ซมเซยครูดี สะบายดี เซกอง (จบ)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

บทความพิเศษ | สมหมาย ปาริจฉัตต์

 

ซมเซยครูดี

สะบายดี เซกอง (จบ)

 

การศึกษาพัฒนา

สัมพันธ์ไทย-ลาว หมั้นยืน

การเยี่ยมเยียนครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีคนล่าสุดของลาว เด็กนักเรียน และโรงเรียนประถมสมบูรณ์เพียใหม่ของครูสิ้นสุดลง คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ บอกลาเซกองเช้าตรู่วันใหม่ แต่ภารกิจเสริมสร้างสัมพันธ์การศึกษาไทย-ลาวยังคงเดินหน้าต่อไป

ความร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาครู ยกระดับคุณภาพการศึกษาของทั้งสองฝ่าย ช่วยให้ความตกลงด้านการศึกษาที่มีต่อกันมาดำเนินไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ

ความร่วมมือทางการศึกษาไทย-ลาว มีกลไกการดำเนินงานภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ลงนามเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ณ นครหลวงเวียงจันทน์

การประชุมคณะทำงานร่วมด้านการศึกษา ครั้งที่ 1 วันที่ 6 มิถุนายน 2562 ที่โรงแรมชลจันทร์ พัทยาบีช รีสอร์ท จ.ชลบุรี หารือประเด็นความร่วมมือด้านต่างๆ ได้แก่ การพัฒนาการศึกษาปฐมวัย การศึกษาพิเศษ การทำวิจัยทางการศึกษา การอบรมครูด้านสะเต็มศึกษา การจัดการศึกษาดูงานและฝึกอบรมให้แก่ สปป.ลาว โครงการทุนการศึกษา Thailand Scholarship การรับรองคุณวุฒิทางการศึกษา การจัดหลักสูตรทวิถาคี โครงการส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดของหน่วยงานในพื้นที่ชายแดน

ต่อมาคณะผู้บริหารการศึกษาไทยนำโดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายอรรถพล สังขวาสี เดินทางเยือนลาววันที่ 24-27 สิงหาคม 2566 หารือกับนายกิ่งมะโน พมมะหาไซ รองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา เกี่ยวกับการจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะด้านอาชีวศึกษาให้แก่ครูและนักเรียน สปป.ลาว ในสาขาต่างๆ

แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการศึกษา เช่น การบริหารจัดการปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การพัฒนาหลักสูตร การพัฒนาวิชาชีพเกษตร การจูงใจให้เด็กเลือกศึกษาต่อในระดับอาชีวศึกษาเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน และการใช้ AI ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพ

ฝ่ายไทยเสนอให้ลาวพิจารณาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมด้านการศึกษาไทย สปป.ลาว ครั้งที่ 2 ในปี 2567 เพื่อหารือและกำหนดแนวทางความร่วมมือในสาขาที่แต่ละประเทศสนใจ โดยการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ

บรรยากาศยามเช้าที่เมืองละมาม แขวงเซกอง

ก่อนออกเดินทาง ผมถามครูคุนวิไลถึงเส้นทางชีวิตครูลาว ความก้าวหน้าทางวิชาชีพเป็นอย่างไร

ได้คำตอบว่า ครูลาว หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเข้าทำงานเป็นข้าราชการครู 11 ปีได้ตำแหน่งวิชาการเรียกว่า ครูประสบการณ์ขั้นต้น ทำงานต่อมาอีก 9 ปียกระดับเป็นครูประสบการณ์ชั้นกลาง ต่อมาอีก 5 ปีเป็นครูประสบการณ์ชั้นสูง แต่ละระดับได้รับผลตอบแทนการทำงานเพิ่มขึ้นตามลำดับ

“ครูประจำชั้น ลาวเรียกว่าครูประจำห้อง ส่วนผู้อำนวยการต้องเป็นครูมาก่อน 5-10 ปีไม่มีการสอบ การแต่งตั้ง นายบ้าน เจ้าแขวงมีส่วนร่วมพิจารณาด้วย เพราะต้องประสานงานกันในการเอาเด็กมาเข้าเรียน” ครูเล่า และว่า “การเกษียณอายุราชการแต่ก่อน 55 ปี ต่อมาเปลี่ยนเป็น 60 ปี”

“ตัวครูเองเป็นครู 15 ปี ต่อมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยม 26 ปี จนขณะนี้ 62 ปีได้รับการต่ออายุยังทำหน้าที่อยู่”

ถามว่า ไม่อยากเข้ามาทำงานบริหารในกระทรวงศึกษาฯ บ้างหรือ

“อยากอยู่กับเด็กน้อยมากกว่า เป็นครูชำนาญการมีเงินตำแหน่ง อยู่กระทรวงเป็นลูกน้องถูกตัด เงินเดือนฝ่ายบริหารถึงมีเงินเพิ่ม รวมแล้วไม่เท่ากับที่เฮาได้เดือนละ 4-5 ล้านกีบ”

“แล้วครูใหญ่ที่บ้าน เกษียณแล้วชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง” ผมถามถึงคุณสามี ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมอีกแห่งหนึ่ง

“ได้บำนาญเดือนละ 2.7 ล้านกีบ โรงเรียนเอกชนรากแก้วเชิญไปเป็นผู้บริหารให้เงินตอบแทนเดือนละ 6 ล้านกีบ”

ผมเปลี่ยนเรื่องคุยต่อ “โรงเรียนมีปัญหาเด็กนักเรียนใช้โทรศัทพ์มือถือบ้างไหม”

“ประถมห้ามไม่ให้นักเรียนเอามาโรงเรียน มัธยมเอามาได้แต่ให้ใช้กับการเรียนเท่านั้น อย่างอื่นห้าม” ครูย้ำหนักแน่น ก่อนบอกลาเพื่อเดินทางต่อ

“โซก ดี เด้อ”

โครงการโรงเรียนที่ปลอดภัยใน สปป.ลาว “มาช่วยกันสร้างโรงเรียนและชุมชน ให้มีความปลอดภัย”

ริมถนนฝั่งตรงข้ามโรงแรม พระเณรออกเดินบิณฑบาตแต่เช้า ชาวบ้านนั่งรอทำบุญเป็นทิวแถว เสียงตามสายแจ้งข่าวสารผ่านลำโพงใหญ่ดังไปทั่ว

โชเฟอร์อรุณมาเตรียมรถ จอดรอทักทายทุกคน “สบายดี” ก่อนออกเดินทางกลับปากเซ ตามเวลานัด 8 โมงตรงล้อหมุน

เกรงผู้โดยสารเหงาเลยทำหน้าที่มัคคุเทศก์ชวนคุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ตลอดทาง “วิถีชีวิตชนบทพวกเฮาก็อยู่กันได้ ไม่รู้สึกว่าเดือดร้อน”

รถเคลื่อนตัวต่อไปกว่าชั่วโมงครึ่งถึงสวนสีนุก Sinouk Coffee Resort ด้านหลังเป็นไร่กาแฟกว้างใหญ่ใบเขียวสุดสายตา เจ้าของคือ คุณสีนุก ศรีสมบัติ อายุ 72 ปี ยังมีชีวิตอยู่ เริ่มวางมือให้ลูกสาวดูแลต่อ

ผลิตภัณฑ์หลากหลายเน้นใช้เครื่องชง กาแฟคั่วบรรจุถุง กาแฟสีนุกแคปซูล ของที่ระลึกถุงชา และผลิตภัณฑ์แบรนด์เนม

ไม่ได้เป็นแค่ร้านกาแฟและที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว แต่พัฒนาเป็นบ้านการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์กาแฟ ด้วยภาษาโฆษณา “ความหลงใหลในกาแฟลาว”

เบียดตลาดกับกาแฟระดับแมส “ดาวเฮือง” เปิดสาขาตามแขวงต่างๆ แข่งขันกันอย่างดุเดือด

ออกจาก สาลากาแฟสีนุก โชเฟอร์อรุณ สร้างบรรยากาศชวนคุยเรื่องธรรมเนียมการมีครอบครัว ภริยาหลวงเป็นใหญ่มีอำนาจเต็ม คอยดูแลความเป็นอยู่ในบ้าน ใจกว้างยอมให้สามี “มีน้อย” ได้หลายคน ภริยาน้อยคอยช่วยเหลือเชื่อฟัง

แต่ละวันภริยาหลวงจะเอาผ้าขาวม้าไปพาดที่หน้าห้องภริยาน้อย เป็นสัญลักษณ์ให้เตรียมตัวปรนบัติพัดวีสามีอย่าให้ขาดตกบกพร่อง เท่ากับสื่อความถึงสามีไปในตัวว่า ค่ำนี้ให้นอนห้องไหน

“แต่ส่วนใหญ่จะพาดห้องตัวเอง” โชเฟอร์อรุณเล่า ปิดฉากตอนจบ สมาชิกในรถได้ฟังเรื่องเล่า เสียงหัวเราะดังขึ้นพร้อมกัน

โชเฟอร์ชวนคุยต่อถึงชีวิตการมีครอบครัว ผู้ชายขอผู้หญิงแต่งงาน จะพูดว่า “เอาข้อยบ่”

ข้อยในความหมายของลาวหมายถึง ขี้ข้า คนรับใช้ “เอาข้อยบ่” หมายความว่าจะรับเฮาเป็นขี้ข้าไปตลอดชีวิตไหม

ครูจักรพรรดิฟังจบ คุยเสริม “ภาษาไทยความหมายคล้ายๆ กัน ถึงเรียกฝ่ายชายก่อนแต่งงานว่า “เจ้าบ่าว” หมายถึงเป็นบ่าว ยอมเป็นผู้รับใช้ตลอดไปนั่นเอง

 

จบเรื่องเล่าขณะรถวิ่งผ่านหน้าโรงแรมจำปาสักพาเลด อดีตเป็นวังเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาสักหรือศาลาพันห้อง ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2512 สูง 6 ชั้น ประตูหน้าต่างรวมกันกว่า 1,900 บาน สร้างด้วยไม้สัก ไม้เนื้อแข็ง วิจิตรงดงาม ฐานรากไม่มีการตอกเสาเข็ม ใช้เสาจำนวนมากวางซ้อนทับกันเพื่อรับน้ำหนัก สร้างเสร็จปี 2518 เกิดเหตุพรรคประชาชนปฏิวัติลาวยึดอำนาจสำเร็จ เจ้าบุญอุ้มต้องเดินทางหนีไปฝรั่งเศส ทรัพย์สินตกเป็นของหลวง ต่อมาปี 2537 เปิดให้เอกชนไทยเช่าดัดแปลงเป็นโรงแรมทันสมัยเปิดบริการนักท่องเที่ยวเรื่อยมา

ข้ามเขตแดนด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี รถขนเสาโลหะขนาดใหญ่ 5 คันจอดต่อกัน รอผ่านด่านเข้าไปติดตั้งเป็นเสาไฟฟ้ากังหันลมในลาว

คาดว่าเป็นของบริษัท มอนซูน วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ได้สัมปทานผลิตไฟฟ้ากังหันลม ผู้บริจาคติดตั้งระบบไฟฟ้า โคมไฟและพัดลมให้กับโรงเรียนประถมสมบูรณ์เพียใหม่ของครูกิมเฟือง

ผลผลิตการโอ้โลมระหว่างคณะมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กับผู้ประกอบการธุรกิจไทยในลาว มีสถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ เป็นผู้ประสานงาน ทำให้รายการเยี่ยมเยือนลาวจบลงด้วยสวัสดิภาพ ม่วนซื่นด้วยกันทั้งสองฝ่าย

สมดังท่อนท้ายของบทเพลงอมตะ “สองฝั่งของ”

ขอฟ้าดินช่วยเป็นสักขี โปรดคิดปรานีจงอย่าได้มีวันห่าง

อย่าให้สัมพันธ์นั้นต้องจืดจาง ปักฝังชีวีเหมือนนทีสองฝั่งเอย