มหากาพย์ประชาธิปัตย์

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ | จรัญ พงษ์จีน

 

มหากาพย์ประชาธิปัตย์

 

“มหากาพย์” คือ “วรรณคดีที่เล่าเรื่องราวของวีรบุรุษ หรือวัฒนธรรม มักเป็นเรื่องเก่าแก่ มีโครงเรื่องซับซ้อนและยาว ตัวละครมากมาย ที่มีเนื้อหายกย่อง สดุดี สรรเสริญการกระทำอันกล้าหาญของคนหนึ่งคนใด หรือหลายๆ คน”

“ลึกแต่ไม่ลับ” ฉบับนี้ ขออนุญาตว่าต่อด้วย “มหากาพย์ประชาธิปัตย์” ก่อนจบบริบูรณ์ หลังประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร ครั้งที่ 3 สะบัดน้ำ ในวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา และได้หัวหน้าพรรค “คนที่ 9” เรียบร้อยแล้ว

คือ “เสี่ยต่อ-นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” รักษาการเลขาธิการพรรค ปฏิบัติหน้าที่รักษาการหัวหน้าพรรค ได้รับฉันทานุมัติด้วยสมาชิกเสียงข้างมาก ให้นั่งแป้นประมุขพรรคสีฟ้า “นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง” เป็นเลขาธิการพรรค

เรียงลำดับไหล่ หัวหน้าป้อมค่ายพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้นมา ประกอบด้วย “1.นายควง อภัยวงศ์ 2.หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช 3.พ.อ.พิเศษ ถนัด คอมันตร์ 4.นายพิชัย รัตตกุล 5.นายชวน หลีกภัย 6.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 7.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 8.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” และ “9.นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน”

สัญญาณการพังทลายของพรรคประชาธิปัตย์ ถูกส่งมาเป็นระยะๆ สะท้อนผ่านจากศึกเลือกตั้งใหญ่ 2 ครั้งหลัง ปี 2562 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งมาเพียง 52 คน เลือกตั้ง 2566 หนักสุด ส.ส.ในสังกัดได้รับเลือกเพียง 25 คน น้อยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

การได้หัวหน้าพรรคคนที่ 9 พร้อมกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม กลายเป็นกุญแจดอกสำคัญ ทำให้ต้นตำรับประชาธิปไตย ที่เคยสร้างชื่อเสียงกิตติคุณให้ใครต่อใครได้ระบือนามมามากต่อมาก ไอดอลตัวพ่อแห่งวงการเมืองเลยก็ว่าได้ กลับเผชิญกับวิบากกรรมโดยพลัน

เมื่อพบว่า สมาชิกพรรคหน้าเก่าหน้าใหม่ ต่างทยอยกันไขก๊อก ประกาศลาออกกันเป็นว่าเล่น เริ่มจาก “นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี “นายสาธิต ปิตุเดชะ-นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย-นางอัญชลี วานิช เทพบุตร-นายพนิต วิกิตเศรษฐ์-น.ส.อรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์-นายวิทเยนทร์ มุตตามระ-นายธนวัช ภูเก้าล้วน-นายวิบูลย์ ศรีโสภณ-อานิก อัมระนันทน์-บุญเลิศ ไพรินทร์” เป็นต้น

หุ้นตก ผู้คนประกาศลาออกกันเป็นว่าเล่น มันต้องมีที่ไปที่มา ข้ออ้างของคนที่ลาออก คือ ผู้นำคนใหม่ประชาธิปัตย์ “ไม่มี สัจจังเว อมตา วาจา” มีการหยิบคำพูดของ “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” ที่เคยกล่าวปราศรัยบนเวทีหาเสียงพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงศึกเลือกตั้ง 2566 ที่ลั่นวาจาไว้หลายเวทีว่า

“ผมไม่บอกว่า พรรคจะได้กี่เขต แต่วันที่พรรคมีวิกฤต ผมประกาศไว้ชัดเจนแล้ว รอบนี้ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่า 52 ที่นั่งผมเลิกเล่นการเมืองทั้งชีวิต เลิกเล่นนะ ไม่ใช่หยุดเล่น เลิกคือเดินหันหลังออกไปเลย” มาเป็นข้ออ้าง

เพราะวาจาสุภาษิต มีความสำคัญ กล่าวแล้วต้องประกอบด้วยประโยชน์ กล่าวแล้วต้องมีเมตตาจิต กล่าวแล้วควรแก่กาลเวลา และ “กล่าวแล้วต้องสัจจริง”

เมื่อลั่นวาจาบนเวทีสาธารณะแล้ว กลับไม่ประกอบด้วยความสัจจริง ไม่ต่างอะไรกับปากมีไว้พูด ตูดมีไว้ตด จึงเป็นต้นเหตุและปัจจัยให้ “ลูกหม้อเก่า” ของค่ายสีฟ้า ยกแผง ตบเท้าลาออกกันเป็นขบวน

 

จริงๆ แล้ว สถานการณ์ของประชาธิปัตย์ ส่อเค้าเล่าอาการ ส่งสัญญาณอันตรายต่อการพังทลายมายาวนาน ยุค “หัวหน้าพรรคคนที่ 8” สมัย “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” มีขุนพลระดับบิ๊กเนมแถวหน้าประกาศไขก๊อกเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน

เป็นต้นว่า “นายกรณ์ จาติกวณิช-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค-นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ-นายถวิล ไพรสณฑ์-นายวิฑูรย์ นามบุตร-นพ.ปรีชา มุสิกุล-นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี-นายวรงค์ เดชกิจวิกรม-นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ-นายกษิต ภิรมย์-นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์-นายอภิชัย เตชะอุบล” เป็นต้น ล็อตแรกๆ ที่ลาออกไม่สามารถหยิบยกความชอบธรรมมาเป็นข้ออ้างได้ดีเท่ากับชุดหลังๆ

อย่างไรก็ตาม แม้ใครต่อใคร บิ๊กเนมกี่รุ่นต่อกี่รุ่นจะไขก๊อก “ประชาธิปัตย์” ก็ยังเป็นสถาบันพรรคการเมือง ทีมงานใหม่ ไม่ใช่ “คนเฝ้าสุสาน” เพราะยังมี ส.ส.ในสังกัดมากถึง 25 ที่นั่ง ขณะที่เสียงข้างมาก คือ 21 ส.ส.อยู่ภายใต้การคอนโทรลของ “นายเฉลิมชัย” กับ “นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง” ที่ขึ้นลิฟต์มาดำรงตำแหน่งแม่บ้านพรรค

การเมืองมันลูกกลม ปาฏิหาริย์มีจริง อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ แบบไม่ทันตั้งตัว วันนี้ ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านร่วมกับพรรคก้าวไกล แป๊บเดี๋ยวก็ไม่แน่ อาจจะแปรสภาพไปเป็นพรรคร่วมได้

ดีดลูกคิดดู รัฐบาล “เศรษฐา 1” พรรคร่วมประกอบด้วยพรรคการเมือง 11 พรรค 314 เสียง คือ “เพื่อไทย” 141 เสียง “ภูมิใจไทย” 71 เสียง “พลังประชารัฐ” 40 เสียง “รวมไทยสร้างชาติ” 36 เสียง “ชาติไทยพัฒนา” 10 เสียง “ประชาชาติ” 9 เสียง กับพรรคเล็กขนาดจิ๋วอีกสี่ซ้าห้าพรรค

ยกพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นตุ๊กตา 21 เสียง บวกข้าวต้มมัดพรรคไทยสร้างไทยของ “คุณหญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” 6 เสียง ยืนค้ำถ่อรอเป็นอะไหล่เสริม รวมกันเป็น 27 เสียง

อย่าว่าแต่พรรคเล็กพรรคน้อย หรือพรรคขนาดกลางระดับ “รวมไทยสร้างชาติ-พลังประชารัฐ” เลย จะดึงมาเสริมใยเหล็กได้สบายบรื๋อ

อะไหล่ 27 เสียง พรรคขนาดใหญ่ระดับ “ภูมิใจไทย” ของ “เสี่ยหนู -อนุทิน ชาญวีรกูล” 71 เสียงก็ยังหนาวๆ ร้อนๆ เลย 314 ที่นั่ง ลบออก 71 เสียง เหลือ 243 เสียง ดึงประชาธิปัตย์ 21 ที่นั่ง กับไทยสร้างไทย 6 ที่นั่งมาช่วยเติม เท่ากับ 269 ยังเกินครึ่งหนึ่งถึง 19 ที่นั่ง

ปัญหาของประชาธิปัตย์ชั่วโมงนี้ จะยืนระยะรักษาเนื้อรักษาตัวอย่างไรให้แข็งแรง ถึงจุดปรับปรุง ครม.ของ “นายเศรษฐา ทวีสิน” ไม่ว่าพรรคหนึ่งพรรคใดออก ได้เข้าร่วมแน่อน

ยืนชักตะพานแหงนรอนานๆ มีสิทธิ์เหี่ยวปลายเอาได้ง่ายๆ กับค่าใช้จ่ายจิปาถะ ตกเดือนละ 6 ล้านบาท แต่จั่วลมคอยเป็นปี กว่าจะถึงเวลาเงินไหลกองทองไหลมา จะงอขี้ก่องซะก่อน

เอาเป็นว่า ถึงตอนนั้น ยังร่วมรัฐบาลไม่ได้ ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ไม่เป็นสับปะรดขลุ่ย เอาระเบิดมาทิ้งบอมบ์ ลบชื่อออกจากสารบบพรรคการเมืองซะก็แล้วกัน