จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 8-14 ธันวาคม 2566

 

• ปัญหา “รัฐธรรมนูญ”

ปัญหาใหญ่ของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของไทย ทุกสมัยที่ผ่านมา

ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 จนถึงปัจจุบัน

มีปัญหาใหญ่สองประการในการร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งของไทย

ดังนี้

 

ประการแรก

คือปัญหาการสร้างสมดุลระหว่างความคิดเห็นของประชาชนกับความต้องการของชนชั้นนำ

หลักสากลยอมรับว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน

ประชาชนจึงเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและเป็นผู้จำกัดอำนาจของรัฐบาล

แต่ในความเป็นจริงแล้ว

ในประเทศไทย ผู้ครองอำนาจชั้นนำต่างหากที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

โดยมีการอ้างสาเหตุสามข้อ

ข้อแรกคือ การอ้างว่ามีแต่เพียงผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่เข้าใจในการร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนไม่ได้เข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญเพียงพอ

ข้อที่สองคือ การกล่าวอ้างว่ามีประเด็นละเอียดอ่อน ที่จำเป็นต้องควบคุมในการร่างรัฐธรรมนูญ

ข้อที่สามคือ การปกป้องสิ่งที่ชนชั้นนำต้องการ ด้วยการควบคุมกระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นจนจบ

ในข้อสุดท้ายนี้ ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตของพรรคการเมืองฝ่ายเสรีนิยม ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นอาจนำมาซึ่งความพยายามครอบงำของคนชั้นนำยิ่งกว่าที่ผ่านมา

จนอาจจะเกิดความขัดแย้งในประเทศไทยมากขึ้น

 

ประการที่สอง

ในการร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งของไทย มีปัญหาคือ ความยากยิ่งในการเห็นพ้องถึงหลักการพื้นฐานที่สังคมจำเป็นต้องยอมรับร่วมกัน

ซึ่งหลักการพื้นฐานเหล่านี้ก็คือ

การมีพรรคการเมืองที่หลากหลาย

การตรวจสอบถ่วงดุลอันโปร่งใส

การยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม

และการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล

เมื่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญแก่สี่หลักการนี้แล้ว ไม่เพียงจะเกิดข้อดีในเชิงระบบรัฐธรรมนูญ แต่ยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด

แต่หากเมื่อการร่างรัฐธรรมนูญถูกครอบงำโดยชนชั้นนำแล้ว การยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรมก็จะล้มเหลว การพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกกำหนดโดยคำสั่งของชนชั้นนำ

ดังนั้น ชนชั้นนำไทยจึงมักจะขัดขวางการที่จะมีสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

เพราะหากสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ชนชั้นนำจะขาดการควบคุมกระบวนการร่างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำลังจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของประเทศไทย

 

ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ 4 ที่มีจำนวนรัฐธรรมนูญมากที่สุดในโลก

สถิตินี้เป็นสถิติที่ไม่น่าภาคภูมิใจอะไรเลย

นักวิชาการทางรัฐธรมนูญได้เขียนไว้ว่ารัฐธรรมนูญคือการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคนในชาติ ระหว่างชนชั้นปกครองกับคนใต้ปกครอง

การที่ประเทศไทยเรามีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 20 ฉบับ ย่อมสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติของชนชั้นปกครองกับคนใต้ปกครองคือประชาชน

ปีนี้ ปี พ.ศ.2566 และกำลังจะก้าวเข้าไปใน พ.ศ.2567 ในขณะที่ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกหรือใกล้เข้ามาคือประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างต้องแข่งขันกันไม่ว่าจะด้านการค้า เศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์

ประชาชนในประเทศอื่นๆ นั้น ต้องทุ่มเทกำลังกายกำลังจิตใจของคนในชาติในเรื่องดังกล่าว

แต่ประเทศไทยของเรา กลับต้องมาติดกับกับการถกเถียงกันในเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เหมือนตลอด 91 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475

และก็ไม่อาจคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเป็นฉบับที่ 21 ว่าจะมีการออกมาบังคับใช้เมื่อใด

หรือหากจะมีการการบังคับใช้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าจะโดนฉีกทิ้งโดยการรัฐประหารอีกเมื่อใด

 

ดังนั้น กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของไทยนั้น

นอกจากจะเต็มไปด้วยขวากหนามและปัญหาการสร้างสมดุลระหว่างความคิดเห็นของประชาชนกับความต้องการของชนชั้นนำอยู่แล้ว

การออกเสียงประชามติที่จะถึงก่อนการเริ่มต้นของการร่างรัฐธรรมนูญก็ยังเต็มไปด้วยขวากหนามเช่นกันเพื่อสกัดไม่ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพราะชนชั้นนำไทยจะไม่สามารถครอบงำกระบวนการการร่างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้นั่นเอง

ที่น่าเสียดายคือพรรคการเมืองบางพรรคกลับยอมรับการถูกครอบงำเสียเอง

จุลพงศ์ อยู่เกษ

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

 

อีเมลของ “จุลพงศ์ อยู่เกษ”

ส่งมาถึง “มติชนสุดสัปดาห์” ระยะหนึ่งแล้ว

และเมื่อ 10 ธันวาคม “วันรัฐธรรมนูญ”

เวียนมาถึงอีกครั้ง

จึงถึงกาละ ที่อีเมลฉบับนี้สมควรจะได้ถูกนำเสนอ

เพื่อชี้ว่า รัฐธรรมนูญของไทยมีปัญหา

จะแก้อย่างไร นี่คือ วาระร่วมของทุกคน

ไม่ติดพรรค กลุ่ม หรือบุคคลใดๆ •