “ประชาชนไทย” ส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามกับการบริหารประเทศแนวทางนี้

 

ผลสำรวจล่าสุดของ “นิด้าโพล” เรื่อง “ขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำ”

ความคิดเห็นของประชาชนต่อการขึ้นเงินเดือนข้าราชการกลุ่มแรกเข้า ภายใน 2 ปี ร้อยละ 48.93 ระบุว่า เหมาะสมดีแล้ว, ร้อยละ 28.63 ระบุว่า ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะแรกเข้าหรือรับราชการมานานแล้ว, ร้อยละ 3.74 ระบุว่า ขึ้นน้อยเกินไป

มีแค่ร้อยละ 13.66 ที่ระบุว่า ไม่ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการตอนนี้, ร้อยละ 3.51 ระบุว่า ขึ้นมากเกินไป และร้อยละ 1.53 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

สำหรับความเห็นต่อการเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ร้อยละ 35.11 ระบุว่า ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเพิ่มขึ้นเท่ากันทุกจังหวัด, ร้อยละ 28.40 ระบุว่า ขึ้นน้อยเกินไป, ร้อยละ 28.32 ระบุว่า เหมาะสมดีแล้ว

มีร้อยละ 6.18 เท่านั้นที่ว่า ไม่ควรขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้, ร้อยละ 0.84 ระบุว่า ขึ้นมากเกินไป และร้อยละ 1.15 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

หากมองแนวโน้มของวิธีการบริหารจัดการประเทศแล้วประเทศไทยเราย่างก้าวในรอบเท้าที่อาร์เจนตินาเคยเดินอย่างชัดเจน

เพียงแต่วันนี้ประชาชนอาร์เจนตินาถึงเวลาที่รวมใจกันเลือกความลำบากให้ตัวเอง เพื่อสร้างความหวังว่าประเทศจะฟื้นฟูจากสภาพจวนเจียนล่มสลายได้

ความน่าสนใจอยู่ที่วันหนึ่งที่ประเทศถลำลึกไปใน “หล่มวิกฤตชีวิต” อย่างที่เกิดขึ้นกับอาร์เจนตินา

ประชาชนไทยจะมีจิตสำนึกยอมเลือกความลำบากเช่นนั้นหรือไม่

หรือต้องใช้กำลังอาวุธบังคับ เหมือนที่เป็นมาทุกครั้ง จนกลายเป็นความเคยชิน