เฉิดแสงฉาน-เมียนมาสึนามิ!

อภิญญา ตะวันออก

สารภาพ ตระหนก ตื่น แต่ไม่ตกใจ

ตรงข้าม ฉันกลับรู้สึก “รำลึก” และ “ฮึกเหิม” ต่อการที่กองกำลังพันธมิตรหลากหลายชนเผ่าในเมียนมา สามารถยึดพื้นที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้สำเร็จมากมาย รวมทั้งเมืองใหญ่อย่างพะโค รอคอยจะรุกคืบย่างกุ้ง-เนปิดอว์

นั่นเท่ากับว่ารัฐบาลทหารมิน อ่อง ลาย ที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลประชาชนจะถึงกาลสิ้นสุดลง?

ตกตะลึงกันทั้งโลก ต่อการที่กลุ่ม PDF กองทัพร่วมของชนเผ่าในรัฐบาลเงาเมียนมา (PDF) ที่ตั้งขึ้นมาหลังรัฐประหารจะสามารถปลดแอกตนเองเป็นอิสระเป็นครั้งแรก หลังจากอยู่ชายคาพม่า/เมียนมามายาวนานร่วม 7 ทศวรรษ นับแต่ได้เอกราชจากอังกฤษ และกลุ่มชนเผ่าเหล่านี้ ถูกรังแกและลอยแพเรื่อยมา ดังที่มีบางฝ่ายอ้างว่า สหพันธรัฐ (ร่วม) บางแห่งสามารถปกครองตนเองจากข้อตกลงอังกฤษที่ปางหลวง (Panglong Agreement)

ไม่มีใครนึกฝันว่าว่ามันจะใกล้เคียงฝั่งฝันแห่งอิสรภาพอย่างใกล้เคียงที่สุดแล้วตอนนี้ ไม่มีใครกล้าทำนายว่า มันจะออกมาเป็นรูปแบบไหน? ระหว่างการกลับมารวมกันหลังชัยชนะเบ็ดเสร็จที่น่าจะเป็นไปได้ หรืออะไรก็ตามสำหรับความเป็นสหพันธรัฐเมียนมาหรือในชื่ออื่น?

นี่คือห้วงเวลาที่เราควรจดจำมิใช่หรือ? ที่จู่ๆ “ปางหลวง” อดีตกาล ก็กลับมาสู่ปัจจุบัน?

 

คิดดูสิ เมื่อกว่าค่อนของชีวิตเรา คนที่เฝ้าติดตาม เห็นการต่อสู้หลายยุคหลายสมัย ในเผ่าชนของประเทศนี้ ใกล้สุดคือชายแดน ตั้งแต่กะเหรี่ยงพุทธ กะเหรี่ยงคริสต์ ที่มีเด็กแฝดฮะตูเป็นผู้นำ ตัวอย่างที่เห็นได้คือการบุกยึดโรงพยาบาลในราชบุรีของกองกำลังก๊อด’ส อาร์มี จับตัวประกันนับพันคน นั่นคือเหตุการณ์เมื่อ 23 ปีก่อน

แล้วดูตอนนี้สิ แฝดพี่น้องกะเหรี่ยง ซึ่งล้มหายตายไปจากโลกนี้เช่นเดียวกับกลุ่มอื่นๆ แต่ไม่มีใครนึกฝันว่าลูกหลานของเขายังต่อสู้เพื่ออิสรภาพของตนเอง หรือเพื่อประชาธิปไตย

สำหรับเมียนมากลุ่ม NLD ที่ชนะการเลือกตั้ง ทว่า ในนามสหการร่วมกองกำลัง (PDF) พวกเขามีโอกาสจะชนะเผด็จการทหารรัฐบาลกลางที่กดหัวทุกฝ่ายราวกับมิใช่ชนชาติเดียวกัน

ถ่องแท้! นี่คือความสกรรม! ยิ่งกว่าปฏิวัติเผด็จการ!

หรือพวกเขาให้ความสำคัญต่อขบวนการประชาธิปไตย ขนาดนั้นเชียวหรือ?

หรือชาวไทยต้องเรียนรู้เหตุการณ์ในเมียนมาครั้งนี้ อย่างสกรรม สินะ!

และพลวัตครานี้ ที่ทำให้เราสัมผัสจริงๆ ถึงความมีคุณภาพในพลเมืองประเทศนี้ ที่มีคุณภาพและหลากหลาย ทว่า มันได้ถูกกดทับให้ต่ำต้อยด้อยค่ามาเป็นเวลายาวนานในอดีตที่ยังเป็นสหภาพพม่าหรือแม้แต่ปัจจุบัน ในนามพลวัตแรงงานโลก แรงงานไทย กระทั่งสงครามกลางเมืองได้เกิดขึ้น

เราจึงได้รู้ว่า ภายใต้ชื่อนามเมียนมาหลากหลายชนเผ่านี้ พวกเขามีพลวัตที่น่าทึ่งซึ่งอาจนำมาถึงการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ตลอดไปในอนาคต

ไม่ใช่ตกเป็นเป้าเยาะขันหรือตัวตลกของสื่อเพื่อนบ้านในอดีตที่เป็นได้แค่กองกำลังติดอาวุธ บ้างถูกกล่าวหาว่าค้ายาเสพติด ไม่รู้หนังสือ มีผู้นำเหมือนคนป่าเผ่าฮะตู และอื่นๆ จนไม่น่าเชื่อว่า จลนาต่อต้านเหล่านี้มีมายาวนานร่วมสี่ทศวรรษ ส่งผลต่อผู้ลี้ภัยตามชายแดนไทยมาจนบัดนี้

หากไม่มี 1 กุมภาพันธ์ 2564 วันที่นายพลมิน อ่อง ลาย ยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรค NLD ที่มีประชาชนออกมาประท้วงและถูกปราบปรามอย่างรุนแรง ชนเผ่านานาในเมียนมา คงไม่มีวันได้เห็น “รุ่งอรุณ” ของตนเอง

ถ้าเช่นนั้น มันก็คือความน่ายินดีมิใช่หรือ? ที่ฟันฝ่าวิกฤตแห่งความคับแค้นแน่นใจที่สะสมมาครึ่งค่อนศตวรรษนั่น โดยชนทุกหมู่ฝ่ายในเมียนมาได้หันมาร่วมมือกัน มันเป็นความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรม นี่เป็นความกล้าหาญและมรรควิธีอันชอบธรรม

และจากนี้ต่อไปไม่ว่าพ่ายแพ้หรือชนะ คนเมียนมาทั้งมวลได้เรียนรู้แล้วว่า ไม่ควรมีใครที่ทิ้งไว้ให้สิ้นหวัง พวกเขาทุกฝ่ายอยู่ใต้กฎแห่งความเท่าเทียมกัน!

นานมาแล้ว นับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เราได้ขาดหายอย่างสิ้นเชิงสำหรับประเทศเกิดใหม่ในนาม “สหพันธรัฐ” ซึ่งเป็นประชาธิปไตย ซึ่งถ้าหากเมียนมาทำสำเร็จ เท่ากับปลุกผีที่รัฐอำนาจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอนุภาคแม่น้ำโขงที่หวาดระแวงว่า คลื่นปฏิวัติประเทศอย่างฉับพลันที่ว่านี้อาจเป็นโมเดลประชาชนของตน

และนั่นคือสิ่งที่พิสูจน์ว่า เมียนมาที่ไม่ได้อ่อนแอกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อมองลงไปในรายละเอียดของความเป็นพลเมืองประเทศนี้ และใครฤๅจะรู้ว่าเมียนมาเอฟเฟ็กต์ สึนามิเมียนมาจะเป็นคลื่นใต้น้ำ โถมเข้าไปยังชายฝั่งสร๊กใด?

พอกันที! “สิ้นแสงฉาน!”

 

เธอ เธอ เธอ นี่จะทำให้ชาวเขมรตื่นไหม? ประเทศที่ดกดื่น ผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย ทั้งสงครามเวียดนาม สงครามกลางเมือง การฆ่าล้างเผ่าฟันธุ์ตัวเอง

หือ? ตอนเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญ พวกเขาได้เดินไปสู่บทเรียนใหม่ให้ตัวเองคือเกิดขบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กัมพูชาอย่างสกรรม!

ทั้งๆ ที่เขมรไม่มีปัญหาเรื่องชนเผ่าชาติพันธุ์เช่นเมียนมา แต่ก็ใช้เวลาแก้ปัญหายาวลากมาร่วม 40 ปีก็ว่าได้ อะไรที่ทำให้เกิดเงื่อนไขเช่นนั้น ในแต่ละประเทศต่างประสบชะตากรรมนำพาที่มาเหมือนกัน หรือว่าวิธีคิดที่เป็นสากลนั่น?

ทำไมผู้เชี่ยวชาญเมียนมาหลายฝ่าย ทั้งตะวันตกและไทยจึงคาดการณ์ว่า เมียนมามีทักษะวิธีคิดแบบสากลอยู่ในพลเมืองจำนวนมาก? บ้างว่า นี่คือการศึกษาที่อังกฤษทิ้งไว้ให้ และมรรควิธีคิดแบบนั้นยังอยู่ในประชาชน จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเพียงสองปีเศษเท่านั้น คนหนุ่มสาวในเมืองหลังถูกปราบปรามและตัดสินใจเข้าร่วมกับกองกำลัง PDF ตามแต่ละภูมิภาค ใช้เวลาอันสั้นมากในการปฏิวัติ

เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน อย่างที่ทราบ ถ้าสีหนุไม่สหการกับพลพตและสหรัฐไม่ถอนทหาร เขมรแดงจะไม่มีวันได้ชัยชนะโดยง่าย

แต่สาระที่นี้ไม่ใช่อดีตที่ว่า ใครคือผู้ชนะ แต่เป็นเรื่องของชาวเมียนมาที่ต้องการไปสู่อนาคตใหม่อย่างสกรรม! ไม่ซ้ำซากกับอดีต ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีปมที่มาจากบุคลิกของความเป็นชนชาติ และนั่นคือสิ่งที่เมียนมาต่างจากประเทศอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรดแม็ปของรัฐบาลเงา วิธีปฏิบัติอย่างเป็นสากล และนั่นคือมรรควิธีที่น่าสนใจ

สำหรับค่าสัมประสิทธิ์มวลรวมความคิดประชาชนที่อาจวัดค่าไม่ได้เป็นตัวเลข แต่สำหรับจำนวนผกผันในสัมประสิทธิ์ ว่าด้วยจำนวนเลือกตั้งที่นำไปสู่รัฐประหารนั้น ดูเหมือนชาวเมียนมาชาวเมียนมาจะเรียนรู้ ประดุจเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่ดูเหมือนถูกความเฉื่อยเนือยกดทับยาวนานเกินกว่าจะ…

สามารถ “ระเบิด” ศักยภาพในการเผชิญหน้าแก้ปัญหาบ้านเมือง เพื่อไปสู่มรรคผลที่บรรลุ

และนี่คือความแตกต่าง

 

ในอดีต ไทยเคยเผชิญหน้ากับบทเรียนที่กัมพูชาเรื่อง “โดมิโน” คอมมิวนิสต์ (1968-1987) ที่นำโดยเวียดนามในนามพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนซึ่งไทยอวยว่าตนคือผู้ชนะจากสงครามเวียดนามจีไอ โชคดีกว่านั้นยังนำคนหนุ่มสาวที่เข้าป่าให้กลับมาพลวัตประชาชนของยุค ’60 อย่างสมบูรณการอีกด้วย

แต่ใครเลยจะคิดว่าประเทศที่ไม่มีอะไรอย่างเมียนมา จู่ๆ จะมาถอดบทเรียนตนเอง ของตนอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมสยบยอมต่อรัฐอำนาจที่กดหัวประชาชนมาตลอด

นั่นต่างหากที่เป็นการ “ลอกคราบ” ของเพื่อนบ้านที่คล้ายจะโชคดีกว่า ทว่า พ่ายแพ้และเฉื่อยเนือยตลอดมา

แล้วเมียนมามีอะไรที่ต่างไปจากไทยและกัมพูชา?

สิ่งแรกที่สัมผัสได้ คือพื้นฐานอันต่างไปจากชาติอื่นในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงนี้ ซึ่งแล้วแต่มีแนวคิดบูชาลัทธิชาตินิยมไม่ต่างกัน แต่ด้านหนึ่งของเมียนมาคือ “ความมีแบบแผนและแนวคิดแบบสากลนิยม ซึ่งอาจจะรับมาจากระบบการศึกษาแบบอังกฤษ(?)”

ด้วยเหตุนั้น ในยามคับขันที่จะต้องแก้ปัญหาให้แก่ประเทศ พลัน แนวคิดแบบชาตินิยมที่เคยปลุกระดมชาวพม่าในการกดทับชนกลุ่มน้อยเผ่าพันธุ์จึงถูกนำมาประเมิน และเดินหน้าทบทวนการต่อสู้กับเผด็จการเพื่อความเป็นอิสรภาพแห่งความเป็นสหพันธรัฐในนาม PDF!

ซึ่งหากมีชัยชนะ จึงเป็นไปได้ว่า ข้อตกลงตาม “รัฐธรรมนูญฉบับเดิมแห่งปางหลวง” อาจถูกนำมาปัดฝุ่นอีกครั้ง นั่นเท่ากับปลดแอกตนเองแก่ทุกฝ่ายอย่างกล้าหาญในการเผชิญหน้าความจริงของศตวรรษใหม่คือ การนำขบวนการประชาธิปไตยสู่ประเทศร่วมกัน ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด

และนี่คืออำนาจอ่อนต่อการเรียนรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อยในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประเทศที่ครั้งหนึ่ง เคยเผชิญหน้ากับ “คอมมิวนิสต์โดมิโน” แลบัดนี้ “เมียนมาสึนามิ” คือสิ่งท้าทายอันใกล้สุด

ไม่ว่าจะเรียกมันว่าอะไร ระหว่างโดมิโนหรือสึนามิ ในวิถีใหม่นี้หากเมียนมาทำสำเร็จและผลลัพธ์ที่คาดว่าจะตามมา ไม่ว่าจะรูปแบบใด

มันคือระเบิดพลังงานปฏิวัติประชาชน!