น้อยหน่าเครือ ไม้นอก ไทยก็มี

ช่วงเวลาปลายปีเหมือนเวลาแห่งการท่องเที่ยว ต่างชาติก็มาเที่ยวไทยให้เศรษฐกิจคึกคัก

ส่วนคนไทยก็ออกเดินทางกระจายรายได้เที่ยวต่างประเทศเช่นกัน เที่ยวกันไปมาเพื่อเศรษฐกิจโลก

เมื่อพฤศจิกายนที่ผ่านมาจึงได้มีโอกาสชมตลาดสดในเมืองลี่เจียง ประเทศจีน

เห็นผลไม้ชนิดหนึ่งหน้าตาแปลกมาก ลักษณะคล้ายน้อยหน่าบ้านเรา แต่ตาใหญ่มากๆ เปลือกมีสีแดง

เก็บความสงสัยกลับมาไทย

เมื่อทำการสืบค้นพบว่า ผลไม้ชนิดนี้คนไทยเรียกว่า น้อยหน่าเครือ หรือ น้อยหน่าป่า หรือ ซากรวยซา หรือ สะเกึ๊ยสะ

ที่คนไทยเรียกว่าน้อยหน่าเครือ น่าจะเป็นเพราะลักษณะของผลคล้ายน้อยหน่าและลำต้นเป็นแบบเครือเถา พี่น้องไทยเราก็เลยเรียกตามลักษณะที่เห็น

แต่การเรียกเช่นนี้จะทำให้เข้าใจผิดในทางพฤกษศาสตร์ได้ เนื่องจากไม้ชนิดนี้เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์โป๊ยกั๊ก (Schisandraceae)

ซึ่งเป็นคนละวงศ์กับน้อยหน่าบ้าน ซึ่งอยู่ในวงศ์ Annonaceae

 

น้อยหน่าเครือมีถิ่นกำเนิดกระจายอยู่ใน กัมพูชา บังกลาเทศ อินโดนีเซีย จีน หิมาลัย อินเดีย ญี่ปุ่น ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ไต้หวัน ไทย เวียดนาม

เป็นไม้เถาเลื้อย ใบเป็นแบบใบเดี่ยว รูปรีหรือค่อนข้างรูปไข่ เนื้อใบหนาคล้ายหนังหรือบางคล้ายกระดาษ โคนใบรูปลิ่ม หรือรูปลิ่มกว้าง พบน้อยที่เป็นรูปตัด ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลม หรือเรียวแหลมสั้นๆ พบน้อยที่ปลายมน

ดอกเดี่ยว ออกที่ซอกใบ มีก้านดอก กลีบรวม 8-16 กลีบ (อาจมากได้ถึง 24) ขนาดใหญ่ สีขาว สีแดง สีม่วงแดง หรืออาจจะพบสีเหลือง

ผลมีสีแดงหรือสีม่วงแดง เมล็ดรูปค่อนข้างกลม ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบเฉพาะทางภาคเหนือ ในฐานข้อมูลของ Plant of the World รายงานว่าพืชในสกุลนี้ทั่วโลกมีอยู่ 17 ชนิด กระจายอยู่ในประเทศแถบเอเชียทั้งหมด ได้แก่

1. Kadsura acsmithii R.M.K.Saunders พบในเกาะบอร์เนียว

2. Kadsura angustifolia A.C.Sm. พบทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนและเวียดนาม

3. Kadsura borneensis A.C.Sm. พบในเกาะบอร์เนียว

4. Kadsura celebica A.C.Sm. พบในเกาะซูลาเวซี ประเทศอินโดนีเซีย

5. Kadsura coccinea (Lem.) A.C.Sm. พบในจีนตอนกลางและตอนใต้ เกาะไหหลำ ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม

6. Kadsura heteroclita (Roxb.) Craib ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดกระจายค่อนข้างสูงพบในอัสสัม บังกลาเทศ บอร์เนียว กัมพูชา จีนตอนกลางและตอนใต้ หิมาลายาตะวันออก เกาะไหหลำ อินเดีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ศรีลังกา เกาะสุมาตรา ไต้หวัน ไทย เวียดนาม

7. Kadsura induta A.C.Sm. พบในประเทศจีนและเวียดนาม

8. Kadsura japonica (L.) Dunal พบในญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน

9. Kadsura lanceolata King พบในเกาะบอร์เนียว มาเลเซีย อินโดนีเซีย

10. Kadsura longipedunculata Finet & Gagnep. พบในจีนตอนกลางและตอนใน และในเกาะไหหลำ

11. Kadsura marmorata (Hend. & Andr.Hend.) A.C.Sm. พบในฟิลิปปินส์

12. Kadsura matsudae Hayata พบในหมู่เกาะริวกิวในญี่ปุ่นและไต้หวัน

13. Kadsura oblongifolia Merr. พบทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เกาะไหหลำ และเกาะไต้หวัน

14. Kadsura philippinensis Elmer พบในฟิลิปปินส์

15. Kadsura renchangiana S.F.Lan พบทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน

16. Kadsura scandens (Blume) Blume พบในเกาะชวา หมู่เกาะซุนดาน้อยและเกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) มาเลเซีย

17. Kadsura verrucosa (Gagnep.) A.C.Sm. พบใน กัมพูชา เกาะชวา เกาะสุมาตรา ลาว มาเลเซีย ไทย เวียดนาม

จากหลักฐานทางวิชาการ จะเห็นว่าน้อยหน่าเครือในเมืองไทยมีถึง 3 ชนิด คือ Kadsura coccinea (Lem.) A.C.Sm. , Kadsura heteroclita (Roxb.) Craib และ Kadsura verrucosa (Gagnep.) A.C.Sm. แต่คนไทยกลับรู้จักผลไม้ชนิดนี้กันน้อยมาก

มีรายงานว่าผลสุก นิยมนำมารับประทานสด มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน สามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ แยม และไวน์ได้

ผลน้อยหน่าเครืออุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารต่างๆ เช่น วิตามินซี คาร์โบไฮเดรต เส้นใยอาหาร และแคลเซียม เป็นต้น

งานวิจัยพบว่า “น้อยหน่าเครือ” มีคุณค่าทางสารอาหารและมีสารยับยั้งอนุมูลอิสระสูง ภายในผลน้อยหน่าเครือยังมีสารต้านอนุมูลอิสระโพลีฟีนอล และแอนโทไซยานิน ซึ่งมีส่วนช่วยควบคุมการทำงานต่างๆ ในร่างกายให้เป็นปกติ เช่น สุขภาพสมอง รักษาสมดุลในร่างกาย ช่วยชะลอความเสื่อมของระบบประสาท หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ และหลอดเลือด

ภูมิปัญญาชนเผ่าม้ง บนดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ นำเถามาต้มหรือแช่น้ำอาบช่วยรักษาโรคอัมพฤกษ์อัมพาต

ส่วนประเทศจีนนำเถาและราก มาใช้เป็นสมุนไพร รักษาโรคทางเดินอาหารและไขข้ออักเสบ

นอกจากนี้ ยังมีรายงานวิจัยว่าสารสกัดจากเมล็ดน้อยหน่าเครือ มีประสิทธิภาพในการต้านเนื้องอก ต้านเชื้อ HIV และ ไวรัสตับอักเสบ (Liu, & Li, 1995; Gao et al., 2008)

ประเทศจีนนิยมใช้เป็นยาสมุนไพร โดยใช้ส่วนเถาและรากแก้โรคทางเดินอาหารและไขข้ออักเสบ ปัจจุบันพบเป็นยาที่ทรงคุณค่าในการป้องกันเนื้องอก ไวรัสตับอักเสบ

ท่องเที่ยวไปตามเส้นทางก็ได้เรียนรู้และนำมาขบคิดถึงคุณค่าสมุนไพรที่คนไทยอาจมองข้าม น้อยหน่าเครือ น่าจะเป็นสมุนไพรที่ช่วยกันส่งเสริมการขยายพันธุ์เพื่อปลูก และส่งเสริมการนำมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น เป็นการสร้างทางเลือกด้านอาหารและยาสมุนไพรให้กับประชาชนได้ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org