นักท่องเที่ยวจีน กลัวอะไรที่เมืองไทย?

เมื่อ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โมนิกา ปิเทรลลี ผู้สื่อข่าวประจำซีเอ็นบีซี ทราเวล นำเสนอรายงานชิ้นหนึ่ง ระบุไว้ในพาดหัวว่า “ความกลัว” ผลักดัน “นักท่องเที่ยวจีน” ออกจาก 2 แหล่งท่องเที่ยวที่นิยมกันสูงสุดในเอเชียไปแล้ว

เธอระบุไว้ชัดเจนว่า ไทยกับญี่ปุ่น คือ 2 แหล่งท่องเที่ยวที่ว่านั้น

คำถามคือ นักท่องเที่ยวจีนกลัวอะไรกัน?

โมนิกา ปิเทรลลี เริ่มต้นด้วยผลสำรวจของบริษัทการตลาดด้านท่องเที่ยวชื่อ “ไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์” ที่วัดอารมณ์ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวชาวจีนแล้วจัดอันดับเข้าไว้เป็นรายไตรมาส

ตามข้อมูล ไทยกับญี่ปุ่น ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับสูงสุดของคนจีนในช่วงต้นปี แต่พอถึงไตรมาสที่ 3 ไทยตกลงมาอยู่ในอันดับ 6 ส่วนญี่ปุ่นร่วงลงมาเป็นอันดับ 8

“ไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์” สำรวจความคิดเห็นของคนจีนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างรวมแล้วกว่า 10,000 คน โดยที่ 94 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวจีนอายุต่ำกว่า 40 ปี พบว่าแรงจูงใจในการท่องเที่ยวของคนจีนเหล่านี้ เรียงตามลำดับคือ การเดินทางมากินอาหารชั้นเลิศ (23 เปอร์เซ็นต์) ต่อด้วยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น (22 เปอร์เซ็นต์) แล้วจึงเป็นสภาพธรรมชาติ (22 เปอร์เซนต์) และช้อปปิ้ง (10 เปอร์เซ็นต์) ตามลำดับ

ถามว่า คนจีนกลัวอะไรในญี่ปุ่น สุบรามาเนีย ภัตต์ ซีอีโอของไชน่า เทรดดิ้ง เดสก์ ระบุว่า การกลัวอาหารจะไม่ปลอดภัย คือปัจจัยหลักที่ทำให้คนจีนเลี่ยงหนีจากประเทศญี่ปุ่น หลังจากการปล่อยน้ำจากโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมาลงสู่ทะเลในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

แล้วนักท่องเที่ยวจีนกลัวอะไรในประเทศไทย?

คําตอบไม่ได้ตรงไปตรงมาเหมือนกรณีของญี่ปุ่น แต่ค่อนข้างซับซ้อนอยู่ไม่น้อย เพราะคำตอบที่ได้ก็คือ “อิทธิพลของภาพยนตร์” จำนวนหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้ชาวจีนรู้สึก “กลัว” หรือ “เป็นกังวล” กับการมาเที่ยวในไทย

ตัวอย่างของภาพยนตร์จีน 2 เรื่องที่ทรงอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกท่องเที่ยว หนึ่งคือ “Lost in the Stars” อีกเรื่องคือ “No More Bets”

ทั้งสองเรื่องเป็นเรื่องแต่ง แล้วก็ไม่ได้มีฉากเหตุการณ์ในไทย แต่ปัญหาก็คือ เรื่องแรกนั้นว่ากันว่า พล็อตแทบจะหยิบเอามาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับสุภาพสตรีชาวจีนรายหนึ่งซึ่งถูกสามีผลักตกหน้าผาในเมืองไทยเมื่อปี 2019

ส่วนกรณีของเรื่องที่สอง “No More Bets” นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง เนื้อเรื่องเป็นเรื่องของสามีภรรยาหนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งหวังจะเดินทางมาทำงานที่ให้ผลตอบแทนดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับถูกกักตัวให้ทำงานให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ซีเอ็นบีซีระบุว่า ข้อมูลของหน่วยงานของสหประชาชาติในภูมิภาคระบุว่า มีคนตกเป็นเหยื่อในทำนองนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเรือนแสน

เพีย โอเบรอย ที่ปรึกษาอาวุโสว่าด้วยแรงงานย้ายถิ่นและสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ของสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ข้อมูลไว้ว่า สถานการณ์นี้เลวร้ายมากขึ้นในช่วงโควิด เมื่อกาสิโนหลายแห่งไม่มีลูกค้า เลยผันตัวเองเป็นแหล่งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเอาเงินชาวบ้านไปทั่วภูมิภาค

แหล่ง “บังคับเหยื่อให้ล่าเหยื่อ” ที่ว่านี้ ไม่มีในไทย แต่มีอยู่โดยรอบประเทศไทย ไล่ตั้งแต่เมียนมา ลาว ไปจนถึงกัมพูชา ส่วนใหญ่แล้วตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่ง “แทบไม่มีกฎหมาย” บังคับใช้อยู่เลย

 

โอเบรอย ยอมรับว่า ข่าวลือสะพัดเรื่องอันตรายของการตกเป็นเหยื่อถูกบังคับให้หลอกหาเงินให้กับแก๊งเช่นนี้สะพัดไปทั่วจีนผ่านทางโซเชียลมีเดีย แม้จะไม่เคยมีหลักฐานบ่งชี้ถึงกรณีอย่างที่เล่าขานกันว่า “กระชากตัวมาจากถนน” แบบที่ลือกันก็ตาม

โอเบรอย ย้ำไว้ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลของหลายประเทศพยายามเข้าไปจัดการเรื่องนี้ แต่ยังจำเป็นต้องทำอะไรต่อมิอะไรอีกมากถึงจะสามารถทำลายแก๊งอาชญากรรมที่ฝังรากลึกเช่นนี้ลงได้ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการ “คอร์รัปชั่น”

ซีเอ็นบีซีบอกว่า ทางการกัมพูชาสั่งแบนหนัง “No More Bets” ไม่ให้ฉายที่นั่น แต่ในจีนแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ทำรายได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านดอลลาร์

สุบรามาเนีย ภัตต์ บอกว่า คนจีนที่ดูหนังเรื่องนี้หลายคนบอกตรงกันว่า กลัว กลัวว่าการมาเที่ยวไทยหรือในย่านนี้จะทำลายชีวิตพวกเขาไปทั้งชีวิต

นานๆ เข้า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ถูกผูกโยงเข้ากับอันตรายแนบแน่นขึ้นเรื่อยๆ

ข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ประเทศที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของคนจีนแทนไทยก็คือ สิงคโปร์ ไม่ใช่เพราะเหตุผลอื่นใด แต่ด้วยเหตุผลเดียวเท่านั้น

นั่นคือ สิงคโปร์ เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้ชื่อว่าปลอดภัยที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวในปี 2023 ครับ