เรื่องอื้อฉาว ในสวนลุมพินี

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมืองฉบับที่แล้ว จบลงพร้อมกับเรื่องราวสวนสนุก สวนลุมพินี ยังไม่ทันได้พาไปมองเรื่องตื่นเต้นและอื้อฉาว ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

เริ่มตั้งแต่ เมื่อสิ้นสุดสัญญาสวนสนุก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ ได้เสนอความเห็นให้สร้างสนามกีฬาในสวนลุมพินี

โชคดีว่าคณะกรรมการสวนลุมพินีไม่เห็นด้วย ด้วยเป็นการขัดพระราชประสงค์ และเห็นว่ากรุงเทพมหานครยังไม่มีสวนสาธารณะสักแห่งที่ประชาชนจะได้พักผ่อนสงบอารมณ์ เช่นเมืองอื่นๆ หากสร้างเป็นสนามกีฬา ความสงบจะหมดไป จะเต็มไปด้วยบุคคลและยวดยาน มีเสียงเอิกเกริก

ในปี พ.ศ.2481 คณะกรรมการฯ จึงเสนอให้รัฐบาลโอนสวนลุมพินีให้แก่เทศบาลนครกรุงเทพ ให้ทำสวนสาธารณะสำหรับประชาชน

โดยมีข้อกำหนดว่าจะต้องดำเนินการตามแผนผังเดิม และใช้เฉพาะในกิจการของสวนลุมพินีเท่านั้น

 

แต่ยังไม่ทันดำเนินการใด ก็เข้าสู่ช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นได้เข้าใช้พื้นที่สวนลุมพินีเป็นที่ตั้งของค่ายทหาร และเป็นสถานที่ฝึกซ้อมรบ จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม

ต่อมาบริษัทประสิทธิ์สิน เจ้าของโรงแรมคิงส์โฮเต็ล ได้ขอเช่าพื้นที่สระน้ำ ในสวนลุมพินี จากเทศบาลนครกรุงเทพ เปิดภัตตาคารลอยน้ำ คล้ายภัตตาคารลอยน้ำจัมโบ้ (Jumbo) ที่อ่าวอเบอร์ดีน ในฮ่องกง โดยขอทำสัญญาเช่านานถึง 20 ปี และจ่ายค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท

จึงเป็นที่มาของภัตตาคารกินนรีนาวา ที่เปิดดำเนินการในปี พ.ศ.2504 สถาปนิกผู้ออกแบบมีแนวคิดให้เป็นเรือกินรีที่แตกต่างไปจากเรือมังกรต้นฉบับ จึงตกแต่งหัวเรือด้วยรูปปั้นกินรี แต่ด้วยรูปแบบกินรีนั้นเปลือยอก เลยกลายเป็นประเด็นปัญหาไม่เหมาะสม และเป็นทัศนะอุจาด วุ่นวายถึงขั้นมีการตั้งกระทู้ถามในรัฐสภา เป็นเหตุให้เจ้าของกิจการต้องแก้ปัญหานำผ้ามาคลุมอกกินรี ที่กลายเป็นเรื่องตลกขบขัน

กิจการภัตตาคารลอยน้ำนั้น นอกจากปัญหากินรีเปลือยอกแล้ว ยังมีปัญหาน้ำเสียจากครัวและขยะ ทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จนต้องมีมาตรการรักษาคุณภาพน้ำตามมา

ไปจนถึงปัญหาเกิดเพลิงไหม้ ในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2514 ทำความเสียหายอย่างมาก และนำไปสู่บทอวสานของภัตตาคารกินนรีนาวา ในสวนลุมพินี

ภัตตาคารกินนรีนาวา

ทั้งนี้ นอกจากให้เช่าทำภัตตาคารลอยน้ำแล้ว เทศบาลนครกรุงเทพในอดีตยังสร้างปัญหาอื่น โดยให้เอกชนเช่าพื้นที่ประกอบกิจการหลายอย่าง อาทิ โรงผลิตไฟฟ้า

โรงเรียนไทย โรงเรียนจีน ร้านอาหาร

อีกทั้งมีคนยากจนไร้บ้านใช้เป็นที่อาศัย มีผู้ประกอบอาชีพบริการ เสนอขายสินค้าในเวลากลางคืน ซึ่งทำให้สวนลุมพินีมีแต่ความวุ่นวาย ไม่ร่มรื่น ไม่ได้เป็นสวนสาธารณะที่สวยงามตามพระราชประสงค์

อยากจะบอกว่าผู้ที่ใช้ประโยชน์สวนลุมพินีในทุกวันนี้ ต้องเข้าใจว่าผู้บริหารกรุงเทพมหานครหลายคนต้องใช้พละกำลังความสามารถอย่างมาก กว่าจะมาเป็น

สวนลุมพินีที่สวยงามร่มรื่นได้

จนเป็นพื้นที่สีเขียวผืนใหญ่ ในย่านการค้าธุรกิจของกรุงเทพฯ ที่มีความงดงาม ร่มรื่น จากพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด จนเป็นหลักหมาย (landmark) ที่รู้จักของคนไทย คนเทศ และนักท่องเที่ยว จนเป็นต้นแบบสวนสาธารณะอื่นในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด

พาไปมองสวนลุมพินีต่อเนื่องมาหลายฉบับ คงจะเห็นว่าตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมานั้น สวนลุมพินีผ่านเหตุการณ์ผันผวนตลอดมา มีทั้งสุขสมหวัง เศร้ารันทด สนุกเริงร่า ตื่นเต้นดุเดือด อื้อฉาวอุจาด สกปรกเหม็นเน่า แบบว่าครบทุกรสแบบอาหารไทย •

 

มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส