ต่างประเทศ : อนาคต “กาตาลุญญา” กับรอยร้าวที่ยากจะประสาน

การเลือกตั้งรัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นกาตาลุญญา ของสเปน ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา จบลงด้วยการเจรจาตั้งรัฐบาลของ “สามพรรค” ที่มีนโยบาย “สนับสนุนการแยกตัว” เป็นอิสระจากสเปน

การเลือกตั้งดังกล่าวมีขึ้นหลังรัฐบาลสเปนยึดอำนาจจากรัฐบาลกาตาลุญญา นำโดย “กาเลส ปุจเดอมอนต์” อดีตประธานาธิบดีกาตาลันที่เวลานี้ลี้ภัยอยู่ในประเทศเบลเยียม

ผลจากการประกาศอิสรภาพฝ่ายเดียวของแคว้นอันร่ำรวยทางตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม กลายเป็นวิกฤตทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่สเปนก้าวเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยหลังการโค่นล้มผู้นำเผด็จการอย่าง ฟรานซิสโก ฟรังโก เมื่อปี 1975

การเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นเสมือนคำตอบของชาวกาตาลุญญา ว่าต้องการแยกตัวจากสเปนหรือไม่?

ประเด็นซึ่งสร้างความแตกแยกในแคว้นกาตาลุญญาของสเปนอย่างรุนแรง และส่งผลสะเทือนไปถึงสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่อย่าง “เบร็กซิท” มาแล้วก่อนหน้านี้

และผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกที่ยากจะประสาน

และส่งผลให้แคว้นกาตาลุญญารวมถึงสเปนเองต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ในเวลานี้

 

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่ากลุ่มสนับสนุนการแยกตัว 3 กลุ่มนำโดยพรรค “ทูเกเตอร์ฟอร์กาตาลุญญา” ของนายปุจเดอมอนต์ สามารถครองเก้าอี้ส่วนใหญ่ในสภาเอาไว้ได้จำนวน 70 ที่นั่ง น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า 2 ที่นั่ง

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่ากลุ่มหนุนแยกตัวดังกล่าวจะสามารถเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ในเร็วๆ นี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเลือกตั้งใหม่

ด้านพรรค “ชิอูดาดานอส” พรรคต่อต้านการแยกตัวสามารถครองเก้าอี้ได้มากที่สุดในบรรดาทุกพรรคการเมืองของแคว้นกาตาลุญญาครองเก้าอี้ 37 ที่นั่งจากจำนวนเก้าอี้ทั้งหมด 135 ที่นั่ง แต่ไม่สามารถรวบรวมเสียงได้เพียงพอที่จะตั้งรัฐบาลได้

“โอริออล บาร์โตเมอัส” ศาสตราจารย์ด้านการเมืองจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ระบุว่า แคว้นกาตาลุญญาเวลานี้นั้นกลายเป็นสังคมที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายและทะเลาะเบาะแว้งกันมากยิ่งขึ้น

“ความเป็นไปได้ในการเห็นพ้องกันที่จะแก้ปัญหาตอนนี้ดูเหมือนจะอยู่ห่างไกลออกไปยิ่งกว่าเมื่อ 1 ปีก่อน” บาร์โตเมอัสระบุ

 

ปัญหาสำคัญที่ยังคงคลุมเครืออยู่ในเวลานี้ก็คือสถานะของอดีตผู้นำกาตาลุญญาอย่างนายปุจเดอมอนต์ นั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป?

คำตอบชัดเจนอย่างหนึ่งคือการที่นายปุจเดอมอนต์แม้จะยังคงลี้ภัยอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ แต่ก็พยายามวางตัวเองให้อยู่ในฐานะเทียบเท่ากับ “มารีอาโน ราฆอย” นายกรัฐมนตรีสเปน และเรียกร้องการยอมรับจากประชาคมโลก

โดยล่าสุดนายปุจเดอมอนต์เรียกร้องให้สหภาพยุโรป (อียู) หันมาฟังเสียงของประชาชนชาวกาตาลุญญาให้มากขึ้น

“ราฟาเอล อารีนาส” อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนา ระบุว่า นายปุจเดอมอนต์อาจเลือกที่จะเดินทางกลับบ้าน ซึ่งนั่นหมายความว่าอดีตผู้นำกาตาลุญญาจะถูกควบคุมตัวในทันที จากข้อหาก่อกบฏ แบ่งแยกดินแดน และการใช้งบประมาณในทางที่ผิด

ทางเลือกดังกล่าวอาจทำให้นายปุจเดอมอนต์สามารถสาบานตนรับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนฯ ได้ แต่จะไม่สามารถเข้าร่วมประช6มรัฐสภาได้ นับเป็นทางเลือกที่อาจก่อให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นได้

“อารีนาส” ระบุว่า อีกทางเลือกหนึ่งคือ นายปุจเดอมอนต์อาจเลือกที่จะอยู่ในเบลเยียม และยอมสละเก้าอี้ให้กับผู้สมัครที่มีคะแนนเป็นอันดับสองและเปิดทางให้มีการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป

 

สําหรับความห่วงกังวลว่าจะมีความพยายามที่จะผลักดันให้แคว้นกาตาลุญญาแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนอีกหรือไม่ “อิเนส อาร์ริมาดาส” ตัวแทนจากพรรคชิอูดาดานอส ระบุว่า ความเห็นที่แตกเป็นสองฝ่ายในภูมิภาคทำให้การแยกตัวนั้นเกิดขึ้นได้ยากขึ้นยิ่งกว่าช่วงเวลาก่อนหน้านี้

“ก่อนหน้านี้ผลักดันเพื่ออิสรภาพนั้นไม่สามารถเข้าใจได้ และวันนี้มันยิ่งไม่สามารถเข้าใจได้มากยิ่งขึ้นไปอีก” อาร์ริมาดาสระบุ

หลังการเลือกตั้งแคว้นกาตาลุญญาครั้งนี้ แน่นอนว่าจะต้องมีแรงกดดันให้รัฐบาลกาตาลุญญา และรัฐบาลสเปน หันหน้าเจรจากันเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนายราฆอย นายกรัฐมนตรีสเปน ก็ปฏิเสธข้อเสนอเจรจากับนายปุจเดอมอนต์ไปแล้ว

 

สําหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจในแคว้นกาตาลุญญานั้นยังคงมีความไม่แน่นอนนับตั้งแต่การประกาศอิสรภาพ มีบริษัทมากกว่า 3,100 บริษัทที่ตัดสินใจย้ายสำนักงานใหญ่ออกจากแคว้นกาตาลุญญา และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นอีก

ด้านนักเศรษฐศาสตร์อย่าง โฆเซ่ คาลอส ดิเอซ ระบุว่า เวลานั้นไม่มีใครกล้าตัดสินใจลงทุนในกาตาลุญญาจนกว่าสถานการณ์ในภูมิภาคจะมีความชัดเจนมากกว่านี้

การเลือกตั้งแคว้นกาตาลุญญาเมื่อสัปดาห์ก่อนยังแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่เสื่อมถอยลงของพรรคอนุรักษนิยมอย่าง “ป๊อปปูลาร์ปาร์ตี้” (พีพี) พรรครัฐบาลสเปนของนายราฆอย ที่ได้เก้าอี้ในแคว้นกาตาลุญญาไปเพียง 3 ที่นั่งเท่านั้นลดลงจากเดิมที่เคยได้ 11 ที่นั่งเมื่อปี 2015

นอกจากนี้ ยังเป็นสัญญาณว่า “พรรคชิอูดาดานอส” พรรคแนวคิดกลางขวาที่เต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่อาจก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของพรรคพีพี ในการเลือกตั้งใหญ่ของสเปนได้ในอนาคตอีกด้วย