5 เมืองอัจฉริยะ ที่น่าจับตามองที่สุดในอาเซียน (จบ)

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

5 เมืองอัจฉริยะ

ที่น่าจับตามองที่สุดในอาเซียน (จบ)

 

นิวคลากซิตี้ ฮานอย ขอนแก่น

บทความนี้เป็นตอนสุดท้ายในชุดเมืองอัจฉริยะ 2 ตอนจบ โดยหยิบยกเมืองอัจฉริยะทั้ง 5 ที่น่าจับตาในอาเซียนมาสนทนากัน

รายการเมืองอัจฉริยะเหล่านี้คัดสรรโดยเว็บไซต์ TECH COLLECTIVE ทางลิงก์ https://techcollectivesea.com/2023/10/20/future-smart-cities-southeast-asia-startups/ จากข้อเขียนเรื่อง “The future of smart cities in Southeast Asia : 5 cities to kickstart your startups”

ซึ่งบทความคราวก่อนกล่าวถึง 3 เมืองแรกไปแล้ว คือ 1.สิงคโปร์ซิตี้ 2.กัวลาลัมเปอร์ และ 3.ภูเก็ต

ทีนี้มาดูกันว่าอีก 2 เมืองที่เหลือคืออะไรและมีความน่าสนใจอย่างไร

 

4.นิวคลากซิตี้ ประเทศฟิลิปปินส์

ประเทศฟิลิปปินส์มีเมืองหนึ่งซึ่งชื่ออาจไม่คุ้นหูคนไทยนักชื่อ “นิวคลากซิตี้” (New Clark City) แต่แม้จะยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักก็ตาม ที่นี่กลับมีโครงการเมืองอัจฉริยะที่น่าจับตามองไม่น้อย

โครงการนี้พัฒนาโดยองค์กรที่ทำหน้าที่พัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะชื่อว่า The Bases Conversion and Development Authority หรือ BCDA ทำหน้าที่เร่งการเจริญเติบโตของเมืองด้วยการเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่อัจฉริยะ มีความยั่งยืน และคำนึงถึงทุกคน

ด้วยการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน การพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยีเมืองอันชาญฉลาด

เหตุผลหนึ่งที่นิวคลากซิตี้ยังไม่ค่อยรู้จักมากนักก็เป็นเพราะว่าเมืองนี้เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาใหม่ (planned community) ไม่ได้เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยมาช้านาน

อย่างไรก็ตาม นิวคลากซิตี้วางแผนพัฒนาเมืองให้สามารถรองรับการใช้ชีวิตของผู้คนได้มากถึง 1,200,000 คนในอนาคต

เมืองนี้มีขนาดพื้นที่ 94.5 ตารางกิโลเมตร เป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษคลาก (Clark Special Economic Zone) ตั้งอยู่ ณ เมืองบัมบัน (Bamban) และคาปาส (Capas) ในจังหวัดทาร์ลัก (Tarlac) ทางตอนกลางของเกาะลูซอน

สำหรับแฟนกีฬาก็อาจคุ้นเคยกับเมืองนี้อยู่บ้าง เพราะเมืองนี้มีการก่อสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่ มีทั้งสนามฟุตบอลและกรีฑา รวมทั้งสระว่ายน้ำมาตรฐาน โดยใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ 2019 หรือเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา

แต่ปัญหาของนิวคลากซิตี้ในปัจจุบันก็คือเรื่องการจับมือกันเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ โครงการยังสะดุดไปนานในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แต่ถึงกระนั้นที่นี่ก็มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น เทคโนโลยีอัตโนมัติ การบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์แบบเรียลไทม์ การคมนาคมขนส่ง การมีศูนย์บริหารจัดการข้อมูล

ตลอดจนมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ล้ำสมัย เป็นต้น

 

5.ฮานอย ประเทศเวียดนาม

เมืองสุดท้ายที่ TECH COLLECTIVE เห็นว่าน่าสนใจสำหรับสตาร์ตอัพก็คือฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ซึ่งหลายคนคงแปลกใจว่าทำไมฮานอยถึงติดโผกับเขาด้วย เพราะภาพจำของชุมชนเมืองในเวียดนามก็คือความแออัดและการจราจรที่แน่นขนัดไปด้วยกองทัพมอเตอร์ไซค์ที่ส่งเสียงอึกทึกครึกโครม รวมทั้งอาคารบ้านเรือนที่เป็นห้องแถวคร่ำคร่าอัดแน่นเต็มพื้นที่

ฮานอยเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแต่ไม่มีภาพลักษณ์ด้านความไฮเทคล้ำสมัย แล้วเหตุใดจึงได้ถูกหมายตาให้เป็นหนึ่งในห้าเมืองอัจฉริยะที่มีอนาคตสดใสในอาเซียนด้วย

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าฮานอยมีแผนสร้างเมืองอัจฉริยะเช่นกัน ด้วยการพัฒนาพื้นที่อยู่อาศัยให้มีความทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมือง

รวมทั้งตั้งศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะสำหรับวิเคราะห์และรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ตลอดจนควบคุมการจราจร และป้องกันปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ

ฮานอยนำเทคโนโลยีมาใช้หลากหลายด้าน ตั้งแต่บูรณาการเข้าสู่งานจราจรอันเป็นปัญหาสำคัญของเมือง การเฝ้าระวังความปลอดภัยและให้ข้อมูลข่าวสารแก่นักท่องเที่ยว การใช้พลังงานสะอาด ประหยัด และหมุนเวียน สุขภาพอนามัย การรักษาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเรื่องการศึกษา

ซึ่งทั้งหมดนี้คือการกรุยทางไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ให้บรรลุถึงภายในปี 2030 หรืออีกหกปีข้างหน้า ทั้งในด้านการปรับปรุงคุณภาพชีวิต การบริหารเมืองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการรักษาความปลอดภัยแก่ประชาชน

 

บทสรุปของ TECH COLLECTIVE

TECH COLLECTIVE ทิ้งท้ายว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องการเทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นอัจฉริยะสำหรับการจัดการข้อมูล

ซึ่งวิศวกรโยธาจำเป็นต้องเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อบริหารโครงสร้างพื้นฐาน และออกแบบพื้นที่สาธารณะกับที่อยู่อาศัยที่สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน

มากไปกว่านั้นก็คืออาคารต่างๆ ต้องมีความทนทานและยืดหยุ่นต่อผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอีกด้วย

กล่าวโดยสรุปก็คือ เมืองอัจฉริยะในอาเซียนจะเปลี่ยนโฉมหน้าทั้งของภูมิภาคและโลก ในการสรรค์สร้างเมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ใช้วัตถุดิบที่ยั่งยืน

ดังนั้น ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพทั้งหลายควรให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจเชิงนิเวศน์หรือให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม (eco-friendly business) และสามารถพัฒนาข้อมูลเชิงลึกเพื่อปรับปรุงบริษัทและสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้น

 

ความคิดเห็นของผม

: ทั้งสี่เมืองน่าจับตา

แต่ภูเก็ตกับขอนแก่นน่าสนใจกว่า

ทัศนะของผมต่างจาก TECH COLLECTIVE อยู่พอสมควร คือผมเห็นว่าทั้งสิงคโปร์ซิตี้ กัวลาลัมเปอร์ นิวคลากซิตี้ และฮานอย ล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจด้วยกันทั้งสิ้น

แต่เมืองที่น่าจับตามากกว่าคือ “ขอนแก่น” เพราะแนวคิดเริ่มต้นและวิธีการพัฒนาเมืองที่เรียกว่า “ขอนแก่นโมเดล” (Khon Kaen Model) นั้นกลับตาลปัตรกับทั้งสี่เมืองที่ทางเว็บไซต์เลือกมา ยกเว้นภูเก็ตที่มีความคล้ายคลึงกับขอนแก่นอยู่พอสมควร

ความแตกต่างอย่างสำคัญก็คือเมืองทั้งสี่ถูกออกแบบ วางแผน และกำหนดเป้าหมายจากภาครัฐ โดยรวมศูนย์การทำงานเอาไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมาก แต่ต่อให้บรรลุเป้าที่ตั้งไว้ก็ไม่ได้เปลี่ยนวิธีการพัฒนาแบบรวมศูนย์ อาจมีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมารับผิดชอบโดยตรงก็จริง แต่ก็ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะรวมภาคประชาชนเข้ามาด้วย ดังนั้น จึงไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและการกระจายอำนาจได้ ซึ่งผมมองว่าปัญหาทั้งสองเรื่องนี้เป็นผลพวงที่ตามมาจากการพัฒนาแบบรวมศูนย์

ในขณะที่ขอนแก่นโมเดลเป็นการพัฒนาจากปลายทาง คือเริ่มต้นที่ท้องถิ่นและจบลงที่ท้องถิ่น ผ่านการตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (Khon Kaen Think Tank) หรือ KKTT อันเป็นการรวมตัวและลงขันกันจากภาคเอกชนจำนวนมากในขอนแก่นให้กลายเป็นบริษัทสำหรับพัฒนาเมืองของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับเมืองไปสู่การเป็นขอนแก่นสมาร์ทซิตี้ (Khon Kaen Smart City) หรือเมืองอัจฉริยะนั่นเอง

โดยดำเนินการควบคู่ไปกับบริษัทขอนแก่นทรานซิทซิสเต็ม (Khon Kaen Transit System) หรือ KKTS ที่มาจากการรวมตัวกันของห้าเทศบาลในพื้นที่ เพื่อทำการระดมทุนและพัฒนาเมืองด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะแบบรถไฟฟ้ารางเบา โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลกลาง ตามแนวทางที่เรียกว่าการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยใช้ขนส่งมวลชนเป็นตัวนำ (Transit Oriented Development)

ซึ่งผมคิดว่าวิถีทางในการพัฒนาแบบขอนแก่นโมเดลนั้นสามารถแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำและการกระจายอำนาจได้ด้วย

ในขณะที่ภูเก็ตนั้นก็มีลักษณะการพัฒนาในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับขอนแก่นและเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน คือบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมืองจดทะเบียนในเดือนมกราคมปี พ.ศ. 2558 ส่วนภูเก็ตก็ก่อตั้ง “บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง” ในปี 2559 และมีการระดมทุนจากประชาชนกับภาคเอกชนราวๆ 100 ล้านบาทในช่วงเริ่มต้น

พอปีถัดมา ใน พ.ศ.2560 ก็เกิดบริษัทขอนแก่นทรานซิทซิสเต็มขึ้นที่ขอนแก่นเพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเบา

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่า TECH COLLECTIVE ต้องการนำเสนอเมืองอัจฉริยะที่เหมาะกับสตาร์ตอัพเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงมองเพียงผลบั้นปลายของโครงการ ไม่ได้สนใจรูปแบบของการพัฒนา

กล่าวอีกทางหนึ่งก็คือ เขาพิจารณาเฉพาะในเชิงธุรกิจและเทคโนโลยีเท่านั้น ไม่ได้สนใจในเชิงการเมืองการปกครอง

แต่สำหรับผมซึ่งสนใจมิติการปกครองด้วย จึงคิดว่าขอนแก่นและภูเก็ตน่าสนใจกว่า

อีกทั้งยังเป็น “ตัวแบบใหม่” ที่ทำให้สำเร็จได้ยากยิ่ง แต่หากทำได้จริงก็จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญถึงขั้น “ปฏิวัติ” วิถีของการพัฒนาเมืองในประเทศไทยไปเลยทีเดียว