ALL IS TRUE | ‘เรื่องจริงอิงนิยาย’

นพมาส แววหงส์

ต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเขียนถึงหนังล่าสุดของเคนเนธ บรานาห์ ในชุดยอดนักสืบแอร์กูล ปัวโรต์ เลยทำให้นึกถึงหนังเรื่องก่อนหน้าของเซอร์เคนเนธเกี่ยวกับนักเขียนบทละครผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติการละครและวรรณกรรม

ซึ่งไม่ใช่ใครอื่นใดนอกไปจากวิลเลียม เช็กสเปียร์ ผู้มีฉายาว่า “มหากวี” หรือ The Bard

เช่นเดียวกับที่บรานาห์ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับยอดนักสืบแอร์กูล ปัวโรต์ นักแสดงและผู้กำกับฯ ชาวอังกฤษผู้ได้รับบรรดาศักดิ์อัศวินผู้นี้ก็ไม่ใช่คนหน้าใหม่สำหรับยอดกวีวิลเลียม เช็กสเปียร์ เช่นกัน

ผลงานจากปลายปากกาของกวีผู้ยิ่งใหญ่ที่ดัดแปลงสู่จอภาพยนตร์โดยฝีมือเคนเนธ บรานาห์ มีตั้งแต่ Henry V (1989), Much Ado About Nothing (1993), Hamlet (1996), Love Labour’s Lost (2000) และ As You Like It (2006)

จนถึง All Is True (2018) ซึ่งเป็นเรื่องราวที่จินตนาการขึ้นจากข้อมูลกระจัดกระจายในชีวิตของเช็กสเปียร์เท่าที่นักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในวงการละครจะสืบค้นมาได้

และเชื่อเถอะว่าการค้นคว้าข้อมูลของนักวิชาการเกี่ยวกับเชคสเปียร์นั้นกระทำกันแบบละเอียดทุกกระเบียดนิ้วแบบที่แทบไม่มีช่องตาเล็นให้ลอดหลุดไปได้

ไม่ได้เป็นไปตามสุภาษิตไทยที่ว่า “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” ซึ่งแปลว่าดูเหมือนรอบคอบถี่ถ้วน แต่ยังมีช่องโหว่ใหญ่ให้ลอดผ่านไปได้

พูดถึงสำนวนไทยแล้ว ก็ให้นึกถึงสำนวนฝรั่งเกี่ยวกับความรอบคอบถี่ถ้วนนั่นคือ to leave no stone unturned ซึ่งแปลว่าค้นหาอย่างละเอียดยิบแบบที่ไม่มีก้อนหินสักก้อนที่ไม่ได้พลิกขึ้นดูด้านล่าง

เอาเป็นว่าชีวประวัติของเช็กสเปียร์มีการสืบค้นถึงขั้นแทบจะพลิกแผ่นดินดูทะเบียนราษฎร์ทะเบียนหลวงที่ยังหลงเหลืออยู่ทีเดียว รวมทั้งการทำพิธีในโบสถ์ บันทึกการเกิดการตายของคนในครอบครัว การทำตราประจำตระกูล หลักฐานการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ คดีความของบุคคลในครอบครัว และรายละเอียดในพินัยกรรม ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

ซึ่งอาจเกี่ยวพันโยงใยไปถึงซอกมุมในชีวิตของมหากวีผู้นี้

มาถึงตอนนี้ เซอร์เคนเนธผู้เป็นแฟนคลับตัวจริงเสียงจริงของวิลเลียม เช็กสเปียร์ หันมา “สร้างเรื่อง” ในช่วงชีวิตบั้นปลายของนักเขียนและนักแสดงละครผู้เกษียณตัวเองกลับไปอยู่บ้านเกิดในชนบทที่เมืองสแตรตฟอร์ด-อัพพอน-เอวอน หลังจากจากไปใช้ชีวิตในลอนดอนและสร้างชื่อเสียงโด่งดังให้ตัวเองจนได้รับการยกย่องเรียกขานว่า มหากวี

หนังเริ่มด้วยภาพรูปเงาของชายยุคเอลิซาบีธันทาบทับบนเปลวไฟที่ลุกโชนเผาผลาญ และคำโปรยเรื่องเป็นความว่า เดือนมิถุนายน ค.ศ.1613 ในระหว่างการแสดงละครเรื่อง The Life of Henry VIII (ซึ่งมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า All Is True) เกิดความผิดพลาดในการทำเอฟเฟ็กต์ดินปืน จนไฟไหม้โรงละคร “เดอะโกล้บ” มอดเป็นเถ้าถ่าน เช็กสเปียร์เกษียณตัวเองจากอาชีพนักเขียนบทละคร กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในชนบทบ้านเกิด และไม่เคยเขียนบทละครอีกเลย

หนังเล่าเรื่องที่จินตนาการหรือ “การคาดเดาด้วยหลักฐานที่สมเหตุสมผล” (educated guess) ถึงการกลับบ้านมาใช้ชีวิตอย่างสงบของมหากวีผู้ยิ่งยงนี้ในช่วงสามปีสุดท้ายก่อนจะเสียชีวิตในวัย 52 ปีโดยที่เราไม่ทราบสาเหตุ

การสูญเสียโรงละครที่เป็นแหล่งทำมาหากินและสร้างชื่อเสียงส่งผลให้วิลเลียม เช็กสเปียร์ เกิด “ภาวะเขียนไม่ออก” (writer’s block) และกลับบ้านเกิดไปใช้ชีวิตเงียบๆ อยู่กับครอบครัวที่เขาทอดทิ้งไปนานจนกลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกันและกัน

ภรรยาของวิลล์ชื่อ แอนน์ แฮธาเวย์ (จูดี เดนช์ ) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับดาราสาวชื่อดังในปัจจุบัน แอนน์อายุมากกว่าวิลล์ 8 ปีและดูเหมือนทั้งสองจะรีบร้อนเข้าพิธีแต่งงานเพื่อให้ทันการคลอดของลูกสาวชื่อ ซูซานนา และต่อมาทั้งสองมีลูกแฝดชายหญิงชื่อ แฮมเน็ต และจูดิธ

ในบั้นปลายชีวิต วิลล์ดูเหมือนจะหมกมุ่นอยู่กับการมีทายาทสืบทอดมรดกของเขาโดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญาหรืออัจฉริยะด้านความเป็นกวี ดูเหมือนว่าลูกชายคนเดียว แฮมเน็ต จะมีพรสวรรค์ด้านนี้ แต่แฮมเน็ตก็เสียชีวิตด้วยโรคระบาดในวัยสิบเอ็ด ทำให้เช็กสเปียร์ไม่มีทายาทชายสืบทอดสกุลเลย

และหนังเล่าเรื่องที่ชวนให้หัวใจสลายของลูกแฝดชาย-หญิง จากบทบาทของเพศที่สังคมกำหนดและโอกาสในชีวิตที่กีดกั้นระหว่างชายหญิง

รวมทั้งสดุดียกย่องความเป็นมหากวีของวิลเลียม เช็กสเปียร์ อันไร้เทียมทานและจะอยู่คู่โลกวรรณกรรมอย่างยืนยงคงกระพันต่อมาอีกหลายร้อยปี

รวมทั้งพาดพิงไปถึงซอนเน็ตอันมีชื่อเสียงที่เช็กสเปียร์เคยประพันธ์ไว้ตอนอยู่ลอนดอน อันตีความได้ว่าพาดพิงไปถึงความสัมพันธ์อันลึกล้ำกับบุคคลผู้อยู่ในฐานันดรสูง

เอิร์ลแห่งเซาแธมป์ตัน (เอียน แมคเคลเลน) แวะมาเยี่ยมเยียนวิลล์ที่บ้านในชนบท และรำลึกถึงความหลังครั้งยังหนุ่มแน่นซึ่งวิลล์เขียนซอนเน็ตอันโด่งดังให้

ตรงนี้เป็นโอกาสให้นักแสดงชาวอังกฤษผู้คร่ำหวอดยอดฝีมือสองคนแสดงฝีมือการแสดงกันด้วยการตีความซอนเน็ตชิ้นเดียวกันจากสถานะที่อยู่คนละฝั่ง

เซอร์เคนเนธและเซอร์เอียนท่องโคลงเดียวกันโดยมีความหมายแฝง หรือความหมายใต้ตัวบท (subtext) จากคนละมุมมอง ถือเป็นการดวลโซโลที่น่าดูชมฉากหนึ่ง

องค์ประกอบของภาพและแสงเงาในหนังโดดเด่นชวนจับตามาก เหมือนภาพเขียนอันทรงเสน่ห์ฝีมือโอลด์มาสเตอร์ หรือบรมครูสมัยก่อน

ท้ายสุด หนังก็หาคำตอบให้แก่ปริศนาอันชวนฉงนในพินัยกรรมฉบับสุดท้ายของเช็กสเปียร์ที่บอกว่าขอยก “เตียงที่ดีเป็นที่สองของข้าพเจ้า” ให้แก่ผู้เป็นภรรยา

ซึ่งตรงนี้ดูแล้วหลายคนจะต้องอมยิ้มอย่างอดนึกขันไม่ได้

ยังมีการพาดพิงถึงเรื่องราวของนักเขียนคนอื่นๆ ในยุคนั้นอย่างแหลมคมและชวนคิดทีเดียว

…หาดูกันได้ทางเน็ตฟลิกซ์ขณะนี้นะคะ… •

ALL IS TRUE

กำกับการแสดง

Kenneth Branagh

แสดงนำ

Kenneth Branagh

Judi Dench

Ian McKellen

Hadley Fraser

Lydia Wilson

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์